นับตั้งแต่ภาพยนตร์ถือกำเนิดขึ้นบนโลก “ภาพ” ที่ปรากฏต่อคลองจักษุของผู้คนก็ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ทั้งสุขนาฏกรรมและโศกนาฏกรรม เรื่องราวอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ภาพฝันที่เป็นไปไม่ได้ และภาพจริงที่สมจริงจนเกินเชื่อ และหากย้อนหลังไป 25 ปีนับจากปัจจุบัน ภาพยนตร์ดังหลายเรื่องก็มีฉากที่น่าตื่นตะลึง วิจิตรตระการตา แปลกใหม่ พาคนดูออกไปสู่โลกทะเลแห่งจิตนาการไม่มีที่สิ้นสุด หลายฉากในหลายเรื่องทรงพลังขนาดขับเคลื่อนโลกและความทรงจำของผู้คน ถูกบอกต่อและมีภาพจำร่วมกันว่าฉากนั้น ๆ เคยมีประสบการณ์ร่วมยุคสมัยกันอย่างไร วันนี้ What the Fact ขอนำเสนอที่สุดของฉากหนังดังตลอด 25 ปี (ตอนที่ 1) จากการจัดอันดับโดยที่สุดนิตยสารด้านภาพยนตร์ของสหรัฐฯ อย่าง Vanity Fair

  • ถ้าอ่านตอนที่ 1 จบแล้ว ไปตามอ่านต่อ ตอนที่ 2 กันได้เลย

TOY STORY (1995) – มาเล่นกันเถอะ

ภาพยนตร์ที่เรียกได้เลยว่า เป็นจุดเริ่มต้นของหนัง Pixar ที่ครองใจผู้ชมทั่วโลกตลอดมาอีก 25 ปีกับแนวทางหนังเด็กที่ไม่ใช่สร้างมาเพื่อเด็กดูเท่านั้น (แต่แฝงประเด็นที่ผู้ใหญ่ดูแล้วต้องน้ำตารื้น เพราะได้นำหัวใจแห่งความเป็นเด็กกลับมาใช้ดูอีกครั้งร่วมกับลูก ๆ หลาน ๆ) กับตัวแฟรนไชส์ Toy Story เองก็มีออกถึงภาคที่ 4 และทุกภาคก็ประสบความสำเร็จทางรายได้อย่างมาก การ์ตูน Pixar อยู่ร่วมสมัยกับผู้คนที่อายุ 10-30 ปีในตอนนี้ อย่างชนิดที่หนังเรื่องใหม่เขาก็จะมีคอหนังทั่วโลกตามไปดู กับเรื่องนี้

Tom Hanks and John Morris in Toy Story (1995)
Toy Story (1995)
Pete Docter at an event for Inside Out (2015)

Pete Doctor ผู้กำกับเรื่อง Up (2009), Inside Out (2015) และ Soul หนึ่งในทีมเขียนบทและ สร้างสรรค์แอนิเมชันเรื่องนี้ได้เล่าให้ฟังว่า “ในตอนที่เริ่มสร้างนั้น พวกเราไม่รู้เลยว่าจะเริ่มทำอะไรกันยังไง ไม่รู้ว่าจะต้องจ้างใครมาทำงานอะไรในการสร้างหนังสักเรื่อง เรียกว่าเราเดินหน้ากันแบบ “ตอร์ปิโด” ที่พุ่งไปข้างหน้าอย่างแรง พอมองย้อนกลับไปมันก็เป็นอะไรที่บ้าบิ่นมากครับ ต้องยกเครดิตให้ John Lasseter ผู้กำกับและ Ralph Guggenheim ที่มอบวิสัยทัศน์หลายอย่างให้กับหนังเรื่องนี้ ผมเหมือนได้ไปโรงเรียนทุกวัน และเหมือนผมได้เข้าไปในโรงรถที่เต็มไปด้วยคนเจ๋ง ๆ กำลังรวมหัวกันทำเรื่องสนุก ๆ นั่น ประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าค่าจ้างที่ผมได้จากการทำหนังเรื่องนี้ครับ”

https://www.youtube.com/watch?v=c_iNahX_kmc
  • ให้เสียงพากย์: Tom Hanks, Tim Allen, Don Rickles, Jim Varney, Wallace Shawn, Annie Potts
  • ผู้กำกับ: John Lasseter (A Bug’s Life, Toy Story 2, Cars, Cars 2)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 30/404 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 100% / 8.3/10

SCREAM (1996) – ฉากเปิดสุดเลือดเย็น

ภาคแรกออกฉาย ปี 1996 เป็นต้นตำหรับหนังหวีดสยองที่ตัวร้ายจะใส่หน้ากากยางไล่ฆ่าตัวละครไปที่ละคน จนเกิดหนังหวีด-เชือด-สยองทำนองนี้ตามมาอีกมากมายในยุค 90s ความสำเร็จของหนัง Scream ไม่เพียงทำให้มีภาคต่อออกมาอีกในปี 1997, 2000 และ 2011 รวมเป็นทั้งหมด 4 ภาค ภาคต้นฉบับยังถือเป็นหนังแนวเชือดสยองที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลอยู่หลายปี จนกระทั่งถูก Halloween ฉบับใหม่ที่ออกฉายในปี 2018 โค่นแชมป์ไป เฉพาะภาคแรกทำรายรับรวมทั่วโลก 173 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 14 ล้านเหรียญฯ และหากนำรวมทุกภาค หนังก็ทำกำไรจากรายรวมทั่วโลกทำไป 603 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 119 ล้านเหรียญฯ

Scream (1996)
Drew Barrymore in Scream (1996)

นักแสดงสาวอย่าง Drew Barrymore ที่มาร่วมแสดงอยู่ในหนังเรื่องนี้ กับฉากเปิดในตอนต้นที่ถูกเชือดอย่างเลือดเย็น ชวนช็อกแฟน ๆ เพราะไม่คิดว่าตัวละครที่เปิดมาต้นเรื่องจะถูกฆ่าตาย และตัวละครของเธออาจถูกจดจำมากกว่าบทอื่นที่เหลือรอดจนตอนจบด้วยซ้ำ “บทถูกเขียนขึ้นอย่างดีมากและก็เป็นต้นทางของหนังสยองขวัญหลายเรื่องหลังจากนั้น หลายคืนหลังจากที่ฉันถ่ายทำฉากนั้นในบ้านหลังนั้น เชื่อไหมฉันยังร้องไห้และรู้สึกหลอนอยู่เลย จริง ๆ ตอนแรกฉันต้องรับบทของ Neve Campbell ก่อนที่จะขอเปลี่ยนมาเล่นบท Casey และแน่นอนฉันรู้ว่า ฉันจะต้องถูกฆ่าตายตั้งแต่แรก ซึ่งมันได้นำเสนอวิธีการใหม่ ๆ ในการเล่าหนังสยองขวัญให้กับโลก”

  • นักแสดง: Neve Campbell, Courteney Cox, David Arquette, Drew Barrymore
  • ผู้กำกับ: Wes Craven (A Nightmare on Elm Street, Red Eye )
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 14/173 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 79% / 7.2/10

TITANIC (1997) – KING OF THE WORLD

หนังที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก ในทุก ๆ ทางก่อนเข้ายุคสหัสวรรษใหม่อย่าง Titanic (1997) ได้สร้างปรากฎการณ์ทั้งการคว้ารางวัลออสการ์มากที่สุด และทำรายได้สูงที่สุดในปีนั้นและหลังจากนั้นไปอีกสักพักใหญ่ รวมถึงแจ้งเกิดให้ 2 ดารานำอย่าง Leonardo DiCaprio และ Kate Winslet กลายเป็นดาวค้างฟ้าและไม่มีใครที่ไม่รู้จัก หนังยังครองตำแหน่งเข้าชิงรางวัลออสการ์และกวาดกลับบ้านทุกสาขารางวัลมากที่สุดถึง 11 รางวัล ซึ่งก็ทำให้ James Cameron ผู้กำกับของเรื่องกล่าวประโยค “I’m the King of the World” เช่นเดียวกับที่ Jack Dawson พระเอกของเรื่องตะโกนตอนขึ้นไปดาดฟ้าเรือเป็นครั้งแรก

Leonardo DiCaprio and Danny Nucci in Titanic (1997)
Titanic (1997)

Danny Nucci นักแสดงที่รับบท “Fabrizio” เพื่อนของ Jack Dawson ที่รับบทโดย Leonardo DiCaprio ซึ่งอยู่ร่วมในฉากที่ว่าด้วยนั้น เคยให้สัมภาษณ์เล่าถึงฉากนี้ไว้ด้วยว่า “ตอนที่เราถ่ายทำฉากนี้ มันหนาวมากครับเพราะลมบนดาดฟ้าชิ้นส่วนเรือนั่นแรงมาก ในตอนถ่ายฉากนี้ จริง ๆ แล้วมีแค่ส่วนหัวของดาดฟ้าเรือแยกส่วน แต่ผู้กำกับก็ยังให้เราไปถ่ายนอกตึกกันจริง ๆ อยู่ดี ผมกับ Leonardo ใช้เวลารอถ่ายทำฉากนั้นอยู่ราวชั่วโมงนึงก่อนผู้กำกับจะสั่ง “แอ็กชัน” ผมหิวมากและเราก็ต้องค้างอยู่บนนั้นจนกว่าจะถ่ายทำฉากนี้เสร็จถึงลงได้ เราก็เลยต้องหาที่ปัสสาวะกันแถว ๆ นั้น แต่พอผู้กำกับสั่ง “แอ็กชัน” ผมก็ต้องหันมาถ่าย และนั่นคือประสบการณ์ที่สุดยอดมาก ๆ ของผมเลย”

  • นักแสดง: Leonardo DiCaprio, Kate Winslet, Billy Zane, Kathy Bates, Bill Paxton
  • ผู้กำกับ: James Cameron (Avatar, Aliens, Terminator 2: Judgement Day)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 200/2,187 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 89% / 7.8/10

THE BIG LEBOWSKI (1998) – ฉากในฝัน เมื่อโดนพินโบว์ลิ่งตีกบาล

นี่อาจเป็นหนังที่ไม่ได้อยู่ในสารบบความจำของคนทั่วไปเท่าใดนัก แต่สำหรับคอหนังที่ชื่นชอบการรวมตัวของนักแสดงชั้นดี ระดับออสการณ์การันตีล้วน ๆ อย่าง Jeff Bridges, Julianne Moore และ Philip Seymour Hoffman รวมถึงผู้กำกับก็เป็นนักเล่าเรื่องและมือเขียนบทชั้นดีอย่าง Joel Coen เจ้าของรางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และเขียนบทยอดเยี่ยมจาก No Country for Old Men (2007) เรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งในนครแห่งเทพ Los Angeles ชายที่ขี้เกียจสุด ๆ นาม The Dude Lebowski เขาถูกตามทวงหนี้ถึงขั้นถูกทำลายทรัพย์สินสุดรัก เพียงเพราะนามสกุลคล้องกับมหาเศรษฐี Lebowski ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เขาจึงไปเรียกร้องค่าเสียหายกลับจากมหาเศรษฐี จนต้องกลายไปเป็นคนกลาง ส่งมอบเงินค่าไถ่ตัว ในกรณีหายตัวไปของภรรยาเศรษฐี Lebowski หลังจากนั้นก็เป็นเหตุการณ์วุ่นวายมะรุมะตุ้มตามสไตล์หนังของพี่น้อง Coen

Julianne Moore and Jeff Bridges in The Big Lebowski (1998)
The Big Lebowski (1998)

Jeff Bridges นักแสดงนำของเรื่องผู้รับบท The Dude เล่าให้ฟังว่า “ผมกังวลนิดหน่อยที่หนังมีผู้กำกับสองคน โดยเฉพาะการเป็นพี่น้องกันยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเขาจะมีมุมมองต่อหนังเหมือนกันได้จริง ๆ หรือ ซึ่งผมทึ่งมากที่สองคนนี้สอดประสานการกำกับร่วมกันได้อย่างดี ผมเห็นแค่ครั้งเดียวเองนะที่เขาเห็นไม่ตรงกัน นั่นคือตอนที่เถียงกันว่า เมื่อตัวละครของผมโดนตีกบาลด้วยพินโบว์ลิ่ง ผมจะต้องรู้สึกยังไง Joel บอกว่า ผมจะต้องสะดุ้งนิด ๆ เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นความเจ็บปวดแบบไหน ส่วน Ethan บอกว่า ไม่หรอกน่า ผมต้องยิ้มสิ เพราะมันจะรู้สึกเหมือนตอนลูกโบว์ลิ่งวิ่งเข้ากระแทกพินยังไงล่ะ…ท้ายที่สุดพวกเขาก็เลยถ่ายไว้ทั้งสองแบบครับ”

  • นักแสดง: Jeff Bridges, John Goodman, Julianne Moore, Philip Seymour Hoffman, Steve Buscemi
  • ผู้กำกับ: Joel & Ethan Coen (True Grit, No Country for Old Men, Burn After Reading, Fargo)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 15/46 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 89% / 7.8/10

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

SAVING PRIVATE RYAN (1998) – ณ ชายหาดวันดีเดย์ ยกพลขึ้นบก

หนังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระดับขึ้นหิ้งในตำนานอีกเรื่องของโลกที่กำกับโดยพ่อมดแห่งฮอลลีวูด Steven Spielberg แม้จะชนะถึง 5 สาขารางวัลออสการ์ แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นหนังที่ถูกปล้นออสการ์อย่างค้านสายตาที่สุดเรื่องหนึ่ง (หนังที่ชนะคือ… Shakespeare in Love เนี่ยนะ?) ถึงอย่างไรก็ตามหนังก็ยังถูกพูดถึงจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะฉากยกพลขึ้นบกในวันดีเดย์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตร นำโดยสหรัฐฯ หักเอาฝ่ายอักษะอย่างเยอรมันลงได้จากการโจมตีในครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้าย และความยอดเยี่ยมของหนังก็เริ่มตั้งแต่ฉากสงครามบนหาดโอมาฮ่า ที่เห็นเนื้อเป็นเนื้อ เลือดเป็นเลือดอย่างสมจริง

Saving Private Ryan (1997)
Tom Hanks and Tom Sizemore in Saving Private Ryan (1998)

Tom Hanks นักแสดงเจ้าของ 2 รางวัลออสการ์และเข้าชิงจากเรื่องนี้ด้วย เล่าให้ฟังถึงหนังและฉากสุดอลังการและสมจริงในเรื่องว่า “ในทีแรกที่เราพูดคุยกันถึงการถ่ายทำฉากในหนังเรื่องนี้ Steven ชวนให้พวกเราออกไอเดียว่า จะใช้เทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพมาถ่ายทำฉากนี้ให้ยอดเยี่ยม แตกต่างจากหนังเรื่องอื่นได้ยังไง ฉากเปิดเรื่องฉากนี้ต้องแตกต่างจากหนังสงครามเรื่องอื่นที่เคยมีมา ในฐานะนักแสดงผมจึงเสนอไปว่า สีหน้าและท่าทาง ปฏิกิริยาต่าง ๆ ของนักแสดงต้องตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นราวกับสิ่งที่เห็นเป็นของจริง เราทำงานหนักและซ้อมเยอะมากกว่าจะแสดงได้อย่างที่เห็น ตอนถ่ายทำจริง พวกเราปล่อยให้เหตุการณ์ตามเนื้อเรื่องพาเราไป และเมื่อผมได้ดูฉากนี้แบบเต็ม ๆ หลังกล้องเป็นครั้งแรก ผมก็ร้องไห้ออกมาเลย นักแสดงและทีมงานทำฉากที่ยาว 20 นาทีนั้นได้อย่างยอดเยี่ยมครับ”

  • นักแสดง: Tom Hanks, Matt Damon, Vin Diesel, Tom Sizemore, Edward Burns, Barry Pepper, Adam Goldberg
  • ผู้กำกับ: Steven Spielberg (Schindler’list, War Horse, Lincoln, War of the World)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 70/482 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 93% / 8.6/10

THE MATRIX (1999) – เงยหลบกระสุน

หนังไซไฟที่เป็นความสำเร็จในทุกทาง อย่างที่คิดไปไม่ถึงว่าหนังที่กล้าแหกออกจากกรอบขนาดนี้ จะกลายเป็นหนังที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างมาก ได้รับแรงบันดาลใจจากมังงะ Ghost in the Shell ที่กลายเป็นหนังแอนิเมชันและภาพยนตร์ เกี่ยวกับโลกเสมือนที่ซ้อนทับอยู่กับโลกจริง มนุษย์ถูกล่อลวงให้อยู่ในโลกเสมือนโดยเครื่องจักร ความเท่ของหนังเนื้อเรื่องที่ผสมผสานแนวคิด-ความเชื่อเกี่ยวกับ “ผู้ตื่นรู้” เพียงหนึ่งเดียวของเอเชีย เข้ากับฉากที่น่าจดจำหลายฉากที่เต็มไปด้วยท่าทางการต่อสู้แบบกังฟูร่วมกับฉากต่อสู้แนวตะวันตก ท่าหลบกระสุน หยุดกระสุน สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคอหนังโดยเฉพาะฝรั่งที่ไม่เคยเห็นหนังแบบนี้มาก่อน กลายเป็นหนังที่ฮิตสุดอีกเรื่องของ Keanu Reeves จนมีอีก 2 ภาคตามมาในปี 2003 และกำลังจะมีภาค 4 ที่ได้นักแสดงทีมเดิมกลับมาเกือบครบในปี 2022

Keanu Reeves in The Matrix (1999)
The Matrix (1999)
Keanu Reeves in Siberia (2018)

พระเอกตลอดกาลอย่าง Keanu Reeves ได้เล่าให้ฟังถึงการถ่ายทำฉากหลบกระสุนในตำนานฉากนี้ว่า “เราถ่ายกันหน้ากรีนสกรีนด้วยกล้อง 100 ตัว แน่นอนว่าผมถูกหิ้วไว้ด้วยสลิงถึงเอนตัวได้ขนาดนั้น ผมเอนตัวลงและแหวกว่ายมือตามท่าที่ถูกออกแบบไว้ ผู้กำกับและทีมงานดูตื่นเต้นกับภาพที่ถ่ายได้ หลังจากหนังฉาย เราก็ได้เห็นฉากกระสุนของเราถูกพูดถึงอย่างมากครับ และพี่น้อง Wachowski ก็ขึ้นชื่อเลยว่ามีภาษาภาพในฉากวิชวลเอฟเเฟกต์ที่งดงามมาก มันไม่ได้แปลกใหม่ 100% แต่มันก็เท่มากตอนอยู่ในหนัง จริงไหมครับ?”

  • นักแสดง: Keanu Reeves, Laurence Fishburne, Carrie-Anne Moss, Hugo Weaving, Joe Pantoliano
  • ผู้กำกับ: Lana & Lilly Wachowski (Cloud Atlas, Jupiter Ascending, Speed Racer)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 63/465 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 88% / 8.7/10

THE BLAIR WITCH PROJECT (1999) – หนีผีในกล้องโฮมวิดีโอ

ต้นตำรับของหนัง Found Footage หรือหนังที่สร้างจากกล้องโฮมวิดีโอในมุมมองของบุคคลที่หนึ่งตลอดทั้งเรื่อง กลายเป็นต้นทางของหนังแนวนี้ (ส่วนใหญ่เป็นหนังสยองขวัญ) ที่ประสบความสำเร็จทางรายได้ ฟันกำไรหลายเท่าตัวอีกหลายเรื่อง เช่น Paranormal Activity (2007), REC (2007), Cloverfield (2008) และ V/H/S (2012) พิจารณาว่าหนังเรื่องนี้ทำรายได้ทั่วโลก 248 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างแค่ 60,000 เหรียญฯ (กำไรแค่ 4,100 เท่าเอง!) และในตอนนั้นก็ยังมีหลายคนที่เชื่อว่า นี่ไม่ใช่หนังที่ถูกสร้างขึ้นแต่เป็นการนำม้วนวิดีโอที่ถูกค้นพบจากเหตุการณ์ลึกลับมาเผยแพร่จริง ๆ ผู้กำกับและทีมนักแสดงทุกคนไม่ได้มีอนาคตต่อในวงการฮอลลีวูด แต่ก็ได้ชื่อว่าครั้งหนึ่งเคยได้อยู่ในหนังระดับปรากฎการณ์แล้ว

Heather Donahue in The Blair Witch Project (1999)
Daniel Myrick

“เราเริ่มทวีความตึงเครียดของหนังในตอนเริ่มต้นขององก์สามของเรื่อง เมื่อ Heather (นักแสดงหลักเป็นนางเอกของเรื่อง) ต้องยอมรับว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น รวมถึงต้องเผชิญหน้ากับผลร้ายที่เธอทำลงไป ผมบอกกับเธอว่า “เอาละนะ เธอจะต้องแสดงฉากนี้อย่างรู้สึกว่า ต้องการสารภาพผิดกับครอบครัวและเพื่อนของเธอ” ผมบอกเธอแค่นั้น และต่อจากนั้นคือการด้นสดของเธอตลอด 15 นาทีที่เราปล่อยให้เรื่องราวดำเนินไปและได้ฉากที่ดีที่สุดของเรื่องมา ผมก็คาดหวังจะเห็นโมเมนต์ชวนช็อกของตัวละคร แต่พอเห็นน้ำตาและการสะอึกสะอื้นของ Heather ที่สมจริง นั่นเกินกว่าที่ผมหวังไว้ไปมากทีเดียว” Daniel Myrick ผู้กำกับและผู้เขียนบทร่วมของเรื่องเล่าให้ฟัง

  • นักแสดง: Heather Donahue, Michael C. Williams, Joshua Leonard, Patricia DeCou
  • ผู้กำกับ: Daniel Myrick & Eduardo Sánchez (The Objective, Altered, V/H/S/2)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 60,000 เหรียญฯ / 248 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 87% / 6.5/10

AMERICAN PSYCHO (2000) – สับ สยอง!

ก่อนที่ Christian Bale จะกลายเป็น Batman ที่พาให้หนังแฟรนไชส์นั้นของ Christopher Nolan โด่งดังและประสบความสำเร็จเป็นพลุแตก หนุ่มหล่อคนนี้ก็เคยหล่อเหลาเอาการมาก ๆ ตอนต้นยุค 2000s ขนาดที่ถูกทาบทามให้รับบท 007 James Bond แต่เขาปฏิเสธ (เพราะไม่อยากติดภาพไอคอนฮีโรจากหนังเมนสตรีม) ซึ่งหนังที่ทำให้โปรดิวเซอร์อยากได้เขามาเล่นก็คือ หนังที่เขารับบทเป็นฆาตกรสุดโรคจิต ผู้บริหารที่เพียบพร้อมไปหมดทุกอย่าง แต่เขาก็ยังไม่พอใจและกระหายที่จะออกล่าเหยื่อเป็นไฮโซที่มีชีวิตที่สวยหรูกว่าเขา หนังเสียดสีสังคมระบบทุนนิยมและโลกของคนรวยที่ต้องมีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นในหมู่ไฮโซนักธุรกิจเพื่อให้ได้เป็นผู้อยู่บนสุดของพีระมิดชนชั้นผู้ดี

Christian Bale in American Psycho (2000)
American Psycho (2000)

Marry Harron ผู้กำกับหญิงพูดถึงฉากสับ-สยองที่แฟน ๆ ได้ชมการแสดงในด้านมืดสุดติ่งของ Bale ว่า “แฟน ๆ หนังบางคนอาจจะอยากเห็นฉากนี้ในเซ็ตไฟแบบมืด ๆ ทึม ๆ เหมือนในหนังคอมิกโหด ๆ ที่ต้องเลือดสาด แต่พอฉันมาถึงหน้าเซ็ต ฉันก็ยืนยันเลยว่าฉากนี้ต้องเปิดให้สว่างและจะต้องเห็นการสับแบบชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนในหนัง A Clockwork Orange (1971) ของผู้กำกับ Stanley Kubrick ความบังเอิญคือในเทคท้าย ๆ ของการถ่ายฉากนี้ Bateman (ตัวละครของ Bale) เพิ่งเสร็จจากการฆ่า เลือดปลอมกระเด็นเลอะใบหน้าของเขาแค่ครึ่งเดียว ซึ่งมันทำให้เราได้ภาพที่สื่อถึงครึ่งด้านไม่โหดร้าย และครึ่งหน้าที่เปื้อนเลือด สำหรับฉัน มันคือความหมายของความสยองขวัญครึ่งหนึ่งและตลกร้ายอีกครึ่งหนึ่งที่เป็นแนวทางของหนังเรื่องนี้ค่ะ”

  • นักแสดง: Christian Bale, Justin Theroux, Josh Lucas, Reese Witherspoon, Jared Leto, Willem Dafoe
  • ผู้กำกับ: Marry Harron (The Moth Diaries, Alias Grace (Mini Series))
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 7/34 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 69% / 7.6/10

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

CROUCHING TIGER, HIDDEN DRAGON (2000) – พยัคฆ์ปะทะมังกร

นับจนถึงวันนี้ Ang Lee หรือหลี่อัน ก็ยังคงเป็นผู้กำกับชาวไต้หวันที่มีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์ของโลก หลังจากสร้างชื่อเสียงผลิตหนังที่บ้านเกิดจนได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาฮอลลีวูด กำกับหนัง Sense and Sensibility (1995) เข้าชิง 7 สาขารางวัลออสการ์ (รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) และทำให้นักแสดง Emma Thompson ชนะสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และกำกับหนัง The Ice Storm (1997) Ang Lee ก็กลับสู่รากเหง้าด้วยการสร้างหนังที่เกิดบนแผ่นดินจีน และนำแสดงโดยทีมนักแสดงสัญชาติเอเชีย อย่าง Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) จนได้เข้าชิง 10 สาขารางวัลออสการ์และคว้าไปได้ 4 รางวัล ทั้งถ่ายภาพยอดเยี่ยม, องค์ประกอบศิลป์ยอดเยี่ยม, เพลงประกอบยอดเยี่ยม และหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม

Michelle Yeoh and Ziyi Zhang in Wo hu cang long (2000)
Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000)

หนังมีฉากการต่อสู้ในหลาย ๆ ฉากทั้งบนยอดไผ่ ฉากต่อสู้ยามค่ำคืนที่สวยงามและพลิ้วไหว (โดยยอดฝีมือนักออกแบบคิวบู๊อย่าง “หยวนวูปิง” ผู้อยู่เบื้องหลังคิวบู๊ของไตรภาค The Matrix (1999-2003), Kill Bill ทั้งสองภาค (2003-2004) และ Kung Fu Hustle (2004) เป็นต้น) ผู้กำกับ Ang Lee ย้อนเล่าถึงการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ในตอนนั้นว่า ” ผมวางแผนการถ่ายทำทุกอย่าง และหน้างานก็ไม่เป็นอย่างที่ผมวางแผนเลยสักอย่างเดียว อย่างเช่นฉากที่ถ่ายในทะเลทรายนั่นถ่ายยากมาก และในปี 1999 การถ่ายทำหนังสเกลใหญ่ในไต้หวันเป็นเรื่องยากครับ ทุกอย่างต้องทำใหม่ขึ้นมาหมด ทีมงานไม่ได้ถูกฝึกให้ทำหนังในสเกลใหญ่ขนาดนี้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หนังผมไม่ใช้หนังฟอร์มยักษ์หรอกครับ แต่พอมาถ่ายที่นี่ มันก็กลายเป็นหนังฟอร์มใหญ่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน…คุณแค่ต้องทำให้เต็มที่ แล้วหนังจะฮิตหรือเจ๊งก็ไม่สำคัญครับ”

  • นักแสดง: Yun-Fat Chow, Michelle Yeoh, Ziyi Zhang, Chen Chang
  • ผู้กำกับ: Ang Lee (Life of Pi, Brokeback Mountain, Lust, Caution)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 17/213 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 97% / 7.8/10

TRAINING DAY (2001) – อย่ามาหือกับอั๊ว

ก่อนจะมีผลงานเป็นหนังแอ็กชันที่ให้อารมณ์ขึงขังและนำแสดงโดยดาราผิวดำแบบฮิตเรียงกันหลายเรื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทั้ง Shooter (2007), Olympus Has Fallen (2013), The Equalizer ทั้ง 2 ภาค (2014-2018) และ The Magnificent Seven (2016) ผู้กำกับคนเก่ง Antoine Fuqua เคยทำหนังชิงรางวัลสุดเข้มข้น ที่นำแสดงโดยดาราคู่บุญของเขา Denzel Washington ใน Training Day (2001) เรื่องราวเกี่ยวกับตำรวจหน่วยปราบยาเสพติดทั้งสองคนที่มีความต่างกันอย่างสุดขั้ว คนนึงคือตำรวจรอบจัดประสบการณ์สูงผ่านศึกเหนือเสือใต้มาอย่างโชกโชนกับอีกคนที่เป็นตำรวจมือใหม่ผู้เถรตรง หนังส่ง Denzel Washington คว้าออสการ์ และ Ethan Hawke เข้าชิงสาขาสมทบชายยอดเยี่ยม

Training Day (2001)

Antoine Fuqua พูดถึงฉากปะทะอารมณ์ของตัวละครตำรวจของ Washington ที่กลายเป็นฉากที่ดีที่สุดของเรื่องว่า “การด้นสดในฉากนั้นมาจาก Denzel ล้วน ๆ ครับ ผมยังจำตอนที่ถ่ายฉากนั้นได้ เขาเริ่มต้นแล้วก็อารมณ์ทางการแสดงก็พุ่งขึ้นไปเรื่อย ผมยืนอยู่ข้างตากล้องเพื่อให้แน่ใจว่า เราได้ถ่ายฉากนั้นเก็บไว้แล้วจริง ๆ เพราะเราคงไม่มีทางถ่ายการแสดงแบบนั้นได้อีก พอสั่งคัท Denzel ก็เดินมาหาผมพร้อมกับพูดว่า “โว้ว ผมไม่รู้ว่าผมทำอะไรลงไป?” เขาใช้พลังเยอะมากกับฉากนี้ เราถ่ายกันด้วยกล้องที่โฟกัสชัดที่ตัวของเขา และผมก็เห็นมือของเขาสั่นไปหมด ส่วน Ethan Hawke ก็เคยโทรหาผมว่า “เพื่อน! คุณได้สร้างผู้ชมกลุ่มใหม่ให้กับผมแล้ว และพวกเขารู้จักผมก็จากหนังของคุณ มันเป็นหนังที่ยอดไปเลยว่ะ”

Antoine Fuqua in The Equalizer 2 (2018)
ผู้กำกับ Antoine Fuqua
  • นักแสดง: Denzel Washington, Ethan Hawke, Scott Glenn, Tom Berenger
  • ผู้กำกับ: Antoine Fuqua (The Equalizer, Olympus Has Fallen, The Magnificent Seven)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 45/104 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 72% / 7.7/10

THE ROYAL TENENBAUMS (2001) – ย่างเท้าสู่ MARGOT

Wes Anderson คือผู้กำกับที่สไตล์ของงานภาพ องค์ประกอบศิลป์ เครื่องแต่งกาย จัดจ้านและชัดเจนที่สุดของหนึ่งของยุคสมัยปัจจุบัน และ The Royal Tenenbaums (2001) ผลงานเรื่องที่ 3 ของเขา (ตามหลัง Bottle Rocket (1996) และ Rushmore (1998)) ก็กลายเป็นหนังที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขารางวัลบทดัดแปลงยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก ก่อนที่นับรวมจนถึงปัจจุบันนี้ เขาเข้าชิงไปแล้วทั้งหมด 7 สาขาจากหนัง 5 เรื่อง จาก Fantastic Mr. Fox (2009), Moonrise Kingdom (2012), The Grand Budapest Hotel (2014) และ Isle of Dogs (2018) นอกจากนี้ เอกลักษณ์อย่างนึงของหนังของเขาคือการจะต้องมี Bill Murray และสองพี่น้อง Wilson และนำแสดงนี่เอง

Danny Glover, Gene Hackman, Gwyneth Paltrow, Anjelica Huston, Ben Stiller, Luke Wilson, Jonah Meyerson, Kumar Pallana, and Grant Rosenmeyer in The Royal Tenenbaums (2001)
The Royal Tenenbaums (2001)

Luke Wilson เล่าถึงการทำงานในหนังเรื่องนี้ กับฉากที่ถ่ายเห็น Gwyneth Paltrow เดินอย่าง Slow Motion เข้ามาหาตัวละครของเขา “วันนั้นทั้งวันเราถ่ายฉากนี้อยู่ประมาณ 6-7 รอบได้ครับ จริง ๆ มันน่าจะเป็นแค่ “Margot ลงจากรถบัส แล้ว Richie ก็ไปรอรับเธอ” แต่พอฉากนี้กำกับอย่างเปี่ยมคุณภาพโดย Wes และไปอยู่ในการถ่ายทำแบบ 16 เฟรมต่อวินาที ภาพที่จับบนหน้า Gwyneth ที่เคลื่อนไปช้า ๆ ก็กลายเป็นความมหัศจรรย์ขึ้นมาทันที รวมกับบทเพลง “Heroin” ของ The Velvet Underground อีก พอผมเห็นฉากนี้ตอนที่เป็นหนังแล้ว ผมก็มั่นใจว่านี่คือหนังมหัศจรรย์ที่มีทั้งฉากแบบนี้ เพลงแบบนี้ Wes ได้ขโมยเพลงนี้ไปใช้ในหนังของเขาแล้วอย่างเด็ดขาด จะไม่มีใครใช้เพลงนี้ในหนังแล้วน่าจดจำได้เท่าเขาอีกแล้ว”

Luke Wilson in The Royal Tenenbaums (2001)
Luke Wilson ใน The Royal Tenenbaums (2001)
  • นักแสดง: Bill Murray, Ben Stiller, Gwyneth Paltrow, Owen Wilson, Luke Wilson, Anjelica Huston
  • ผู้กำกับ: Wes Anderson (The Grand Budapest Hotel, Moonrise Kingdom, Fantastic Mr.Fox)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 21/71 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 80% / 7.6/10

BOWLING FOR COLUMBINE (2002) – MOORE v HESTON

ถ้าจะมีใครครองตำแหน่งแชมป์นักทำหนังสารคดีการเมืองที่จิกกัดประธานาธิบดีและรัฐบาลอเมริกัน คนนั้นก็คือ Michael Moore ที่ทำหนังแนวนี้อยู่แนวเดียวมาเกือบ 20 ปี เขาได้รับรางวัลออสการ์จากสาขารางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากเรื่องนี้ในปี 2003 ก่อนที่กลับมาดังเปรี้ยงกับหนังสารคดีที่เข้าถึงผู้ชมวงกว้างมากที่สุดของเขา (และอาจจะมากที่สุดของประเภทหนังสารคดีด้วย) ใน Fahrenheit 9/11 (2004) ที่เหมือนลากประธานาธิบดี George W. Bush มาตบหน้ากลางสี่แยกในวันฝนตก (หนังทำรายได้ทั่วโลกไป 222 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างแค่ 6 ล้านเหรียญฯ และขอย้ำอีกทีว่านี่เป็นหนังสารคดี)

Bowling for Columbine (2002)

แม้ช่วงหลัง ๆ หนังสารคดีของเขาจะไม่ได้รับความนิยมแบบ 15-20 ปีก่อนที่ยังไม่ค่อยมีคนทำหนังสารคดีมากนัก (ทุกวันนี้ดูได้เยอะทางสตรีมมิงเกือบทุกเจ้า) แต่เขาก็ยังสร้างหนังอยู่ตลอด Moore เล่าถึง Bowling for Columbine โดยเฉพาะฉากที่เขาต้องพูดคุยเรื่องกฎหมายอาวุธปืนกับ Charlton Heston นักแสดงชื่อดัง (เสียชีวิตในปี 2008) ไว้ว่า

Michael Moore in Charlie Rose (1991)

“ตอนผมนั่งดูฉากนี้หลังถ่าย ผมก็ลำบากใจนะ เอาจริง ๆ ผมลำบากใจตั้งแต่ตอนนั่งพูดคุยกับเขาแล้วล่ะ แต่ผมไม่อาจจะตัดฉากนี้จากหนังได้ เพราะมันเปิดเผยถึงความเชื่อของเขาที่หนักแน่น (เรื่องการสนับสนุนกฎหมายอาวุธปืน) แต่ผมก็รู้สึกเสียใจที่กำลังเห็นผู้ชายที่ใช้เวลา 40 ปีเดินเคียงข้างการเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำของ Martin Luther King ก่อนที่วันนี้เขาจะกลายเป็นตาแก่ผิวขาวขี้โมโหที่เลือกจะ “ยิงก่อนถามทีหลัง” และสนับสนุนกฎหมายอาวุธปืน พอหนังเรื่องนี้ออกฉาย National Rifle Association พยายามใช้เงินวิ่งเต้นไม่ให้หนังฉาย ข่มขู่ผมสารพัด แต่พวกเขายิ่งทำ หนังผมก็ยิ่งทำเงิน…ตอนที่เราเริ่มทำหนังเรื่องนี้ ผมแค่ไม่อยากให้มีเหตุการณ์กราดยิงเหมือนที่โคลัมไบน์อีก แต่ดูทุกวันนี้สิ เหตุกราดยิงยังมีอยู่ทั่ว ผมถือว่าผมล้มเหลวในการทำหนังเรื่องนี้นะ”

  • นักแสดง: Michael Moore, Charlton Heston, Marilyn Manson, Dick Clark, Mike Bradley
  • ผู้กำกับ: Michael Moore (Fahrenheit 9/11, Fahrenheit 11/9, Sicko, Where to Invade Next)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 4/58 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 95% / 7.6/10

THE LORD OF THE RINGS: THE TWO TOWERS (2002) – GOLLUM v SMEAGOL

ตลอด 25 ปีที่ผ่านมาหนังมหากาพย์ไตรภาคที่สร้างจากหนังสือนิยายคลาสสิก คงไม่มีเรื่องไหนยิ่งใหญ่เท่า The Lord of the Rings (2001-2003) ที่ยังมีไตรภาค The Hobbit (2012-2014) ตามออกมาอีกรวมแล้วเป็น 6 ภาค โดยหนังภาคสุดท้ายของไตรภาคแรกได้รับยกย่องเทียบเท่า Ben-Hur (1959) และ Titanic (1997) ที่เข้าชิงออสการ์ 11 สาขารางวัลและคว้ากลับไปได้ทั้งหมดอันเป็นสถิติสูงสุดที่เคยมีมา ทั้งหมดต้องยกย่องวิสัยทัศน์ของ Peter Jackson ผู้กำกับที่เนรมิตภาพจากในหนังสือออกมาได้อย่างงดงามยิ่งใหญ่ ชนิดที่ไม่มีใครกล้าคิดว่าจะมีผู้กำกับหนังคนไหนทำได้ รวมถึงยังกล้าทุบ New Line Cinema ขอทุนสร้าง 300 ล้านเหรียญฯ มาทำหนังทีเดียวรวด 3 ภาคชนิดไม่กลัวเจ๊ง

Sean Astin, Elijah Wood, and Andy Serkis in The Lord of the Rings: The Two Towers (2002)
The Lord of the Rings: The Two Tower (2002)

หนังมีหลายฉากสงครามที่ยิ่งใหญ่และน่าจดจำ ชนิดที่ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ยังสนุก แต่ฉากที่สร้างความเหวอให้มากที่สุดสำหรับคนดูก็คือ การปรากฎตัวบุคคลิกที่สองของ Gollum ที่เป็นทาสรับใช้ที่แสนดีของ Frodo และ Sam ขณะเอาแหวนไปทำลายที่ภูเขาไฟ ในคืนนี้ Smeagol ร่างมนุษย์ (ที่ยังหลงเหลืออยู่) ของ Gollum ที่จ้องจะขโมยแหวนที่ Frodo ถือไว้กลับคืน Andy Serkis ผู้แสดงโมชันแคปเจอร์เป็น Gollum เล่าให้ฟังว่า

Andy Serkis in The Lord of the Rings: The Return of the King (2003)

“เราออกแบบตัวละครนี้ให้มีสองบุคคลิกมาตั้งแต่แรกครับ ตัวตนหนึ่งคือ Gollum ที่คนดูจะได้เห็นแต่แรก แล้วต่อมาพวกเขาก็จะได้เห็น Smeagol ยิ่งเขาอยู่กับ Frodo นานเข้า พลังของแหวนก็จะดึงด้านที่เป็น Smeagol ออกมา เหมือนกับน้องชายตัวเล็กที่ค่อย ๆ ถูกพี่ชายที่โหดร้ายข่มขู่และครอบงำ ซึ่งฉากนี้ก็เป็นการปรากฎตัวขึ้นแบบเต็ม ๆ ครั้งแรกของ Smeagol (คนดูจะได้เห็นเรื่องราวของ Smeagol ตอนยังเป็นมนุษย์ในตอนต้นของภาค 3 The Return of the King (2003)) ฉากนี้น่าสะพรึงขนาดที่รอบฉายปฐมทัศน์ในนิวยอร์ก ผมเห็นคนดูเกือบทั้งหมดเอนหลังพิงเก้าอี้และยึดขาเก้าอี้ไว้แน่น โรงหนังเงียบมากขนาดเข็มตกคงได้ยิน ในฐานะนักแสดงที่เล่นเป็น Gollum ผมประทับใจและเป็นประสบการณ์ที่พิเศษมาก”

  • นักแสดง: Viggo Mortensen, Cate Blanchett, Karl Urban, Liv Tyler, Hugo Weaving, Orlando Bloom, Elijah Wood, Andy Serkis
  • ผู้กำกับ: Peter Jackson (King Kong, The Hobbit Trilogy, The Lovely Bones)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 94/951 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB rating: 95% / 8.7/10

อ้างอิง

  • ถ้าอ่านตอนที่ 1 จบแล้ว ไปตามอ่านต่อ ตอนที่ 2 กันได้เลย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส