แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำให้มหกรรมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ประจำปี 2020 หรือ ‘โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020’ ต้องเลื่อนการจัดออกไปจากกำหนดการเดิม แต่อย่างไรก็ตาม วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคมนี้ก็จะเป็นวันแรกของการเริ่มต้นมหกรรมขึ้นอย่างเป็นทางการแล้่ว ซึ่งการแข่งขันกีฬาหลาย ๆ ชนิดก็กำลังจะทำการแข่งขันหลังจากพิธีเปิด

โดยเฉพาะกีฬาทางน้ำ เช่น กีฬาพายเรือแคนู ที่จะเริ่มทำการแข่งขันในวันที่ 26 กรกฏาคมนี้ ณ ‘ซี ฟอเรสต์ วอเตอร์เวย์’ (Sea Forest Waterway) บนอ่าวโตเกียว เขตโอไดบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมี ‘หอยนางรมมากากิ’ (Magaki oyster) หอยนางรมขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในอ่าวแห่งนี้เช่นเดียวกัน

หอยนางรม-โอลิมปิก

แต่ดูเหมือนว่า เจ้าหอยนางรมพวกนี้กำลังจะเป็นปัญหาในการจัดแข่งขันโอลิมปิก เมื่อทีมงานผู้จัดแข่งขันโอลิมปิกพบว่า ในบริเวณสถานที่จัดแข่งขันพายเรือแคนู ที่ติดตั้งทุ่นลอยน้ำ ซึ่งแต่ละทุ่นห่างกันประมาณ 5.6 กิโลเมตร (3.4 ไมล์) นั้นเริ่มทรุดเอียง และทุ่นบางอันก็จมลง เมื่อเข้าไปตรวจสอบก็พบว่า ตัวการที่ทำให้ทุ่นจมก็คือ เจ้าหอยนางรมมากากินี่แหละ ที่ลอยมาเกาะทุ่นเพื่อต้านแรงคลื่น แล้วด้วยความที่หอยนางรมพันธุ์นี้ตัวค่อนข้างใหญ่ประมาณ 15 เซนติเมตร มันก็เลยถ่วงน้ำหนักจนทำให้ทุ่นลอยน้ำเอียง หรือไม่ก็จมลงไปเลย

หอยนางรม-โอลิมปิก

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ในการกำจัดหอยนางรมมากากิ พวกเขาต้องใช้วิธีลากทุ่นเข้าฝั่งเพื่อนำมาทำความสะอาดและซ่อมแซม หรือถ้าจุดไหนที่อยู่ไกล ก็ต้องใช้ทีมนักประดาน้ำดำลงไปทำความสะอาดแทน โดยได้มีการประเมินคร่าว ๆ ว่า หอยนางรมที่บุกยึดสถานที่แข่งขันโอลิมปิกนี้ มีจำนวนประมาณ 15.4 ตัน และเจ้าหน้าที่ต้องใช้งบประมาณในการกำจัดและซ่อมแซมประมาณ 1.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 42 ล้านบาท

หอยนางรม-โอลิมปิก

โดยสาเหตุที่หอยนางรมบุกมาถึงอ่าวโตเกียวนี้ คาดว่าน่าจะเป็นเพราะน้ำทะเลในอ่าวโตเกียวมีความเค็มสูงขึ้น ทำให้บริเวณอ่าวกลายเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่เหมาะสมสำหรับหอยนางรม ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ปกติตามธรรมชาติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็กำลังคิดวิธีในการป้องกันหอยที่ชอบมาบุกอ่าวโตเกียวเป็นประจำ เพื่อเคลียร์เส้นทางสำหรับการแข่งขันเรือแคนู โดยที่ไม่ต้องเสียเงินมหาศาลขนาดนี้

หอยนางรม-โอลิมปิก

และแน่นอนว่าพอเป็นหอยนางรม หลายคนอาจสงสัยว่า ไหน ๆ ถ้าจะกำจัดแล้ว จะเอามากินได้ไหม โดยปกติ หอยนางรมมากากินั้นเป็นหอยนางรมขนาดใหญ่ที่คนญี่ปุ่นนิยมกินกันในช่วงฤดูหนาว และเอามาทำเมนูได้หลากหลาย แต่หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น ‘อาซาฮี ชิมบุน’ ได้ให้ข้อมูลว่า ต่อให้มันกินได้ ก็ไม่ควรไปจับมากินสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะหอยนางรมในอ่าวโตเกียวนั้นอาจไม่ค่อยเหมาะกับการนำมากิน เนื่องจากคุณภาพของน้ำ และอาหารที่หอยกินนั้น อาจส่งผลทำให้หอยนางรมมากากิเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนและไม่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค


อ้างอิิง | อ้างอิิง | อ้างอิิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส