ในทุกวันนี้หนังกับดนตรีนั้นเป็นเหมือนเป็นคู่ซี้ที่ตัวติดกัน ในหนังมีเสียงดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารและสร้างอารมณ์ร่วม โดยมีผู้กำกับเป็นบุคคลสำคัญในการเลือกสรรบทเพลงเข้ามาประกอบภาพยนตร์ที่ตนกำกับ หรือหาผู้ประพันธ์ดนตรีที่เข้าใจในตัวหนังและสร้างสรรค์สุ้มเสียงที่กลมกลืนกันไปให้กับโลกแห่งหนังเรื่องนั้น แต่มันจะเจ๋งแค่ไหนถ้าผู้กำกับนั้นเป็นนักดนตรีเองซะด้วย บางคนอาจแต่งเพลงประกอบให้กับหนังของตัวเองซะเลย  บางคนด้วยความเป็นนักดนตรีจึงเลือกสรรบทเพลงเข้ามาใส่ในหนังของตัวเองได้อย่างดีเลิศ นอกเหนือจากนั้นบทบาทการเป็นนักดนตรีของพวกเขาเหล่านี้ก็น่าสนใจไม่แพ้การเป็นผู้กำกับอีกด้วย

วันนี้ Beartai : What The Fact ขอพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับ 9 ผู้กำกับที่มีบทบาทอีกด้านเป็นนักดนตรีสุดเจ๋ง ! จะมีผู้กำกับคนโปรดของคุณอยู่หรือไม่ และจะเป็นใครบ้างนั้นเราไปดูกันเลยครับ

Charlie Chaplin

ชาร์ลี แชปลิน ไอคอนแห่งยุคภาพยนตร์เงียบผู้เป็นตำนาน ผู้มาพร้อมบทบาท The Tramp อันเป็นที่จดจำ ตลอดระยะเวลากว่า 75 ปีในวงการ นอกจากจะแสดงและกำกับหนังด้วยตนเองแล้ว แชปลินยังสวมบทบาทคนเขียนบท โปรดิวเซอร์ ตัดต่อ และ แต่งเพลงประกอบหนังด้วยตัวเองอีกต่างหาก ! ด้วยความรักในเสียงดนตรี แชปลินเรียนรู้และฝึกฝนการเล่นเชลโล ไวโอลินและเปียโนด้วยตนเอง เขามักหิ้วไวโอลินและเชลโลไปไหนต่อไหนด้วยเสมอ เพื่อที่มีเวลาว่างเมื่อไหร่จะได้หยิบมาฝึกเล่นเมื่อนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคหนังเงียบไปสู่หนังเสียงที่ดนตรีประกอบเข้ามามีบทบาทในภาพยนตร์มากขึ้น แชปลินได้แต่งและเรียบเรียงดนตรีออร์เคสตราประกอบภาพยนตร์ของเขาเรื่อง ‘City Lights’ (1931) จนได้รับคำชื่นชมอย่างล้มหลามทั้งจากความดีงามของตัวหนังและดนตรีประกอบ หลังจากนั้นแชปลินก็แต่งเพลงประกอบให้กับหนังของเขาทุกเรื่อง​ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เป็นนักดนตรีมืออาชีพ อ่านโน้ตเพลงก็ไม่ออก แต่ด้วยการร่วมงานกันกับนักดนตรีมืออาชีพทำให้ แชปลินสามารถคิดค้นไอเดียในการแต่งเพลงประกอบของเขาขึ้นมา จากนั้นก็จะร้องและเล่นเปียโนเพื่อสื่อสารกับนักประพันธ์คู่ใจและสร้างสรรค์บทเพลงประกอบหนังตัวเองออกมา นอกจากเพลงประกอบหนังแล้ว ยังมีเพลงฮิตที่มาจากผลงานเพลงประกอบของแชปลินอีกด้วย อาทิเช่น เพลง ‘Smile’ ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง Modern Times (1936) ที่ต่อมากลายเป็นเพลงฮิตของแนต คิง โคลในปี 1954 นอกจากนี้แชปลินยังเคยได้รับรางวัลออสการ์ในสาขา Best Original Score จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Limelight’ (1952) เมื่อครั้งที่ถูกนำมาฉายใหม่อีกครั้งในปี 1973

John Carpenter

จอห์น คาร์เพนเตอร์ ผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์สุดสยองและลุ้นระทึกทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น ‘Halloween,’ ‘Escape From New York’ ‘The Thing’ ‘Village of the Damned’ และอีกมากมาย คือหนึ่งในนักแต่งเพลงที่มีฝีมือล้ำเลิศ หลายคนอาจรู้ซึ้งแล้วจากการได้ฟังเพลงประกอบหนังเรื่อง ‘Halloween’ กับบทเพลงในสัดส่วน 5/4 ที่มาพร้อมซาวด์ซินธ์สุดหลอนที่เข้ากันกับหนังสุด ๆ และได้กลายเป็นบทเพลงที่เป็นลายเซ็นของหนังและตัวคาร์เพนเตอร์ในที่สุด ซึ่งเขาใช้เวลาในการแต่งแค่เพียง 3 วันเท่านั้น ! คาร์เพนเตอร์บอกว่าความรักและความเข้าใจในเรื่องของดนตรีนี้เขาได้มาจากคุณพ่อที่เป็นครูสอนดนตรีนั่นเอง คาร์เพนเตอร์ได้พูดถึงอิทธิพลทางดนตรีจากพ่อที่มีต่อเพลงประกอบหนังเรื่อง ‘Halloween’ ไว้ว่า

“พ่อเคยสอนผมเล่นดนตรีในสัดส่วน 5/4 ด้วยกลองบองโก พ่อให้ชุดกลองบองโกเป็นของขวัญคริสมาสต์ ตอนนั้นผมน่าจะมีอายุประมาณ 13 , 14 ขวบ และพ่อก็สอนผมเล่นเพลงในจังหวะ 5/4 BA ba pa BA ba pa BA pa BA ba pa.… และผมก็เอาสิ่งที่ผมเรียนรู้ตรงนี้มาใช้ร่วมกับการเล่นอ็อกเทฟด้วยเปียโนและก็สานต่อจากจุดนั้น”

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งในงานเพลงประกอบของคาร์เพนเตอร์ก็คือเสียงที่มาจากซินธิไซเซอร์ ซึ่งเขาใช้มาตั้งแต่เพลงประกอบหนังเรื่องแรก ‘Dark Star’ ที่บรรเลงด้วยซินธ์ EMC VCS3 และบทเพลงซินธ์ของเขาก็ได้สร้างอิทธิพลให้กับนักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มากมาย ต่อมาในยุค 90s ตอนปลาย คาร์เพนเตอร์ก็หันมาใช้กีตาร์ในเพลงประกอบของเขา เช่นในหนังเรื่อง ‘Vampires’ ที่เขาทดลองใช้สุ้มเสียงของกีตาร์บลูส์เข้ามา

นอกจากนี้คาร์เพนเตอร์ยังมีผลงานดนตรีออกมา 2 อัลบั้มได้แก่ Lost Themes (2015) และ Lost Themes II (2016) และมีอัลบั้มรวมฮิตบทเพลงประกอบ Anthology: Movie Themes 1974–1998 ออกมาในปี 2017

Robert Rodriguez

ชื่อเสียงเริ่มมาเยือนโรเบิร์ต รอดริเกซเมื่อภาพยนตร์แอ็กชันแห่งปี 1992 ‘El Mariachi’ ได้เฉิดฉาย จากนั้นจึงตามมาด้วยภาพยนตร์สุดเดือดอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น  ‘From Dusk Till Dawn’ ‘Sin City’ ‘The Faculty’ ‘Spy Kids’ รวมไปถึง ‘Once Upon a Time in Mexico’ ในปี 2003 ที่รอดริเกซได้ตั้งวงดนตรีที่มีชื่อว่า ‘Chingon’ ขึ้นมาเพื่อทำเพลงประกอบให้กับหนังเรื่องนี้ ต่อจากนั้นพวกเขายังบันทึกเสียงอัลบั้มรวมฮิตบทเพลงจาก Mariachi Trilogy ในชื่ออัลบั้ม ‘Mexico and Mariachis’ (2004) ตามติดมาด้วยอัลบั้มเพลงประกอบ Kill Bill Volume 2 (2004) และสตูดิโออัลบั้มแรกของวง ‘Mexican Spaghetti Western (2004)’ และต่อเนื่องด้วยอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องต่อ ๆ มาของรอดริเกซไม่ว่าจะเป็น Grindhouse: Planet Terror (2007) , Hell Ride (2008) และ Machete (2010) ส่วนชื่อวง ‘chingón’ นั้นเป็นเม็กซิกันสแลงแปลว่า ‘badass’ หรือไอ้โคตรเจ๋ง ! นั่นเอง  

มาชมฝีมือการโซโล่กีตาร์อันเหลือร้ายของนายรอดริเกซกัน

https://www.youtube.com/watch?v=ZCDf3XQKKKA

David Lynch

‘Eraserhead,’ ‘Lost Highway,’ ‘Twin Peaks’  ‘Inland Empire’ เหล่านี้คือชื่อหนังที่คุณต้องปวดเศียรเวียนเกล้าเมื่อได้ชม ผลงานการสร้างสรรค์สุดบรรเจิดของ เดวิด ลินช์ ผู้กำกับสายลึกที่มาพร้อมผลงานภาพยนตร์อันผสมผสานการทดลองแปลกใหม่ที่ผสานไว้ด้วยแนวคิดสุดลึกล้ำ ไม่น่าแปลกใจเลยที่จะเจอคลิปที่ลินช์บรรยายการทำสมาธิแบบ TM (Transcendental Meditation) ในยูทูบด้วย

น่าตื่นเต้นไปกว่านั้นก็คือบทบาททางด้านดนตรีของเขา ซึ่งลินช์มีผลงานสตูดิโออัลบั้มออกมาแล้วถึง 3 อัลบั้ม ได้แก่ BlueBOB (2001) , Crazy Clown Time (2011) และ The Big Dream (2013) อันเป็นงานดนตรีที่มีส่วนผสมของความเป็น experimental rock, ambient soundscapes และ avant-garde electropop !! 

นอกจากนี้ลินช์ยังแต่งเพลงประกอบให้กับหนังตัวเองบางเรื่องอีกด้วยอาทิเช่น ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Inland Empire’ ที่นอกจากเพลงบรรเลงแล้วยังมีเพลงร้อง 2 พลงคือ ‘Ghost of Love’ และ ‘Walkin’ on the Sky’ ที่เป็นการเดบิวต์ในฐานะนักร้องของลินช์ !!

Woody Allen

วูดดี อัลเลน ผู้กำกับเจ้าของผลงานกว่า 51 เรื่องในช่วงเวลา 50 กว่าปี เจ้าของผลงานชั้นเยี่ยมอาทิ ‘Annie Hall’ ‘Manhattan’  ‘Hannah and Her Sisters’ ‘Match Point’ ‘Midnight in Paris’ และอีกมากมาย

นอกเหนือจากบทบาทการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แล้ว อัลเลนยังหลงใหลในเสียงดนตรีแจ๊สอย่างลุ่มลึก (ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากการเลือกสรรบทเพลงแจ๊สสุดคลาสสิกมากมายมาใช้ประกอบในหนังของเขาได้อย่างลงตัว) อัลเลนเริ่มเล่นคลาริเน็ตมาตั้งแต่ยังเด็กซึ่งชื่อวูดดี อัลเลน นี่ก็ได้มาจากชื่อของนักคลาริเน็ต Woody Herman (ชื่อจริงของอัลเลน คือ Allan Stewart Konigsberg)

อัลเลนและวงดนตรีของเขาในนาม New Orleans Jazz Band เคยเปิดการแสดงทุกวันจันทร์เย็นที่ โรงแรม Carlyle ในแมนฮัตตันเป็นเวลาหลายปี และเคยออกผลงานมาแล้วสองอัลบั้มคือ ‘The Bunk Project’ (1993) และผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘Wild Man Blues’ (1997)

Clint Eastwood

เรารู้จัก คลินต์ อีสต์วูด ในฐานะผู้กำกับและนักแสดงระดับตำนานผู้สร้างชื่อจากบทชายไร้นามในภาพยนตร์ไตรภาคคาวบอยสปาเก็ตตี Dollars Trilogy ของผู้กำกับอิตาเลียน เซอร์จิโอ เลโอเน และบทบาทของมือปราบปืนโหด Harry Callahan ในภาพยนตร์ ‘Dirty Harry’ ทั้ง 5 ภาค และ เจ้าของผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่กวาดรางวัลมามากมาย อาทิ Mystic River (2003) , Million Dollar Baby (2004) , Gran Torino (2008) และ American Sniper (2014)

แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าปู่คลินต์คนนี้ยังเป็นนักเปียโนมือฉกาจและนักประพันธ์เพลงอีกด้วย คลินต์ อีสต์วูด หลงใหลในดนตรีแจ๊ส, บลูส์, R&B, คลาสสิก และ คันทรี่ แรกเริ่มเดิมปู่คลินต์พัฒนาฝีมือการเล่นเปียโนในสไตล์ boogie-woogie และตั้งใจจะทำงานสายดนตรีอย่างจริงจังจึงไปเรียนต่อด้านทฤษฎีดนตรีหลังจากเรียนจบไฮสคูล

ปู่คลินต์แต่งเพลงประกอบให้กับหนังตัวเองหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น ‘Mystic River’ ‘Million Dollar Baby’ ‘Flags of Our Fathers’ ‘Grace Is Gone’ (ซึ่งได้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำในสาขาดนตรีประกอบด้วย), ‘Changeling’ ‘Hereafter’ ‘J. Edgar’  และบทเพลงบรรเลงเดี่ยวเปียโนใน ‘Line of Fire’

John Carney

เป็นที่ซาบซึ้งกันดีอยู่ในหมู่แฟนหนังว่าเพลงในหนังของ จอห์น คาร์นีย์นั้นดีงามขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็น ‘Falling Slowly’ ใน ‘Once’ , ‘Lost Star’ ใน ‘Begin Again’ และอีกหลากบทเพลงใน ‘Sing Street’ ทั้งหมดนี้จอห์น คาร์นีย์ไม่ได้แต่ง (อ้าว !) แต่ด้วยการร่วมงานกับนักดนตรีคุณภาพซึ่งคาร์นีย์รู้ดีว่าเรื่องไหนจะร่วมงานกับใครและบทเพลงที่ออกมานั้นควรเป็นแบบไหน รวมทั้งเรื่องราวในภาพยนตร์ที่มีเสียงดนตรีเป็นหัวใจสำคัญเหล่านี้ได้สะท้อนว่าผู้กำกับคนนี้เป็นคนที่รักในเสียงดนตรีมากแค่ไหน

และแน่นอนว่าคนที่รักและลุ่มหลงในเสียงดนตรีขนาดนี้จะไม่เคยเล่นดนตรีได้อย่างไร จอห์น คาร์นีย์ นั้นเคยสวมบทบาทมือเบสให้กับวงดนตรีจากเมืองดับลินนาม ‘The Frames’ มาแล้วและเคยกำกับ MV ให้กับวงดนตรีวงนี้ และท้ายที่สุด ‘Glen Hansard’ นักร้องนำแห่งวงดนตรี The Frames วงนี้นี่ล่ะที่กลายมาเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์แจ้งเกิดของคาร์นีย์เรื่อง ‘Once’ อีกทั้งภาพยนตร์เรื่อง ‘Sing Street’ ยังเป็นเสมือนเรื่องราวชีวประวัติของคาร์นีย์ในสมัยวัยรุ่นที่พยายามตั้งวงดนตรีเล่นกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียนด้วยความรักและลุ่มหลง

มาชมฝีมือการเดินเบสของคาร์นีย์ในคลิปการแสดงครบรอบ 25 ปีของวง The Frames กัน

Shunji Iwai

ชุนจิ อิวาอิ คือผู้กำกับชาวญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในบ้านเรา จากผลงานการกำกับที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบชุนจิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความรักที่โรแมนติก ในบรรยากาศนวลฟุ้งราวฝัน ความเปลี่ยวเหงารวดร้าวอันงดงามที่เราพบได้จากภาพยนตร์เรื่องดังของเขาไม่ว่าจะเป็น ‘Love Letter’ ‘Hana & Alice’ ‘All About Lily Chou-Chou’ และภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ‘Last Letter’  ผลงานส่วนใหญ่ของชุนจิประพันธ์เพลงประกอบโดย ‘ทาเคชิ โคบายาชิ’ นักดนตรีมากฝีมือและโปรดิวเซอร์วงร็อกชื่อดังของญี่ปุ่น Mr.Children แต่ก็มีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องเหมือนกันที่แต่งเพลงประกอบโดย อิวาอิ เอง อาทิเช่น ‘Hana & Alice’ ‘The Case of Hana & Alice’ ‘Vampire’ ‘Last Letter’ (เวอร์ชันจีนในปี 2018 ที่แสดงนำโดย โจว ซวิ่น) รวมไปถึงภาพยนตร์ของ มาซาฮิโกะ นางาซาวะ ในปี 2013 เรื่อง Far Away, So Close

มาฟังบทเพลงบรรเลงเปียโนสุดละมุนละไมใน Hana & Alice ผลงานการประพันธ์ของอิวาอิกันครับ

https://youtu.be/SBg-FeMUgpI

คงเดช จาตุรันต์รัศมี

ที่มา : Inside Hall of Fame 2018 EP1 คงเดช จาตุรันต์รัศมี

ก่อนที่ คงเดช จาตุรันต์รัศมี จะกลายมาเป็นคนเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยเจ้าของผลงานภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมอาทิ ‘สยิว’ ‘ตั้งวง’ ‘snap’ และ ‘Where We Belong’ เขาเริ่มต้นเข้าสู่วงการบันเทิงผ่านบทบาทของการเป็นนักร้องนำวงดนตรีที่มีชื่อว่า ‘สี่เต่าเธอ’ วงดนตรีสามชิ้นที่ตั้งขึ้นในช่วงอัลเทอร์เนทีฟรุ่งเรือง เกิดจากการรวมตัวของวง ‘สามเกลอ’ และ ‘Homesick’ มีเพลง ‘อวกาศ’ เป็นเพลงแรกที่ทางวงเริ่มแต่งด้วยกัน ต่อมาเหลือสมาชิกเพียง 4 คน จึงได้ตั้งชื่อวงใหม่ว่า ‘สี่เต่าเธอ’ ซึ่งเป็นคำที่ล้อมาจาก ‘สี่เต่าทอง’ ซึ่งเป็นฉายาที่คนไทยใช้เรียกวง ‘เดอะบีทเทิลส์’ นั่นเอง มีผลงานออกมา 2 อัลบั้ม คือ ‘รวมฮิตปีทอง’ (2538) และ ‘The Love Boat’ (2543) ก่อนที่จะหยุดพักกันไปและได้กลับมาใหม่ในปี 2550 พร้อมกับสมาชิกยุคดั้งเดิมครบทั้ง 5 คน และออกอีพีที่มีชื่อว่า ‘สิริมงคล’ และอัลบั้มรวมเพลง ‘อมตะเงินล้าน’ ในงาน แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 7

มาฟังบทเพลง ‘ยังจำ’  บทเพลงจากอัลบั้ม ‘รวมฮิตปีทอง’ บทเพลงสร้างชื่อของวงอันเป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้

Source

Ultimate-Guitar

tvovermind

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส