2020 นี้เป็นปีของการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ไม่ว่าจะในด้านไหน วงการอะไร สำหรับวงการดนตรีก็เช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ก็เพิ่งมีประกาศการยุบวงของวงดนตรีที่เดินทางมากว่า 13 ปี มีทั้งเพลงฮิตและแฟนเพลงล้นหลามอย่าง 25 hours คราวนี้ก็มาถึงคราวของวง MILD (มายด์) ศิลปินคุณภาพจากค่าย SPICYDISC เจ้าของเพลงฮิต Unloveable , กรรมตามสนอง ,อีกนานไหม, ซาโยนาระ และอีกมากมาย

วง MILD ได้สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพอันเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตนเองมาเป็นเวลากว่า 13 ปี ก่อนที่จะมีการประกาศ ‘พักวง’ ด้วยเหตุผลที่ว่าสมาชิกทั้ง 6 นั้นต่างเติบโตและมีการดำเนินชีวิตของตัวเองตามวัยวันที่เปลี่ยนไปจึงทำให้มีเวลาในการทำวงน้อยลงจึงเห็นสมควรที่จะพักวงไปก่อนซึ่งคำว่า ‘พัก’ ก็เป็นคำที่ให้ความหวังกับแฟน ๆ ได้ดีว่าวันหนึ่งพวกเขาคงจะกลับมารวมตัวกันอีก (อย่างเช่นวง CLASH เป็นต้น)

ตลอดเวลาที่ผ่านมาถือได้ว่าวง MILD ได้สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพเอาไว้มากมาย และงานเพลงของ MILD ก็มีเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตนเอง ไม่ว่าจะภาคดนตรีที่มีการผสมผสานองค์ประกอบของแนวดนตรีที่หลากหลายแต่ทำออกมาให้มีความพอปฟังง่ายเข้าถึงง่ายซึ่งเข้ากันกับสไตล์ที่พวกเขาเรียกกันว่า ‘Variety-Pop’ ส่วนในด้านเนื้อหา เพลงของ MILD ก็มีความเข้าถึงง่าย เข้าถึงใจผู้ฟังได้ดี และมีเอกลักษณ์ชั้นเชิงในการร้อยเรียง เรียบเรียงถ้อยคำให้ออกมาน่าประทับใจ ซึ่งก็ต้องยกให้กับฝีมือของ เป้ บดินทร์ เจริญราษฎร์ นักร้องนำของวง ที่เป็นคนแต่งเนื้อร้องและทำนองหลัก ๆ ของวงที่มีแนวทางและวิธีการในการผลิตผลงานออกมาได้อย่างน่าสนใจ ในวันนี้เราจึงอยากเอาเทคนิควิธีการแต่งเพลงในแบบฉบับของ เป้ วง MILD มาฝากกันสำหรับใครที่สนใจในการแต่งเพลงก็จะได้รับความรู้และเทคนิควิธีที่ดีเอาไปพัฒนางานของตัวเอง ส่วนแฟนเพลงของ MILD ก็จะได้ฟังเพลงของพวกเขาได้สนุกและประทับใจมากขึ้น อีกทั้งยังได้เข้าใจด้วยว่าทำไมวง MILD และเพลงของพวกเขาถึงยังครองใจแฟนเพลงมาได้จนถึงทุกวันนี้

เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย

เพลงของวง MILD ถึงแม้จะมีส่วนผสมที่หลากหลายแต่ทั้งมวลนั้นยืนอยู่บนความพอป นั่นคือเข้าถึงคนฟังได้ง่าย ติดหู ติดใจได้ง่าย เพราะฉะนั้นอันดับแรกของการทำเพลงให้พอปคือมันต้องเป็นความง่าย เข้าใจง่าย ๆ เข้าถึงง่าย ซึ่งเป้มักจะเขียนเพลงโดยเริ่มจากคำพูดก่อน คำพูดแค่คำเดียว ไม่ค่อยใช้คอนเซปต์กว้าง ๆ แล้วมาตีให้แคบ จะใช้คำง่าย ๆ อย่างในเพลง ‘รักเราไม่เท่ากัน’ จะคิดจากคำเดียวคือ ‘รักเราไม่เท่ากัน’ แล้วตีให้กลายเป็นเพลง และจะให้ดีคือคำที่คิดนี้ต้องสามารถกลายเป็นชื่อเพลงได้ ซึ่งจะเป็นการตีกรอบเพลงให้ไม่ไปซนมากเกินไปหรือเละออกนอกลู่นอกทาง และสามารถคุมให้อยู่ในกรอบได้ด้วยคำเพียงคำเดียว

ส่วนเพลงเร็วจะคิดมาจากคำพูดมันปาก อย่างเพลง ‘หวานเย็น’ ซึ่งเป็นคำที่ทุกคนรู้จักกัน ใช้กัน และมีประสบการณ์ร่วมกับมันอยู่แล้ว  หรืออย่างเพลง ‘Lovesick’ ทุกคนก็จะมีประสบการณ์ร่วมกับคำนี้ แต่จะมีการนำมาตีความใหม่ให้เข้ากับเนื้อหาที่ง่ายขึ้น เช่น ความรัก หรือ ชีวิตวัยรุ่น หรือจะเป็นความรู้สึกต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เช่น การแอบรัก แอบชอบ และเอาคำพูดพวกนี้เข้าใส่ เข้ามาแทน

หาคำคำนึงที่เราจะพูดจริง ๆ ได้แล้วจี้ไปที่คำ ๆ นี้คำเดียว มันจะกลายเป็นเพลงที่ชัดเจน มีจุดมุ่งหมาย และไปถึงคนฟังได้ง่ายที่สุด

เล่าเรื่องจริง

สิ่งสำคัญในการเขียนเพลงคือการพูดในสิ่งที่มีประสบการณ์ร่วมกัน เพลงส่วนใหญ่ของ MILD เป้มักจะเขียนจากเรื่องที่เคยเจอในชีวิต และเมื่อเราพูดเรื่องจริงมันจะเหมือนเป็นประสบการณ์ร่วมที่ผู้ฟังสามารถเข้าถึงได้ เช่น หากเราเคยโดนบอกเลิกแล้วเราพูดเรื่องการโดนบอกเลิกกับคนที่เคยโดนเหมือนกัน มันจะกลายเป็นประสบการณ์ร่วมกันที่ไม่ต้องแปลอะไรเลย ไม่ต้องยัดเยียดในสิ่งที่เราจะพูดเลย มันจะอินไปด้วยกันเอง และเรื่องที่จะสร้างประสบการณ์ร่วมกับผู้ฟังโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นได้มากที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่องของ ‘ความรัก’ ในแต่ละช่วงเวลาไม่ว่าจะแอบชอบ จีบกัน สมหวัง หรืออกหัก เพราะเรื่องความรักนั้นมีพลังและอารมณ์ที่รุนแรง

ขั้นตอนต่อมาคือการหาภาษาของตัวเอง เช่น การพูดคำว่า ‘อีกนานไหม’ ในความหมายเดียวกันบางคนอาจใช้คำนี้ บางคนอาจจะใช้คำอื่นก็เป็นได้ อย่างการอกหักถึงจะอกหักเหมือนกันแต่การอกหักก็มีหลายความรู้สึก อกหักแล้วเสียดาย อกหักแล้วเสียใจ อกหักแล้วเจ็บแค้น เวลาพูดเรื่องอะไรให้มองกว้าง ๆ และมองให้ลึกลงไปข้างในถึงเรื่องนั้นหรือประสบการณ์นั้น แล้วเราจะค้นพบบางอย่างที่จะหยิบมาใช้ได้และไม่ซ้ำกับใคร

หาแรงบันดาลใจจากสิ่งใกล้ตัว

เราแต่ละคนล้วนชอบอะไรไม่เหมือนกัน หนังสือที่อ่าน เพลงที่ฟัง หนังที่ดู สถานที่ที่ชอบไป การได้สัมผัสกับสิ่งที่เราชอบอาจจะสร้างแรงบันดาลใจอะไรใหม่ ๆ ให้กับเราได้ รวมไปถึงการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ หาอะไรใหม่ ๆ ทำ ไปยังสถานที่ใหม่ ๆ หาหนังดี ๆ สักเรื่องนึง ฟังเพลงดี ๆ สักเพลงนึง ก็อาจเกิดไอเดียในการเขียนเพลงขึ้นมาได้ บางครั้งการเขียนเพลงอาจไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งที่เราเจอกับตัวเองเพียงอย่างเดียว อย่างการเขียนเพลงรักเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นนักรักบันลือโลก source ของการเขียนเพลงนั้นมันอยู่รอบตัวอยู่ที่ว่าเราจะค้นหาหรือว่าสังเกตเห็นมันรึเปล่า

จากนั้นขั้นตอนต่อมาคือการจับสิ่งที่อยู่รอบตัวมาใส่คำเป้ชอบวิเคราะห์ตัวเองว่าถ้าเราเจอเหตุการณ์แบบนี้ เราจะรู้สึกกับสิ่งนี้ยังไงและพยายามจะหาคำแทนความรู้สึกนั้น อย่างเพลง ‘Sayonara’ มันคือการบอกลาใครสักคนก่อนที่จะเกลียดกัน แต่เป้ไม่อยากใช้คำว่าลาก่อน ไม่อยากจะใช้คำว่า goodbye เลยหาคำที่ง่ายกว่านั้นและทุกคนมีประสบการณ์ร่วมได้ง่าย ๆ เป้เลยพบว่าคำว่า ‘ซาโยนาระ’ นั้นเป็นคำที่เหมือนจะไกลตัว แต่ทุกคนจะเข้าใจว่าคำนี้แปลว่าลาก่อน

ฝึกแต่งเพลง

ฝึกเขียนให้เยอะ ๆ เขียนบ่อยๆ  และพยายามเช็กตัวเองอยู่ตลอดว่ามีโจทย์อะไรที่เรายังไม่เคยทำ พยายามท้าทายตัวเองอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เคยทำไปแล้วพอทำบ่อย ๆ บางครั้งมันทื่อมันเบื่อ ต้องหาโจทย์ที่ท้าทายตลอดเวลา มันจะทำให้มีไฟและอยากเขียนเพลงไปเรื่อย ๆ 

สิ่งที่เป้ถนัดคือการเขียนเรื่องคนอกหัก เพราะมีความเข้าใจว่าจะเขียนเรื่องอกหักให้คนอกหักและเข้าถึงใจเค้าได้นั้นจะต้องทำยังไง เช่น เพลง ‘กรรมตามสนอง’ ที่พูดถึงคนที่มีโอกาสทำอะไรดี ๆ แล้วแต่ยังทำมันได้ไม่ดีพอหรือดันไม่ทำ แล้วมานั่งเสียใจทีหลังในตอนที่ไม่มีคนที่เรารักให้ดูแลแล้ว คำว่า ‘กรรมตามสนอง’ จริง ๆ แล้วไม่ได้อยู่ในเพลงเลย แค่ใช้เป็นชื่อเพลงเท่านั้นแต่ก็ช่วยให้เรื่องเล่าในเพลงมีพลังและทำให้เราเข้าใจความหมายของเพลงได้ดี

การใช้เทคนิคให้เพลงน่าสนใจ

ในเพลง ‘Unloveable’ ที่ถ่ายทอดอารมณ์ของการที่เราหลงรักใครสักคนที่เรารู้ว่ารักนี้คงเป็นไปไม่ได้ เพลงนี้เป้จะไม่ได้ใช้คำที่สละสลวยเท่าไหร่ แต่จะเน้นไปที่การใช้เทคนิคมากกว่า อย่างในท่อนที่ร้องว่า และยังคงหวังเอาไว้ข้างในจิตใจว่าสักวันเธอจะมีฉัน’ นั้นมีการแบ่งจังหวะร้องที่น่าสนใจเหมือนกึ่งร้องกึ่งแรป เป็นการพยายามสร้างคาแรกเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเพลงเพื่อให้เพลงนั้นไม่ซ้ำกัน ทำให้เพลงแต่ละเพลงมีเสน่ห์และนำไปสู่การค้นพบลายมือของเราในที่สุด

การคิดเมโลดี้ให้ติดหู

การคิดเมโลดี้ให้ติดหูนั้น เป้จะมีหลักอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ มีการใช้โน้ตยาวและสูง เช่น ในท่อน ‘ไม่มีเธอแล้ว อ้อนวอนแค่ไหน’ ในเพลง ‘กรรมตามสนอง’ ก็จะเป็นโน้ตยาว ๆ และสูง ๆ ซึ่งฟังแล้วติดหูดีทีเดียว เข้าถึงคนฟังและจำได้ง่าย ส่วนอีกหลักการนึงก็คือ การแบ่งท่อนแบ่งจังหวะการร้องหรือการใส่โน้ตกระตุกให้น่าสนใจอย่างเช่น ท่อน และยังคงหวังเอาไว้ข้างในจิตใจว่าสักวันเธอจะมีฉัน’ ในเพลง ‘Unloveable’ นั่นเอง ซึ่งทุกวันนี้คนฟังก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นท่อนที่เจ๋ง ท้าทายที่จะร้องตาม บางคนก็ยังร้องไม่ครบคำหรือร้องไม่ทันตามท่อนเลย ซึ่งสิ่งนี้ทำให้มันเป็นที่น่าจดจำและทำให้คนฟังรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการฟังและร้องเพลงนี้

ฟังเพลงให้เยอะ

เป้เป็นคนที่ฟังเพลงเยอะมาก โดยเฉพาะเพลงพอป จะฟังเพลงที่ติดชาร์ตเยอะมาก ทำให้มองเห็นการเจริญเติบโตและวัฒนธรรมของการทำเพลงฮิตในแต่ละที่ แล้วนำเอามาเบลนด์มาปรับใช้ให้กลายเป็นส่วนผสมของวง MILD สำคัญคือเราต้องให้เวลากับสิ่งที่เราทำ ศึกษาและตั้งใจจริง ๆ สั่งสมเพลงและความคิดจนกว่าจะตกผลึก ยิ่งเริ่มเร็วก็ยิ่งได้เปรียบ โอกาสกับความฝันนั้นไม่เคยมาพร้อมกัน ความฝันจะเป็นความฝันอยู่เสมอถ้าเราทิ้งไว้บนเตียง แต่ถ้าหากอยากให้ความฝันนั้นเป็นจริง เราต้องเอาความฝันนั้นยัดใส่กระเป๋าและวิ่งชนโอกาสทุกครั้งที่เราตื่น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดว่าเราเขียนเพลงไม่เก่ง ไม่กล้าลอง เขียนแล้วเก็บไว้ เราจะรู้ได้ไงว่าเพลงของเราดีจริง อย่าง เพลงแรกที่เป้แต่งเป็นเพลงแปลงจากเพลง ‘อย่าเสียน้ำตา’ ของ Blackhead เนื้อหาเกี่ยวกับการปลอบผู้หญิงที่อกหักมา แต่เป้แปลงเนื้อหาให้กลายเป็นเพลงจีบสาว ซึ่งเป้จำได้ว่ามันไม่ได้เพราะเลย มันเหมือนการเขียนกลอนมากกว่าเขียนเพลง แต่เป้พบว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมากในการเอาเพลงที่เราชอบมาลองฝึกแปลงเนื้อเพลงดู เป็นการเปิดโลกทัศน์และหาคำพูดของเราเอง เพราะเราต้องหนีคำจากเพลง original ไปให้ได้ จึงเป็นการท้าทายตัวเองกลาย ๆ ให้เราหาหรือสร้างคำของตัวเองจากเนื้อหาและเมโลดี้ที่เราชื่นชอบ

กล้าที่จะเล่นเพลงของตัวเอง

การเล่นเพลงตัวเองเป็นเรื่องที่เท่ จงข้ามผ่านความกลัวและกล้าที่จะผลักดันเพลงของตัวเองออกมาให้ใคร ๆ ได้ฟัง อย่ากลัวและติดอยู่ในกำแพงความกลัวจนไม่กล้าเล่นเพลงของตัวเองหรือปล่อยเพลงของตัวเองมากมาให้คนอื่นฟัง ตอนไหนที่เราว่างจากแกะเพลงถ้าชั่วโมงห้องซ้อมยังเหลือลองเอาเพลงของตัวเองมาเล่นกับเพื่อนในห้องซ้อมดู

ขั้นตอนการทำงานของเป้วง MILD

เป้มักจะแต่งเมโลดี้และเนื้อร้องพร้อมกัน และใช้กีตาร์เป็นส่วนประกอบในการเทียบคีย์ เป้ให้ความสำคัญกับเนื้อเพลงมาก ๆ รองลงมาคือเมโลดี้ แต่บางเพลงก็มีเมโลดี้มาก่อน พอได้โครงเมโลดี้และเนื้อเพลงมาแล้ว ก็จะเริ่มเอากีตาร์มาเทียบคีย์ จากนั้นก็อัดเป็นเดโมด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างการอัดไว้ในโทรศัพท์มือถือ จากนั้นก็โยนเพลงเข้ามาในวงให้ทั้งวงช่วยกัน arrange ขึ้นมา เป้เรียกช่วงเวลานี้ว่า ‘Magic Moment’ เริ่มเห็นเพลงตัวเองเติบโตจากที่คิดในหัวมาสู่การพัฒนาโดยวงจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ มหัศจรรย์ที่เห็นความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นกับเพลงของตัวเอง ขั้นตอนต่อมาก็คือการซ้อมกันกับวงและอัดเป็นเดโมที่เรียกว่า ‘good demo’ ในขั้นตอนนี้จึงเริ่มมาเช็คว่าคีย์ถูกต้องมั้ย ความเร็วเป็นยังไงบ้าง วคามรู้สึกของเพลงเป็นยังไง vibe ของเพลงความรู้สึกของเพลงมันถึงคนฟังรึเปล่า โทนเพลงดีรึเปล่า แล้วจึงเริ่มแก้และเข้าห้องอัดจริงทำเป็นมาสเตอร์

ทำอย่างไรให้คนฟังชอบเพลงของเรา

ในหลาย ๆ ครั้งพอเราแต่งเพลงเสร็จแล้วเราอาจจะชอบเพลงของเรามาก ฟังกี่ครั้งก็ชอบ แต่พอเวลาเอาไปให้คนฟังแล้วเค้าอาจจะไม่รู้สึกแบบเดียวกันกับเรา เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้มันเป็นเรื่องของการสื่อสารที่บางครั้งมันไม่ได้ลงล็อกกัน สิ่งสำคัญคือหลังจากนี้เราก็ต้องมาแก้โจทย์ให้ได้ว่าทำอย่างไรเพลงของเราจึงจะเข้าถึงคนฟังทำให้คนฟังมีความสุขแต่ในขณะเดียวกันมันก็ต้องมีความเป็นตัวเราอยู่ในนั้นด้วย

การผสมผสานสิ่งต่าง ๆ  เข้ามาและเกิดเป็นสิ่งใหม่นั้นเกิดจากการที่เป้เป็นคนที่ขี้เบื่อ รู้สึกว่าอยากจะเขียนเพลงสักเพลงที่มีในสิ่งที่เราชื่นชอบด้วยและมีในสิ่งที่คนฟังทั่วไปชื่นชอบด้วย อย่างเพลงของวง MILD เล่าเรื่องที่พอป  ๆ มาโดยตลอด และเรียกแนวทางของตัวเองว่าวาไรตี้พอปมาโดยตลอดและไม่มีความชัดเจนว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่ จนกระทั่งมาถึงอัลบั้ม 4 ‘MI4D (โฟร์)’ เป้รู้สึกว่าวง MILD คนจะมีตัวตนได้แล้ว จึงต้องหาในสิ่งที่วงถนัดและทำได้ดีสุดท้ายก็มาเจอดนตรีฮิปฮอป ซึ่งเป้พยายามจะทำมาตลอดตั้งแต่เด็ก ๆ หากสังเกตเพลงของวง MILD ตั้งแต่อัลบั้มแรกเราจะเห็นองค์ประกอบของเพลงแรปและฮิปฮอปสอดแทรกอยู่ตลอด พอในอัลบั้มนี้ที่ MILD เริ่มรู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้วจึงได้เอาส่วนผสมนี้มาใส่ในส่วนผสมเดิมจนได้รับเสียงตอบรับที่ดีและทำให้วง MILD เจอทางและเอกลักษณ์ของตัวเองในที่สุด

หาส่วนผสมที่ลงตัว

หากในวงของเรามีความชอบในแนวดนตรีที่ไม่เหมือนกัน นักร้องชอบฮิปฮอป มือกีตาร์ชอบบลูส์ มือเบสชอบแจ๊ส มือกลองชอบร็อก ลองหาส่วนผสมตรงกลางที่ลงตัวสำหรับทุกคนดูแต่บนพื้นฐานของความเป็นพอป (เพื่อให้เข้าถึงคนฟังได้ง่าย) เพราะพอปคือการสื่อความไปถึงคนหมู่มากให้ได้มากที่สุด อย่างในเพลงของวง MILD ก็มีส่วนผสมที่หลากหลายอย่างในเพลงนึงอาจมีทั้งความเป็นพอป ฮิปฮอป ร็อก แจ๊ส โซล และอื่น ๆ อยู่เพลงเดียวกันก็ได้ แต่ผสานกันได้อย่างกลมกล่อมลงตัวและมีความพอปที่เข้าหูและเนื้อหาที่กระทบใจคนฟัง นอกจากนี้สมาชิกวงแต่ละคนก็จะรู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วมร่วมในการทำเพลงได้มีสิ่งที่ตัวเองชอบและความเป็นตัวเองอยู่ในนั้น

สุดท้ายที่ต้องย้ำอีกครั้งคือ การทำซ้ำและฝึกฝนไปในทางที่ถูกต้องและเอาเพลงออกมาให้คนอื่นฟัง เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ พัฒนาตัวเอง ฝึกฝนและกล้าที่จะเอาเพลงของตัวเองออกไปให้คนอื่นได้ยิน

วิเคราะห์เพลง ‘Sayonara’

ขอยกตัวอย่างเพลง ‘Sayonara’ เพลงฮิตจากอัลบั้มชุดที่ 4 ‘MI4D (โฟร์)’ ที่ MILD เริ่มแน่ใจในแนวทางของวง แต่อยากใส่ความชัดลงไปให้มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มากขึ้น ในชุดนี้เราจึงได้เห็นการใส่ความเป็นฮิปฮอปลงไปอย่างเข้มข้น รวมไปถึงการผสมผสานแนวดนตรีที่หลากหลายอย่างเจนจัด และการทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจซึ่งเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากเพลง Sayonara เพลงนี้

ในด้านของเนื้อหาเพลง ‘Sayonara’ มีการตั้งชื่อด้วยคำเรียบง่ายที่เราคุ้นเคยกันดี แต่มีความน่าสนใจ แทนที่จะตั้งว่า ‘ลาก่อน’ เฉย ๆ แต่เลือกใช้คำว่าลาก่อนในภาษาญี่ปุ่นแทนเพื่อสร้างความสนใจให้กับคนฟังตั้งแต่เห็นชื่อเพลงเลย

ส่วนเนื้อหาของเพลงก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ถึงจุดที่กำลังล่มสลาย เป็นความรู้สึกที่ว่าเราควรหยุดมันไว้ที่ตรงนี้ก่อน ก่อนที่เราจะไปถึงจุดที่เกลียดกันและไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ได้อีกเลยไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม เนื้อเพลงท่อนแรกเปิดมาแบบหวาน ๆ ชื่นชมคนรักที่มาพร้อมดนตรีหวาน  ๆ ด้วยเสียงกีตาร์โปร่งผสมเครื่องสาย ‘รอยยิ้มของเธอ ยังคงอ่อนหวานซึ้งใจ / แววตาคู่เดิม ยังคงสวยเกินกว่าใคร / อยากมองหน้าเธอ กอดเธอแนบชิดอิงกาย’ ก่อนที่ในประโยคท้ายจะเข้ามาเบรกความหวานเหมือนปลุกเราให้ตื่นจากฝัน ‘แต่ทำไม่ได้ เพราะใจเหนื่อยล้าเกินทน’

แล้วจากนั้นเพลงก็เข้ามาสู่ท่อนแรป เพิ่มดีกรีความเร่าร้อนให้กับบทเพลง ตัดความหวานจากท่อนก่อน บรรยายถึงความวุ่นวาย สับสน ปวดร้าวในจิตใจ จากนั้นก็เข้ามาสู่ท่อนพรีคอรัสซึ่งถือว่าแปลกมาก เพราะเพลงส่วนใหญ่จะมีท่อนร้อง – พรีคอรัส – และคอรัส แต่เพลงนี้จะมีท่อน ‘แรป’ เข้ามาแทรกตรงกลาง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เพลงนี้ยาวถึง 5.32 นาที แต่ถึงอย่างนั้นกลับเป็นการจัดวางที่ดีและทำให้เพลงนี้ไม่น่าเบื่อเลย

เอาจริง ๆ ท่อนพรีนี่ให้อารมณ์เหมือนท่อนร้องปกติเลย ไม่ได้มีความรู้สึกของการผลักและดันไปสู่คอรัสเหมือนเพลงอื่น ๆ  แต่สุดท้ายแล้วท่อนนี้ก็ส่งเข้าฮุคได้อย่างมีพลัง เหมือนคล้าย ๆ ปล่อยเราให้สบายใจไปกับท่อนนี้ก่อน ก่อนที่อยู่ดี ๆ  ก็ส่งเรามาที่ท่อนฮุคที่เข้มข้นไปด้วยอารมณ์ เปี่ยมไปด้วยพลังทั้งในเนื้อร้อง เมโลดี้ และการเรียบเรียงดนตรีที่ทำได้อย่างลงตัวมาก

สำหรับการวางเมโลดี้ในท่อนคอรัสนี้ เราจะเห็นว่าเป้ใช้โน้ตยาวและเสียงสูง ซึ่งเป้เลือกจะใช้การร้องเสียงหลบแทนการดันเสียงขึ้นไปซึ่งช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับบทเพลงได้ดี

“ฉันว่าเราหยุด

ก่อนดีไหม

ก่อนจะสายไป

ก่อนอะไรอะไรจะเปลี่ยนแปลง

หนึ่งคำพูดแรงแรง (ฮ้า)

เลิกแสดง

ว่าเรายังคงรักกันเหมือนเดิม”

ก่อนจะเข้าสู่ท่อนบรรเลงแซกโซโฟนเติมความแจ๊สซี่ที่หวานปนเซ็กซี่ แล้วโยนเข้าสู่ท่อนแรปอีกครั้งและตามลำดับเดิม พรีคอรัส-คอรัส และหลังจากคอรัสรอบนี้จะเข้าสู่ท่อนโซโลของเพลงซึ่งคราวนี้มาในอารมณ์แบบร็อกเข้มข้นเลย ยิ่งดีดอารมณ์คนฟังให้พีคเข้าไปอีก

จากนั้นจึงเข้าสู่ท่อนคอรัสอีกสองครั้ง โดยในครั้งที่สองมีการเปลี่ยนคีย์ให้พีคเข้าไปอีก ! ก่อนที่จบเพลงด้วยท่อนเปียโนหวานเศร้า เป็นการจบมหากาพย์ทางอารมณ์อันหลากล้นของการลาจากที่งดงาม ‘ซาโยนาระ’ ! แต่สำหรับวง MILD แล้วเราคงพูดคำนี้เพียงเบาๆ  เพราะหวังไว้ในใจว่าวันหนึ่งเมื่ออะไร ๆ ลงตัวแล้ว พวกเขาจะกลับมาทำเพลงดี ๆ ให้เราได้ฟังกันอีก

Source

GOOD HOPE Class | ชั้นเรียนที่ 6 ‘สอนการประพันธ์เนื้อเพลง’

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส