[รีวิว] คุณชายใหญ่: ขอชื่นชม อยากให้กำลังใจ แต่ไม่ขอเชิญชวน

Release Date

31/12/2020

ความยาว

90 นาที

[รีวิว] คุณชายใหญ่: ขอชื่นชม อยากให้กำลังใจ แต่ไม่ขอเชิญชวน
Our score
6.0

คุณชายใหญ่

จุดเด่น

  1. หนังแนวถนัดที่ หม่ำ จ๊กมก ปรุงได้อยู่มือ ใครเป็นแฟนคลับน่าจะไม่ผิดหวัง เสริมด้วยความท้าทายที่หม่ำเล่นเองถึง 6 ตัวละคร และความน่าเห้นใจที่หนังมาในจังหวะไม่ดีช่วงการระบาดระลอกใหม่ ใครแฟนจริงต้องไปช่วยให้กำลังใจ

จุดสังเกต

  1. ยังไม่ใช่ผลงานชิ้นโบว์แดงทั้งแง่ลายเซ็นในฐานะศิลปินนักสร้างหนัง และความบันเทิงในฐานะเอนเตอร์เทนเนอร์ กรอบจำกัดจากความอยากท้าทายตัวเองด้วยการเล่นหลายบทกระทบการนำเสนอและโพรดักชันเป็นแผลให้เห็นตลอดเรื่อง
  • บท

    7.0

  • โพรดักชัน

    7.0

  • การแสดง

    7.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.0

  • ความคุ้มค่าการรับชมในช่วงโควิดระบาดระรอกใหม่

    2.0

เรื่องย่อ ตระกูล “วงษ์คำเหลา” เป็นตระกูลใหญ่ที่สืบเชื้อสายกันมายาวนาน และหลังจากแต่งงานมาระยะหนึ่ง คุณชายใหญ่ กับ พิรมล ก็เริ่มถูกกดดันจากท่านพ่อให้รีบมีทายาทเพื่อที่จะได้รับมรดกก้อนใหญ่และสืบทอดตระกูลวงษ์คำเหลาต่อไป แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วย หญิงน้อยกับอนุรัตน์ คู่หมั้น ได้วางแผนกำจัดพิรมลออกไปจากบ้าน และทำทุกอย่างไม่ให้ทั้งสองคนมีเวลาทำลูกกัน เหตุการณ์วุ่นวายดำเนินไปพร้อมกับความเฮฮาของคนในตระกูล แต่ยิ่งไปกว่านั้นแผนการร้ายของใครบางคนที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังก็ค่อย ๆ เปิดเผยขึ้นอย่างช้า ๆ คุณชายใหญ่กับพิรมลจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันผ่านปัญหาและนำพาตระกูลวงษ์คำเหลาให้อยู่ยั้งยืนยงต่อไปให้ได้

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

หนังของ เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา หรือ หม่ำ จ๊กมก นับตั้งแต่เขาเริ่มมากำกับหนังใน บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม เมื่อปี 2547 อาจจำแนกแนวหนังได้ 3 กลุ่ม คือแนวแอ็กชัน (บอดี้การ์ดฯ 1-2, จั๊กกะแหล๋น) แนวดราม่านำตลกและมักมีฉากหลังในยุคปัจจุบัน (หม่ำ เดียว หัวเหลี่ยม หัวแหลม, ใหม่กะหม่ำ โดนกะโดน) แนวตลกนำดราม่าและมักมีฉากหลังย้อนยุค (แหยม ยโสธร 1-3, วงษ์คำเหลา, ทาสรักอสูร และ ขุนบันลือ)

และอาจนับอีกหนึ่งเรื่องที่แยกเดี่ยวออกมา เป็นแนวทดลองคือ โป๊ะแตก ที่เป็นหนังซ้อนหนังเบื้องหลังการถ่ายทำออกแนวม็อกคูดราม่า ซึ่งส่วนตัวมีความสำคัญในการมอง หม่ำ ในฐานะคนทำหนังที่มีมันสมองไม่ธรรมดาอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่เพียงนักเอนเตอร์เทนที่เป็นภาพจำของเขาเท่านั้น

คุณชายใหญ่
หม่ำ กับการกำกับและแสดงนำใน แหยม ยโสธร หนังสร้างชื่อเรื่องสำคัญของเขา

แต่จะอย่างไรก็ตามจากที่ว่ามาดูเหมือนแนวหนังที่ประสบความสำเร็จด้านความนิยมและรายได้ ในแง่ความคุ้มค่าการลงทุนสูงสุดของ หม่ำ ก็คือ หนังแนวตลกนำดราม่าที่มีฉากหลังย้อนยุคนั่นล่ะ ยิ่งงานยุคหลังยิ่งชัดเจนในการใช้คอนเทนต์ตีหัวเข้าบ้าน ระดมสรรพมุกที่รู้ว่าโดนใจผู้ชมชาวไทยทั่วไปแน่ ๆ จากประสบการณ์ยาวนานในวงการตลก และรายการบันเทิงโทรทัศน์ แล้วใช้กลวิธีต่าง ๆ ลดต้นทุนการผลิตแบบหวังผลว่าอย่างไรก็กำไรแน่นอน ซึ่งตราบใดที่มันยังโดนใจผู้ชมชาวไทยทั่วไป มันก็ไม่ใช่ความผิด เพราะใครอยากจะลงเงินลงแรงแล้วขาดทุนกันล่ะ

สำหรับ คุณชายใหญ่ เราเห็นชัดเจนว่าหนังชูจุดเด่นด้วยการที่เป็นหนัง (เกือบ) โชว์เดี่ยวของหม่ำที่เล่นเป็น 6 ตัวละครในหนังเรื่องเดียว ซึ่งทำให้ชวนนึกถึง เอ็ดดี้ เมอร์ฟี่ ที่เคยทำไว้ในหนัง The Nutty Professor ที่มากถึง 7 ตัวละคร ด้วยการแต่งเมกอัปที่แตกต่างกันทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ ทั้งเพศชายและหญิง ซึ่งเป็นการเล่นซ้ำแบบจงใจในลักษณะเดียวกัน เราไม่รู้ว่าโจทย์เรื่องข้อจำกัดจำนวนทีมงานในช่วงสถานการณ์โรคระบาดทำให้หม่ำคิดไอเดียนี้ออกมา หรือเพราะความอยากท้าทายตัวเองเป็นข้อนำกันแน่ แต่อย่างไรก็ดีมันก็ตอกย้ำให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่มีไฟและไอเดียใหม่ ๆ ไม่ได้ย่ำเท้าความสำเร็จแบบตีหัวเข้าบ้านอย่างที่ใครคิด

The Nutty Professor
The Nutty Professor

แต่กระนั้นหนังก็เจอปัญหาหนักอยู่ไม่ใช่น้อย เมื่อการร่วมฉากเดียวกันของหลายตัวละครนั้น ผู้สร้างเลือกที่จะใช้มุมกล้องหลอกให้มากที่สุดเพื่อประหยัดทุนในการทำเทคนิคพิเศษซ้อนภาพ นั่นทำให้หนังกว่า 80% คือภาพโคลสอัป (หรืออย่างมากสุดก็ภาพขนาดครึ่งตัว) ของตัวละคร ที่ดูติด ๆ กันแล้วทำเอารู้สึกอึดอัดตาม มากพอที่จะทำให้ไม่ขำกับมุกเบสิก ๆ อย่างพวกตลกเจ็บตัวหรือคำสบถที่อาจได้ผลมาก่อนในตอนที่ภาษาภาพให้ที่ว่างผู้ชมมากกว่านี้

ในขณะที่ภาพกว้างของหนังที่เหลือนั้น ครึ่งหนึ่งก็เอาไปใช้เป็นการบอกสถานที่ (Establish Shot) ซึ่งแทบจะมีอยู่ภาพเดียวคือภาพหน้าคฤหาสน์วงษ์คำเหลา แบบเช้าบ้าง เที่ยงบ้าง แพนกล้องนิดหน่อยบ้าง กว่าสิบครั้ง ซึ่งว่ากันตามจริงทั้งเรื่องก็มีฉากหลักอยู่แค่ 2 ที่เท่านั้น ใครที่แยกไม่ออกขนาดรู้สึกว่าต้องมีภาพเปิดฉากทุกครั้ง ก็น่าจะมีแค่ชายน้อยในเรื่องเท่านั้นล่ะ

ปัญหาอีกอย่างที่ตามมา คือมุกสดที่เป็นทางถนัดของหม่ำ ก็ถูกบีบให้หายไป เพราะการเล่นรับส่งมุกกับตัวเองซึ่งต้องแยกถ่ายทีละครั้ง มันจำเป็นต้องใช้บทที่แม่นยำและดีโดยไม่ต้องพยายามดิ้น ซึ่งก็ไม่เหมาะกับมุกที่ต้องใช้เคมีเข้ากันเฉพาะตัวเฉพาะหน้าแบบที่หม่ำทำอีก และไม่เพียงหม่ำเท่านั้นที่เตะตัดขาทักษะตัวเอง นักแสดงคนอื่น ๆ ก็ถูกกรอบจำกัดให้เล่นได้น้อยกว่าศักยภาพ โดยเฉพาะอย่าง นาย เดอะคอมมีเดียน ที่มารับบทอนุรัตน์ คู่หมั้นของหญิงเล็กนั้น เป็นการเอามาใช้ที่เสียของที่สุดในหนัง

คุณชายใหญ่

คนที่จะแสดงแล้วเอาตัวรอดในโพรดักชันที่ข้อจำกัดเยอะแบบนี้ จึงเป็นสายแสดงที่โอเวอร์เล่นใหญ่เล่นล้นแบบไม่ต้องปูต้องตบอะไรมากอย่าง บทคนใช้ของหญิงเล็กนาม อีเอื้อง (กานติมา นันคำ) หรือบทคนรับใช้นางเอกของ หนูเล็ก ซึ่งว่ากันตามจริงตลกแบบนี้มันก็ไม่ได้ว้าวอะไร ดูนานไปก็ชินชาเสียมากกว่า เหมาะกับคนเส้นตื้นเป็นพิเศษเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถกล่าวได้เลยว่านักแสดงแต่ละคนในเรื่องนั้นเล่นไม่ดี ทั้งตัวหลักอย่าง เบสท์ รักษ์วนีย์ คำสิงห์ ลูกสาวของอดีตนักชกชื่อดัง สมรักษ์ คำสิงห์ ที่ได้เวลาในหนังเยอะมากพอ ๆ กับหม่ำ ในบท พิรมล นางเอกของเรื่อง แต่ก็ต้องตีกรอบตัวเองให้แสดงแค่พอดีบทหญิงสาวกุลสตรีโบราณที่ยิ้มแย้ม พูดน้อย อ่อนช้อย ตลอดจนตัวประกอบอื่น ๆ ที่เล่นได้แค่ตามกรอบที่ให้พื้นที่น้อยเกินไปของหนัง (จะมีที่ระบุได้เต็มปากว่าเล่นไม่ดีก็มีเพียงคน สองคนเท่านั้น)

คุณชายใหญ่

และโดยเฉพาะ หม่ำ ที่ออกแบบคาแรกเตอร์ทั้ง 6 ตัวได้แตกต่างอย่างจับต้องได้ และไม่ยากเกินไปสำหรับคนดูที่จะรู้ว่าหม่ำลอกคาแรกเตอร์มาจากคนดังคนใด ซึ่งที่ว่ามาไม่ใช่งานง่าย แต่ก็ติดกับดักในการต้องเล่นและตัดต่อเคมีของทั้ง 6 คาแรกเตอร์ให้เข้ากันในยามร่วมฉาก ซึ่งหลายครั้งไม่สำเร็จเลย ด้านการแสดงสรุปได้ว่าทุกคนแสดงให้เห็นชัดว่ามีศักยภาพการแสดงที่มากล้นขนาดไหน จนรู้สึกเสียดายที่บทและการกำกับของหนังกดความสามารถของพวกเขาเอาไว้เช่นนี้

คุณชายใหญ่

สำหรับการเล่าเรื่องก็เป็นงานถนัดของหม่ำที่จะจับความคุ้นเคยของคนไทย อย่างละครย้อนยุคที่ฮิต ๆ มาทำการล้อเลียน ทำให้คนดูต่อติดได้ง่าย เพราะจั่วหัวมาก็เทียบเคียงเข้าใจเรื่องราวได้เลย แม้ข้อเสียที่มีคือมันลอกสูตรแบบเดาได้ทุกเม็ด ที่ต้องอาศัยลูกเหนือคาดแซมมาเป็นระยะที่สร้างความตลกขบขันจากความขัดกันจากที่เคยรับรู้

และส่วนเสริมพิเศษที่หาได้จากในหนังหม่ำก็คือ ความรักในหนังหลายยุคหลายสมัยของเขา ที่ทำให้ฉากอย่างการต่อสู้วัดกำลังภายในแบบหนังชอว์บราเธอร์ การใช้พลังเวอร์วังแบบหนังเอ็กซ์เมน ความเชยแต่มีคลาสแบบหนังไทยโบราณ การเล่นสีศิลป์ในฉากเซ็ตสตูดิโอที่ฉูดฉาดจับตา สามารถผสมผสานอยู่ในหนังของเขาได้แบบไม่ขัดตา

และกับคุณชายใหญ่เองก็เป็นลักษณะเดียวกัน เราไม่ได้คาดหวังจะเจอการเดินเรื่องที่แปลกใหม่ แต่แค่มันสมเหตุสมผลพอให้ใส่มุกตลกได้ก็เพียงพอแล้ว

ซึ่งหนังก็ทำสำเร็จอย่างดีในการวางเส้นเรื่องที่แข็งแรง แต่ยังขาดพลังในการเสริมความบันเทิงที่อาจน้อยไปหน่อย หรือจืดไปหน่อยในหลายครั้ง เอาว่าฉากที่หลุดขำจริงจังด้วยจังหวะที่แม่นมาก ๆ ก็มาแค่ฉากเดียวเสียด้วยซ้ำคือฉากรับกระสุน ซึ่งก็บังเอิญไปเห็นในตัวอย่างมาก่อนอีก แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหนังยังน่าจะทำงานกับแฟนคลับหม่ำแน่นอน เพราะมันก็ไม่ได้ด้อยมาตรฐานของเขาจนผิดฟอร์มขนาดนั้น

คุณชายใหญ่

ด้วยสิ่งที่ว่ามา จึงต้องยอมรับว่ามองในฐานะคนที่ติดตามงานของหม่ำแบบที่มองได้ว่าเขาคือ ประพันธกรคนหนึ่ง (Auteur) นี่เป็นหนังอีกเรื่องที่โชว์ศักยภาพที่ไม่ธรรมดาของเขาให้เห็น อาจไม่ใช่งานชิ้นโบว์แดงทั้งด้านความบันเทิงหรือความแปลกใหม่ แต่ก็น่าสนใจในภาพรวมหากจะเชิดชูความดีเด่นของตัวหม่ำเอง แต่กระนั้นหนังก็ยังไม่ได้มีพลังมากพอขนาดที่เราจะเอาตัวเองออกจากบ้านไปโรงหนัง เผชิญคนหมู่มากในภาวะที่โรคระบาดยังกราดไปหลายพื้นที่แบบเดาทางไม่ได้เช่นนี้ หนังเรื่องนี้ยังไม่ใช่ความจำเป็นที่เราจะต้องเสี่ยงขนาดนั้นครับ

คุณชายใหญ่

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส