แรงบันดาลใจนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วขณะรวดเร็วราวกับสายฟ้าฟาด สิ่งสำคัญคือเราต้องฉวยมันเอาไว้ให้ทันก่อนที่เราจะลืมมันไปและไม่สามารถพบกับมันได้อีกตลอดกาล แต่ก็มีนักแต่งเพลงหลายคนที่ว่องไวปานกามนิตหนุ่มและสามารถฉวยจับเอาแรงบันดาลใจเหล่านั้นและไปขัดเกลามันจนกลายเป็นบทเพลงอันโด่งดังบทเพลงอมตะที่ไม่มีวันสูญหายไปตลอดกาล

หลายครั้งความดังของเพลงก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาที่ใช้แต่ง บางเพลงแต่งไม่นานแต่ก็ปังได้ ! และต่อไปนี้คือเรื่องราวของ 11 เพลงดังเพลงปังที่แต่งเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที ! เราไปดูกันว่ามีเพลงอะไรบ้าง เชื่อว่าในนี้จะต้องมีเพลงที่เป็นเพลงโปรดของคุณอยู่บ้างแน่ ๆ

“What’d I Say” – Ray Charles

ในความเป็นจริงแล้วถึงแม้ว่าเพลงบางเพลงจะแต่งเสร็จภายในเวลาไม่กี่นาทีแต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเพลงนั้นศิลปินผู้รังสรรค์บทเพลงกลับต้องใช้เวลากว่าช่วงชีวิตในการสั่งสมประสบการณ์เพื่อจับฉวยแรงบันดาลใจและสร้างสรรค์บทเพลงนั้นขึ้นมา อย่างเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ เรย์ ชาร์ลส์ (Ray Charles) ศิลปินผู้สูญเสียดวงตาแต่ว่าเปี่ยมล้มไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ ในปี 1958 ในขณะที่ชาลส์กำลังแสดงสดอยู่ที่คลับในบราวน์สวิลล์,เพนซิลวาเนีย เขาพบว่าเวลายังเหลืออยู่อีกตั้ง 12 นาทีและไม่รู้ว่าจะเล่นอะไรต่อไปแล้ว ในขณะที่ทุกคนไฟติดเตรียมจะเต้นกันอย่างเต็มที่ เรย์ ชาร์ลส์จึงหันไปหาเปียโนไฟฟ้า Wurlitzer ที่เขานำติดตัวมาด้วย (เพราะเขาไม่อยากจะเล่นเปียโนที่ทางสถานที่เตรียมเอาไว้ให้) ชาร์ลส์เลยหันไปหาเพื่อน ๆ นักดนตรีและบอกกับพวกเขาว่า  “ดูนะ ผมกำลังจะเริ่มแล้ว ผมไม่รู้เหมือนกันว่าผมจะไปที่ไหนดังนั้นพวกคุณแค่ตามผมมานะ โอเค?” จากนั้นเขาก็เริ่มเล่นริฟฟ์ที่มาจากโน้ต 4 ตัวไปเรื่อย ๆ ในทำนองแบบรุมบ้าและใส่ลิก boogie-woogie เข้าไปอีก หลังจากนั้นฝ่ายเครื่องเป่าก็เข้ามาแจมแล้วชาร์ลส์ก็อิมโพรไวส์เนื้อร้องไป 2-3 ท่อนซึ่งมาจากอะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามาในหัวของเขา ณ ตอนนั้น ก่อนที่จะเข้าสู่ท่อนร้องแบบ call-and-response กับกลุ่มนักร้องแบ็กอัป The Raelettes ของเขา ซึ่งชาร์ลส์ได้หันไปบอกกับสาว ๆ นักร้องแบ็กอัพว่า “ไม่ว่าผมจะร้องอะไร พวกคุณแค่ร้องตามผมนะ” องค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้นล้วนเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลาหลายปีที่ได้ทำงานร่วมกันในคลับ แต่ว่าพวกเขาไม่เคยแต่งกันสด ๆ ร้อน ๆ แบบนี้มาก่อน ในขณะที่วงเล่นท่วงทำนองนี้คนทั้งห้องก็เริ่มสั่นเริ่มส่ายโยกย้ายสะโพกกันอย่างสนุกสนานและหลังจากพวกเขาบรรเลงเสร็จ ชาร์ลส์ก็ถูกรุมล้อมไปด้วยบรรดาแฟน ๆ ที่มาถามเขาว่าพวกเขาจะหาซื้อเพลงที่เล่นเมื่อครู่นี้ได้ที่ไหน

Super Bass” – Nicki Minaj 

Ester Dean และ Nicki Minaj

นักแต่งเพลงแต่ละคนก็มีเทคนิคและวิธีการในการแต่งเพลงแตกต่างกัน บางคนเชี่ยวชาญด้านบีตหรือกรูฟ บางคนก็เก่งที่เมโลดี้ บางคนอาจจะเป็นเทพด้านการแต่งท่อนฮุกที่โดนใจ ซึ่ง ‘เอสเทอร์ ดีน’ (Ester Dean) นั้นเป็นหนึ่งในนักแต่งเพลงมือฉมังประเภท Topliner ซึ่งหมายถึงนักแต่งเพลงที่จะแต่งเมโลดี้หรือเนื้อเพลงลงไปบนบีตหรือเพลงบรรเลงที่โปรดิวเซอร์ทำขึ้นมานั่นเอง เพลงฮิต ๆ ที่เธอเป็นคนแต่งทำนองให้นั้นก็เช่น “Rude Boy” และ “S&M” ของ รีฮันนา (Rihanna) และ “Turn Me On” ของ ดาวิด เกตต้า (David Guetta) และเธอนี่แหละคือผู้ให้กำเนิดท่อน  “boom badoom boom / boom badoom boom” ที่ฮิตติดหูจากเพลง “Superbass” ของนิกกี มินาจ (Nicki Minaj) นั่นเอง และเพลงนี้เธอก็โม้ให้ฟังว่าแต่งเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 5 นาทีเหมือนกับเพลงอื่น ๆ ที่เธอเคยแต่งมาแล้ว เธอเล่าให้ The New Yorke ฟังว่า “ฉันเดินเข้าไปในบูธแล้วก็กรีดร้องออกมา ร้องมันออกมา ร้องไปร้องมา บ้างก็ออกมาเป็นคำ บ้างก็ฟังไม่ได้ศัพท์ แต่เวลาที่ฉันรู้สึกขนลุกขึ้นมาตรงนี้ (เธอเอามือจับที่ต้นแขนของเธอ) ฉันจะรู้สึกว่าใช่ ๆ นี่แหละท่อนฮุกของเพลงล่ะ”

American Woman” – The Guess Who

เพลง “American Woman” ของวง ‘The Guess Who’นั้นเกิดขึ้นจากการแจมกันสด ๆ ต่อหน้าผู้ชมในการแสดงที่ที่ออนแทริโอในแคนาดา เรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อมือกีตาร์ แรนดี บาคมาน (Randy Bachman) ดันทำสายขาดขึ้นมา ในช่วงเวลาแห่งความเงียบของการเปลี่ยนสายนั้น บาคมานก็ได้ลองเล่นริฟฟ์วนไปวนมาซึ่งเขาก็รู้สึกว่ามันเข้าท่าดี ก็เลยหมุนเปิดโวลุมกีตาร์ขึ้นมาแล้วก็เล่นมันอีกครั้งหลังจากนั้นทั้งวงก็เข้ามาแจมด้วยกัน ในขณะที่นักร้องนำ เบอร์ตัน คัมมิงส์ (Burton Cummings) ก็มั่วเนื้อกันตรงนั้นเลย และด้วยความโชคดีที่พวกเขามองเห็นว่าในหมู่ผู้ชมนั้นมีคนที่เอาเครื่องอัดเทปมาอัดเสียงด้วยหลังจากเล่นเสร็จแล้วทางวงก็เลยไปขอก็อปปี้ที่ผู้ชมคนนั้นได้อัดเอาไว้ (ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ล่ะสบายเพราะใคร ๆ ก็คงใช้โทรศัพท์อัดคลิปเอาไว้) และหลังจากนั้นพวกเขาก็แกะสิ่งที่ได้ยินจากเทปและบันทึกเสียงกันในสตูดิโอ

เนื้อเพลงของเพลงนี้มาจากสิ่งที่เบอร์ตัน คัมมิงส์พรั่งพรูออกมาในคอนเสิร์ตวันนั้น เขาเล่าให้ The Toronto Star ฟังในปี 2013 ว่า “สิ่งที่อยู่ในหัวของผมในตอนนั้นคือสาว ๆ ในอเมริกานั้นดูเหมือนว่าจะแก่ตัวเร็วกว่าสาว ๆ ของเรา (หมายถึงสาว ๆ ในแคนาดานั่นเอง) ซึ่งนั่นทำให้พวกเธอเหล่านั้นดูอันตรายและทำให้ผมอยากร้องออกมาว่า “American woman, stay away from me”  นั่นคือผมกำลังจะบอกว่า ‘สาว ๆ แคนาดาจ๋าผมชอบพวกคุณเหลือเกิน’”

Just Dance” – Lady Gaga 

‘เลดีกากา’ (Lady Gaga) RedOne และ Akon ใช้วิธีการทำงานคล้าย ๆ กับเอสเทอร์ ดีนในเพลง “Just Dance” นั่นคือเริ่มจากการแต่งทำนองที่ฮิตติดหูด้วยเสียงซินธ์ตื๊ด ๆ ในสตูดิโอ แล้วหลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ประกอบร่างเมโลดี้ขึ้นมาแล้วดูว่าอันไหนติดหูแล้วค่อย ๆ จับมันมาร้อยเรียงกันตามลำดับจนเสร็จเพื่อให้ได้การวิ่งขึ้นวิ่งลงของเมโลดี้ที่สนุกสนานตามที่เลดีกากาตั้งใจไว้แต่แรกว่าอยากจะแต่งเพลงเร็ว ๆ ที่ชวนแดนซ์ เลดีกากาเล่าให้ Heat magazine ฟังว่า “มันน่าเหลือเชื่อมาก ๆ ที่เพลงนี้กลายเป็นเพลงฮิตเพราะว่าฉันใช้เวลาแต่งมันแค่ 10 นาทีเท่านั้นเอง ฉันคิดว่าที่มันดังก็เพราะว่ามันเป็นเพลงที่ฟังแล้วสนุกมีความสุข ฉันคิดว่าเพลงนี้น่าจะยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในเวลานี้เพราะมันเป็นเวลาที่ผู้คนต่างประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ทั้งสูญเสียการงานที่ทำและบ้านเรือนไป”

Photograph” – Ed Sheeran

เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran) ใช้เวลาง่วนอยู่กับลูปเพลงในแล็ปท็อปของ จอห์นนี แมคเดด (Johnny McDaid) แห่งวง Snow Patrol ซึ่งเขารู้สึกถูกใจกับลูปอันนึงที่เป็นเสียงทำนองเปียโนรีหวาน ๆ ซึ่งทำให้ชีแรนคิดถึงประสบการณ์อกหักที่เพิ่งเจอมาสด ๆ และคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่คนเรายึดถือเอาไว้เพื่อที่จะพยายามประคับประคองจิตใจของพวกเขาภายในเวลาไม่กี่นาทีชีแรนก็แต่งเพลงฮิตเพลงนี้ของเขาเสร็จ เขาเล่าให้ Capital FM ฟังว่า “ผมเขียนเพลงนี้กับจอห์นนีจากวง Snow Patrol เขามีลูปอยู่ที่แล็ปท็อปของเขา แล้วเขาก็เอามันมาวางลงไปซึ่งเป็นแค่เสียงของเปียโน 3 โน้ตครับ จากนั้นผมก็เริ่มร้องออกไปว่า ‘’Loving can hurt, loving can hurt,’ จากนั้นส่วนที่เหลือของเพลงก็ค่อย ๆ พรั่งพรูออกมาภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที”

Hometown Glory” – Adele

การแต่งเพลงนั้นมักจะหลั่งไหลเอามาจากประสบการณ์และความรู้สึกภายในของคนแต่ง ซึ่งเจ้าไอเดียและแรงบันดาลใจที่ออกมานั้นก็ไม่เลือกสถานการณ์เสียด้วยใครจะรู้ล่ะว่าในระหว่างกลางของการทะเลาะเบาะแว้งกันนั้นจะเกิดมีแรงบันดาลใจแวะผ่านเข้ามาทักทายได้ ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นกับนักร้องสาว ‘อเดล’ (Adele) หลังจากที่เธอกำลังเถียงกับแม่ของเธออยู่เป็นเวลานานเรื่องที่ว่าเธอควรจะออกจากเวสต์นอร์วูดและมุ่งหน้าเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดีมั้ย เธอหัวเสียมากแล้วก็เลยเดินหนีออกจากห้องเข้าห้องของเธอปิดประตูเสียงดังแล้วก็ทุ่มตัวลงไปบนเตียง และหลังจากนั้นไม่นานถ้อยคำก็เริ่มก่อตัวขึ้นมาในห้วงความคิดของเธอเป็นเรื่องเกี่ยวกับบ้าน เกี่ยวกับรากเหง้าของชีวิต และตำแหน่งแห่งที่ในชีวิต และหลังจากนั้นเธอก็หยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่นแล้วภายในเวลาไม่ถึง 10 นาทีเธอก็แต่งเพลงที่มีชื่อว่า “Hometown Glory” เสร็จซึ่งต่อมามันได้กลายเป็นเพลงซิงเกิลแรกในอาชีพนักร้องของเธอเธอได้เล่าเรื่องนี้ให้กับผู้ชมในการแสดงครั้งพิเศษในปี 2015 กับทางบีบีซีเธอบอกว่า “มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้สึกของฉันเกี่ยวกับลอนดอนแล้วก็เรื่องอะไรพวกนี้ ฉันเขียนมันด้วยกีตาร์ตอนนั้นฉันยังเรียนอยู่เลยฉันเลยให้เพื่อนที่โรงเรียนช่วยแกะจากกีตาร์เพื่อเล่นบนเปียโน ถึงแม้ว่าฉันจะเล่นเปียโนได้แต่ฉันคงใช้เวลาเชื่องช้าเป็นหอยทากและคงนานกว่า 12 ชั่วโมงเพื่อที่จะเล่นมันบนเปียโนและร้องไปด้วยในเวลาเดียวกัน”

The Cave” – Mumford & Sons

ไม่มีอะไรที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับความสำเร็จครั้งแรกในการปลุกความคิดสร้างสรรค์ของให้กับวงดนตรีของคุณ เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นทันใดนั้นทุกอย่างก็ดูเป็นไปได้ไปหมด และทุกครั้งที่คุณหยิบเครื่องดนตรีขึ้นมาก็ดูเหมือนว่ามนตร์วิเศษนั้นกำลังจะเกิดขึ้นกับคุณ นั่นเป็นประสบการณ์ของ Mumford & Sons ในระหว่างการทัวร์สก็อตแลนด์เพื่อโปรโมตอีพีแรกของพวกเขา ยิ่งพวกเขาได้เดินทางไปเล่นมากเท่าไหร่ก็เริ่มสัมผัสได้ว่าผู้ชมรู้สึกอินไปกับบทเพลงของพวกเขาและบรรยากาศการเล่นในแต่ละที่ก็กำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ ในระหว่างซาวด์เช็กที่ผับแบนเนอร์แมนในอีดินเบิร์ก ‘มาร์คัส มัมฟอร์ด’ (Marcus Mumford) จู่ๆ ก็เริ่มเล่นไลน์กีตาร์ขึ้นมาซึ่งต่อมามันได้ถูกพัฒนาเป็นเพลง “The Cave” ในตอนนั้นทั้งวงก็เข้ามาร่วมแจมด้วยกันกับมาร์คัส และภายในเวลาไม่กี่นาทีพวกเขาก็ได้บทเพลงที่ต่อมาได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ถึง 4 สาขาด้วยกันซึ่งรวมถึง ‘บทเพลงแห่งปี’ และ ‘การบันทึกเสียงแห่งปี’ด้วย

Laura Palmer’s Theme” – Angelo Badalamenti

Angelo Badalamenti และ David Lynch

คลิปอธิบายการแต่งเพลงนี้มีความยาวไม่ถึง 5 นาที แต่ดูเหมือนว่ามันแทบจะเป็นตัวแทนที่แม่นยำในแบบเรียลไทม์ว่า ‘แองเจโล บาดาลามองติ’ (Angelo Badalamenti) ใช้เวลานานแค่ไหนในการสร้างสรรค์ธีมเพลง “Laura Palmer’s Theme” ที่มืดมิดและลึกลับให้กับซีรีส์ “Twin Peaks บาดาลามองติเล่าให้ฟังว่าตอนนั้นเขานั่งอยู่กับผู้กำกับ เดวิด ลินช์ (David Lynch) ที่หน้าเปียโน Fender Rhodes แองเจโลเพียงถามว่ามีดนตรีประกอบในฉากนี้จะแสดงอารมณ์แบบไหน และเดวิดบอกเขาว่าเขามีความคิดอย่างไรในแง่ของงานภาพ

จากนั้นแองเจโลก็เริ่มเล่นขณะที่เดวิดพูดให้ฟัง คอร์ดแรกที่เขากดนั้นมันมีความหม่นมืดและขุ่นมัว (และเล่นเร็วเกินไปเล็กน้อย) จากนั้นเขาจึงค่อย ๆ เล่นให้ช้าลง และในที่สุดท่วงทำนองก็เปิดออกสู่ความร้าวรานใจที่ท่วมท้น และนี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการตีความความรู้สึกทางดนตรี

See You Again” – Wiz Khalifa ft. Charlie Puth

ในปี 2014 ‘ชาร์ลี พุท’ (Charlie Puth) ได้รับมอบหมายงานสำคัญให้ถามนั่นคือการเขียนเมโลดี้หลักของบทเพลงที่จะถูกใช้เป็นเพลงประกอบหนังเรื่อง ‘Fast & Furious 7’ ซึ่งเป็นภาคที่มีอารมณ์หวานขมและชวนซาบซึ้งที่สุดในหนังแอคชันแฟรนไชส์เรื่องนี้ หลังจากที่เกิดเหตุอุบัติเหตุและการเสียชีวิตแบบฉับพลันของ พอล วอกเกอร์ (Paul Walker) พุทนั่งอยู่ที่หน้าสตูดิโอเปียโนของจัสติน แฟรงค์ส (Justin Franks) หรือที่รู้จักกันในชื่อ DJ Frank E พุทคิดถึงเรื่องของพอลและเพื่อนคนอื่น ๆ ของเขาที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์แล้วก็เริ่มบรรเลงเพลงบนเปียโนตัวนั้น

“ดูเหมือนกับว่ามันเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้สาเหตุ” พุทเล่าให้ Los Angeles Times ฟัง “และใน 10 นาทีต่อมาจัสตินกับผมก็เขียนมันเสร็จแล้วเราก็ส่งมันออกไป และผมคิดว่าเราคงจะไม่ได้ยินมันอีก” ต่อมาเขาได้เปิดเผยกับทาง MTV News ว่า “ผมเขียนเพลงนี้ในวันที่ 17 กรกฎาคมเวลา 6 โมงเย็น ผมรู้ก็เพราะว่าผมบันทึกมันเอาไว้ในโทรศัพท์ในบันทึกเนื้อเพลงของผม ผมอยากจะบันทึกไว้ว่าผมใช้เวลาเขียนมัน 10 นาทีซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติสำหรับผม เพราะส่วนใหญ่แล้วผมจะใช้เวลาแต่งเพลงนานกว่านั้น หลังจากเสร็จแล้วผมก็ส่งมันไปให้ Wiz แล้วเขาก็เขียนมันเสร็จเร็วมากเพราะว่าสำหรับเขาแล้วมันก็มาจากความรู้สึกจริง ๆ ของเขาด้วยเช่นกัน”

“Yesterday” – The Beatles

เมโลดี้ของเพลงในตำนานอย่าง “Yesterday” เกิดขึ้นในหัวของ ‘พอล แม็กคาร์ตนีย์’ (Paul McCartney) ในระหว่างที่เขากำลังอยู่ในห้วงแห่งความฝัน หลังจากที่ตื่นขึ้นมาเขาก็จดบันทึกคอร์ดและถ้อยคำที่เขาได้ยินในฝันนั้นในทันที หลังจากนั้นเขาก็ทิ้งมันไว้โดยไม่ได้ทำอะไรกับมันอยู่นานพอสมควรเพราะว่าเขาไม่เชื่อว่าเมโลดี้ที่เขาได้ยินนั้นมันจะไม่ได้ไปซ้ำกับใคร พอลคิดว่ามันน่าจะมาจากเพลงใดเพลงหนึ่งที่เขาเคยฟังมาก่อน จึงจำเป็นที่จะต้องเช็กเพื่อความแน่นอนก่อน ส่วนเนื้อร้องนั้นเขาก็เขียนอะไรมั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับไข่คน (scrambled eggs) แล้วในที่สุดพอลก็ต้องยอมหลังจากที่พบว่าไม่มีเพื่อนพ้องน้องพี่นักดนตรีคนไหนที่ได้ฟังเมโลดี้นี้แล้วบอกเขาได้เลยว่ามันมาจากเพลงอะไร ในที่สุดเขาก็เลยกลับมาทำต่อซึ่งจริง ๆ ถึงแม้มันจะถูกทิ้งไว้เป็นเวลานานจนกว่าจะทำเสร็จแต่เอาจริง ๆ แล้วก็เหมือนกับพอลทำเพลงนี้เสร็จก่อนที่เขาจะลืมตาตื่นขึ้นมาบนเตียงของเขาเลยด้วยซ้ำ

“Supersonic” – Oasis

‘โนเอล แกลลาเกอร์’ (Noel Gallagher) ใช้เวลาเขียนเพลงนี้ภายใน 10 นาทีในวันที่วง Oasis ได้บันทึกเสียงและมิกซ์เพลงในอัลบั้มแรกของพวกเขา ‘Definitely Maybe’ ใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว แต่โนเอลและเพื่อน ๆ ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะเอาเพลงไหนเป็นซิงเกิลแรกของพวกเขา ตอนนั้น ‘อลัน แม็กจี’ (Alan McGee) โปรดิวเซอร์ของอัลบั้มนี้ ต้องการให้เพลง “Bring It On Down” เป็นซิงเกิลแรก ด้วยความหัวเสียนิดหน่อยโนเอลก็เลยหลบเข้าไปในห้องเพื่อเขียนเพลงใหม่ ซึ่งทำให้แม็กจีเปลี่ยนใจในทันทีที่ได้ยินเพลง “Supersonic” ที่โนเอลแต่งขึ้นมันสด ๆ ตอนนั้นเลย

มือกีตาร์ ‘พอล “โบนเฮด” อาร์เธอร์ส’(Paul “Bonehead” Arthurs) เล่าให้นิตยสาร Q ฟังว่า “เรากำลังอัดเพลง “Bring It On Down” กันอยู่และโนเอลก็หายไปเข้าไปในห้องควบคุม เมื่อเขาออกมา เขาก็พูดว่า ‘หยุดเลย ๆ ฉันเขียนเพลงใหม่มาให้แล้ว’ และภายใน 2-3 ชั่วโมง เราก็อัดเพลง “Supersonic” กันเสร็จ นี่แหละโนเอลของพวกคุณล่ะ ปล่อยให้เขาอยู่ในห้องสัก 10 นาทีแล้วเขาจะออกมาพร้อมกับบทเพลงสุดคลาสสิก”

ส่วนเนื้อเพลงนั้นก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะมั่วซั่วอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะท่อนที่ร้องว่า “I know a girl called Elsa, she’s into Alka-Seltzer” ซึ่งวงมักจะเล่าว่าท่อนนี้มีที่มาจากสุนัขเพศเมียตัวใหญ่ชื่อ ‘Elsa’ ซึ่งใช้เวลาทั้งวันขลุกอยู่ใต้โต๊ะมิกซ์เสียงในสตูดิโอและคอยตดให้พวกเขาดมตลอดเวลา

Source

1 / 2 / 3 / 4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส