เสือ ธนพล คือหนึ่งในตำนานของวงการดนตรีไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานออกมาจากใจจนเข้าถึงจิตใจของผู้ฟังชาวไทยมาโดยตลอด ยังมีหลายเรื่องราวจากเขาที่เรายังไม่รู้จักมากนัก การพูดคุยครั้งนี้จะพาเราไปพบกับเส้นทางชีวิตของชายที่ชื่อ ‘เสือ ธนพล อินทฤทธิ์’ จากช่างทาสี สู่ฝ่ายอาร์ต สู่การเป็น Creative และ Art Director สู่การเป็นนักเขียนเพลง และ Producer สู่การขึ้นไปยังจุดสูงสุด กับการเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ ตั้งแต่อัลบั้มแรกในชีวิต ‘ทีของเสือ’ กับยอดขายที่เกินล้านตลับ จนถึงวันสุดท้าย.. ที่เขาตัดสินใจเดินออกจากอาร์เอส หลังจากทำงานมาได้เป็นเวลาสิบปี

[บทความนี้เรียบเรียงจาก ป๋าเต็ดทอล์ก EP.32 เสือ ธนพล กับจุดเริ่มต้น.. จนถึงวันสุดท้ายที่ RS ]

อัลบั้ม ทีของเสือ (2537) เป็นอัลบั้มแรกของเสือ ธนพล อินทฤทธิ์ หนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของไทยตลอดกาล เป็นอัลบั้มที่ลงตัวทั้งซาวด์ การเรียบเรียง การร้อง และการแต่งเพลงที่มีกลิ่นอายของเพลงเพื่อชีวิตเจือปน มีภาษาและเนื้อหาเป็นเอกลักษณ์ของตน และมีเนื้อหาของบทเพลงที่สะท้อนถึงปัญหาการใช้ชีวิตในสังคม และมุมมองการใช้ชีวิตอันกลั่นออกมาจากตัวตนของพี่เสือแล้วถ่ายทอดออกมาด้วยความตั้งใจจริง  

พี่เสือเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในทัศนะของพี่เสือแล้วเพลงกับตัวตนของศิลปินต้องเหมือนกัน เพลงที่พี่เสือชอบ จะมีความรู้สึกว่าศิลปินกับตัวเพลงจะเหมือนกันเลยเช่น Nirvana, The Eagles, อัสนี-วสันต์ หรือว่า คาราบาว เป็นต้น นอกจากนี้พี่เสือยังใช้เนื้อเพลงของศิลปินที่ตนเองศรัทธาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตด้วย เช่น เพลงคนจนผู้ยิ่งใหญ่ ของคาราบาว ที่ทำให้พี่เสือรู้สึกว่า ‘เราก็เป็นคนจนผู้ยิ่งใหญ่ได้เหมือนกันนี่’

พี่เสือมองว่าศิลปินนั้นมี 2 ประเภทกว้าง ๆ หนึ่งคือ นักร้องที่ไม่ได้สร้างเพลงเอง ประเภทนี้จะต้องมีคนมองเพลงแบบที่พูดด้วยตัวตนของนักร้องคนนั้นแล้วแต่งเพลงในแบบที่เข้ากันกับตัวนักร้องคนนั้นออกมา แต่ถ้าเป็นประเภทที่สองคือเป็นศิลปินที่ทำงานเพลงด้วยตัวเอง ศิลปินประเภทนี้จะเค้นเพลงจากสิ่งที่เขาเป็นและจะถ่ายทอดในสิ่งที่ศิลปินคนนั้นคิดได้มากกว่า เช่น ไปเจอคำ เจอประโยค หรือสิ่งที่ตัวเองรู้สึกก็สามารถนำมาเรียงร้อยเป็นบทเพลงได้เลย

สำหรับเพลงของพี่เสือแล้ว พี่เสือคิดจริง ๆ รู้สึกแบบนั้นจริง ๆ และต้องเป็นสิ่งที่เมื่อเวลาผ่านไปเรายังคงเป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่นเพลง ‘รักเดียวใจเดียว’ (จากอัลบั้มชุดที่ 3 คนใช้ชีวิต (2543) ) ถ้าหากแต่งเพลงนี้ แล้วมีเมีย 5 คน พี่เสือคงตอบตัวเองไม่ได้ว่าวันนั้นพูดอะไรออกมา ดังนั้นจากวันที่พี่ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค บอกให้พี่เสือแต่งเพลงนี้ ในตอนที่มีครอบครัวมีภรรยามีลูกแล้ว จนวันนี้พี่เสือก็ยัง ‘รักเดียวใจเดียว’ อยู่นั่นเอง

ส่วนอีกบทเพลงหนึ่ง คือเพลง ‘18 ฝน’ (จากอัลบั้มชุดแรก ทีของเสือ (2537)) บทเพลงถ่ายทอดด้านมืดของวัยรุ่น ก็เป็นบทเพลงที่มาจากประสบการณ์ในชีวิตจริงของพี่เสือ ซึ่งพี่เสือแต่งไว้นานแล้วก่อนที่จะเข้าไปทำงานในอาร์เอสเสียอีก เคยมีช่วงหนึ่งในชีวิตของพี่เสือที่พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อย พอในวันนี้ที่อายุมากขึ้นหันกลับไปมองก็คิดว่าคงเป็นธรรมดาของผู้ใหญ่ แต่ตอนเป็นเด็กนั้นภาพมันฝังอยู่ในใจ เพลงนี้พี่เสือตั้งใจแต่งเพื่อให้กำลังใจกับคนที่เจอเรื่องแบบนี้  พี่เสือจำความรู้สึกนั้นได้เป็นอย่างดีแล้วก็เขียนมันออกมา

พี่เสือเกิดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ คุณพ่อเป็นคนอีสาน คุณแม่เป็นคนกรุงเทพ ฯ แต่ไปอยู่อีสานกับคุณพ่อ คุณพ่อเป็นข้าราชการ ส่วนคุณแม่เป็นแม่ค้าขายข้าวแกง พี่เสือเลยเห็นความยากจนและชีวิตที่ยากลำบากมาแต่เด็ก จะมีเสื้อผ้านักเรียนใหม่ ต้องเก็บจากค่าข้าวแกงทีละวัน ๆ

พี่เสือเริ่มเล่นดนตรี เล่นกีตาร์ครั้งแรกตอนปิดเทอม ป. 7 ขึ้น ม.ศ.1 ยืมกีตาร์เพื่อนมาหัด เห็นเพื่อนเล่นเก่งก็เฝ้าเวียนไปให้เพื่อนสอน และยืมมาเล่นที่บ้าน ตั้งแต่เริ่มหัดเล่นกีตาร์พี่เสือก็ไม่เคยหยุดเล่นอีกเลย และก็ตั้งวงกับเพื่อน ๆ ตอนช่วงที่เรียนอยู่ระดับชั้น ม.ศ. 1

The Beginning ณ จุดเริ่มต้น

จากนั้นพี่เสือก็ตั้งวงเล่นดนตรีอยู่ในจังหวัด บรรยากาศวงการเพลงช่วงนั้นเต็มไปด้วยเพลงฝรั่ง เพลงไทยเล่นน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นลูกทุ่ง ลูกกรุง หรือเพลงของ ดิ อิมพอสซิเบิ้ล เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคอร์ดยากเล่นไม่ได้ ส่วนใหญ่พี่เสือและวงจะเล่นเพลงฝรั่งหมด เริ่มมีไปประกวดในจังหวัดได้รางวัลชนะเลิศและกลายเป็นวงประจำจังหวัดชื่อดัง จากนั้นจึงเริ่มรวมเป็นวงใหญ่ขึ้นเล่นตามคาเฟ่ รับจ้างเล่นตามงานปาร์ตี้ ซึ่งบรรยากาศมันส์มาก วัยรุ่นสมัยนั้นจะนิยมใส่เสื้อหนังเป็นแก๊งเท่ ๆ กัน  

ต่อมาเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย พี่เสือเลือกที่จะเรียนต่อด้านสถาปัตย์ เพราะสำหรับพี่เสือสิ่งที่มาควบคู่กับนอกจากดนตรีก็คือศิลปะ ชอบศิลปะ ชอบเขียนรูป และได้เลือกสอบเข้าที่ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกกันว่า ‘เทคโนโคราช’ ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ดังมาก พอสอบเข้าได้ พี่เสือก็ได้ใช้ชีวิตนักศึกษาอยู่ 5 ปีได้ใช้ชีวิตฮิปปี้เต็มที่

The Incubation จุดที่บ่มเพาะ

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นรายล้อมไปด้วยรุ่นพี่ที่มีความเป็นศิลปินสูง และแต่ละคนก็ได้กลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นวงคาราวานเกือบทั้งวง ที่เรียนคณะออกแบบ, พี่ติ๊ก ชีโร่, พี่หมู พงษ์เทพ, วงอินโดจีน, สำหรับพี่เสือแล้ว ช่วงเวลา 5 ปีที่เทคโนโคราชคือ ช่วงเวลาแห่งการบ่มเพาะความเป็นฮิปปี้  จากการมีรุ่นพี่ติสต์ ๆ ได้ไว้ผมยาว เปิดเพลงล้ำ ๆ ฟังไม่ว่าจะเป็น Pink Floyd ที่ชอบเปิดฟังขณะเขียนแบบ The Alan Parsons Project , King Crimson ที่ได้รับอิทธิพลการฟังมาจากรุ่นพี่ เรียกได้ว่าครบเครื่องเรื่อง ‘5 ย’ ในยุคนั้นคือ ผมยาว รองเท้ายาง กางเกงยีนส์ สะพายย่าม และใส่เสื้อยับ

คำนิยาม ‘ฮิปปี้’ ในแบบของพี่เสือก็คือ ชอบศิลปะ ผมยาว ชอบฟังเพลง มีดนตรีเป็นแสงนำในการทำทุกอย่าง เวลาเขียนแบบถ้าไม่เปิดเพลงฟังไปด้วยนี่ไม่ได้เลย การฟังเพลง การเล่นกีตาร์ เล่นดนตรี และรู้เรื่องวงฝรั่งที่ชอบนี่คือความเป็นฮิปปี้ในแบบของพี่เสือ

ในช่วงเวลานั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่พี่เสือเริ่มแต่งเพลง และมีเพลงอยู่หลายเพลงที่อยู่ในอัลบั้ม ‘ทีของเสือ’ ด้วย ช่วงที่เรียนเทคโนโคราช สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นและนำพาให้พี่เสืออยู่มาตรงจุดนี้ได้ ก็คือ การมีวงดนตรีที่ชื่อว่าวง ‘เฉียงเหนือ’  ซึ่งพี่เสือรับตำแหน่งมือกีตาร์ของวง เป็นวงแบ็กอัปรวมถึงร่วมเล่นกับวงอื่นตระเวนเล่นทั่วไปตามพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พี่เสือเล่าว่าวงนี้มีนักร้องนำเป็นโปลิโอขาสองข้างเดินไม่ได้ ไว้ผมยาว และเล่นเพลงคาราบาวเหมือนมาก งานนึงไปเล่นเปิดคอนเสิร์ตของคนด่านเกวียน อาจารย์สีเผือกเห็นวงเฉียงเหนือเล่น เลยชวนไปทัวร์อีสานเล่นเป็นวงเปิด  ทำอยู่พักใหญ่ ๆ แต่ไม่ได้คิดเรื่องรายได้เลย จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าได้เท่านั้น รู้สึกแค่อยากเล่น และเริ่มคิดอยากจะเป็นศิลปิน เป็นความฝัน วงเฉียงเหนือมีแต่งเพลงของตัวเองไว้บ้างและเคยขโมยอัดเดโมในคาเฟ่ที่ทำงาน ซ้อมกันมาอย่างดีไม่ให้มีผิดพลาด รอเถ้าแก่ยังไม่มา ก็รีบอัดรีบเล่นรอบเดียวอัดเดโมครบ 10 เพลง ตั้งใจทำกันไว้เผื่อวันนึงข้างหน้ามีโอกาสนำเสนอ แต่สุดท้ายแล้วเฉียงเหนือก็ไม่มีโอกาสนำเสนอผลงานให้กับค่ายไหนเลย ทั้ง ๆ ที่ใกล้ชิดศิลปิน แต่อาจเพราะไม่กล้าในเวลานั้น และแค่อุ่นใจที่มีเพลงของตัวเอง และเพ้อฝันกับมันไปเรื่อย ทำเพราะอยากทำและรู้สึกว่าเราทำได้และมีความสุขที่ได้อยู่กับเพื่อนที่ชอบเล่นดนตรีมาด้วยกัน

พอจบ 5 ปีที่สถาปัตย์ แหล่งบ่มเพาะความเป็นฮิปปี้ ก็ได้มีรุ่นพี่ คือ พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ซึ่งสนิทกันกับพี่เสือมากอีกทั้งยังเป็นพี่รหัสอีกด้วย ได้ชวนพี่เสือให้เข้าไปทำงานที่อาร์เอสด้วยกัน พี่เสือรู้ดีว่าพี่ปรัชญาลูกบ้าเยอะแค่ไหน เพราะทำกิจกรรมกันมาตั้งแต่เรียน พี่ปรัชญาเข้าไปอาร์เอสไปเป็นครีเอทีฟจึงชวนพี่เสือมาช่วยทาสีฉาก MV วงเรนโบว์เป็นงานแรก

Period of Learning สู่มหาวิทยาลัย…อาร์เอส

ในช่วงแรกที่เข้าทำงานในอาร์เอส พี่เสือจำได้ว่าได้ค่าจ้างประมาณ 120 บาท ในตอนนั้นยังไม่ได้ทำงานออกแบบ เป็นเด็กทาสีอย่างเดียวเลย เป็นก้าวแรกในวงการ ในช่วงเวลานั้น ‘เรนโบว์’ เป็นวงที่ดังมาก ตอนนั้นพี่เสือยังไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองก้าวเข้าไปในวงการบันเทิงแล้ว แค่รู้สึกว่ามันเป็นงาน และได้ทำมาเรื่อยๆ 

จนได้เป็นพนักงานประจำของอาร์เอส ตอนนั้นคนยังน้อยมาก คนนึงต้องทำหลายงาน เป็นประเภทมัลติฟังก์ชัน อยู่ในสายงานอาร์ต รุ่นพี่สั่งให้ทำอะไรก็ทำ เป็นลูกมือเขาก่อน จากนั้นจึงขยับขึ้นมาทำงานออกแบบดีไซน์ตามที่ได้เรียนมา นอกจากงานฝ่ายศิลป์แล้วพี่เสือยังมีโอกาสได้เขียนสปอตวิทยุ คุมอัดและตัดสปอต ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคนมีชื่อเสียงอย่าง พี่เปิ้ล หัทยา ได้ความรู้เยอะมาก

ช่วงเวลานั้นอาร์เอสเหมือนเป็นโรงเรียนที่สอนทุกอย่างให้กับพี่เสือ ด้วยความที่อาร์เอสในสมัยนั้นยังอยู่ห้องแถว พนักงานก็น้อย พี่เสือจึงเริ่มได้ทำหน้าที่สำคัญเรื่อย ๆ พี่ ๆ เฮีย ๆ ก็ให้โอกาส งานอาร์ตแรกคือปกของวงปุยฝ้าย

ช่วงนั้นคีรีบูน ฟรุตตี้ เรนโบว์ มาแล้วและกำลังดังมาก ช่วงเวลานั้นแต่ละค่ายเพลงก็มีแนวทางของตนเองเช่น พอปร็อกคือ ‘แกรมมี่’ พอปล้วนคือ ‘อาร์เอส’ กึ่งลูกทุ่ง แมส ๆ ก็จะเป็น ‘นิธิทัศน์’  รวม ๆ จะเป็น ‘รถไฟดนตรี’ ส่วนถ้าออกไปทางครีเอทีฟหน่อย ก็ ‘คีตา’ ยักษ์ใหญ่ในยุคนั้นมีอยู่ไม่กี่แบรนด์ พี่เสือจำได้ว่าตอนเฮียฮ้อ (สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)) บอกให้ออกแบบปกอัลบั้มพี่เสือยังไม่รู้เลยว่ามันทำยังไง ยังไม่รู้ว่าอาร์ตเวิร์กของปกแผ่นเสียงต้องทำยังไง อันแรกที่ไปส่ง เฮียหัวเราะบอกมันไม่ได้ทำแบบนี้ พี่เสือไปวาดมาเต็มที่แต่ผิดหมดเลย ก็เลยไปทำมาใหม่ พี่เสือนับถือเฮียมากที่ไม่ดุไม่ด่า แต่กลับให้โอกาสให้ลองทำอยู่เสมอ ‘ไอ้นี่ทำไม่เป็นยังขยัน มึงเจ๋ง’ พี่เสือเลยไปซื้อตำราอาร์ตเวิร์กและกลับมาทำใหม่จนสำเร็จ และต่อแต่นั้นมาก็ได้ออกแบบปกแผ่นเสียงอีกเยอะมาก อาทิ ‘ให้มันแล้วไป’ ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกและอัลบั้มแจ้งเกิดของ อิทธิ พลางกูร แม้แต่โลโก้ของอิทธิ พี่เสือก็เป็นคนดีไซน์

พี่เสือจัดการทั้งหมดทั้งออกแบบปก ทั้งพาไปถ่าย จัดไฟ สมัยนั้นทำงานอาร์ตนั้นยากเพราะไม่มีคอมพิวเตอร์ กล้องต้องถ่ายจากฟิล์มด้วยความแม่นยำ ไม่ใช่ยิง ๆ ไปโดยไม่คิด  เมื่อถ่ายเสร็จแล้วก็มาเลือกเอา ฟิล์มต้องมีการเซ็นเบิก ถ่ายเสร็จก็ต้องเอาไปล้าง ไปนั่งรอดูในห้องล้าง ต้องเลือกดูจากฟิล์มว่าจะเอาอันไหนมาพรินต์ อาร์ตเวิร์กสมัยนั้น ต้องเขียนด้วยมือก่อน แล้วต้องไปสั่งร้านพิมพ์กำหนดฟอนต์ทีหลัง แล้วเอามาตัดมาแปะ ถ้าพลาดสั่งพรินต์ใหม่เท่ากับกำหนดเทปก็ต้องเลื่อนออกไปอีก ส่วนอัลบั้มอื่น ๆ ที่พี่เสือได้มีโอกาสออกแบบก็มีอัลบั้มชุดที่ 6 ของ ฟรุตตี้ ‘วันที่รอคอย’ ของ อ๊อด คีรีบูน วงโฮป อัลบั้ม ‘เพื่อนแท้’ ภาพลูกปัดที่เห็นบนปกก็เป็นลูกปัดที่พี่เสือแขวนไว้ที่คอ

“ใครที่จบโรงเรียนนั้นมาคุณจะทำได้หลายอย่างมาก และทุกวันนี้ก็เติบโตมาเป็นผู้บริหารกันหมด คุณจะรับความกดดันได้เยอะมาก”

ในช่วงที่พี่เสือได้ออกแบบปกพี่อิทธิ ตอนนั้นพี่เสือได้เขียนเพลงให้พี่อิทธิด้วย ซึ่งต่อมาบทเพลงนี้ได้เป็นหนึ่งในเพลงที่ดังที่สุดของพี่อิทธิ นั่นก็คือเพลง ‘เก็บตะวัน’ นั่นเอง

ก่อนจะมาถึงจุดที่ได้ทำงานออกแบบปกอัลบั้ม พี่เสือได้ทำงานมาหลายอย่าง ในช่วงที่ทำงานกับวงเรนโบว์พี่เสือได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่ในห้องอัดเสียง ได้แอบเรียนรู้วิธีใช้เครื่องอัดเสียงว่าเค้าทำกันยังไง การอัดเสียงทำยังไง เรียนรู้จากการแอบดู แอบทำ ในสมัยนั้นการบันทึกเสียงยังใช้เทปอนาล็อกอยู่ ไม่มีคอมพิวเตอร์ คอมในยุคนั้นยังรันอยู่บนระบบดอสอยู่เลย มีแต่ตัวหนังสือ ไม่มีรูป ไม่มีเมาส์ ต้องใช้ระบบคำสั่งเอา

อาจารย์ที่ทำดนตรีให้กับวงเรนโบว์ มีแต่ปรมาจารย์ทั้งนั้นหนึ่งในนั้นคือ อาจารย์ ปราจีน ทรงเผ่า  หัวหน้าวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ยุคนั้นอาร์เอสไม่มีคนใน เวลาทำงานแต่ละอัลบั้มก็มักใช้เอาท์ซอร์สจากภายนอก ที่ประจำก็มีเพียง อ.ปราจีน ทรงเผ่า ซึ่งเป็นคนที่มีฝีมือระดับปรมาจารย์ หากเราได้ฟังงานเพลงในยุคนั้น เราจะได้สัมผัสกับดนตรีอันละมุนละไมที่เป็นเพลงพอปชั้นสูงในยุคนั้น นั่นจึงเป็นโอกาสอันดีที่พี่เสือได้เรียนรู้ซึมซับจากผู้มีประสบการณ์และการทำงานในห้องอัดเสียง

ต่อมาเมื่อพี่เสือได้มีโอกาสทำงานเพลงของตัวเอง และปล่อยอัลบั้มแรก ‘ทีของเสือ’ ออกมาและได้กลายเป็นตำนานหน้าใหม่ ณ ขณะนั้น หากถามว่าในตอนที่กำลังทำอัลบั้มอยู่นั้นพี่เสือรู้หรือไม่ว่าต่อไปมันจะเป็นอัลบั้มสำคัญที่ประสบความสำเร็จขนาดนี้ พี่เสือเชื่อว่าช่วงที่ทำไม่มีใครรู้ว่ามันจะสำเร็จ เพราะการที่ผลงานใดผลงานหนึ่งจะสำเร็จได้นั้นต้องมีองค์ประกอบเยอะมาก ต้องมีช่วงเวลาที่ดีที่เหมาะสม มีโชค มีโอกาส เยอะแยะไปหมด เพลงดี ร้องดี อย่างเดียวนั้นไม่สามารถการันตีได้ว่าจะประสบความสำเร็จ

Turning Point จุดเปลี่ยน

จุดเริ่มต้นที่พี่เสือได้เข้ามาสู่เส้นทางสายดนตรี ได้เริ่มทำงานเพลงนั้น เกิดขึ้นในตอนที่พี่เสือได้มีโอกาสเขียนเพลง ‘เก็บตะวัน’  ให้กับพี่อิทธิ พลางกูร พี่เสือได้เขียนเพลงนี้ในช่วงที่จะขมวดจบอัลบั้มพอดี ตอนนั้นพี่อิทธิรู้ว่าพี่เสือมีความสามารถ ทำงานอาร์ตได้ เล่นกีตาร์ได้ พี่อิทธิมีเพลงสุดท้ายที่ยังไม่มีเนื้อ พี่เสือจึงบอกกับพี่อิทธิว่า ‘ขอผมลองได้มั้ยเพลงนี้’ พี่อิทธิบอกว่าได้ แต่ว่าต้องเสร็จภายในวันหรือสองวัน เพราะถึงกำหนดต้องออกอัลบั้มแล้ว พี่เสือจึงกลับไปเขียนใช้เวลาวันสองวันจนเสร็จออกมาทันกำหนดส่ง เพลง เก็บตะวัน ที่พี่เสือเขียนนั้นมีความงดงามทั้งทางด้านเนื้อหาและภาษาที่เรียงร้อยถ้อยคำได้อย่างกลมกล่อมลงตัว เป็นบทเพลงแฝงปรัชญาการใช้ชีวิต มีความเป็นกวี มีการเปรียบเทียบ เปรียบเปรย ณ วันที่เขียนพี่เสือไม่ได้คิดอะไรเลย นอกจากฟังเมโลดี้และสิ่งที่อยู่ในตัว สิ่งที่มันกำลังบอกว่าเวลามาถึงแล้ว ความฝันที่เคยอยากอยู่ในวงการ ความฝันที่อยากทำปก อยากมีโอกาสเป็นนักแต่งเพลงที่คิดว่าทำได้มาตลอดนั้นมาถึงแล้ว พี่เสือจึงแปลความรู้สึกนี้ออกมาเป็นพลังที่หลั่งไหลออกมาเองตามธรรมชาติ เขียนออกมาโดยที่ไม่รู้ว่าพี่อิทธิกับเฮียฮ้อจะชอบมั้ย เพราะมันไม่ใช่เพลงรัก หรือเพลงในแนวที่จะทำให้ฮิตได้เลย แต่สุดท้ายพอได้ให้พี่อิทธิฟังพี่อิทธิกลับชอบมาก

จากนั้นมางานพี่เสือจึงเริ่มได้รับงานแต่งเพลงมากขึ้น ไม่ค่อยได้ทำอาร์ตแล้ว ตอนนั้นพี่เสือมีประสบการณ์ผ่านกองถ่าย mv มาเยอะแล้ว เหมือนได้เรียนรู้การทำค่ายเพลงทุกกระบวนการ เลยได้ย้ายตนเองจากทางอาร์ตมาทางเพลง เริ่มจากการเป็นนักแต่งเพลงแล้วขยับมาเรื่อย ๆ จนได้เป็นโปรดิวเซอร์ อัลบั้มแรกที่พี่เสือทำก็คือ อัลบั้มแรกของ  ‘แร็พเตอร์’ ฮิปฮอปดูโอลูกครึ่ง (ตามสมัยนิยม) ผู้นำแฟชั่นและกีฬา X-Tream

เมื่อลองดูสิ่งที่แร็พเตอร์เป็นแล้ว เราอาจรู้สึกว่ามันช่างแตกต่างจากความเป็นพี่เสือเหลือเกิน แต่ด้วยความที่พี่เสือเป็นคนเปิดกว้าง ชอบเรียนรู้ ฟังเพลงหลากหลายประเภท เห็นความงาม ความไพเราะในบทเพลงแต่ละแนว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของคนทำงานด้านดนตรีโดยเฉพาะโปรดิวเซอร์ จึงทำให้พี่เสือสามารถทำงานเพลงพอปแบบแร็พเตอร์ให้ออกมาโดนใจผู้ฟังได้

“เพราะผมชอบฟังครับ ฮิปฮอปก็ชอบฟัง ผมฟังหลายอย่างมาก เห็นความงามของบทเพลง เห็นความไพเราะของมัน คุณสมบัติสำคัญของคนทำงานด้านนี้ที่ควรจะเปิดกว้าง”

อัลบั้มชุดแรกของ แร็พเตอร์ ใช้ชื่อเดียวกับวงว่า ‘แร็พเตอร์’ ออกวางจำหน่ายในปี 2537 นอกจากพี่เสือจะ มาเป็นโปรดิวเซอร์แล้ว ยังแต่งเพลงรวมถึงท่อนแรปให้อีกด้วย โดยคอนเซ็ปต์ของอัลบั้มออกมาในรูปแบบของดูโอสองลูกครึ่ง จอนนี่ อันวา และ หลุยส์ สก็อต ที่มีอายุเพียง 10-11 ปี มาร้องเพลงแรป แต่งตัวฮิปฮอป ใกล้เคียงกับวง Kris Kross ของสหรัฐอเมริกา โดยชื่อ “แร็พเตอร์” ได้มาจากไดโนเสาร์พันธุ์เวโลซีแรปเตอร์ ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง ‘Jurassic Park’ ที่กำกับโดยสตีเวน สปีลเบิร์ก จากฉากที่ไดโนเสาร์พันธุ์นี้วิ่งไล่เด็ก ๆ ในเรื่องอีกทั้งยังเข้ากับคาแรกเตอร์ของเด็กน้อยทั้งสองที่เมื่อพี่เสือได้ลองคุยดูแล้วจึงพบว่าไม่ใช่เด็กเรียบร้อย มีความร้ายความเป็นขบถอยู่ในตัว เพลงในอัลบั้มชุดแรกส่วนใหญ่จะเป็นการนำเพลงฮิตของศิลปินรุ่นพี่ที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว มาทำใหม่โดยเพิ่มท่อนแรปเข้าไป เช่น เพลง ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ มาจากเพลง ‘บอดี้การ์ด’ ของ สมชาย เข็มกลัด หรือ เพลง ‘ลื่นมากเชื่อยาก’ มาจากเพลง ลื่น ของ ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง นอกจากนี้ยังมีเพลงช้าที่แต่งใหม่มาอีก 2 เพลงคือ ‘คิดถึงเธอ’ และ ‘คำว่าเพื่อน’ ซึ่งบทเพลงเหล่านี้ได้กลายเป็นเหมือนภาพจำที่คนจะนึกถึงเมื่อพูดถึงแร็พเตอร์ในวัยเด็ก

ในตอนนั้นทั้งจอนนี่ และ หลุยส์ ต่างไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้เลย ต้องเขียนเนื้อไทยเป็นภาษาคาราโอเกะ ฝึกหลายเดือนมากจึงจะได้อัดเสียง พี่เสือจะให้ทั้งสองคนมาหาทุกเย็น ให้ฝึกจนกว่าจะทำได้เลยเกิดความสนิทสนมกันจนทั้งสองคนมักเรียกพี่เสือว่า ‘แดดดี้’  

ผลงานที่ออกมานั้นลงตัวมากทั้งภาพลักษณ์ของศิลปินผม  เนื้อหาของเพลง ดนตรี และตัวเมโลดี้ประสานกันอย่างลงตัวและฟังได้ไม่ยากเกินไป และมีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นตะวันตก บวกกับความน่ารักของทั้งคู่ จึงทำให้ผลงานชุดนี้ประสบความสำเร็จและเป็นผลงานแจ้งเกิดของ ‘แร็พเตอร์’ จนทำให้ทั้งคู่ได้กลายเป็นหนึ่งในพอปไอดอลที่โด่งดังในประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทย

และในปีนั้น (2537) เหมือนเป็นปีทองของพี่เสือ เพราะในปีนั้นนั่นเองที่พี่เสือได้ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของตัวเอง 

The Big Chance โอกาสครั้งสำคัญ

การเปลี่ยนผ่านจากคนเบื้องหลังมาเป็นศิลปินเดี่ยวของพี่เสือนั้นเริ่มจากช่วงก่อนที่จะทำอัลบั้ม พี่เสือได้ทำงานเป็นนักแต่งเพลงมานานแล้ว และจะมีการร้องไกด์ว่าเพลงที่แต่งนั้นร้องอย่างไร เฮียฮ้อพอได้ฟังบ่อยเข้าจึงถามพี่เสือว่ามีเพลงของตัวเองมั้ย ว่าง ๆ ช่วยเอามาให้ฟังหน่อย และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของอัลบั้ม ‘ทีของเสือ’

ปกอัลบั้ม ‘ทีของเสือ’

เหมือนฝันไปพี่เสือไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ และเพลงที่พี่เสือมีอยู่นั้นมันไม่น่าจะเป็นเพลงที่ขายได้เลยสักเพลง ไม่มีเพลงรัก ถ้ามีก็เป็นเพลง ‘รักคงยังไม่พอ’ ซึ่งเป็นเพลงรักสุดเศร้าของคนสู้ชีวิต ไม่ใช่รักหวาน ๆ ของวัยรุ่นเลย แต่สุดท้ายแล้วเพลงนี้นี่ล่ะที่เป็นเพลงแจ้งเกิดให้กับพี่เสือ เพลงส่วนในอัลบั้มล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่พูดในสิ่งที่พี่เสือเคยผ่านพบมาในชีวิตทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น รักคงยังไม่พอ, กระดาษห่อไฟ, ชีวิตหนี้, เรือลำหนึ่ง, 18 ฝน เป็นต้น

พอได้รับโอกาสจากเฮียฮ้อ พี่เสือก็กลับไปรวบรวมเพลงที่พี่เสือเคยแต่งไว้ซึ่งมีเยอะแยะไปหมด ในตอนนั้นพี่เสือบอกกับตัวเองว่า ‘นี่ความฝันกำลังจะเป็นจริงใช่มั้ยเนี่ย’ ในตอนนั้นไม่มีศิลปินที่มีภาพลักษณ์แบบนี้ และมีเนื้อเพลงที่หดหู่แบบนี้ เพราะช่วงนั้นตลาดเพลงพอปกำลังครองเมือง แต่นี่กลับเป็นเรื่องดีที่ทำให้อัลบั้ม ทีของเสือ พิเศษกว่างานอื่น ๆ ในตลาด ณ ยุคนั้น

ในการที่จะเกิดงานมาสเตอร์พีซขึ้นมาชิ้นหนึ่ง องค์ประกอบที่จะทำให้มันสำเร็จก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องพวกนี้ ความแตกต่างจากความนิยมทั่วในยุคนั้น แต่กลับลงตัวและถูกที่ถูกเวลา ซึ่งพอจะทำอีกที องค์ประกอบมันก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว เฟิร์สอิมเพรสชั่นของคนฟังก็เปลี่ยนไป การจะให้รู้สึกเหมือนเดิม ทำได้เหมือนเดิมกับทุกคน มันเป็นเรื่องยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะก็มีหลายศิลปินที่ยังคงสร้างชิ้นงานมาสเตอร์พีซได้อยู่แม้เวลาล่วงเลยเปลี่ยนผ่านไปหลายยุคสมัย แต่เราสามารถยืนยันได้อย่างหนักแน่นว่า ‘ทีของเสือ’ นั้นคือมาสเตอร์พีซของวงการเพลงไทยจริง ๆ ทั้งในด้านเนื้อหา ดนตรี วิธีร้อง องค์ประกอบทั้งหมดมันใหม่ไปหมด และลงตัวด้วยความที่มันอยู่กึ่งกลางระหว่าง เพลงเพื่อชีวิต-ร็อก-พอป ดนตรีที่พี่เสือชอบและตัวตนของพี่เสือนั้นรวมอยู่ในตัวงานชิ้นนี้ทั้งหมด

พอเอามาสเตอร์ไปให้เฮียฮ้อฟัง ‘รักคงยังไม่พอ’ คือเพลงรักเพลงเดียวในอัลบั้ม เป็นเพลงรักอีกมุมหนึ่งที่แตกต่างจากเพลงรักทั่วไปในยุคนั้น เป็นรักที่ล้นเกินคำว่ารัก จึงไม่ยอมให้คนที่รักมาลำบากด้วย เฮียฮ้อพอได้ฟังก็ตัดสินใจใช้เพลงนี้ในการโปรโมท จนประสบความสำเร็จ แจ้งเกิดศิลปินที่ชื่อ เสือ ธนพล และอัลบั้มชุดนี้สามารถทำยอดขายได้ล้านก๊อปปี้ทั้งเทปและซีดี เป็นการเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

“ผมยังจำวันแรกที่ผม ‘ดัง’ ได้อยู่เลย ผมขับรถไปทำงานจำได้ว่า วันนี้เทปก็จะวางแผง ลูกก็จะเกิด เป็นวันยุ่ง ๆ สำหรับผม บนถนนเพชรบุรี ข้างทางร้านขายเทปเยอะมาก หันไปมองก็เห็นเทปเราเยอะไปหมด มีโปสเตอร์รูปเรา เปิดเพลงของเราทุกร้าน เปิดวิทยุก็ได้ยินเพลงตัวเอง นี่ใช่มั้ย ความรู้สึกแรกที่จะดังจะเป็นศิลปิน ผมเลยจำไว้ว่ามันเป็นแบบนี้”

At Peak ณ จุดที่สูงที่สุด

หลังจากนั้นมา เหมือนทุกอย่างมันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนแทบไม่รู้ตัว จู่ ๆ งานก็พุ่งเข้ามา เป็นพนักงานอยู่ดี ๆ งานที่ทำอยู่ก็ต้องแจกจ่ายให้คนอื่นทำ ทั้งทัวร์ ทั้งโปรโมต งงกับสิ่งที่เข้ามาไปหมด มันแสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนของวงการเพลงไทย ว่าการเป็นศิลปินไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดิม มันสร้างความหลากหลายขึ้น เป็นแรงบันดาลใจของคนเบื้องหลังว่าสามารถก้าวมาเบื้องหน้าได้

“สิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดต่อวงการเพลงที่ผมเคยทำมา ผมว่ามันคือสิ่งนี้ คือการทำให้น้อง ๆ รุ่นหลังได้มีโอกาส”

จุดพลิกผันตรงนี้ ถ้าถามพี่เสือ ในแง่จิตวิญญาณ พี่เสือพบว่ามันยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากวันแรก พี่เสือเข้าใจดีว่ามันคืออะไร และเคยเตือนน้อง ๆ เสมอว่าเวลาที่มันเข้ามาต้องทำตัวยังไงบ้าง

“จิตวิญญาณตัวตนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เปลี่ยนคือความรับผิดชอบที่มีมากขึ้น ในการพูด ในการแสดงความคิดเห็น จะพูดทุกอย่างอย่างที่คิดไม่ได้ แต่ต้องคิดทุกอย่างก่อนที่จะพูดออกไป”

แต่แล้วในขณะที่ทุกคนกำลังรอคอยงานเพลงชุดที่ 2 พี่เสือก็ได้ตัดสินใจลาออกจากอาร์เอส

The Decision การตัดสินใจครั้งสำคัญ

พี่เสือให้เหตุผลถึงการลาออกจากอาร์เอสในครั้งนั้นว่ามันเป็นเรื่องของการทำงาน

“พอวันนึงจุดนั้นมาถึง มันไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพราะตัวเรา ตัวเขา หรือว่าเพราะอะไร ก็เหมือนกับองค์ประกอบที่ทำให้เราดังนั่นล่ะ มันบอกไม่ได้ สำหรับผมนะครับเฮียสอนผมเยอะมาก ถ้าเราทำบริษัทศิลปินมาแล้วก็ไป แต่บริษัทต้องอยู่ มันเป็นธรรมชาติของการทำงานในเส้นทางสายนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องทะเลาะกัน บางคนอาจใช้คำว่าอิ่มตัว ความคิด มุมมองเปลี่ยนไป นั่นคือเหตุผลต่าง ๆ นานา จริง ๆ แล้วมันก็คือการทำงาน วันนึงก็ต้องมาจุดนี้ มาถึงจุดนึงที่บริษัทก็อยากเปลี่ยนแปลง เราก็อยากเปลี่ยนแปลง เราไม่มีทางที่จะพูดได้ง่าย ๆ ว่าจุดนั้นมันคืออะไร”

แต่การจากกันครั้งนี้พี่เสือถือว่าเป็นการจากกันด้วยดี ด้วยความเข้าใจและยังคงไว้ด้วยความรู้สึกขอบคุณและสำนึกในบุญคุณที่พี่เสือได้รับจากอาร์เอส

“อาร์เอสมีบุญคุณกับผมเยอะมาก ลงทุนกับคนคนนึงตั้งเท่าไหร่ให้เกิดขึ้นมา อาร์เอสเป็นผู้ให้กำเนิด ผมไม่เคยลืมบุญคุณเลยจนวันนี้”

และแล้วก้าวต่อไปของพี่เสือก็เกิดขึ้นที่ ‘แกรมมี่’…

To Be Continued…

Source

EP.32 เสือ ธนพล กับจุดเริ่มต้น.. จนถึงวันสุดท้ายที่ RS | ป๋าเต็ดทอล์ก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส