“Words Bubble Up Like Soda Pop ถ้อยคำเอ่อล้นด้วยหัวใจรัก” แอนิเมชันจาก Netflix เรื่องล่าสุด ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์อันน่ารักของ ‘เชอร์รี’ หนุ่มขี้อายที่รักในบทกวีไฮกุและ ‘สไมล์’ สาวน้อยน่ารักเน็ตไอดอลเจ้าของยอดฟอลหลักแสน โดยมีเรื่องราวของคุณปู่ ‘ฟูจิยามะ’ ผู้ตามหาแผ่นเสียงที่หายไปเป็นสิ่งโยงใยทั้งคู่เข้าด้วยกันท่ามกลางบรรยากาศของความสดใสในงานภาพและการผสมผสานทางวัฒนธรรมในอดีตและร่วมสมัยของญี่ปุ่นที่งดงาม แอนิเมชันเรื่องนี้นอกจากจะน่าประทับใจในตัวเรื่องแล้วรายละเอียดต่าง ๆ ของแอนิเมชันเรื่องนี้ยังทำให้รู้สึกสนุก เพราะตั้งแต่ตอนแรกที่เห็นงานภาพในแอนิเมชันเรื่องนี้ก็รู้สึกว่าน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะและแนวดนตรีในสไตล์ซิตี้พอป (City Pop) ไม่มากก็น้อย พอได้มาดูแล้วก็ยิ่งมั่นใจ อีกทั้งยังมีการอ้างอิงผลงานเพลงในอดีตโดยเฉพาะยุค 70s-80s ให้เราได้เห็นเป็น Easter Egg ซ่อนไว้ในเรื่องอีกด้วย

[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง]

อย่างแรกคืองานภาพของแอนิเมชันเรื่องนี้ที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจากงานของ ฮิโรชิ นางาอิ (Hiroshi Nagai) เอซิน สุซูกิ (Eizin Suzuki) ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่สร้างงานอาร์ตเวิร์กสีสันสดใสและได้สร้างสรรค์งานปกของศิลปินซิตี้พอปมากมาย ที่โด่งดังและเป็นที่จดจำเลยก็คืองานปกอัลบั้ม ‘A Long Vacation’ ในปี 1981 งานเพลงชิ้นสำคัญแห่งวงการซิตี้พอปจาก เออิจิ โอทากิ (Eichi Otaki) (ผลงานของนางาอิ) และ ‘For You’ ในปี 1982 ของทัตสึโระ ยามาชิตะ (Tatsuro Yamashita) ผู้ได้รับการยกย่องว่า ‘King of City Pop’ (ผลงานของเอซิน สุซูกิ)

งานภาพสดใสในสไตล์ City pop

ฮิโรชิ นางาอิ (Hiroshi Nagai) และ เอซิน สุซูกิ (Eizin Suzuki)

ศิลปินที่เป็นหัวหอกของงานอาร์ตเวิร์กของงานดนตรีซิตี้พอปนั้นต้องยกให้กับ ฮิโรชิ นางาอิ (Hiroshi Nagai) และ เอซิน สุซูกิ (Eizin Suzuki) หรือ ฮิเดโตะ สุซูกิ (Hideto Suzuki) ซึ่งทั้งสองคนจะมีสุนทรียะในงานคล้าย ๆ กันคือจะมีอิทธิพลของงานศิลปะในกลุ่มพอปอาร์ต (Pop Art) ซึ่งมีสีสันสดใส เรียบง่าย การเลือกใช้สีและรูปแบบงานมีเสน่ห์สะท้อนภาพและช่วงเวลาของความสุข สบายใจ ไร้กังวล ซึ่งสอดคล้องกับอารมณ์ในงานดนตรีซิตี้พอป ถึงแม้จะมีจุดร่วมคล้ายกันแต่ในตัวงานของทั้งคู่จะมีความแตกต่างกันบ้าง กล่าวคือของนางาอินั้นจะมี texture ที่เรียบตัวสีในวัตถุของภาพจะเป็นสีสด ๆ เรียบ ๆ ไม่ค่อยเน้นเงาที่ทาบทับบนวัตถุ คล้ายงานภาพของ เดวิด ฮอคนีย์  (David Hockney) แต่ถ้าเป็นของสุซูกิจะมีส่วนของเงาที่ทาบทับไปบนวัตถุ เช่น เงาของต้นมะพร้าวที่ทาบทับไปบนตัวบ้าน หรือ มักจะมีภาพรถยนต์สวย ๆ ที่มีความเงาวาวอยู่ด้วย งานภาพของทั้งคู่ให้สัมผัสของความผ่อนคลาย สุขสบาย คล้ายความทรงจำที่ดี ๆ ที่เราหวนระลึกถึงได้เสมอไม่แปรเปลี่ยน งานภาพแบบนี้กับงานดนตรีซิตี้พอปซึ่งเป็นงานดนตรีจากในอดีตจึงทำงานได้ดีในความรู้สึกของคนฟังในยุคนี้ที่มักมีความรู้สึกโหยหาอดีต (Nostalgia) อยู่เสมอ

ปกอัลบั้ม A Long Vacation ผลงานของ ฮิโรชิ นางาอิ
ผลงานของฮิโรชิ นางาอิ
ผลงานของเอซิน สุซูกิ
ปกอัลบั้ม ‘For You’ ของทัตสึโระ ยามาชิตะ ผลงานของเอซิน สุซูกิ

และด้วยเอกลักษณ์ที่กล่าวมารู้สึกได้เลยว่า การที่ “Words Bubble Up Like Soda Pop” ใช้สุนทรียะที่สะท้อนอารมณ์จากยุคซิตี้พอปนั้นย่อมทำให้ผู้ชมเกิดความเบิกบานใจจากความสดใสของภาพแต่ในขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกโหยหาถึงอดีตด้วยเช่นกัน ซึ่งในเนื้อเรื่องเองก็มีอารมณ์เช่นนี้อยู่เยอะ อย่างเช่น ตัวละครคุณปู่ฟูจิยามะที่ตามหาแผ่นเสียงที่หายไป และมีร้านแผ่นเสียงที่มีกรุเพลงดี ๆ มากมายซึ่งเราจะกล่าวถึงต่อไป

ในร้านแผ่นเสียงของตัวละครฟูจิยามะซังคุณปู่ที่ออกตามหาแผ่นเสียงอัลบั้ม “YAMAZAKURA” ที่หายไปนั้นมีแผ่นเสียงที่โดนใจแฟนเพลงซิตี้พอปและงานเพลงของญี่ปุ่นในยุค 70s-80s อยู่หลายแผ่น เรียกได้ว่าถ้าหลุดเข้าไปในร้านนี้ต้องได้เจ็บตัวเสียตังค์กันแน่ ๆ เราไปดูตัวอย่างงานเพลงโดน ๆ ที่อยู่ในร้านนี้กัน

ฟูจิยามะซังและปกแผ่นเสียง ‘YAMAZAKURA’

อัลบั้ม ‘Sunshower’ (1977) ของ Taeko Ohnuki

ทาเอโกะ โอนุกิ (Taeko Onuki) นอกจากจะมาปรากฏตัวเป็น Easter Egg ผ่านแผ่นเสียงแล้ว เธอยังเป็นคนแต่งและขับร้องเพลง “YAMAZAKURA” เพลงเอกของแอนิเมชันเรื่องนี้ได้อย่างไพเราะสุด ๆ ด้วย ทาเอโกะ โอนุกิ เรียกได้ว่าเป็นศิลปินหญิงที่มีคุณูปการต่อวงการดนตรีซิตี้พอปเป็นอย่างยิ่ง การที่ได้เธอมาร้องเพลงประกอบหลักในเรื่องคือ “YAMAZAKURA” นี่คือการแสดงความคารวะต่อวงการดนตรีซิตี้พอปและความไพเราะแห่งเสียงดนตรีในอดีตของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

แรกเริ่มเดิมที่โอนุกินั้นอยู่ร่วมวงเดียวกันกับทัตสึโระ ยามาชิตะ ราชาเพลงซิตี้พอปโดยใช้ชื่อวงว่า ‘Sugar Babe’ ซึ่งก่อตั้งวงกันในปี 1973 และมีสมาชิกอีกคนนึงคือ คุนิโอะ มุรามัตสึ (Kunio Muramatsu) โดยในตอนนั้นแนวดนตรีของ Sugar Babe จะออกไปในทางฮาร์ดร็อก แต่ก็ได้วางแนวทางดนตรีที่มีกลิ่นอายของคลื่นลมสายลมแสงแดดแบบซิตี้พอปไว้เหมือนกันลองฟังเพลง “Down Town” ดูแล้วจะสัมผัสได้ถึงความสดชื่นแจ่มใสพาใจเบิกบาน หลังจากนั้นในปี 1976 โอนุกิก็เริ่มมาทำงานเดี่ยวของตัวเอง อัลบั้มแรกคือ “Grey Skies” ซึ่งก็มาแนวเดียวกันกับ Sugar Babe เลย แต่ต่อมาเมื่อเธอออกอัลบั้มชุดที่ 2 ‘Sunshower’ ในปี 1977 เธอก็เริ่มแสดงเอกลักษณ์ในแนวทางของตัวเองที่ฉีกออกมาจาก Sugar Babe ด้วยการผสมผสานแนวดนตรีแจ๊สเข้าไปกับพอปแบบญี่ปุ่นได้อย่างกลมกล่อม อัลบั้มนี้มีเพลงดี ๆ โดน ๆ มากมาย อาทิ “Summer Connection” แทร็กแรกที่เปิดมาได้อย่างสดฉ่ำด้วยสีสันของเครื่องเป่า คีย์บอร์ด กีตาร์ และรายละเอียดทางดนตรีที่มีกลิ่นอายของแจ๊ส สมูธแจ๊ส ฟิวชัน ที่งดงาม หรือ “Law of Nature” ที่มาในสไตล์แบบแจ๊สฟิวชันเท่ ๆ และ “誰のために” เพลงช้าละมุน ๆ เคล้าอารมณ์โรแมนติก และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของตำนานแห่งวงการซิตี้พอปนามว่า ทาเอโกะ โอนุกิ นั่นเอง

อัลบั้ม ‘Tiny Bubbles’ (1980) ของ Southern All Stars

ที่เราเห็นน้องแมวเรียงรายอยู่บนปกนี้คืออัลบั้ม ‘Tiny Bubbles’ ในปี 1980 ของวง ‘Southern All Stars’ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งวงดังของญี่ปุ่นที่ทำเพลงออกมาเยอะมาก 10 กว่าอัลบั้ม อัลบั้มน้องแมวนี้เป็นอัลบั้มที่ 3 ของวงซึ่งออกมาในปี 1980 เป็นอัลบั้มแรกของวงที่ขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น ส่วนดนตรีของวงนั้นก็ออกไปในแนวทางร็อกแต่จะมีกลิ่นแบบเซาท์เทิร์นร็อกตามแบบชื่อวงเลย ด้วยความที่ชื่อวงอาจดูยาว ๆ ไปนิดก็เลยเรียกกันย่อ ๆ ว่า Sazan (サザン) หรือ SAS เพลงดัง ๆ ขอวงนี้ที่หากเป็นคอเพลงญี่ปุ่นหรือซีรีส์ญี่ปุ่นนั้นจะต้องเคยได้ยินแน่นอนนั่นก็คือ “Tsunami” ซึ่งเพลงนี้เป็นซิงเกิลที่มียอดขายแค่ในญี่ปุ่นอย่างเดียวก็ไปกว่า 2.9 ล้านก็อปปี้แล้ว แถมยังได้รางวัล ‘บทเพลงแห่งปี’ จาก Japan Record Awards ครั้งที่ 42 ด้วย เป็นเพลงที่เพราะจับใจมากเลยล่ะ

อัลบั้ม ‘Seventeen’s Map’ (1983) ของ Yutaka Ozaki

‘Seventeen’s Map’ อัลบั้มชุดแรกจาก ยูทากะ โอซากิ (Yutaka Ozaki) นักร้องหนุ่มผู้โด่งดังแห่งทศวรรษที่ 80s ซึ่งถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 23 ในลิสต์ 100 นักดนตรีที่มีอิทธิพลที่สุดในญี่ปุ่น โอซากิได้รับความนิยมจากแฟน ๆ วัยรุ่นเป็นอย่างมากด้วยลีลาการแสดงที่เท่บาดใจและเนื้อร้องในบทเพลงที่มีเอกลักษณ์ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของความฝัน ความรัก และความหมายของชีวิตซึ่งโดนใจกลุ่มคนฟังที่อยู่ในวัยแห่งการแสวงหามาก ๆ นอกจากนี้เขายังมีความเท่แบบหนุ่มขบถคล้าย ๆ เจมส์ ดีน ด้วยการมักแสดงความรุ่นร้อนและขับข้องใจในแบบวัยรุ่นที่มีต่อสังคมในประเด็นต่าง ๆ ที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่โอซากินั้นเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 26 ปี โดยมีผู้พบเขาเมาและนอนเปลือยกายหมดสติในตรอกซอยหนึ่งของมหานครโตเกียวในปี 1992 ทิ้งผลงานอันยอดเยี่ยมเอาไว้เป็นตำนานของวงการเพลง อัลบั้มชุดแรก ‘Seventeen’s Map’ นี้เป็นอัลบั้มที่มีเพลงดังอมตะของโอซากิอย่าง “I Love You” และ “Oh My Little Girl” ถือได้ว่าอัลบั้มนี้คือ ‘ของมันต้องมี’ สำหรับคอเพลงญี่ปุ่นเลยทีเดียว

อัลบั้ม ‘Beginning’ (1978) ของ Mariya Takeuchi

หากพูดถึงซิตี้พอปแล้วจะขาดซิตี้พอปไอคอนอย่าง มาริยะ คาเทอุจิ (Mariya Takeuchi) ไปได้อย่างไร อัลบั้มของมาริยะที่มาปรากฏตัวอยู่ในแอนิเมชันเรื่องนี้ก็คือ ‘Beginning’ ซึ่งเป็นงานเพลงอัลบั้มแรกของเธอที่ออกวางจำหน่ายในปี 1978 นั่นเอง มาริยะถือว่าเป็นศิลปินคนสำคัญของวงการซิตี้พอปมาก ๆ ซึ่งเธอก็คือเจ้าของเสียงร้องเพลง ‘Plastic Love’ อันโด่งดังที่ปลุกกระแสซิตี้พอปให้โด่งดังไปทั่วโลกขึ้นมาในยุคนี้นี่เอง โดยอัลบั้ม ‘Beginning’ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในวงการเพลงของมาริยะและขึ้นชาร์ต Oricon อันดับที่ 17 ซึ่งนับว่าแจ้งเกิดได้อย่างสวยงาม บทเพลงในอัลบั้มนี้มีเพลงเพราะ ๆ มากมายถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้มีแนวดนตรีแบบในช่วงต่อมาอย่างเช่นเพลงดัง “Plastic Love” ของเธอแต่ก็แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ในน้ำเสียงและความไพเราะของบทเพลงที่ต่อมาได้ทัตสึโระ ยามาชิตะ โปรดิวเซอร์คู่ใจและคู่ชีวิตในเวลาต่อมาของเธอช่วยสร้างสรรค์บทเพลงที่เป็นตำนานประดับวงการจากคู่รักแห่งวงการซิตี้พอปคู่นี้

https://www.youtube.com/watch?v=GjIeYIy49Hg

อัลบั้ม ‘Zettai Checkers!!’ (1984) ของ The Checkers

อัลบั้มชุดนี้ที่เราเห็นเป็นหนึ่งในอัลบั้มยอดนิยมของแนวดนตรีพอปร็อกในญี่ปุ่น นั่นคือ ‘Zettai Checkers!!’ ที่ออกมาในปี 1984 อัลบั้มชุดแรกจาก ‘The Checkers’ (チェッカーズ) วงแนวพอปร็อก / ดู-วอป ที่ฟอร์มวงกันมาตั้งแต่ปี 1980 และแยกวงกันไปในปี 1992 วง The Checkers เป็นหนึ่งในวงดังแห่งยุค 80s เรียกได้ว่าเป็นพอปไอคอนของบรรดาหนุ่มสาวในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ทั้งการแต่งตัวทำผมและสไตล์แฟชั่นมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นญี่ปุ่นยุค 80s มากเลยทีเดียว ซึ่งภาพลักษณ์ของวงนั้นจะออกไปในแนว ‘ไอดอลชาย’ (male aidoru) ที่สาว ๆ กรี๊ดกร๊าดกัน

https://www.youtube.com/watch?v=07lhpV-AOMo

อัลบั้ม ‘For You’ (1982) ของ Tatsuro Yamashita

อัลบั้มในตำนานของ ทัตสึโระ ยามาชิตะ (Tatsuro Yamashita) ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘King of City Pop’  อัลบั้มชุดนี้มีเพลงเพราะ ๆ ที่เป็น The Best ของยามาชิตะอยู่หลายเพลง เช่น แทร็กแรกคือ “Sparkle” ที่เปิดด้วยริฟฟ์กีตาร์สุดสดชื่นและ vibe ที่ชวนเบิกบานใจสัมผัสไอคลื่นและสายลมแสงแดดของฤดูร้อนอันสดใส “Loveland,Island” เพลงสนุกสดชื่นในกรู๊ฟที่ฟังเพลิน และ “Your Eyes” แทร็กสุดท้ายปิดอัลบั้มที่โรแมนติกและชวนซึ้งมาก ๆ นอกจากนี้อัลบั้มชุดนี้ยังโดดเด่นด้วยภาพปกสีสันสดสวยงานอาร์ตเวิร์กจากเอซิน สุซูกิเป็นภาพร้านในจินตนาการที่มีชื่อว่า ‘Turner’s’ และแอบมียามาชิตะยืนตัวเล็ก ๆ อยู่ด้านข้างร้าน

https://www.youtube.com/watch?v=7ijMDQgvW0o

และเอาจริง ๆ ตัวละครฟูจิยามะซังกับฟูจิยามะ ซากุระในตอนหนุ่ม-สาว ก็ดูละม้ายคล้ายคู่ขวัญของวงการ ซิตี้พอปอย่างทัตสึโระ ยามาชิตะและมาริยะ ทาเคอุจิ (ซึ่งเธอมีฟันกระต่ายคล้ายตัวละครฟูจิยามะ ซากุระ และ สไมล์นางเอกของเรื่อง)

ฟูจิยามะซังกับฟูจิยามะ ซากุระในตอนหนุ่ม-สาว
คู่ขวัญของวงการซิตี้พอปทัตสึโระ ยามาชิตะและมาริยะ ทาเคอุจิ

นอกจากเพลงในยุค 70s-80s ที่มาเป็น Easter Egg ในแอนิเมชันเรื่องนี้แล้ว เพลงประกอบของเรื่องเองก็เพราะมาก ๆ ด้วย ที่เป็นเพลงเอกเลยก็คือ “YAMAZAKURA” ผลงานของหนึ่งในตำนานแห่งซิตี้พอป ‘ทาเอโกะ โอนุกิ’ นั่นเอง และ เพลงธีมของเรื่องจาก ‘never young beach’ วงอินดี้ฝีมือดีที่เคยมาเล่นในงาน Maho Rasop Festival เมื่อปี 2019 และแทร็กบรรเลงเจ๋ง ๆ อีกมากมายโดย ‘เคนสุเกะ อุชิโอะ’ (Kensuke Ushio) ผู้แต่งเพลงประกอบหลักของแอนิเมชันเรื่องนี้นี่เอง

เคนสุเกะ อุชิโอะ (Kensuke Ushio)

เคนสุเกะ อุชิโอะ

เคนสุเกะ อุชิโอะ (Kensuke Ushio) คือนักแต่งเพลงหนุ่มวัย 38 ปี สมาชิกวงดนตรีร็อกนาม ‘Lama’ ซึ่งมีอัลบั้มออกมาแล้ว 2 อัลบั้ม ซึ่งฮิตติดชาร์ตเพลงของญี่ปุ่นด้วยกันทั้งคู่ นอกจากนี้ อุชิโอะยังเคยแต่งเพลงประกอบอนิเมะ ภาพยนตร์ และซีรีส์ไว้มากมาย อาทิ A Silent Voice, Space Dandy, Devilman : Crybaby, Boogiepop, Ping Pong, Japan Sinks 2020 และ เวอร์ชันอนิเมะของ Chainsaw Man มังงะเรื่องดัง โดยเพลงประกอบของ Words Bubble Up Like Soda Pop นั้นจะทำออกมาในสไตล์อิเล็กทรอนิกพอปที่สดใสซาบซ่าเหมือนโซดา (เข้ากับชื่อเพลงเลย) เป็นเมโลดี้ที่มีความไพเราะและซาวด์ที่มีความสนุกสดใสขี้เล่น เข้ากันดีกับมู้ดโทนและความสดใสในเรื่องราวของแอนิเมชันเรื่องนี้ ฟังพร้อมดูก็ดีหรือจะฟังเดี่ยว ๆ ก็ได้เพลินมากเลยทีเดียว

“Words Bubble Up Like Soda Pop ถ้อยคำเอ่อล้นด้วยหัวใจรัก” เป็นแอนิเมชันที่จะทำให้คุณสดใสและประทับใจไปกับเรื่องราวและสนุกไปกับรายละเอียดต่าง ๆ ที่ซ่อนไว้ในเรื่องนี้ หากใครเป็นแฟนเพลงญี่ปุ่นหรือสนใจงานเพลงจากยุค 70s-80s ของญี่ปุ่นอันเปี่ยมด้วยเสน่ห์แล้วล่ะก็ ดูแอนิเมชันเรื่องนี้จบแล้วก็ไปเพลิดเพลินต่อกับบทเพลงที่อยู่ในโลกแห่ง Soda Pop อันสดใสที่เชื่อมโยงความทรงจำอันงดงามจากอดีตและความสดใสในปัจจุบันจากในแอนิเมชันเรื่องนี้ได้เลยครับ