[รีวิว] เสียดาย 2020 : ไม่เสียดายที่ได้ดู “เสียดาย”
Our score
10.0

จุดเด่น

  1. เป็นซีรีส์ย้อนยุคแต่มีความร่วมสมัย เรียกว่าเหตุการณ์อ้างอิงนี้ยังใช้ได้ในยุคปัจจุบัน
  2. นักแสดงนำเข้าถึงทุกบทบาท การแสดงมีความเป็นธรรมชาติสมจริง
  3. ชอบเมกอัพเรื่องนี้ค่ะ เมกอัพยังไงให้เหมือนไม่ได้เมกอัพ ธรรมชาติเอามาก ๆ
  4. ซีรีส์เก็บรายละเอียดยุค 90s ได้ดี จนทำให้ภาพวันวานย้อนมาเตือนความจำ

จุดสังเกต

  1. ซีรีส์มีความรุนแรงในครอบครัว เรื่องเพศและการใช้ยาเสพติด ไม่มีการเซ็นเซอร์ 13+
  • ความสมบูรณ์ของบท

    10.0

  • คุณภาพการเล่าเรื่อง

    10.0

  • คุณภาพนักแสดง

    10.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    10.0

  • ความคุ้มค่าในการรับชม

    10.0

26 ปีผ่านไป กับการกลับมาอีกครั้งในรูปแบบภาพยนตร์ซีรีส์ของ “เสียดาย” ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมในเรื่องยาเสพติดและปัญหาทางเพศของวัยรุ่น และการกลับมารอบนี้บอกเลยว่า ไม่เสียดายที่ได้ดู

เสียดาย

ภาพยนตร์เรื่องเสียดายในปี 2537 เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงนะคะ วิถีชีวิตของตัวละครได้มาจากการ research ชีวิตของวัยรุ่นในสมัยนั้น 300 คนตามแหล่งท่องเที่ยวยามราตรี จากเด็ก 300 คน ผู้สร้าง (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ได้โฟกัสที่เด็กสาวกลุ่มหนึ่ง และนำเรื่องราวของพวกเธอมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่สร้างกระแสฮือฮาในสมัยนั้น ซึ่งแน่นอนค่ะว่าเนื้อหาและใจความสำคัญของแต่ละชีวิต มันเกิดขึ้นจริงกับชีวิตของพวกเธอ

สำหรับซีรีส์ เสียดาย 2020 เป็นซีรีส์ที่ผ่านการดองมายาวนาน 5 ปีกับการรอคอยของนักแสดง ทีมงานซีรีส์ รวมถึงคนดู ที่รอแล้วรออีกจนลืมไปแล้วว่าจะได้ออกอากาศ เขียนบทและกำกับการแสดงโดย หม่อมราชวงศ์ ศรีคำรุ้ง ยุคล รัตตกุล ยังยึดแนวทางเดิมค่ะ คือ เรื่องราวของเด็กสาว 4 คน แป๋ม ปู เดือน เงาะ ที่แต่ละคนมีปัญหาครอบครัวที่แตกต่างกัน อยากรู้อยากลอง และขาดความรักความเข้าใจจากครอบครัว มีเพียงมิตรภาพระหว่างเพื่อนที่คอยช่วยเยียวยารอยแผลในใจของกันและกันได้ ทั้งสี่จึงสร้างโลกใหม่เพื่อหลีกหนีปัญหา และโลกใหม่ก็พาให้พวกเธอได้รู้จักกับ ยาเสพติด สิ่งที่คิดว่าจะช่วยปลอบประโลมพวกเธอได้

ปู-แป๋ม-เงาะ-เดือน / เสียดาย 2020

พวกเธอทิ้งปัญหาทุกอย่างไว้ข้างหลัง จากนั้นก็ร่วมเผชิญชะตาชีวิตร่วมกัน จนสุดท้ายมันกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่พวกเธอไม่คาดคิด ก้าวเล็ก ๆ ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดในวันนั้น กลับเป็นก้าวที่ลึกและเวิ้งว้างที่สุดในวันหนึ่ง กว่าจะรู้ตัวก็ทำได้แค่เพียง “เสียดาย” ช่วงเวลาที่ควรจะสดใส เพราะมันแลกมาด้วยชีวิตทั้งชีวิตของพวกเธอ

ย้อนอดีตกันแบบสมจริง

อันดับแรกเลยต้องบอกว่าผู้เขียนเป็นคนที่เกิดในยุค 90s ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้จะพาเราย้อนกลับไปในยุคนั้น ยุคที่เราฟังเพลงจากเทปคาสเซ็ตต์ ใช้เพจเจอร์ส่งข้อความ และมีการขอใจแลกเบอร์โทร บรรยากาศในเรื่องนี้จำลองออกมาได้ เหมือนเปี๊ยบ สามารถดึงความทรงจำเก่า ๆ ออกมาได้หมดเกลี้ยง ชนิดที่ภาพวันวานย้อนคืนมาเป็นฉาก ๆ และสารภาพเลยว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในซีรีส์เรื่องนี้ อิชั้นเคยทำมาเกือบทั้งหมดแล้ว เหลืออย่างเดียวที่ไม่ได้ทำคือ ก้าวขาเข้าไปในวังวนของยาเสพติดร้ายแรงเท่านั้นแหละ

เสียดาย

ด้วยความที่ซีรีส์ทำการบ้านมาดี หรือจริง ๆ แล้วมันอาจจะอยู่ในความทรงจำของผู้สร้างเลยก็ว่าได้ ภาพที่เห็นจึงออกมาสมจริง ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ของบ้านในสมัยนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถย้อนกลับไปในสถานที่ยอดฮิตในสมัยนั้นได้จริง ๆ แต่บรรยากาศโดยรวมก็ทำให้ยืนอยู่ในคำว่าใช่ จนสร้างความรู้สึกย้อนอดีตได้ในทันที สำหรับใครที่เกิดในยุค 90s เชื่อว่าภาพอดีตต้องผุดกันขึ้นมาเป็นฉาก ๆ แน่นอน…ฟันธง

บทปรับใหม่ที่เข้าถึงกว่าเดิม

ถ้าพูดถึงเนื้อเรื่อง เนื้อหาที่ซีรีส์ต้องการจะสื่อ มันคือเนื้อหาเดียวกันกับ เสียดายเวอร์ชันภาพยนตร์ในปี 2537 เลยค่ะ แต่สะเทือนใจขึ้น และทำให้เราอินกับความรู้สึกของตัวละครแต่ละตัวได้มากขึ้น ถ้าเราเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของพวกเขา และที่มากไปกว่านั้นก็คือซีรีส์เพิ่มตัวละครใหม่เข้ามาอีกตัวหนึ่ง ที่ไม่มีในเวอร์ชันภาพยนตร์

เด็กวัย 15 ที่มีปัญหาครอบครัว สิ่งที่เขาจะคิดได้ในตอนนั้น มันไม่ไกลไปจากความต้องการของตัวเองกันหรอกค่ะ อนาคตเป็นอย่างไรใครจะคิดออก สิ่งที่คิดได้ตอนนี้ก็คือ ฉันจะทำอย่างไรให้ฉันรู้สึกมีความสุขในตอนนี้ เพราะมันช่างเร่งด่วนและบีบคั้นเหลือเกิน เมื่อบ้านไม่ใช่สถานที่แห่งความสุขอีกต่อไป การไม่อยู่บ้านจึงเป็นทางออกเดียวที่คิดได้ และการอยู่กับเพื่อนที่รู้ใจก็ดีกว่าอะไรทั้งหมด

เสียดาย

ซีรีส์มีการปูพื้นตัวละครแต่ละตัวให้เราค่อย ๆ เข้าใจความรู้สึกของเด็กแต่ละคนอย่างใจเย็น การดำเนินเรื่องไม่ได้รวดเร็วมากนักแต่ก็ไม่ได้ช้าจนเราอดใจรอไม่ไหว แต่เป็นการค่อย ๆ เผยให้เห็นปัญหาที่เด็กแต่ละคนเผชิญอย่างอยากจะให้เข้าใจพวกเขามากกว่า ณ จุดนี้ต้องบอกว่า มันสมจริงอย่างเป็นชีวิตทีเดียวละ

ธรรมชาติการแสดงที่สมจริง

แคสติ้งตัวแสดงเรื่องนี้ไม่ค้านสายตาใด ๆ เลย โดยเฉพาะสาว ๆ ทั้ง 4 คน เริ่มจาก แป๋ม (พลอย-ศรนรินทร์ บุญผ่อง) เด็กสาวที่เริ่มเข้าวงการจากละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ฝีมือของเธอพัฒนามาเรื่อย ๆ เลยค่ะ โดยเฉพาะกับการแสดงเรื่องนี้ที่ต้องเอ่ยปากชม พลอยเป็นแป๋มได้เหมาะสมจริง ๆ เป็นภาพของเด็กสาวที่รักเพื่อน เพื่อนว่าไงว่าตามกัน ด้วยความที่สภาพแวดล้อมที่แป๋มอยู่เป็นแฟลตในย่านชุมชน สิ่งยั่วยุต่าง ๆ ก็จะเข้ามาหาแป๋มได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะยาเสพติด “ลองเล่น ๆ แค่นี้ไม่ติดหรอก” นี่คือสิ่งที่แป๋มคิดและใช่ค่ะ เด็กที่ติดยาเสพติดอีกหลายคนก็คิดแบบนั้น

แป๋ม (พลอย-ศรนรินทร์ บุญผ่อง)

ซีรีส์ทำให้เราเห็นว่าการที่แป๋มไปติดยาเสพติด ไม่ใช่เพราะสภาพแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ครอบครัวมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก ลูกสาวคนเดียวของดาบตำรวจที่ค่อนข้างเฮี๊ยบ แม่ติดการพนัน มีเงินเท่าไหร่เล่นไพ่หมด ถ้าพ่อของแป๋มจับได้ก็มีการลงไม้ลงมือกันจนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ลึก ๆ แล้วเด็กปวดใจค่ะ แป๋มไม่เข้าใจว่า เล่นไพ่มันผิดตรงไหน ซึ่งเป็นส่วนที่ผลักดันให้แป๋มไปใช้ยาเสพติด แป๋มในภาพยนตร์ได้ตุ๊กตาทองในปีนั้นนะคะ แต่แป๋มในซีรีส์ต้องรอดูว่าจะคว้ารางวัลอะไรไปได้บ้าง

เดือน (แพรว-แพรวพรรณรายณ์ ศันสนะพิทยากร) เพื่อนสนิทของแป๋มที่อยู่แฟลตเดียวกัน เรียนโรงเรียนเดียวกัน ครอบครัวอบอุ่น แต่พ่อของเดือนประสบอุบัติเหตุ ทำให้ชีวิตพลิกผัน ครอบครัวต้องการใช้เงิน แม่จึงต้องยอมขายตัวเพื่อแลกกับเงินเพื่อรักษาพ่อ ตัวละครตัวนี้น่าเห็นใจในโชคชะตาเอามาก ๆ เพราะทางออกที่จะช่วยแบ่งเบาภาระให้ครอบครัวที่เธอเลือก มันทำให้ถลำลึกจนเกิดผลร้าย แพรวเป็นเดือนได้น่าสงสารและเชื่อได้ในทันทีเลยว่า เขาคิดได้แค่นี้

เดือน (แพรว-แพรวพรรณรายณ์ ศันสนะพิทยากร)

ปัญหาของครับครัวคือฐานะทางการเงินที่เลี่ยงไม่ได้ ในฉบับภาพยนตร์ไม่สามารถเล่าพื้นเพปัญหาของครอบครัวนี้ได้กระจ่างนัก แต่ฉบับซีรีส์ได้ขยายให้เห็นความจำเป็นภาคบังคับ ที่ทำไมแม่ของเดือน ถึงตัดสินใจขายบริการแทนที่จะเลือกปากกัดตีนถีบในอาชีพอื่น ๆ ซึ่งคำตอบก็ค่อย ๆ เผยมาทีละอย่างจนเราต้องยอมจำนนกับความจำเป็นของเธอในที่สุดจริง ๆ

เงาะ (แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช) ในช่วงที่แพตเล่นเรื่องนี้ น่าจะอายุประมาณ 20 แล้วนะคะ แต่มารับบทเป็นเด็กสาวอายุ 15 ซึ่งก็ไม่ค้านสายตาในส่วนนี้ เพราะแพตในชุดนักเรียน ม.ปลายก็ใสสมวัยในตอนนั้น ตัวละครเงาะนี่เป็นตัวละครที่ดูเหมือนชีวิตจะสมบูรณ์ที่สุดในเรื่องแล้ว แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นจนได้เมื่อครอบครัวไม่มีความสงบสุข ฐานะทางบ้านจัดอยู่ในขั้นที่ลูก ๆ สามารถมีกินมีใช้ได้สุขสบาย เรียนโรงเรียนเอกชน

เงาะ (แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช)

บ้านเงาะเป็นร้านอาหาร แต่พ่อเป็นนักดื่มตัวยง ดื่มไปดื่มมานิสัยเปลี่ยนในตอนเย็น ๆ ค่ะ ทะเลาะตบตีกับเมียตัวเองได้ทุกเย็น เมียระอา ลูกปวดกบาล จนเงาะเริ่มใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนหลังเลิกเรียนเพราะไม่อยากกลับบ้าน เริ่มใช้ยาเพื่อให้ตัวของเธอหลุดจากความวุ่นวายรอบตัว

ปู (คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล) ตัวละครตัวนี้เป็นตัวละครที่ ชีวิตถูกกระทำซ้ำเติมที่สุดแล้วในเรื่อง เรียกว่าหาความอบอุ่นใด ๆ ไม่ได้เลยและถูกซ้ำเติมโดยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะจากแม่ของตัวเอง คิตตี้รับบทนี้ได้น่าเห็นใจและทำให้เราสามารถมอบความเข้าใจล้วน ๆ ให้ตัวละครตัวนี้ได้เลย ปูเป็นเด็กที่พ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่เด็กเพราะพ่อของเธอเจ้าชู้ แม่ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯกับสามีใหม่ ทิ้งให้ปูอาศัยอยู่กับพ่อที่กาญจนบุรี แต่หัวใจเด็กก็โหยหาแม่เป็นธรรมดา จนปูได้ย้ายมาอยู่กับแม่ที่กรุงเทพฯ วาดฝันไว้ถึงความสุขที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับแม่บังเกิดเกล้า แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นดั่งฝัน

ปู (คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล)

แม่สนใจครอบครัวใหม่มากกว่าเธอ และดูเหมือนว่าการมาของปูคือส่วนเกิน ปูจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกบ้านกับเพื่อน และเริ่มต้นใช้ยาเพื่อช่วยให้หลีกหนีจากความทุกข์ในใจ โดยเฉพาะความทุกข์ที่เกิดจากเขาคนนั้นของแม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วปูไม่ได้รับการปกป้องจากอ้อมกอดที่โหยหาซะด้วยสิ ซึ่งในส่วนนี้ท่านมุ้ยได้เล่าชีวิตของปูไว้น่าเศร้าทีเดียวค่ะ กับความเชื่อของแม่ที่มีต่อลูกอย่างเจ็บปวด หมายถึงปูนะคะที่เจ็บปวด

จริงอยู่ที่สภาพแวดล้อมสามารถทำให้เด็กเดินทางผิดได้ง่าย ๆ แต่ก็มีเด็กอีกมากมายที่ไม่ได้เลือกเดินทางนั้น เพราะในบ้านมีพ่อแม่ที่ให้เหตุผลดี ๆ ในการตัดสินใจของเขาได้ มีความพร้อมที่จะเข้าใจและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูก ชีวิตช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อถึงผ่านมาได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อบางครอบครัวมันไม่มี คนใกล้ตัวที่พร้อมจะเข้าใจเขาในทุก ๆ ด้าน คือสิ่งที่ดีที่สุดของเขาในเวลานั้นแล้ว ถึงแม้ว่าสิ่งที่หยิบยื่นให้กันจะทำร้ายพวกเขาทุกคนก็ตาม

ซีรีส์กำเนิดตัวละครขึ้นมาอีกตัวหนึ่งคือ หยก (ฟลุ๊ค-ณธัช ศิริพงษ์ธร) ตัวแทนของเด็กชายที่ใจเป็นหญิง หลายคนอาจบอกว่า LGBTQ เป็นที่ยอมรับมากมายแล้วในปัจจุบัน แต่ในยุคนั้นมันเป็นเรื่องยาก ใครจะรู้ว่ากว่าจะมีชีวิตที่ร่าเริงสวยสดขนาดนี้ พวกเขาต้องผ่านคืนวันอันเจ็บปวดมากมายขนาดไหน สังคมไม่ยอมรับไม่เท่าไหร่ค่ะ แต่ถ้าที่บ้านไม่ยอมรับมันเจ็บปวด ผู้เขียนไม่ได้เป็นสตรีข้ามเพศนะคะ ถึงจะดูบึกอยู่ก็ตาม แต่เข้าใจหัวอกสตรีข้ามเพศเป็นอย่างดี

หยก (ฟลุ๊ค-ณธัช ศิริพงษ์ธร)

หยก เกิดในครอบครัวคนจีนที่ฐานะดี ครอบครัวหยกมีพ่อที่เป็นเหมือนเจ้าชีวิตของทุกคนในบ้าน และพ่อต้องการให้หยกโตขึ้นเป็นผู้ชายที่เข้มแข็ง ก็คือไม่ยอมรับในตัวตนของลูกนั่นเองและพยายามที่จะเปลี่ยนด้วยการบังคับ ซึ่งตัวละครตัวนี้คล้าย ๆ กับชีวิตใครคนหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จัก แตกต่างที่ทางเดินที่เขาเลือกเขาไม่ได้พึ่งพายาเสพติดอย่างหยกเท่านั้นเอง

เสียดาย ให้อะไรกับคนดู

หลายคนอาจบอกว่าละครสะท้อนสังคม ตีแผ่ปัญหาครอบครัวมีเยอะแล้ว แต่เสียดายมีความต่างอยู่ตรงที่ นี่คือชีวิตที่เคยเกิดขึ้นจริงของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันชีวิตของพวกเขาจบไม่สวย ซีรีส์เรื่องนี้อาจจะเล่าย้อนไปในยุค 90s ยุคที่ยาเสพติดมีอยู่ไม่กี่ประเภท ยุคที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวกระโดด เหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องถึงจะเป็นเรื่องราวในสมัยนั้น แต่ก็สามารถกระตุ้นเตือนสังคมปัจจุบันได้ว่า สมัยก่อนยังขนาดนี้แล้วสมัยนี้ล่ะจะขนาดไหน

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้อีก และเกิดขึ้นอยู่แล้วอย่างน่าใจหายด้วยซ้ำในโลกยุคปัจจุบัน เรายังมีปูที่โดนกระทำจากผู้ใหญ่ในบ้าน มีเดือนที่ตัดสินใจขายวิญญาณเพื่อแลกเงิน มีเงาะที่พ่ายแพ้และอ่อนไหวกับปัญหาของครอบครัว มีแป๋มที่อยากรู้อยากลองจนถลำลึกและที่สำคัญ เรายังคงมีหยกที่ถูกกีดกันจากหัวใจตัวเอง แม้ว่าโลกมันจะเปลี่ยนไปแล้วก็เถอะ เสียดายกำลังจะบอกเราว่า เด็กทุกคนต้องมีบ้านให้กลับ

บ้านที่อยากกลับไปซบไออุ่น บ้านที่พร้อมยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น บ้านที่ให้เหตุผลเป็นทางออกเมื่อเขาต้องการและทำให้เขารู้ว่า ที่นี่มีความรัก ถ้าทุกคนมีบ้านแบบนั้น เราจะไม่ต้องเสียดายอะไรเลย แรงไปไหมกับเสียดายถ้าจะดู ชีวิตจริงแรงกว่านี้ค่ะถ้าเราเปิดใจยอมรับ ดูเสียดายเพื่อวันหนึ่งจะไม่ต้องเสียดาย กอดครอบครัวเอาไว้ให้แน่น ๆ แล้วจะไม่เสียดายที่ได้ดู

เสียดาย

  • บทประพันธ์โดย : หม่อมเจ้า ชาตรีเฉลิม ยุคล
  • บทโทรทัศน์โดย : หม่อมราชวงศ์ ศรีคำรุ้ง ยุคล รัตตกุล
  • กำบการแสดงโดย : หม่อมราชวงศ์ ศรีคํารุ้ง ยุคล รัตตกุล
  • ผลิตโดย : บริษัท ศรีคำรุ้ง จำกัด
  • ควบคุมการผลิตโดย : หม่อมราชวงศ์ ศรีคํารุ้ง ยุคล รัตตกุล
  • ดูออนไลน์ตอนใหม่ได้ทุกวันศุกร์ เวลา 20.00 น. พร้อมกันทั่วโลก ทางแอปพลิเคชัน iQIYI (อ้ายฉีอี้) และเว็บไซต์ iQ.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส