ตลอดระยะเวลานานหลายเดือน กับโปรเจ็กต์ “INDY CAMP” ที่ทำให้ 2 เส้นทางดนตรีที่คล้ายกับอยู่คนละทิศทางอย่าง “ไอดอล” และ “อินดี้” ให้วกผสานกลายเป็นเส้นทางเดียว เมื่อ 6 เมมเบอร์จาก BNK48 และ CGM48 คือ “วี -วีรยา จาง”, “แพนด้า -จิดาภา แช่มช้อย”, “สตางค์ -ตริษา ปรีชาตั้งกิจ” จาก BNK48 กับ “มามิ้งค์ -มาณิฌา เอี่ยมดิลกวงศ์”, “ปีโป้ – จิรัฐิกาล ทะสี” และ “ฟอร์จูน -ปัณฑิตา คูณทวี” แห่ง CGM48 ได้มาสร้างสรรค์ผลงานเพลงในสไตล์ของตัวเองอย่างอิสระจากกรอบแนวทางของบทเพลงไอดอลที่เป็นภาพจำของพวกเธอ 

และเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงตอนนี้…เป้าหมายของทั้ง 6 เมมเบอร์ และ “INDY CAMP” ที่ได้ “รัฐ พิฆาตไพรี” หรือ “รัฐ วง Tattoo Colour” มาร่วมกุมบังเหียนในตำแหน่งโปรดิวเซอร์ ก็ใกล้ถึงปลายทางแล้ว 

การรอคอยได้สิ้นสุดลงแล้ว…ทั้งกับแฟนคลับ และเมมเบอร์ทุกคนที่ได้รับโอกาสให้มา “อินดี้” กันในครั้งนี้ รวมถึง “ฟอร์จูน CGM48” กับเพลง “คงทำได้แค่รอ (Last Thing I Can Do)”…ที่กล่าวกันว่าเป็น “สายดำดิ่ง” มากที่สุดของโปรเจ็กต์นี้…  
 
ที่มาของความเศร้าเหล่านั้นคืออะไรกัน? 

ทำไม ฟอร์จูน ถึงเลือกทำเพลงแรกของตัวเองเป็นเพลงเศร้า]tครับ 

ฟอร์จูน: หนูค่อนข้างที่จะชอบทางเพลงเศร้า เพราะว่าตัวเองจะเศร้าหรือไม่เศร้า หนูก็มักจะฟังเพลงเศร้า บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าเสียใจแต่ไม่อยากพูดออกมา แต่พอเราฟังเพลงมันกลับสามารถเชื่อมกับความรู้สึกของเราได้ แล้วเพลงเศร้ามันเศร้าได้หลายแบบ อาจจะเศร้าแบบนี้ความสุข หรือเศร้าก็เศร้าไปเลยจริง ๆ หนูก็เลยรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ และชอบที่จะฟังเพลงเศร้า บวกกับ MV ด้วย ศิลปินที่หนูชอบก็จะคล้าย ๆ แนวที่หนูทำนี่ละค่ะ 

หลายคนเข้าใจว่า ฟอร์จูน ได้แรงบันดาลใจมาจากแมวที่เคยเลี้ยง เรื่องราวในเพลงเป็นการกล่าวถึงน้องแมวหรือเปล่า 

ฟอร์จูน: ในแง่ของเนื้อเรื่อง หนูอยากให้มันเป็น Feel แบบชีวิตประจำวันที่คนเข้าถึงได้ง่าย ก็เลยออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ประมาณนี้ แต่ว่าเรื่องของความรู้สึก Emotional ต่างๆ ก็จะมาจากคิดถึงน้องแมวด้วยส่วนหนึ่ง พอมาเอามาผสม ๆ กัน “คงทำได้แค่รอ (Last Thing I Can Do)” ก็เลยจะออกมาเป็นประมาณนี้ค่ะ 

“คงทำได้แค่รอ (Last Thing I Can Do)” ถือเป็นเพลงแรกที่ฟอร์จูนแต่งเลยไหมครับ 

ฟอร์จูน: (พยักหน้า) เป็นเพลงแรกที่แต่งแล้วทำตั้งแต่ต้นจนจบเป็นเพลงที่สมบูรณ์นะคะ แต่ก่อนหนูจะเคยแต่แต่งเล่น ๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีแค่บางท่อนหรือเป็นท่อนเล็ก ๆ มาตลอด เหมือนเป็นโปรเจกต์ที่ไม่เคยจบสักที ปกติเวลาแต่งเพลงหนูก็จะเล่นกีตาร์ ด็องแด็ง ด็องแด้ง แล้วก็ร้อง หรือว่าเล่นคีย์บอร์ดแล้วก็อัดเฉย ๆ ไม่เคยเป็นเพลงที่มันสมบูรณ์เท่าเพลงนี้มาก่อน แต่ว่าเพลงนี้คือการที่ทำให้เป็น Full Band มากขึ้น มีเครื่องดนตรี มีโน่น นั่น นี่ แล้วก็เป็นการทำเพลงในลักษณะคอมพิวเตอร์มิวสิกที่หนูไม่เคยทำมาก่อน   
 

แล้วเพลงที่เคยแต่งเป็นท่อนเล็ก ๆ ที่ว่านี่เป็นเพลงสไตล์ไหน  

ฟอร์จูน: เอาจริง ๆ เพลงที่แต่งมาก็เป็นเพลงเศร้าทั้งหมดเลยค่ะ อย่างในโทรศัพท์ของหนู มันจะมีโน้ตเพลงต่าง ๆ นานา ที่หนูแต่งขึ้นมาก็จะเป็นซินป๊อป อินดี้ป๊อป ขณะที่เนื้อหาก็ค่อนข้างที่จะอยู่ในหมวดเพลงเศร้าทั้งหมดเลย 

ทราบว่าฟอร์จูนค่อนข้างเครียดมากกับการทำเพลงนี้ 

ฟอร์จูน: ที่เครียดเพราะว่าเราไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อนน่ะค่ะ ก็จะมีหลาย ๆ ส่วนที่เครียด งแต่การแต่งเนื้อร้อง แต่งทำนอง คือถามว่าหนูเล่นดนตรีได้ไหม หนูก็สามารถเล่นได้ แต่ว่าเป็นการเล่น Cover หรือเล่นเพลงของ CGM48 ปกติ แต่พอเป็นการเป็นเพลงของเราเอง เราต้องเริ่มเองทั้งหมด ต้องเริ่มตั้งแต่ศูนย์หรือติดลบเลยก็ว่าได้ หนูก็เลยค่อนข้างมีความกดดัน เพราะในส่วนของดนตรี เราอาจจะมีความรู้ที่ไม่แน่นมากเท่าคนอื่น ๆ ที่เขาเก่ง ๆ เรารู้แต่ว่าเราทำไม่เป็น และที่เครียดอีกอย่างหนึ่งก็คือเครียดในเรื่องของความกดดันของตัวเองมากกว่า เรากลัวว่ามันจะออกมาไม่ดี หรือพอไปเห็นฟีดแบ็กต่าง ๆ แล้วอาจจะมานอยด์กับตัวเอง  เพราะคนที่อยู่ในโปรเจกต์นี้ หนูยอมรับว่าทุกคนเก่งในแบบของตัวเองทั้งหมด แล้วเป็น Feel แบบว่าแล้วเราจะทำได้ดีเท่าคนอื่นไหม แต่พอมาถึงจุดที่เราผ่านความคิดตรงนั้นมาได้ มันก็รู้สึกโอเคขึ้น จิตใจเราเข้มแข็งขึ้น 

เล่าวิธีการทำงานของเพลงนี้ให้ฟังหน่อยสิครับ 

ฟอร์จูน:พอจบอีพีสุดท้ายของ Indy Camp ใน Youtube แล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนโปรเซสซึ่งระหว่างนั้นจะหยุดไปเลย เพราะว่าสถานการณ์โควิดค่อนข้างจะแย่ลง เราก็ไม่สามารถไปเจอกันข้างนอกได้ แม้กระทั่งเพื่อนในหอเอง บางทีก็ยังต้องกักตัวแยก ทำให้การทำงานหยุดชะงักไป พอสถานการณ์กลับมาดีขึ้น ก็ได้เริ่มกลับมาทำงานในขั้นตอนของการอัดเพลงอัดกีตาร์ อัดโน่น อัดนี่ แล้วเป็นขั้นตอนของการเอามามิกซ์ ของหนูจะมีทีมแฟลตฟอร์มที่เข้ามาช่วยด้วย แต่ก็จะมีส่วนของหนู ที่หนูเอากลับมาทำเอง ขั้นตอนนี้หนูคิดว่าเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดของหนู เพราะหนูทำไม่ค่อยเป็น แต่เรามี Point อยู่ในใจว่าอยากให้มันเป็นแบบไหน เราชอบโทนประมาณนี้ ก็เลยต้องเอามาทำเอง ซึ่งถามว่าทำเอง ทำเป็นไหม ก็ไม่เป็น แต่สุดท้ายก็เสร็จออกมา ซึ่งก็เต็มที่แล้วด้วยกับเวลาที่มีให้ค่ะ 
 

ฟังดูไม่ง่ายเลยนะครับ กว่าจะที่จะเสร็จออกมาเป็นมาสเตอร์ 

ฟอร์จูน: ไม่ง่ายเลยค่ะ เครียดมาก ด้วยความที่หนูอยากให้ตอนที่เราทำเดโม่กับตอนที่เป็นมาสเตอร์นั้นมีความต่างกัน ซึ่งยากมาก หนูอยากทำอย่างนี้อย่างนั้นเพิ่ม แต่เราก็ไม่ได้มีความรู้ขนาดนั้น ขณะที่ตอนอัดเพลงมันค่อนข้างมีความแตกต่างระหว่างตอนที่อัดเพลงของ CGM ที่เราจะร้องเป็นกลุ่ม ๆ คืออย่างน้อยก็มีคนร้องข้าง ๆ เรา แต่พอมาเป็นเพลงของตัวเอง หนูก็เลยจะค่อนข้างโฟกัสกับตัวเอง ซึ่งเราก็จะได้ยินเสียงตัวเองชัดมาก ซึ่งเราไม่เคยมีประสบการณ์ที่จะได้ยินเสียงตัวเองร้องในห้องอัดแบบนั้นมาก่อน ก็เลยรู้สึกว่าค่อนข้างยากและต้องใช้การสื่อสารที่ชัดเจนมาก ๆ กับการอัดในห้องซ้อม ซึ่งก็ได้น้องมีน (พิชญธิดา สนธิศักดิ์วรรณะ) มาเฝ้าช่วยอัดตอนซ้อม ทำให้ความเครียด ความกดดันลดน้อยลง เหมือนน้องมาคอยซัปพอร์ตอยู่เรื่อย ๆ ค่ะ 
 

แล้วเรื่องทำงานกับพี่รัฐ เป็นอย่างไรบ้าง 

ฟอร์จูน: ส่วนใหญ่พี่รัฐจะเป็นพี่ที่ให้คำปรึกษา เป็นการดูภาพรวมต่างๆ ว่าเพลงตอนนี้เป็นประมาณนี้แล้ว โอเคหรือยัง พี่รัฐฟังแล้วรู้สึกอย่างไร พี่รัฐชอบตรงไหน อยากให้ปรับตรงไหน พี่รัฐก็จะช่วยแนะนำ ให้คำแนะนำต่าง ๆ ให้หนู ก็รู้สึกว่าเป็นพี่ที่ดูใจดี (หัวเราะ) พี่รัฐส่วนใหญ่ปล่อยค่ะ ตั้งแต่แรกเริ่ม พี่รัฐก็จะบอกว่า เฮ้ย ลุยเลย ตลอดเลยค่ะ แบางทีหนูก็ไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะโอเคหรือยัง พี่รัฐก็จะคอยซัปพอร์ต ว่ายูไปต่อได้เลย ส่วนตัวไหนที่ยังติดหรือขาดอยู่ เขาก็จะให้คำแนะนำ บอกว่ามันมีวิธีแก้ไขประมาณนี้นะ ลองไปทำดู ถ้ามีอะไรก็ลองให้คุณครูช่วยฟังก็ได้ ประมาณนี้ค่ะ  

พี่รัฐสอนวิชาอะไรเราบ้างไหมครับ 

ฟอร์จูน: ก็จะเป็นช่วงทำเพลงในช่วงแรกๆ ช่วงที่คิดเนื้อร้อง คิดทำนองเพลง พี่รัฐจะให้คำแนะนำที่ค่อนข้างโอเคนะคะ เป็นคนที่คอย Cheer up เราก็จะรู้สึก Self ขึ้นมา ถ้าตรงไหนที่ยังไม่ค่อยโอเค ก็จะคอยบอก สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็จะเป็นในแง่ที่เขาเป็นคนที่มีประสบการณ์มาก ๆ พอเราได้มาทำงานกับโปรจริง ๆ แบบพี่เขา เราก็จะได้มีทักษะการทำงานกับคนอื่นมากขึ้น ได้ติดต่อสื่อสาร ได้คุยเรื่องดนตรีกันจริง ๆ จัง ๆ เป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างดี ถ้าไม่ได้อยู่ Indy Camp ก็ไม่รู้ว่าจะได้คุยกับพี่รัฐตอนไหนเหมือนกัน 

ตอนรอบพรีเมียร์ของ MV “คงทำได้แค่รอ (Last Thing I Can Do)” ตอนนั้นฟอร์จูนทำอะไรอยู่ 

ฟอร์จูน: จริงๆ เมื่อวานก่อนที่ MV จะออก หนูได้มีการอัดคลิปตัวเองว่าตอนตื่นนอนทำอะไรบ้าง และเมื่อวานหนูมีสอบตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงประมาณสิบเอ็ดโมง พอหนูสอบเสร็จก็อยากให้จิตใจสงบสุขอยู่ค่ะ ไม่อยากตื่นเต้นมากเกินไป ก็เลยไปที่ห้องแมว CGM48 จะมีโปรเจกต์  CAT IDOL by CGM48 ก็จะมีน้องแมวที่หอ หนูก็ไปอยู่กับแมวสักพัก ให้ตัวเองไม่ตื่นเต้น แล้วมาอาบน้ำอาบท่า ลงมากินข้าว ตอนนั้นก็จะใกล้เที่ยงแล้ว ประมาณ 11.40 น. หนูจะดูเวลาตลอด เพราะหนูตื่นเต้นมาก นั่งกินข้าวไปสักพักก็เริ่มมีเพื่อน ๆ มารอนั่งดูด้วย เลยได้ดูพร้อมกันตอนเที่ยง ที่ห้อง Common Room ที่หอค่ะ 
 

เป็นอย่างไรบ้างภาพที่ออกมาเหมือนคอนเส็ปต์ที่เราคิดไว้แต่แรกหรือเปล่า 

ฟอร์จูน: เอาจริงๆ ก็ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ตรงกับสิ่งที่เราอยากให้มันเป็น เพราะว่าขั้นตอน กระบวนการในเรื่องของ MV  
คือตอนที่หนูได้เข้าร่วมโปรเจกต์ INDY CAMP ตัวคอนเส็ปต์ภาพ MV มันถูกคิดขึ้นมาก่อนเนื้อเพลงมันจะมาอีกค่ะ หนูก็คิดมาตั้งแต่แรก ว่าหนูอยากได้คอนเส็ปต์ประมาณไหน ต้องการให้มันเป็นประมาณไหน พอถึงขั้นตอนของการตัดต่อก็จะมีพี่ ๆ ทีมงานเขาจะคอยตัดต่อให้ แต่ว่าในส่วนที่เราต้องการ อยากเพิ่ม อยากลดอะไร หนูก็จะคอยบรีฟพี่เขาว่าประมาณนี้ ๆ  
ในแง่ Location ที่ได้ก็ค่อนข้างจะพอใจค่ะ เป็นโลเคชันที่สวยมาก หนูชอบต้นไม้ต้นนั้นใน MV มาก ๆ มันเป็นต้นอะไรสักอย่าง ที่เจ้าของบอกว่าค่อนข้างมีความศักดิ์สิทธิ์นิดนึง หนูก็เลยรู้สึกว่า ค่อนข้างแบบว่าให้มู้ดที่ดีและเป็นที่พึ่งทางใจของหนูด้วย พอ MV ออกมาก็รู้สึกว่าเป็นเหมือนภาพที่คิดไว้ตั้งแต่แรกเลยค่ะ 

ตอนก่อนปล่อย Teaser ออกมาคนก็ลุ้นกันเยอะนะว่าจะได้เห็น “ฟอร์เจิ้ล” ใน MV หรือเปล่า พอออกมาจริง ๆ ก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์กัน  

ฟอร์จูน : จริง ๆ มันมี 2 ชอยส์นะคะ ชอยส์แรกที่หนูคิดมา ใจจริงตอนแรกก็อยากเอาน้องแองเจิ้ล (นภัสนันท์ ธรรมบัวชา) ไปเล่นด้วยอยู่แล้ว ด้วยความที่ถ้าเราเล่นกับน้องจะเป็นฟีลที่ MV น่าจะสมบูรณ์มากขึ้น เพราะเราจะได้เห็นรีแอ็กชันการแสดงของคนสองคน แต่พี่ทีมงานเสนอมาอีกอย่างนึง ก็อยากให้ MV ออกมาสอดคล้องกับภาพโปสการ์ดที่ใช้ประกอบกับเพลงนี้ในตอนแรกที่เป็นรูปผู้ชายกับผู้หญิง ถ้าเราทำ MV ก็อยากจะทำให้เชื่อมโยงกันได้ว่ามันคือคนที่อยู่ในโปสการ์ดอะไรประมาณนี้ ซึ่งหนูก็รู้สึกว่าเป็นคอนเส็ปต์ที่น่าสนใจ พอไปถามเพื่อน ๆ ไปถามแองเจิ้ล น้องก็ให้การซัปพอร์ตที่ดีมาก น้องก็บอกว่าได้ หนูยังไงก็ได้ ถ้าพี่จะให้หนูเล่นหรือไม่ให้เล่น หนูโอเคหมดเลย จะรอซัปพอร์ต 

นอกจากนั้นก็มีคอมเมนต์กันเยอะฟอร์จูนแสดงซีนร้องไห้ดีมาก ตอนนั้นคิดอะไรอยู่ในหัวหรือครับ  

ฟอร์จูน: ก็มีหลาย ๆ คนถามเหมือนกันนะคะ ว่าตอนที่หนูร้องไห้หนูนึกถึงอะไร จริงๆ แล้วหนูนึกถึงน้องแมวที่เสียไปแล้วนั่นแหละ เพราะส่วนหนึ่งใจก็อยากแต่งให้น้องแมวที่เสียไปอยู่แล้ว พอฟังเพลงนี้มันก็เลยจะนึกถึงน้องเขาด้วย เราก็เลยรู้สึกว่าอินมากค่ะ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้มากที่สุดจากโปรเจกต์นี้คืออะไรครับ 

ฟอร์จูน: ถ้าได้เรียนรู้มากที่สุดสำหรับหนูคิดว่าคือเรื่องการทำเพลงค่ะ ที่ผ่านมาเราอาจจะมีอุปกรณ์ทุกอย่าง แต่เราไม่เคยทำจริง ๆ จัง ๆ สักที พอมาโปรเจกต์นี้ เราถึงได้มาเริ่มทำจริง ๆ สักที ได้รู้ว่าโปรแกรมนี้ต้องใช้อย่างไร กระบวนการในการคิดเพลง การวางเครื่องดนตรีต่าง ๆ เป็นอย่างไร หนูรู้สึกว่าหนูได้เยอะมากจริงๆ  

โปรเจกต์ INDY CAMP เป็นโปรเจกต์ที่ทำให้หนูได้พรูฟอะไรหลายๆ อย่าง ในเรื่องของการทำเพลงที่หลายๆ คนก็คาดหวังว่าอยากให้หนูมีเพลงออกมาบ้าง เมื่เทียบกับน้องปีโป้ที่จะมีเพลงออกมาตลอด หนูก็อยากทำ แต่ว่าหนูติดเล่น ยังรู้สึกไม่อยากทำ ยังขี้เกียจ หรืออะไรอย่างนี้ พอได้มาทำโปรเจกต์นี้ก็ได้มีเพลงออกมาจริง ๆ จัง ๆ หนึ่งเพลงแล้ว ผลที่ออกมาเราก็รู้สึกว่าชอบ นอกจากนั้นเราก็ได้ฝึกเรื่องการจัดการความรู้สึกกับตัวเองด้วยค่ะ คือมันมีหลายความรู้สึกมาก กับเรื่องที่ต้องรับผิดชอบ ความกดดันตัวเอง การเปรียบเทียบ โน่น นั่น นี่ พอมันจบโปรเจกต์มาก็รู้สึกว่าทุกอย่างมันมาอัดอยู่ตรงนี้ค่ะ (เอามือป้องดวงตาสองข้าง) เย่ แล้วทุกอย่างมันหายไป แบบว่า เออ ผ่านมันมาได้แล้ว  

 
แล้วก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าหนูตั้งใจทำจริงๆ ก็จะทำได้ ทำให้หนูย้อนนึกไปว่า ถ้าจริง ๆ เราตั้งใจทำมันก็น่าจะทำได้ ที่ผ่านมาเราแค่คิดไปเองว่าเราอาจจะยังทำไม่ได้ เรายังไม่เก่ง พอมี INDY CAMP ออกมาเลยเหมือนเป็นการปลดล็อกในตัวเอง ว่าเราทำได้ พอหลังจากจบเพลงนี้ก็อยากแต่งเพลงอื่นเพิ่มอีกค่ะ 

ท่อนที่ฟอร์จูนชอบมากที่สุดในเพลงนี้คือท่อนไหนครับ 

ฟอร์จูน: ทุกคนอาจจะแปลกใจนะคะ เพราะท่อนที่หนูชอบมากที่สุดคือท่อนท้ายเพลงค่ะ ที่เป็นแค่เมโลดี้อย่างเดียว ไม่มีเนื้อร้อง หนูรู้สึกว่าส่วนนั้นมันเหมือนไม่มีเนื้อร้องไม่มีความหมายก็จริง แต่สามารถแสดงความเป็นหนู และความ Deep เป็นสิ่งที่หนูอยากให้มันเป็น สิ่งที่หนูอยากสื่อสารออกไป พอฟังไปทีไร หนูจะรู้สึกแบบ นี้ ท่อนนี้แหละ มันต้องใช่ท่อนนี้ และเป็นท่อนแรกที่หนูได้คิดขึ้นมาก่อนที่เนื้อเพลงจะมา นั่งๆ อยู่ อยู่ดี ๆ ก็ฮัมขึ้นมา แล้วก็อัดเสียงส่งให้ครูแมน (ตนุภพ โนทยานนท์) ฟัง ครูแมนคะ โน้ตนี้คือโน้ตอะไร ใส่คอร์ดไหนดีคะ 

อย่างปีโป้เขาชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าเขาอยากเป็นศิลปิน ของฟอร์จูนละมีเป้าหมายอย่างไรบ้างครับ 

ฟอร์จูน: จริง ๆ หนูอยากเป็นหลายอย่างมากในชีวิต หนูว่าหนูเป็นประเภท ให้ทำอันนี้ก็ทำได้ ๆ แต่ไม่มีอันไหนทำได้ดีหรือไปสุดสักอัน ก็เลยรู้สึกว่าช่วงนี้เราอยากทำอะไรต่อ ถ้าตอนนี้เราอยากทำอะไร ทำเลย ถ้าวันนี้อยากร้องเพลง ก็จะร้องเพลง ถ้าพรุ่งนี้อยากเป็นแสดง ก็จะแสดง อะไรประมาณนี้ค่ะ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าอยากแสดงมากกว่านิดนึง คือพอไปถ่าย MV มาแล้วรู้สึกว่ามีอะไรที่มัน Touch ใจ เป็นอีกสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยได้ทำ พอได้ทำจริง ๆ ก็รู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจกับมัน รู้สึกว่าอยากลองทำอีก ส่วนศิลปินก็เป็นความฝันหนูมาตั้งนานแล้ว แต่หนูรู้สึกว่าต้องมั่นใจในตัวเองมากกว่านี้อีก 

ที่ผ่านมาแต่งแต่เพลงช้า แล้วถ้าต้องทำโจทย์เพลงสดใสละ อยากให้เพลงชื่อว่าอะไร  

ฟอร์จูน: อยากให้ชื่อเพลงว่าอะไรหรือคะ (นิ่งคิด) แบบสดใส ๆ (คิดสักพัก) เนื้อเพลงคงเป็นฟีลอบอุ่น หนูก็ยังชอบฟังเพลงที่เป็นเพลงรักอยู่นะคะ แต่เป็นฟีลที่ไม่ได้ Mass มาก ก็จะยังมีความเป็นอินดี้ ๆ ในตัวหนูอยู่ ชื่อเพลงก็คงจะเป็นประมาณ “ความสุขรอบกาย” หรือ “ตื่นมาแล้วเจอเธอ” 
  

นึกถึงเพลงสไตล์ของมามิ้งค์เลยครับ 

ฟอร์จูน: มามิ้งค์นี่อินดี้ของจริงเลย หนูยังมีความก้ำกึ่ง ๆ (หัวเราะ)  

ฟอร์จูนเล่นดนตรีได้หลายชิ้น ถ้าเลือกเครื่องดนตรีได้หนึ่งชิ้นที่สื่อถึงความเป็นฟอร์จูนมากที่สุด จะเลือกอะไร 

ฟอร์จูน: หนักใจแฮะ (นิ่งคิด) น่าจะเป็นเปียโน จริง ๆ หนูชอบทั้งกีตาร์และเปียโน แต่ว่าหนูอยู่กับเปียโนมาเป็น 10 ปีแล้ว ที่เราได้จับ ได้เล่นมันมา บ้านหนูจะมีเปียโน พอย้ายมาอยู่ที่นี่ หนูไม่มีเปียโนไว้จริงๆ จังๆ พอเวลาได้กลับบ้าน หนูได้กลับไปเล่นเปียโน หนูก็จะรู้สึกทุกครั้งว่าเรากลับมาแล้วนะ เรากลับมาเล่นด้วยแล้ว รู้สึกมีความผูกพันกับเปียโนมาก ๆ ส่วนกีตาร์เป็นฟีลเหมือนแบบเราก็ชอบเหมือนกัน แต่เป็นสิ่งที่เราจับได้ตลอดเวลา ขณะที่กับเปียโนมาอยู่ที่นี่แล้วมันไม่มีแล้วรู้สึกเคว้ง ๆ นิดนึง พอได้กลับบ้านจะรู้สึกแบบว่าชอบเล่นเปียโนมากๆ  

 
แล้วถ้าได้กลับไปบ้านเย็นนี้ จะเล่นเพลงอะไร 

ฟอร์จูน: ตอนที่หนูได้กลับบ้านล่าสุด หนูก็เล่นเพลงหนูเพลงแรกเลยนะคะ (หัวเราะ) ตอนหนูคิดเพลงในโปรเจกต์นี้ หนูจับเปียโนน้อยมาก หนูก็ได้เล่นแต่กีตาร์ พอหนูกลับไป หนูเลยได้ลองเล่นในเวอร์ชั่นเปียโนแล้วร้องสดดู ซึ่งหนูรู้สึกว่าแบบนี้ก็ดูเป็นเราในอีกแบบนึง ดังนั้นถ้าได้กลับไปบ้านเย็นนี้แล้วได้เล่นก็คงรู้สึกว่าอยากกลับไปร้องเพลงนี้ให้คนที่บ้านฟัง ร้องให้ตัวเองฟัง กับเครื่องดนตรีที่เราชอบ 

 
อย่าลืมทำเวอร์ชั่นนี้ออกมาเผยแพร่ในโซเชียลด้วยนะ 

ฟอร์จูน: หนูต้องกลับบ้านก่อนนะคะ (หัวเราะ)  

สัญญาแล้วนะ ยังไงก็ขอบคุณมากสำหรับการสัมภาษณ์ในวันนี้ครับ 

ฟอร์จูน: ได้เลยค่ะ (ยิ้ม) ก่อนไปก็ขอฝากผลงานนะคะ “คงทำได้แค่รอ (Last Thing I Can Do)” เป็นเพลงเดี่ยวเพลงแรกเลยของหนู ในโปรเจกต์  INDY CAMP ตอนนี้ปล่อยออกมาแล้วบน Youtube ช่อง CGM48 สามารถเข้าไปรับชมรับฟังกันได้แล้วนะคะ และก็ขอฝากอีก 5 เพลงในโปรเจกต์ของ INDY CAMP ด้วยนะคะ แต่ละเพลงรสชาติไม่เหมือนกันแน่นอนค่ะ ใครเทสต์แบบไหน ก็จิ้มเลือกฟังกันได้ รับรองไม่ผิดหวังแน่นอนนะคะ ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ (ยิ้มกว้าง) 

【Full MV】คงทำได้แค่รอ (last thing i can do) / Fortune CGM48

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส