[รีวิว] History of Swear Words นานาสาระเรื่องคำด่า – ที่ด่าว่า “xxxx” นี่มันหมายความว่ายังไง (วะ!?)
Our score
7.9

Release Date

05/01/2021

แนว

สารคดี / บันเทิงคดี

ความยาว

1 ซีซัน / 6 ตอน (ตอนละ 20 นาที)

เรตผู้ชม

18+ (การใช้ภาษาไม่เหมาะสม)

Excecutive Producer

Rhett Bachner

Co-Producer

Christopher D'Elia

[รีวิว] History of Swear Words นานาสาระเรื่องคำด่า – ที่ด่าว่า “xxxx” นี่มันหมายความว่ายังไง (วะ!?)
Our score
7.9

History of Swear Words | นานาสาระเรื่องคำด่า

จุดเด่น

  1. สั้น กระชับ ดูเพลิน ดูจบแล้วเข้าใจได้เลยทันที
  2. ผู้กำกับเชื่อมโยงและเชื่อมโยงเรื่องต่าง ๆ ทั้งภาษา สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง ศิลปวัฒนธรรม สุขภาพ จิตวิทยา ฯลฯ ได้ออกมารอบด้าน ทั้งสนุกและโคตรปั่น
  3. นิโคลัส เคจ ในภาพลักษณ์แบบนี้นี่มันเครื่องด่าชัด ๆ โคตรชอบ 555

จุดสังเกต

  1. มีคำหยาบคาย มุกผู้ใหญ่ และมุกสไตล์อเมริกันเยอะ น้อง ๆ อายุต่ำกว่า 18 ปีไม่ต้องดูก็ได้ เพราะดูไปก็ไม่เก็ต
  2. ตัวสารคดีมีความเป็นบันเทิงคดีอยู่ ถ้าหวังดูแบบซีเรียสจริงจัง น่าจะต้องกระเทาะออกเล็กน้อย
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    7.8

  • คุณภาพงานสร้าง

    7.7

  • คุณภาพของบทสัมภาษณ์ / ประเด็น

    7.1

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    8.2

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    8.9

เรื่องย่อ History of Swear Words สารคดีซีรีส์ดำเนินรายการโดย Nicolas Cage ที่จะพาไปสำรวจต้นกำเนิดของคำหยาบคาย ทั้งในมุมของวัฒนธรรมพอป วิทยาศาสตร์ และผลกระทบต่อสังคมของคำหยาบคายที่คนรู้จักกันมากที่สุดในโลก

คำเตือน : บทความรีวิวนี้มีการกล่าวถึง คำหยาบคายต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อยกตัวอย่างในการใช้คำหยาบคายในบริบทและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางสังคมเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการสื่อสารกับผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น อย่าดราม่ากันนะผมกลัว…

ใน ชีวิตของเรา เรามักจะใช้ “คำหยาบคาย” กันจนชิน ใช้กันจนน่าจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรแล้วละมั้งครับ แต่เคยสงสัยกันไหมครับว่าคำหยาบคายที่เราใช้กัน ทั้งตอนที่ด่า หรือโดนด่า หรือใช้เพื่ออุทาน สบถ ต่าง ๆ นานานั้นมีที่มาอย่างไร มันกลายมาเป็นคำหยาบคายได้อย่างไร แล้วคำหยาบคายกลายมาเป็นคำต้องห้ามได้อย่างไร

History of Swear Words

มันมีกลไกอะไรบ้างที่ทำให้เมื่อเราได้ยินคำหยาบคาย เราจึงรู้สึกว่ามันทั้ง“หยาบ” ระ “คาย” หู และจิตใจเสียเหลือเกิน ทำไมเวลาเราสบถกับตัวเองเบา ๆ เราจึงรู้สึกดี แต่ทำไมเวลาเราโดนด่า เราจึงรู้สึกขุ่นเคืองจนอยากจะมีเรื่อง หรือทำไมคำหยาบบางคำ ที่เคยกลายเป็นคำต้องห้ามในสังคมเวลาหนึ่ง แต่ทำไมพอมาถึงปัจจุบัน มันกลับกลายไปเป็นคำที่ยอมรับได้

มิหนำซ้ำ คำหยาบคายบางคำ ทำให้หนังบางเรื่อง เพลงบางเพลง อัลบั้มบางอัลบั้ม หนังสือบางเล่ม นักเขียน นักร้อง นักแสดงบางคน กลายเป็นที่จดจำ ยกตัวอย่างก็ “Motherf**ker” ของลุงแซมมวล แอล. แจ็กสัน หรือคำว่า “ไอ่สั๊ด!” ของน้าค่อม ชวนชื่น อะไรแบบนี้เป็นต้น

History of Swear Words

ต่าง ๆ นานาที่ผมยกมาทั้งหมดทั้งมวลนี้ คงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะกลไกเรื่องของ “ภาษาและความหมายของคำ” แต่เพียงอย่างเดียวตามลำพังแน่ ๆ เคยสงสัยกันไหมครับว่า ไอ้ที่เราด่า ๆ กัน หรือเคยโดนด่า ทำไมเราถึงต้องเอาคำนั้นมาด่า มันมีความหมายอะไรที่มากกว่านั้นหรือเปล่านะ?

History of Swear Words คือสารคดีซีรีส์ Original เรื่องใหม่ของ Netflix ครับ ซึ่งก็ตามชื่อเลยว่า เป็นสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ของ “คำหยาบคาย” โดยทั้ง 6 ตอนในซีซันแรกนั้น เน้นการเล่าเรื่องจุดกำเนิด ประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไป รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ตั้งแต่เรื่องของภาษา ปรากฏการณ์ทางสังคม เพศ ชนชั้น ศาสนา ความเชื่อ การเมือง การปกครอง สุขภาพกายและจิต พฤติกรรม และแน่นอนว่า ต้องไปข้องแวะกับสื่อบันเทิง ตั้งแต่ภาพยนตร์ เพลง รายการทีวี หรือแม้แต่โชว์ Stand Up Comedy (เดี่ยวไมโครโฟน) ซึ่งเปรียบเสมือน “ที่ทาง” เดียวในสังคมที่ยังได้รับความยินยอมให้คำหยาบคายเล็ดลอดออกมาได้บ้างผ่านการจัดเรตติง

History of Swear Words

ทั้งหมดนี้ดำเนินเรื่องผ่านการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา สังคม วัฒนธรรม และบันเทิง ที่จะมาเล่าถึงมุมมองทางด้านภาษาของคำหยาบคาย มุมมองและผลกระทบต่อสังคมที่เกี่ยวเนื่องจากคำหยาบคายนั้น หรือแม้แต่ผลกระทบด้านจิตวิทยา และปรากฏการณ์ทางร่างกายที่เกี่ยวกับคำหยาบด้วย รวมถึงทีมงานยังนึกสนุก ไปสัมภาษณ์ดารา นักแสดง นักแสดงตลก นักแสดงเดี่ยวฯ มากหน้าหลายตา เพี่อมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับคำหยาบคายด้วย และทั้งหมดนี้ถูกขมวดรวมและนำเสนอโดยพิธีกรอย่างลุง Nicolas Cage (ผู้เคยพ่นคำว่า BITCH ในหนังเรื่อง Face/Off (1997) มาแล้ว)

History of Swear Words

ส่วนตัวผมชอบลุงแกในลุคนี้นะครับ หลังจากที่หลัง ๆ แกชอบรับงานหนังด้วยคติ “ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน” รับเล่นหนังบ้าบอคอแตกอะไรก็ไม่รู้ตั้งหลายเรื่อง ลุคของลุงแกก็เลยออกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ จำไม่ค่อยได้ แต่คราวนี้ผมว่า ลุงแกเท่มาก ๆ ครับ ลุงดูกลายเป็น “เครื่องด่า” ที่พร้อมจะหลุดคำสบถ พ่นคำด่า ปล่อยสัตว์เลื้อยคลาน (จากปาก) ออกมากัดเราได้ทุกเมื่อ 555

History of Swear Words

และพอเป็นสารคดีคำหยาบคายที่มาในรูปของซีรีส์ ทั้งหกตอนในซีซันแรกก็เลยมีชื่อตอนเป็น “คำหยาบคาย” ทั้งหมด ได้แก่ FUCK”, “SHIT”, “BITCH”, “DICK”, “PUSSY“, และ “DAMN” เรียกได้ว่าเป็นชื่อตอนที่ “โคตรหยาบคาย” เลยครับ 555

ก็แหงล่ะ เพราะซีรีส์เรื่องนี้เขาเล่าเรื่องของประวัติศาสตร์คำหยาบคาย คำละหนึ่งตอน ตอนละราว ๆ 20 นาที เจาะลึกคำหยาบคายแต่ละคำกันแบบทุกด้านทุกมุม ตั้งแต่เรื่องของต้นกำเนิด รากศัพท์ ภาษา การศึกษาปรากฏการณ์ที่อธิบายว่าเมื่อเราพูดคำ (หยาบคาย) นั้นออกไปแล้ว จะส่งผลกระทบอย่างไรกับคนในสังคมบ้าง

History of Swear Words

รวมถึงเรื่องที่น่าสนใจที่เราอาจนึกไม่ถึงก็คือ คำหยาบคายจริง ๆ แล้ว อาจมีความหมายที่ไม่จีรังยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนแปลงความหมายตามประวัติศาสตร์และการใช้ มันทำให้ความหมายของคำหยาบคายบางคำนั้นเปลี่ยนไป กลายเป็นคำธรรมดา ๆ ที่มีความหมายโดยนัย “กว้างขึ้น” และ “มีนัยที่สื่อถึงความหยาบคาย” น้อยลง เมื่อใช้ในบริบทและน้ำเสียงที่ต่างกันออกไป

History of Swear Words

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็อย่างเช่นตอน “PUSSY” ที่หมายถึงของสงวนของสตรี ซึ่งจริง ๆ มันมีที่มาหลายตลบมาก ๆ ตั้งแต่การที่มันมีความหมายร่วมกันในหลาย ๆ ภาษา สันนิษฐานว่า รากศัพท์อาจหมายถึงประตู หรือกระเป๋ามาก่อน (ซึ่งก็คล้ายอยู่นะ) จนกระทั่งคลี่คลายกลายไปเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกแมวหรือลูกแมว จนกระทั่งมันก็ถูกนำเอามาเรียกผู้หญิงในเชิงชื่นชมประมาณว่า “คุณช่างน่ารักนุ่มนิ่มเหมือนแมวน้อย…”

History of Swear Words
ลุงนิโคลัส เคจ ขณะกำลังวาด PUSSY

จนกระทั่งมาถึงช่วงหนึ่ง ความหมายก็เปลี่ยนเป็นคำที่สื่อไปถึงของสงวนของสตรี (ในฐานะที่เคยถูกมองว่ามันเป็นของต่ำ) แล้วก็พัฒนากลายไปเป็นคำด่าเพศตรงข้ามแทน เช่น “ไอ้หน้า PUSSY ซึ่งพอด่าออกไป ก็จะเกิดความย้อนแย้งเหยียดเพศขึ้นมาอีก เพราะถ้าเกิดเราด่าใครสักคนว่าไอ้หน้า PUSSY มันก็เหมือนกันการ “ยอมรับ” ว่า PUSSY ของเพศหญิงเป็น “ของต่ำ” ไปอีกแน่ะ! (เพราะปกติเรามักใช้ของที่ต่ำต้อย สกปรก น่ารังเกียจ ฯลฯ มาใช้ด่าเพื่อเปรียบเปรยว่าคน ๆ นั้นต่ำต้อย สกปรก น่ารังเกียจเหมือนกับสิ่งนั้น ๆ)

History of Swear Words
Sugar Honey Ice Tea

แม้ชื่อซีรีส์สารคดีเรื่องนี้จะใช้ชื่อนำหน้าว่า History (ประวัติศาสตร์) แต่เอาเข้าจริง ๆ เป็นสารคดีที่ดูได้เพลิน ๆ เลยนะครับ เพราะนอกจากจะสั้นแค่ 20 นาทีแล้ว ในแง่ของการเล่าเรื่องก็น่าสนใจ เพราะสามารถเล่าเรื่องห่าม ๆ อย่างคำหยาบคายให้ออกมาได้เนิร์ดมาก ๆ โพรดิวเซอร์และคนเขียนบทเก่งมาก ๆ ในการเชื่อมโยงคำหยาบคายกับมุมมองด้านต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ คำหยาบหนึ่งคำ สามารถพูดได้ตั้งแต่เรื่องของภาษา ประวัติศาสตร์ สังคม ศิลปวัฒนธรรม การเมือง การปกครอง หรือแม้แต่ศาสนาหรือความเชื่อขนาดนั้นเลย!

History of Swear Words

แม้ว่าจะมีข้อมูลเนิร์ด ๆ เต็มไปหมด แต่ก็สามารถนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ให้ออกมาทั้งหยาบคาย ห่าม ตลก สนุกสนานเฮฮา และกวนเบื้องล่างมาก ๆ ส่วนลุงนิโคลัส เคจ ก็เป็นโฮสต์ที่คอยเชื่อมเรื่องราวแบบโซโลเดี่ยวได้สมกับเป็นนักแสดงระดับแถวหน้า กลายเป็น “เครื่องด่ามาดดี” ที่ดูแล้วก็แอบคิดถึง “น้าเน็ก” (เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) อยู่เหมือนกันนะครับ

History of Swear Words

สำหรับคนที่คอนเซอร์เวทีฟ หรือมีความหวั่นใจว่าสารคดีเรื่องนี้จะมาเชิดชูคำหยาบคายหรือเปล่า ต้องขอบอกเลยครับว่า สารคดีเรื่องนี้ไม่มีอะไรอย่างนั้นแน่นอน โอเค เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่า คำหยาบคายน่ะ ถ้ามันออกมาอย่างผิดกาลเทศะ มันมีแต่จะเสียกับเสีย เอาไปใช้ไม่ถูกคน ไม่ถูกสถานที่ก็เสียเกียรติ เอาไปใช้ไม่ถูกเวลาก็ดราม่า เอาไปใช้ไม่ถูกทั้งเวลา ไม่ถูกคน ไม่ถูกสถานที่ก็มีแต่จะฉิบหายวายวอด

History of Swear Words

แต่ในอีกทางหนึ่งก็ต้องไม่ลืมว่า คำหยาบคายนั้นไม่ได้ “หยาบคาย” เพียงเพราะตัวมันเองแน่นอน สารคดีเรื่องนี้เปิดให้เราได้เห็นแบบอล่างฉ่างว่า คำหยาบคายไม่ได้เป็นเพียงแค่คำที่เอาไว้สบถด่าทอ แต่ยังมีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในนั้นมากมาย คำหยาบคายอาจเป็นสิ่งแย่และเป็นข้อห้าม แต่สำหรับคนอย่างเรา ๆ เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกว่าโลกมันห่วย คนน่ารำคาญ

การได้สบถว่า “FUCK YOU!” เบา ๆ กับตัวเองแค่สักครั้ง มันก็ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้จริง ๆ นะครับ…

History of Swear Words

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส