[รีวิว] Goedam ผีบ้าน ผีเมือง: ท้าให้ดู คนเดียว คืนนี้

Release Date

20/08/2020

ความยาว

8 ตอน (ตอนละ 8-10 นาที)

สัญชาติ

เกาหลี

[รีวิว] Goedam ผีบ้าน ผีเมือง: ท้าให้ดู คนเดียว คืนนี้
Our score
7.8

Goedam

จุดเด่น

  1. ความสั้นกระชับ รุนแรง น่ากลัว แบบไม่อ้อยอิ่ง และการมีช่องว่างที่ให้ผู้ชมไปเติมเต็มเรื่องราวเองก็เป็นเสน่ห์ของเรื่องเล่าประเภทนี้

จุดสังเกต

  1. เทคนิคพิเศษยังไม่เนี้ยบมากบางจุด ทำอารมณ์สะดุดบ้างเหมือนกัน และบางตอนก็ดูงงมากเพราะไม่เข้าใจบริบทเฉพาะบางอย่าง
  • บท

    6.0

  • โพรดักชัน

    7.5

  • การแสดง

    8.5

  • ความน่ากลัว

    8.0

  • ความคุ้มค่าเวลารับชม

    9.0

รวมเรื่องสั้นสยองขวัญแบบตั้งวงนั่งเล่าเรื่องผีเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายชัดเจนจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะตำนานเล่าเรื่องผี 100 เรื่องในฤดูร้อน หรือ Hyaku-Monogatari (百物語) ซึ่งเป็นกิจกรรมพิสูจน์ความกล้ายอดนิยมในหมู่คนญี่ปุ่น ด้วยความเชื่อว่าเมื่อเล่าครบ 100 เรื่องพร้อมกับแสงเทียนร้อยดวงที่ดับลงจะทำให้ผีปรากฏตัวได้นั่นเอง ซึ่งก็ถูกนำมาใช้ในสื่อร่วมสมัยของญี่ปุ่นหลายอย่างไม่ว่ามังงะ นิยาย หรือภาพยนตร์ โดยเฉพาะหนังนั้นมีแนวรวมเรื่องสั้นผี ๆ หลาย ๆ เรื่องรวมกันอย่างซีรีส์ Tales of Terror หรือแอนิเมะซีรีส์ Yami Shibai ก็เป็นที่นิยมมากมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

สำหรับ Goedam ก็จัดว่าเป็นแนวที่ว่ามา โดย 괴담 หรือ โกดัม นี้ก็เป็นภาษาเกาหลีที่แปลว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับผี และเน็ตฟลิกซ์ไทยก็แปลมาว่า ผีบ้าน ผีเมือง นั่นเอง และซีรีส์สั้นฉบับที่ลงในเน็ตฟลิกซ์นี้ก็มีความยาว 8 ตอน แต่ละตอนจบในตัวด้วยความยาวเพียงตอนละ 8-10 นาทีเท่านั้น ก็เรียกว่าคัดมาแบบเน้น ๆ เข้าประเด็นกันไวเลยทีเดียว

ด้วยความยาวที่ว่ามาทำให้ผู้สร้างเน้นไปที่การปูเรื่องแล้วพาเข้าฉากสยองให้ไวที่สุด ความรวบรัดนั้นทำให้หนังแต่ละตอนดูวูบวาบมากด้วยจังหวะการเล่า และภาพความสยองที่รุนแรงจัด ๆ อย่างผีที่ร่างโชกเลือด ตัวบิดเบี้ยว หรือร่างกายอวัยวะขาดจากกัน คือสะใจสายโหด สายไม่เยิ่นเย้อเลย แถมนักแสดงส่วนใหญ่ก็หล่อสวยหน้าตาดีเจริญหูเจริญตาตามสไตล์เกาหลีด้วย

ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องหายไปเพื่อให้เรื่องรวบรัด แต่ก็ดูเป็นความจงใจของการเล่าเรื่องคือ คำอธิบาย ในแต่ละตอนนั่นเอง บางตอนคนดูพออนุมานได้ว่าทำไมตัวละครนี้จึงต้องเผชิญเรื่องนี้ หรือผีตนนี้ทำไมต้องอาฆาตรุนแรงนัก แต่หลาย ๆ ตอนก็ปล่อยว่างเป็นพื้นที่สุญญากาศที่ให้จินตนาการผู้ชมหาเหตุผลเอาเอง ทั้งนี้ก็ทิ้งคำใบ้นิด ๆ หน่อย ๆ ไว้ในตอนอื่น ๆ พอให้เชื่อมได้ว่าทุกเรื่องอยู่ในจักรวาลเดียวกัน หรือบางครั้งก็อยู่ในพื้นที่เดียวกันนั่นเอง

ลิฟต์ที่นำสู่มิติอื่น พลอตออกแนวไซไฟนิด ๆ

สำหรับจุดอ่อนอีกข้อก็คงเป็นเทคนิคพิเศษในหลาย ๆ ตอนไม่ได้เนี้ยบอะไรนัก แม้หลายตอนใช้ผมยาวสีดำปิดหน้าได้ชวนหลอน ได้น่าขนลุก แต่หลายตอนลองถ้ามองแบบพินิจหน่อยก็จะเห็นงานเอฟเฟกต์ที่หยาบ ๆ อยู่เหมือนกัน บางอันก็ซีจีที่เคลื่อนไหวงึก ๆ งัก ๆ บางอันก็เห็นเมกอัปแบบยางพาราขึ้นรูปชัดเชียว แต่อย่างว่าคนชอบดูหนังแบบนี้ใครเขาเปิดตารอเพ่งจอเต็ม ๆ กันล่ะ (ฮา)

การใช้เส้นผมในเรื่องนี้ทำได้ง่ายและน่ากลัวมากเช่นตอนแรก และตอนธรณีประตูที่มีเส้นผมคนกระจุกมาตรงพื้น

สำหรับแต่ละตอนก็มีความน่าสนใจและคล้ายตำนานเมือง เรื่องเล่าผีที่คล้าย ๆ กันในประเทศฝั่งตะวันออก อย่าง ตอนแรกที่ว่าด้วยเรื่องของนักเรียนหญิงที่นั่งหลังโต๊ะเพื่อนที่เสียชีวิตทำให้รู้สึกไม่สบายใจเวลามองที่ดอกไม้ไว้อาลัยที่อยู่บนโต๊ะตัวหน้า เธอเลยขอตัวไปห้องน้ำ แล้วจากนั้นห้องข้าง ๆ ก็มีเสียงประหลาด.. หรือตอนเรื่องของเด็กผู้หญิงที่ฆ่าตัวตายโดยกระโดดให้รถทับจนตัวขาด แล้วกลายเป็นเรื่องหวาดผวาของเพื่อนร่วมชั้น ก็มีความคุ้น ๆ เรื่องเล่าที่เคยได้ยินมา แต่มีรายละเอียดและความน่ากลัวด้านภาพเสริมจนเหวอไปเลยเวลาดู

แต่บางตอนก็ต้องยอมรับว่า ดูไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน อาจด้วยความต่างวัฒนธรรมบางอย่าง หรือขาดบริบทขยายตำนานเมืองที่อาจมีในเรื่องเล่าจริง ๆ ไป ถึงจะมีจุดอ่อนหลายอย่าง อย่างไรก็ดี ก็ขอเชิญชวนให้ลองทำกิจกรรมท้าความกล้าในฤดูครึ้มฝนนี้ ด้วยการดูหนังสั้นทั้ง 8 ตอน ในเวลากลางดึก เพียงคนเดียวดู ก็ได้อารมณ์ดีไม่น้อยทีเดียวนะ (หึหึหึ)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส