ซีรีส์แนวแอ็กชัน-ระทึกขวัญสัญชาติไทยความยาว 6 ตอน ‘Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง’ ก็ใกล้จะถึงวันออกอากาศให้ได้รับชมกันทั่วโลกอีกไม่นานนี้แล้วทาง NETFLIX ซึ่งเป็นซีรีส์ไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำในระบบ HDR เพื่อเพิ่มอรรถรสให้ผู้ชมได้อิ่มแอ้ดไปกับทุกอารมณ์ของตัวละคร เชื่อว่าผู้ชมหลายท่านต่างรอคอยที่จะได้เห็นบทบาทใหม่ของ ‘เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ’ และ ‘ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง’ สองพระ-นางเคมีใหม่ที่จะมาสร้างสีสันและความว้าวกับฝีมือการแสดงของพวกเขา ในเรื่องราวสุดระทึกภายใต้คอนเซ็ปต์

“อยู่เมืองนี้อย่ารู้เยอะ”

ซึ่งก่อนจะมาเป็นซีรีส์เรื่องนี้ที่หลายคนรอคอย แน่นอนว่าทีมงานเบื้องหลังต้องทำการบ้านกันอย่างหนักเป็นแน่ เราจึงขอจับเข่าคุยกับ ‘ปราบดา หยุ่น’ และ ‘ก้องเกียรติ โขมศิริ’ ในฐานะผู้กำกับและเขียนบทที่ได้เลือก เวียร์-ศุกลวัฒน์ มาสวมบทบาทของ ‘วันชัย’ หนุ่มภูธรที่มุ่งหน้ามาหากินในเมืองหลวง และต้องพบกับเรื่องราวที่ทำให้เขาต้องท้าทายอำนาจมืดเพื่อค้นหาความจริงและเปิดโปง ประกบคู่ ออม สุชาร์ ในบทบาทของ ‘แคต’ นักข่าวสาวไฟแรงแซงความจิ๋ว ที่พกอุดมการณ์มาเต็มกระเป๋าเพื่อจะเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน ซึ่งงานนี้ถึงกับต้องเสี่ยงชีวิต

ต้องยอมรับว่ากรุงเทพฯ เป็นคอนเทนต์ที่เคยถูกนำเสนอด้านเทา ๆ จนถึงด้านมืดในภาพยนตร์ต่างชาติมาแล้วมากมาย ทั้งฮอลลีวูดทั้งเอเชียหลากหลายสไตล์ คิดว่าเรื่องนี้จะแตกต่างไปอย่างไร?

ปราบดา – “ผมรู้สึกว่าถึงแม้ว่าหนังต่างชาติจะนำเสนอด้านมืดของอาชญากรรมของกรุงเทพฯ เรื่องอะไรต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ก็รู้สึกว่าจะเป็นมุมมองแบบต่างชาติอยู่ดี มีภาพต่าง ๆ ที่เราเห็นเป็นเรื่องที่ชาวต่างชาติคิดว่า นี่คือสิ่งที่เขาอยากจะนำเสนอในกรุงเทพฯ หรือสิ่งที่เขาคิดว่าสวยงามของกรุงเทพฯ ก็มักจะเป็นโลเคชันเดิม ๆ หรือแม้แต่อาชญากรรมที่เราเห็นในหนังเหล่านั้นก็อาจจะเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่ไม่ได้มีความหลากหลายมากนักเป็นเรื่องเจ้าพ่อบ้างอะไรบ้างที่เราคุ้นชินกัน แต่เรื่องนี้เรานำเสนอโดยสายตาคนไทย และนำเสนอผ่านชีวิตและการทำงานของคนไทย โดยเฉพาะการนำเสนอโดยผ่านอาสากู้ภัยก็เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของคนไทยที่ชาวต่างชาติอาจจะไม่รู้จักหรือไม่มีในหลาย ๆ ชาติ ผมเชื่อว่าอาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่ามีอาสากู้ภัยอยู่ เพราะฉะนั้นผมว่าด้วยปัจจัยเหล่านี้จะเป็นการนำเสนอที่ลึกและ authentic ขึ้นก็คือดูสมจริงกับสิ่งที่มีอยู่ในสังคมไทยจริง ๆ เขาก็จะเข้าใจในความเป็นไทยด้านนี้มากขึ้น”

ก้องเกียรติ – “ในอาชีพของกู้ภัยเขาก็มีความน่าสนใจที่มันแตกต่าง อาจจะพูดถึงเรื่องกรุงเทพฯ ในมุมต่าง ๆ ที่บอกว่าสังคมในประเทศนี้เป็นแบบนั้น พูดถึงผู้หญิงขายตัว พูดถึงยาเสพติด สิ่งเหล่านี้มันถูกพูดออกไปเยอะ อย่างที่ว่า แต่ว่าการหาผลประโยชน์กับอุบัติเหตุมันยังไม่มี เพราะฉะนั้นก็เลยรู้สึกว่าอาชีพกู้ภัยที่มันเป็นด่านหน้าที่จะต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ มันมีทั้งผลประโยชน์และศรัทธาที่แท้จริง มันก็เลยสะท้อนให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วการที่ ซีรีส์เรื่องนี้มันแฉ หรือเปิดเผย มันไม่ใช่การเปิดเผยด้านมืดออกมาแบบด้านเดียวโต้ง ๆ ว่ากรุงเทพฯ ดำมืด ไม่ใช่ เพียงแต่ว่ามันพูดถึงทุก ๆ เฉด ทุก ๆ มิติของกรุงเทพฯ ว่าในสถานการณ์แบบนี้คุณจะดำรงชีวิตอยู่ยังไง จะตัดสินใจยังไงในการทำสิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่ผิด เรียกได้ว่าเผลอเหลี่ยมนิดเดียวมันก็อาจหลงทางกันได้ง่าย ๆ แต่ก็ยืนยันว่าไม่ได้พูดเฉพาะด้านดำมืดสนิทอยู่ด้านเดียว มันมีด้านที่สว่าง เทา ๆ อยู่หลายเฉดด้วยเหมือนกัน”

มีด้านที่ฟรุ้งฟริ้งอยู่ กับการที่เป็นพระ-นางเอกคู่นี้ ถือเป็นการเสนอความต่าง หรือต้องการผสมผสานความแข็งกับความอ่อนที่กรุงเทพฯ มีหรือเปล่า?

ก้องเกียรติ – “น่าสนใจ ที่มองเป็นแบบนี้ ผมไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนี้แต่ว่า เคมีเขาเป็นอย่างนั้น เคมีมันให้ความรู้สึกอันนี้ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดีเลยกับตัวงานแต่โดยเบื้องต้นเราไม่ได้มองเรื่องความแข็ง-อ่อน แต่มองตามคาแรกเตอร์ตอนเขียนบทว่า วันชัยเป็นคนต่างจังหวัด ภาพเวียร์เลยชัดมาก ว่าเป็นคนต่างจังหวัดที่จะลุกขึ้นสู้”

มันเป็นผลพลอยได้ที่จะเล่นกับความรู้สึกคนดูขึ้นมาเอง?

ก้องเกียรติ – “มันมารู้สึกตอนฟิตติ้งเมื่อเขาเจอกัน เรายังพูดกันว่า เฮ้ย!! มันเหมือนเกาหลี มันมีความรู้สึกแบบคนนึงตัวสูง ๆ แล้วก็…เราใช้คำว่าเขย่งกอด มันเหมือนออมต้องเขย่งแล้วก็กอดพี่เวียร์ เพราะความที่ออมเขาตัวเล็ก”

ผลงานของคุณปราบดา หยุ่น ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องราวที่ดาร์ก ๆ ย่อยยากอยู่สักหน่อย แล้วอย่างเรื่องนี้จะมีเนื้อหาแนวนั้นไหม?

ปราบดา – “ไม่เลยครับ เรื่องนี้จะเป็นแมสมาก ๆ ในความรู้สึกผม เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ที่เป็น ทริลเลอร์-แอ็กชันได้อย่างชัดเจน ไม่ได้มีความเข้าใจยากในเรื่องของเนื้อหา แล้วก็ผมคิดว่าบางอย่างที่อาจจะรู้สึกว่าย่อยยากน่าจะเป็นในเรื่องของการเขียนบท ในการนำเสนอภาพมากกว่า ซึ่งอันนี้ก็ไม่ใช่ผมคนเดียว คุณโขมก็ร่วมกันคิดด้วย เราก็แลกเปลี่ยนกันว่าอยากจะนำเสนอภาพยังไง นำเสนอตัวละครยังไง บทสนทนาควรจะเป็นแบบไหน”

ในบทของคุณหนึ่ง วรเชษฐ์ จะเป็นตัวบอกความแมสเลยใช่ไหม พูดได้ไหมว่าตัวละครตัวนี้เป็นตัวแทนของกล่องความสนุก คือเมืองหลวงที่ซ่อนความเลวร้ายเอาไว้?

ปราบดา – “ผมว่าตัวละครตัวนี้เป็นตัวละครที่ทุกคนอยากจะชอบแต่ไม่ควรจะชอบ เขามีเสน่ห์มากแต่พฤติกรรมเขา ไม่ใช่พฤติกรรมของคนที่ควรสนับสนุน แต่มันก็สนุกดีครับ”

ในฐานะที่ซีรีส์เรื่องนี้เป็น ซีรีส์ไทยหนึ่งในซีรีส์ของเน็ตฟลิกซ์ คาดหวังอะไรกับผลสะท้อนกลับในการสร้างมุมมองของกรุงเทพฯ ในมุมที่ต้องการสื่อออกมาสู่สายตาผู้ชม?

ก้องเกียรติ – “ผมพยายามเต็มที่แล้วก็เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เราทำกันสำเร็จแล้วนะฮะก็คือ มันเป็นไทยโปรดักชันที่มีความสากล อยู่บนแพลตฟอร์มนี้แล้วเรารู้สึกว่านี่เป็นซีรีส์ที่ดูดีเรื่องหนึ่ง อันนี้ก็เป็นความตั้งใจที่ขอบอกว่า เป็นไทยโปรดักชันที่เราทำได้นะ ในแง่ของภาพของกรุงเทพฯ ที่เราอยากนำเสนอออกไปก็คือ เราอยากพูดถึงกรุงเทพฯ แบบตรงไปตรงมา ไม่ได้พูดถึงมันเฉพาะด้านสวยงามด้านเดียว หรือด้านมืดด้านเดียว เพียงแต่ว่าพูดถึงมันแบบตรงไปตรงมาในฐานะที่เราอยู่ที่นี่เองนี่แหละ อาจจะมีคนบอกว่าใคร ๆ ก็รู้แล้วแหละว่ากรุงเทพฯ ฟอนเฟะ แต่สำหรับผมการพูดว่ากรุงเทพฯ ฟอนเฟะมันก็แจ้งข้อหาเกินไป มันก็มีความหวังอยู่ในความฟอนเฟะนั้น ซีรีส์เรื่องนี้มันก็แนะนำสิ่งเหล่านี้ได้ในตัวละคร มันไม่ใช่ทุกอย่างจะดาร์กดำมืดไปหมด มันไม่ได้พูดแบบนั้น มันพูดในหลาย ๆ เฉด ซึ่งผมรู้สึกว่าอันนี้มันไม่ได้มีโอกาสพูดถึงได้ง่าย เวลาที่คนต่างชาติมองเราเขาก็จะมองว่าทั้งหมดเป็นแบบนั้น แต่เวลาเราทำเอง หลายครั้งเราจะชอบชมตัวเองว่ามันมีแต่ด้านสวยงามนะ เชิญชวนมาเที่ยวกันเถอะ นี่เป็นครั้งแรกที่เราจะพูดว่า มันเป็นชีวิต กรุงเทพฯ มันก็เหมือนสิ่งมีชีวิตที่ มีทั้งด้านดีด้านเลว ด้านเทา ๆ ด้านชมพู ด้านที่ให้คุณรักมันได้แล้วก็ด้านที่คุณจะขยะแขยงกับความเป็นมนุษย์ในนี้ได้เหมือนกัน เฉกเช่นเมืองหลวงอีกหลายที่ แต่เสน่ห์ของกรุงเทพฯ มันเป็นแบบนั้น”

ปราบดา – “เดี๋ยวเราจะรอดูกันว่าซีรีส์เรื่องนี้พอฉายออกไปทั่วโลกแล้วจะมีคนต่างชาติกี่คนมาสมัครทำงานอาสากู้ภัยที่เมืองไทย ถ้ามีนี่ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ๆ”

การนำคุณแบงค์ ปวริศร์ ที่มีภาพจำจาก บางกอก แดนเจอรัส มาเล่นเรื่องนี้เป็นความตั้งใจเลยไหมที่จะให้เป็นด้านตรงข้ามที่ค้านกันกับตัวคุณหนึ่ง วรเชษฐ์​ที่ถึงแม้ว่าจะเห็นความเป็นเทา ๆ ในบทของเขาด้วยปมต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย?

ปราบดา – “เรื่องความขาว-ความดำต้องดูจนจบว่าใครขาวใครดำ คุณแบงก์ตอนที่เขามาแคส เขาก็มีคุณสมบัติบางอย่างในตัวเองที่น่าสนใจ เขาเป็นคนอ่อนโยน น้ำเสียงในวิธีการแสดงออกของเขา แต่เขามักจะได้รับบทเป็นนักเลงบ้าง อันธพาลบ้าง มันมีความย้อนแย้งที่น่าสนใจอยู่”

ก้องเกียรติ – “โดยบทบาทของเขา เขาคือหัวหน้าทีมกู้ภัย ทีนี้ความเป็นแบงก์ เขาน่าเชื่อถือ สำหรับคนที่จะมาเป็นหัวหน้าชุดกู้ภัยที่ต้องมีการทำงานที่บู๊ได้ แอ็กชันได้ ไม่ใช่สำอางอย่างเดียว เขามีสิ่งนั้นอยู่ ถามว่ามีการคิดถึงบางกอกแดนเจอร์รัสไหม เราอาจจะไม่ได้หยิบมาตรง ๆ เพียงแต่ราแรกเตอร์ พออายุเขาเพิ่มมากขึ้นมันมีความกร้านบางอย่างที่เรารู้สึกว่า พี่แบงก์ที่เราเคยรู้จัก พอมาอยู่ตรงนี้มันน่าค้นหามากขึ้น ส่วนเรื่องมันจะเป็นยังไงเดี๋ยวจะต้องไปดู แต่เราเชื่อว่าเขาจะนำพาทีมชุดนึงไปได้ แล้วเขาจะคีปปริศนาบางอย่างในเรื่องไว้ให้คนตั้งคำถามได้ จะเป็นผลพวงจากบางกอกแดนเจอร์รัสก็ถือว่าเป็นสิ่งดี”

เมื่อผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับ ‘ต้องการแฉ’ เรื่องราวของกรุงเทพฯ เราก็พร้อมจะรับชมว่ากรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรนครแห่งสีสัน จะถูกแฉออกมาในรูปแบบไหนและอะไรคือสิ่งที่ถูกซุกไว้ใต้พรมในมุมมองของพวกเขา ผ่านตัวละครที่มีอาชีพเป็น ‘อาสาสมัครกู้ภัย’ และ ‘ผู้สื่อข่าว’

‘Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง’ ฉายพร้อมกันทั่วโลกวันที่ 23 กันยายน 2564 ทาง Netflix

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส