พอเวลาพูดถึงของ ‘ถูกและดี’ หลายคนคงคิดว่ามันไม่มีหรอกของอะไรแบบนั้น แต่สำหรับอัลบั้มเพลงบางเพลงต้นทุนการผลิตก็ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าความสำเร็จจะแปลผันตามเงินที่ได้ลงไป อย่างในบทความ “7 อัลบั้มที่มีต้นทุนการผลิตแพงที่สุดในโลก !!” ก็คงได้เห็นแล้วว่าหลายอัลบั้มที่ลงทุนไปอย่างหนักกลับจบลงที่โศกนาฏกรรมอันแสนเศร้าสำหรับนักดนตรีและเจ้าของเงินที่ได้ลงทุนไป

ครั้งนี้เราจะพาเพื่อน ๆ มาดู 6 อัลบั้มดีที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะก็สามารถสร้างผลงานระดับยอดเยี่ยมได้

Nirvana – Bleach

ถ้าพูดถึงในแง่ของการสร้างสรรค์ อัลบั้มเปิดตัวของ Nirvana ‘Bleach’ คงไม่ใช่อัลบั้มที่ทำง่ายที่สุด ‘เคิร์ต โคเบน’ (Kurt Cobain) รู้สึกกดดันที่ต้องเขียนเพลงที่หนักหน่วงขึ้นโดยมีเมโลดี้และองค์ประกอบของความพอปที่น้อยกว่าที่เขาต้องการ มีข่าวลือว่าโคเบนรู้สึกผิดหวังมากที่ต้องเขียนเนื้อเพลงเพียงหนึ่งวันก่อนบันทึกเสียงและค่อนข้างไม่พอใจกับผลงานเหล่านั้นนัก อย่างไรก็ตามกระบวนการนี้เสร็จสิ้นไปอย่างรวดเร็ว วงใช้เวลาแค่ 30 ชั่วโมงกว่าใน 5 วันสำหรับการบันทึกเสียงทั้งอัลบั้มที่สตูดิโอ Reciprocal Recording โดย แจ๊ค เอ็นดิโน (Jack Endino) และใช้ต้นทุนเพียง 606.17 ดอลลาร์ ในตอนแรกอัลบั้มขายได้ไม่ดีนัก แต่หลังจากการเปิดตัวอัลบั้ม ‘Nevermind’ และการเสียชีวิตของโคเบนจำนวนยอดขายก็เพิ่มขึ้นจาก 40,000 ชุดเป็น 1.9 ล้านชุด

Sublime – 40 oz. to Freedom

คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจนักที่วงดนตรีพังก์จะปรากฏในลิสต์นี้ วงดนตรีพังก์จำนวนมากมักบันทึกเพลงของพวกเขาโดยใช้อุปกรณ์ราคาถูกหรือเทคนิคการบันทึกเสียงแบบโฮมสตูดิโอซึ่งไม่ใช่ทุกวงที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่มียอดขายถล่มทลายได้ แต่สำหรับอัลบั้มเปิดตัวโดย Sublime ‘40 oz. to Freedom’ นั้นมันช่างให้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง เพราะแค่เพียงในสหรัฐอเมริกาที่เดียวก็ขายได้กว่า 2 ล้านชุดแล้วและยังเป็นอัลบั้มที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ของวงอีกด้วย ในขณะที่พวกเขาลงทุนไปกับค่าห้องสตูดิโอราว 30,000 เหรียญเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นพวกเขาก็ไม่ได้จ่ายอะไรเลย ย้อนกลับไปในปี 1990 Sublime ได้พบกับนักเรียนคนหนึ่งชื่อ Michael “Miguel” Happoldt ซึ่งแอบพาวง Sublime เข้ามาในสตูดิโอของโรงเรียนเพื่อบันทึก EP แรกของพวกเขา โดยทำการบันทึกเสียงตลอดทั้งคืนและเสร็จสิ้นในตอนเช้า พวกเขาก็เลยใช้กลวิธีเดียวกันนี้กับอัลบั้มเปิดตัวชุดนี้ โดยบันทึกเสียงกันที่สตูดิโอของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (California State University) ในโดมิงเกซฮิลส์ตั้งแต่ 9 โมงครึ่งถึงตี 5 และต้องซ่อนตัวไม่ให้ยามจับได้ ช่างเป็นวีรกรรมอันแสนระทึกใจที่ผลลัพธ์ของมันนั้นช่างหอมหวานนัก

King Gizzard and the Lizard Wizard – Flying Microtonal Banana

ถือเป็นวงดนตรีที่แปลก แต่มีความเจ๋งอย่างเหลือเชื่อสำหรับ ‘King Gizzard and the Lizard Wizard’ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการทดลองทางดนตรีที่มีทั้งการสลับไปมาระหว่างแนวเพลงต่าง ๆ การใช้เครื่องดนตรีแบบ microtonal ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีการแบ่งช่วงเสียงแบบเล็กจิ๋วมาก นอกจากนี้พวกเขายังสร้างผลงานออกมาเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้จากการที่วงมักบันทึกเสียงเพลงของพวกเขาเองเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายความว่าค่าใช้จ่ายในการบันทึกอัลบั้มส่วนใหญ่ของพวกเขาจะมีการใช้จ่ายที่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างในอัลบั้ม ‘Flying Microtonal Banana’ วงก็มารวมตัวกันที่สำนักงานใหญ่ของค่ายเพลงของพวกเขาเองซึ่งมีลักษณะเหมือนห้องพักในโรงแรมขนาดเล็กและบันทึกเสียงกันที่ตรงนั้นนั่นล่ะ

Cowboy Junkies – The Trinity Sessions

Cowboy Junkies วงดนตรีสัญชาติแคนาดาที่ประกอบด้วยพี่น้อง 3 คนและเพื่อนของพวกเขามีผลงาน LP ออกมาเพียงชุดเดียวก่อนที่จะบันทึกอัลบั้ม ‘The Trinity Sessions’ ในปี 1987 โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก ลู รีด (Lou Reed) นักดนตรีร็อกชาวอเมริกัน ทำให้ในอัลบั้มนี้มีทั้งเพลงออริจินัลของพวกเขาเองและเพลง cover ของวง The Velvet Underground ที่แต่งโดยลู รีด และบทเพลงโฟล์ก ร็อก คันทรีที่พวกเขาประทับใจ พวกเขาตัดสินใจที่จะทำสิ่งที่แตกต่างออกไปในแง่ของการบันทึกเสียงด้วยการเช่าโบสถ์ ‘Church of the Holy Trinity’ เพื่อทำการบันทึกเสียงที่นี่ ! (และนี่ก็เป็นที่มาของชื่ออัลบั้มนั่นเอง) พวกเขามีงบประมาณเพียง 900 ดอลลาร์และนั่นรวมถึงค่าจ้างซาวด์เอ็นจิเนียร์ ปีเตอร์ มัวร์ (Peeter Moore) ดังนั้นพวกเขาจึงต้องทำทุกอย่างอย่างรวดเร็ว พวกเขาใช้เวลาในหนึ่งวันบันทึกเสียงทั้งอัลบั้มด้วยการนั่งล้อมวงกันรอบไมโครโฟนสเตอริโอเพียงตัวเดียว นอกจากนี้ยังมีนักดนตรีรับเชิญที่มาถึงช้าไปหน่อย วงจึงต้องจ่ายเงิน 25 ดอลลาร์ให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อให้พวกเขาอยู่ได้นานขึ้น 2-3 ชั่วโมง ในท้ายที่สุดอัลบั้มนี้ก็กลายเป็นอัลบั้มระดับมัลติแพลตินั่ม

Black Sabbath – Black Sabbath

ไอคอนแห่งวงการเพลงเมทัลไม่ได้มีเงินถุงเงินถังมากนักในช่วงเริ่มต้นอาชีพของพวกเขา พวกเขาถูกปฏิเสธโดยค่ายเพลง ถูกกดดันให้ทำงานร่วมกับนักแต่งเพลงที่ไม่ค่อยเข้าขากันนัก และที่สำคัญพวกเขาไม่มีเงิน ( ‘ออซซี ออสบอร์น’ (Ozzy Osbourne) จำได้ว่าเขาไม่มีรองเท้าใส่มาระยะหนึ่งแล้วตอนนั้น) แต่สุดท้ายวงก็ได้รับเงินจากนักวิจารณ์เพลงแจ๊ซนาม ‘โทนี ฮอล’ (Tony Hall) เพื่อเป็นค่าบันทึกเสียงอัลบั้มโดยมีงบทั้งหมด 600 ปอนด์ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนักสำหรับที่จะใช้ในการบันทึกเสียง ดังนั้นวงจึงต้องอัดเสียงให้เสร็จภายในวันเดียวซึ่งพวกเขาก็สามารถทำมันได้สำเร็จ แม้จะทำอย่างเร่งรีบแต่สุดท้ายอัลบั้มนี้ก็กลายเป็นการปฏิวัติและเปิดประตูให้กับวงดนตรีอื่น ๆ ในการทำเพลงที่หนักหน่วงและเข้มข้นขึ้นในเวลาต่อมา

Bruce Springsteen – Nebraska

พออ่านเรื่องต่อไปนี้แล้วคุณจะรู้ว่า ‘บรูซ สปริงส์ทีน’ (Bruce Springsteen) นั้นเทพแค่ไหน เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อสปริงส์ทีนตั้งใจบันทึกเสียงบทเพลงที่เขาแต่งขึ้นมาเพื่อทำเป็นเทปเดโมแล้วนำไปให้กับวงดนตรี ‘E Street Band’ ของเขา โดยเขาเลือกที่จะบันทึกเสียงด้วยเทป 4 แทร็กที่บ้านของเขาเองแทนที่จะพยายามเขียนและบันทึกเพลงในสตูดิโอ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานั้นเกินคาดและมันมีคุณภาพเสียงที่ดีมาก จนสุดท้ายก็กลายเป็นมาสเตอร์สำหรับทำอัลบั้มที่มีชื่อว่า ‘Nebraska’ ซึ่งนั่นหมายความว่าสปริงส์ทีนแทบไม่ต้องควักเงินสักสตางค์แดงเดียวสำหรับการสร้างหนึ่งในอัลบั้มประวัติศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในอาชีพของเขา อัลบั้มชุดนี้ขายได้มากกว่า 1 ล้านชุด ดังนั้นค่ายเพลงจึงพอใจกับผลตอบแทนจากการลงทุนของพวกเขา (ก็แน่นอนล่ะ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดโมที่สปริงส์ทีนทำไว้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของเพลงฮิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาที่จะอยู่ในอัลบั้มชุดถัดไปนั่นก็คือ ‘Born in the U.S.A.’ นั่นเอง

Source

ultimate-guitar

mic

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส