ในสงครามโลกครั้งที่สอง ‘ออดี เมอร์ฟี’ (Audie Murphy) คือหนึ่งในทหารผ่านศึกที่ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษสงคราม จากการต่อสู้สังหารนาซีเยอรมันหลายร้อยนาย จนกระทั่งโชคชะตาได้พาเขาให้กลายมาเป็นนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง แต่ทว่าในชีวิตอีกมุมหนึ่ง เขาก็ต้องเผชิญกับความน่ากลัวของสงครามที่กัดกินชีวิตเขาจนเจ็บปวดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตไม่ต่างจากทหารผ่านศึกทั่ว ๆ ไป

กำเนิดวีรบุรุษ

ออดี เมอร์ฟี สงครามโลกครั้งที่สอง

เมอร์ฟีเกิดในบ้านไร่ฐานะยากจนในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 1925 ของพ่อที่มีลูก 12 คนผู้ไร้ความรับผิดชอบ และแม่ผู้เป็นชาวไร่ เขาเองต้องรับหน้าที่ช่วยเลี้ยงพี่น้องของเขาด้วยการหาอาหาร ล่ากระต่าย และเป็นชาวไร่เก็บฝ้าย จนกระทั่ง 11 ขวบ พ่อของเขาทิ้งครอบครัวและจากไป และแม่ของเขาก็เสียชีวิตเม่ือตอนอายุ 17 ปี ทำให้เมอร์ฟีจึงต้องรับหน้าที่เลี้ยงน้อง ๆ จนในที่สุด เมอร์ฟีและน้องคนอื่น ๆ ก็ถูกส่งเข้าไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้กลายมาเป็นทหาร แม้ว่าเขาจะยังมีอายุไม่ถึงเกณฑ์สมัครเป็นทหารเข้าร่วมกองทัพ และเขามีส่วนสูงเพียง 167 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวไม่ถึง 50 กิโลกรัม จนทำให้เจ้าหน้าที่กองทัพปฏิเสธการเข้าร่วมของเขาไปในทีแรก แต่พี่สาวของเขาก็ช่วยปลอมแปลงอายุในจดหมายส่งตัว จนทำให้เขาได้เข้าร่วมสงครามในที่สุด

สังหารนาซี 240 นาย

ออดี เมอร์ฟี สงครามโลกครั้งที่สอง

หลังการฝึกพื้นฐาน เมอร์ฟีเข้าประจำการในกองร้อยบี กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 15 กองทหารราบที่ 3 ของกองทัพสหรัฐฯ ณ ประเทศโมร็อกโก จนได้รับหน้าที่ในการเป็นสิบโทเมอร์ฟี ผู้นำยกพลขึ้นบกในอิตาลีและฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งในช่วงบ่ายของเดือนมกราคม ปี 1945 ในการต่อสู้ ณ ดินแดนฝรั่งเศสที่ถูกกองทัพเยอรมันเข้ายึดครองไว้แล้วนานนับปี

สิบโทเมอร์ฟีสั่งกองร้อยบีที่รอดตายจากการยิงตอบโต้ของเยอรมันล่าถอยเข้าไปในป่า ส่วนตัวเขาเองได้ทำการสอดแนมเข้าไปบุกยึดรถถังที่กำลังลุกไหม้ ก่อนจะใช้ปืนกลติดรถถังเปิดฉากยิงสังหารกองกำลังเยอรมันที่บุกเข้ามาเป็นจำนวนมากกว่ากองร้อยบีของเขาเสียอีก แม้เขาเองจะบาดเจ็บที่ขาจากการถูกยิง แต่เขาก็สามารถสังหารทหารเยอรมันไปได้มากถึง 240 นาย และทำให้เยอรมันยุติความพยายามในการบุกยึดฝรั่งเศสไว้ได้

ภาพยนตร์ ‘To Hell and Back’ (1955) ฉากที่เมอร์ฟีบุกยึดรถถังของเยอรมัน และใช้ปืนกลยิงถล่มทหารนาซี 240 นาย

วีรบุรุษบนหน้าจอ

ออดี เมอร์ฟี สงครามโลกครั้งที่สอง

หลังสงครามโลกยุติลง เมอร์ฟีในวัย 20 ปี ได้รับการเชิดชูเป็นวีรบุรุษสงคราม และได้รับเหรียญตราเชิดชูมากถึง 33 เหรียญ ถือเป็นวีรบุรุษสงครามคนหนึ่งที่ได้รับเหรียญเชิดชูมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา และทำให้เขาได้เป็นนายแบบโปสเตอร์ให้กับทหารเกณฑ์สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งเขาได้ขึ้นปกนิตยสาร ‘LIFE’ ฉบับวันที่ 16 เดืิอนกรกฏาคม 1945 ใบหน้าอันหล่อเหลาของเขาเข้าตา ‘เจมส์ แคกนีย์’ (James Cagney) นักแสดงชื่อดัง จนได้ชักชวนเขาให้เขาก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงในฐานะนักแสดง

ออดี เมอร์ฟี บนปกนิตยสาร ‘LIFE’
ออดี เมอร์ฟี สงครามโลกครั้งที่สอง
ออดี เมอร์ฟี และนักแสดงจากภาพยนตร์ ‘To Hell and Back’ (1955)

แม้เมอร์ฟีจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ทางด้านการแสดงก็ตาม แต่เขาก็ตบปากรับคำจนได้ร่วมแสดงบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Beyond Glory’ ในปี 1948 ก่อนที่เขาจะได้รับบทเป็น ‘ตัวของเขาเอง’ ในภาพยนตร์ ‘To Hell and Back’ (1955) ที่ดัดแปลงจากหนังสือที่เขาเขียน และได้เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงของ ‘Universal Studios’ เป็นเวลา 7 ปี ทำให้เขาได้มีโอกาสปรากฏตัวในภาพยนตร์ 44 เรื่อง และได้รับการโหวตให้เป็นนักแสดงชาวตะวันตกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 1955 กลายเป็นนักร้องเพลงแนวคันทรี และเคยแต่งงานกับนักแสดงหญิง ก่อนจะหย่าร้าง และแต่งงานอีกครั้งกับแอร์โฮสเตส

ความบอบช้ำจากสงคราม

ออดี เมอร์ฟี สงครามโลกครั้งที่สอง

แม้ว่าเขาเองจะกลายเป็นดาราฮอลลีวูดชื่อดังเต็มตัวแล้ว แต่ในด้านชีวิตส่วนตัวของเขาเองกลับต้องพบกับชะตากรรมอันน่าเศร้า เพราะเขาต้องเผชิญกับโรค ‘PTSD’ (Post-traumatic stress disorder) หรือภาวะซึมเศร้าหลังจากเผชิญเหตุการณ์รุนแรง อันมีผลมาจากสงคราม โรคนี้ส่งผลทำให้เขามีภาวะเครียด นอนไม่หลับ เสพติดยานอนหลับอย่างรุนแรง รวมไปถึงปัญหาทางด้านการเงินจากการพนัน และการลงทุนที่ไม่่ก่อให้เกิดกำไร แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็เลือกที่จะปฏิเสธในการเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของเขาในฐานะนักแสดงฮอลลีวูดยอดนิยม

ออดี เมอร์ฟี สงครามโลกครั้งที่สอง
ออดี เมอร์ฟี ในภาพยนตร์ ‘To Hell and Back’ (1955)

28 พฤษภาคม 1971 ออดี เมอร์ฟีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก เหลือไว้แต่เพียงตำนานของวีรบุรุษสงครามผู้กลายมาเป็นวีรบุรุษจอเงินด้วยการสังหารทหารนาซี 240 นาย


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส