ใครที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง TENET ของคริสโตเฟอร์ โนแลนไปแล้ว นอกจากตัวเรื่องและเทคนิคสุดล้ำแล้ว เชื่อว่าอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมอย่างเรา ๆ เลยก็คือ ‘ดนตรีประกอบ’ ซึ่งยิ่งใหญ่เร้าใจและล้ำลึกไม่แพ้ตัวหนังเลย

TENET

ก็จะไม่ให้โดนใจได้ยังไง เพราะงานซาวด์แทร็กของหนังเรื่องนี้ได้ ลุดวิก เยอรันส์ซอน (Ludwig Göransson) นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์หนุ่มวัย 36 ปีที่คว้าชัยออสการ์ในสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง “Black Panther”  (สามารถอ่านเรื่องการทำเพลงประกอบ Black Pantherได้ใน ‘ทำเพลงอย่างไรให้ได้ออสการ์ เจาะลึกเบื้องหลังการทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Black Panther โดย Ludwig Göransson’) นอกจากนี้ เยอรันส์ซอน ยังได้รับรางวัลแกรมมี่มาแล้วสองตัวจากสาขา best score และ song of the year ซึ่งเขาได้กลายเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลนี้ถึงสองสาขาด้วยกัน นอกจากนี้ เยอรันส์ซอนยังเป็นคนที่ร่วมแต่งและร่วมโปรดิวซ์เพลงสุดอื้อหือของปี 2018 “This is America” ของ Childish Gambino หรือ Donald Glover ด้วย

ลุดวิก เยอรันส์ซอน (Ludwig Göransson)

สำหรับโนแลนแล้วหนังจากร่วมงานกันกับ ฮานส์ ซิมเมอร์มาจนเบื่อก็เลยอยากลองรสชาติอะไรใหม่ ๆ  บ้างคราวนี้ก็เลยชวนเยอรันส์ซอนมาเป็นคู่หูในการทำเพลงคนใหม่ด้วยซะเลย

“ผมรู้ตั้งแต่ได้ดูหนังของเขาแล้วว่าโนแลนนั้นมีความเฉียบแหลมแค่ไหนในเรื่องดนตรี มีความเข้าใจขนาดไหนในการเลือกใช้มัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมยังไม่รู้ในตอนนั้นก็คือเขาสามารถพูดถึงเรื่องดนตรีได้ดีราวกับนักดนตรีมือฉมังเลยทีเดียว” เยอรันส์ซอนกล่าวถึงผู้กำกับสุดล้ำ

Christopher Nolan, Man of Steel European Film Premiere, Leicester Square London UK, 12 June 2013, (Photo by Richard Goldschmidt)

“เพราะฉะนั้นผมเลยอึ้งไปเลย และผมก็ประทับใจมากกับการที่เขาเปิดกว้างให้ผมได้ทำลองทำอะไรมากมาย อีกทั้งยังผลักดันให้ผมได้ค้นหาสิ่งใหม่ ๆ อีกด้วย รวมไปถึงสิ่งทั้งหลายที่คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกลังเลใจด้วย มันเหมือนกับว่า ‘ลองทำมันดูสิและดูว่ามันจะเวิร์กมั้ย’ อะไรแบบนี้น่ะครับ บอกเลยว่ามันเป็นประสบการณ์เปิดหูเปิดตาสำหรับผมเลยจริง ๆ”  

“กีตาร์จะเป็นส่วนสำคัญของสกอร์หนังเรื่องนี้ ซึ่งผมจะใส่เอฟเฟกต์เสียงแตกและปรับแต่งเสียงให้มันมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว” เยอรันส์ซอนเล่าถึงไอเดียในการทำเพลงของเขา “ผมชอบที่จะเอาสิ่งที่เราคุ้นเคยมาทำให้มันเป็นเสียงที่จะทำให้คุณมึนตึ้บว่านี่มันเสียงอะไรกัน…บางครั้งผมก็เอาเสียงคนมาใช้ด้วย อย่างการหายใจเข้าไปในไมโครโฟนอย่างแรง ๆ “

แค่ใช้เสียงลมหายใจเข้าไปปรับแต่งเป็นส่วนหนึ่งของเพลงก็ว่าล้ำแล้ว แต่ที่ล้ำไปว่านั้นก็คือเจ้าของเสียงลมหายใจที่ว่านั่นก็คือ คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับสุดล้ำของเรานั่นเอง “มันเป็นไอเดียของคริสที่จะใช้มันกับวายร้ายของหนัง เสียงที่ใช้ในนั้นก็คือเสียงลมหายใจของคริส หายใจเข้าไปผ่านไมโครโฟนที่ถูกดัดแปลงเสียงให้กลายเป็นซาวด์ที่ฟังดูแหบพร่าและชวนปั่นป่วนใช่เล่น”

ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนคนทำเพลงไปแล้ว แต่ถ้าฟังเผิน ๆ เราอาจแยกไม่ออกถึงความแตกต่างสักเท่าไหร่นักสำหรับเพลงประกอบจากซิมเมอร์หรือเยอรันส์ซอน เพราะว่าเพลงของทั้งคู่ในหนังของโนแลนต่างให้อารมณ์ที่คล้ายกัน มีความดิบกร้านและให้อารมณ์ที่พลุ่งพล่านในกลิ่นอายของดนตรีอินดัสเทรียลที่ผสมผสานเครื่องดนตรีเข้ากับซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ที่สะท้อนความสับสนวุ่นวายในโลกอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แต่แฟนเพลงของเยอรันส์ซอนก็จะรู้ว่าลายเซ็นของเขานั้นยังชัดเจน หากฟังดนตรีประกอบใน Tenet ก็จะรู้สึกถึงงานเพลงจาก Star Wars The Mandalorian ที่ท่วงทำนองของเยอร์รันซอนได้สร้างบรรยากาศอันลึกลับขึ้นมาห่อหุ้มเรื่องราวแห่งปริศนาและการเดินทางได้อย่างน่าตื่นใจ เฉกเช่นเดียวกับใน ‘Tenet’ แค่ได้ลองฟังอินโทรของแทร็ก ‘FREEPORT’ ก็รู้สึกว่าความลึกลับและน่าค้นหาจากท่วงทำนองก็พร้อมที่จะพาเราดำดิ่งลงไปในโลกภาพยนตร์แล้ว

ในเพลงที่ให้อารมณ์ตื่นเต้นเร้าใจกับฉากชวนระทึก ‘747’ ก็เป็นเพลงหนึ่งที่น่าสนใจกับท่วงทำนองเร่งเร้าที่คอยกระตุ้นอารมณ์เราให้ตื่นเต้นตลอดเวลา ปักตรึงเราไว้ให้จดจ่อกับภาพยนตร์อันตื่นใจที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า

เยอรันส์ซอนเหมือนนักมายากลผู้เชี่ยวชาญในการลวงล่อสายตาและอารมณ์ของผู้ชมให้จดจ่อไปกับเรื่องราวตรงหน้า บางช่วงเวลาก็ปล่อยท่วงทำนองอันเร้าใจชวนตื่นเต้นใจหาย บางช่วงเวลาก็พาเราฟุ้งไปกับห้วงฝันอันลี้ลับกับความจริงที่ถูกหมุนกลับสับสนราวกับโลกในภาพยนตร์ Tenet

บางครั้งความระทึกใจก็ไม่ต้องใช้ความซับซ้อนหรือเล่นใหญ่ เพียงเลือกสุ้มเสียงที่โดนใจและไปกันได้กับอารมณ์ของบทเพลง อย่าง ‘RETRIEVING THE CASE’ ที่มาพร้อมกับฉากแอ็กชันชวนระทึก ซาวด์แบบอินดัสเทรียล-เทคโน ของเพลงนี้ทำหน้าที่ในการกระตุ้นเร้าความสงสัยใครรู้และตื่นใจของเราได้เป็นอย่างดี

ดนตรีของเยอรันส์ซอนทำหน้าที่ราวกับอาวุธลับที่ซ่อนไว้ในตัวหนังอย่างแนบเนียน คอยทำหน้าที่ชักจูงอารมณ์ของคนดูให้ไปทางนั้นทางนี้ตามจังหวะของเรื่องราว ทั้งตัวหนังและตัวดนตรีของเยอรันส์ซอน เหมือนจะปรากฏโฉมในท่าทีไม่ต่างกัน นั่นคือแรกเริ่มเดิมทีนั้นเราควรจะ ‘รู้สึก’ ไปกับมันก่อนที่จะค่อยทำความ ‘เข้าใจ’

“ผมเริ่มทำมันตั้งแต่เมื่อปีก่อน เพราะฉะนั้นผมค่อนข้างดำดิ่งเข้าไปในมัน และโชคดีสำหรับทุกคน ที่เราสามารถทำมันได้สำเร็จ”  ช่วงวิกฤติโควิด-19 อาจเป็นช่วงหยุดชะงักสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะกับศิลปินและนักดนตรีที่ต้องทำงานร่วมกัน แต่สำหรับเยอรันส์ซอนแล้ว เขาบอกเลยว่าไม่มีปัญหา

“ดนตรีส่วนใหญ่ที่ใช้ในหนังเรื่องนี้ เป็นดนตรีที่ผมสามารถทำได้ในสตูดิโอของผมในคอมพิวเตอร์ของผม เหมือนผมเอาสตูดิโอกลับบ้านไปกับผมด้วย และจากนั้นผมก็ทำงานอยู่ในห้องนอนเป็นเวลากว่า 3 เดือน และมันออกมาเวิร์กเลยทีเดียว”

“มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ เลยจริง ๆ ที่ได้เห็นมันค่อย ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมา และผลลัพธ์ที่มันเกิดขึ้นจากสิ่งที่ผมได้ลองทำมาโดยตลอด นี่เป็นประสบการณ์ที่คุณจำเป็นต้องเข้าไปสัมผัสในโรงภาพยนตร์ ตอนนี้โรงภาพยนตร์ก็ค่อย ๆ เปิดให้บริการแล้ว และผมคิดว่าเราต้องการอะไรแบบนี้ในช่วงเวลานี้  พวกเราต้องการดูและสัมผัสประสบการณ์อะไรบางอย่างที่อย่างน้อยก็พาเราออกไปจากเรื่องราวในช่วงเวลานี้สักนิดก็ยังดี”

เยอรันส์ซอนได้กล่าวปิดท้ายว่า​ “และทุก ๆ ครั้งที่ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ มันทำเอาผมหลุดไปเลย มันมีหลายระดับและมีเรื่องราวให้วิเคราะห์มากมาย ผมอดใจไม่ไหวเลยที่จะเห็นคนได้เข้าไปดูหนังเรื่องนี้กัน”

ใครยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ อย่าลืมและอย่าพลาด ไปดูกันได้ที่โรงภาพยนตร์ทั่วไทย และ สามารถฟังซาวด์แทร็ก ‘TENET’ ได้แบบเต็ม ๆ แล้ววันนี้

TENET (Original Motion Picture Soundtrack) , Ludwig Göransson

Apple Music

Spotify

Source

faroutmagazine

slashfilm

deadline

thefilmstage

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส