รายงานล่าสุดจาก เว็๋บไซต์ Vice รายงานว่า โลกอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนตอนนี้มีเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ต นั่นก็คือเทรนด์ของการตกแต่งอาหารและคาเฟ่แนวใหม่ ที่มีการออกแบบและตกแต่งภายในด้วยซากปรักหักพังเหมือนราวกับอาคารบ้านเรือนและสิ่งของที่ผุพังและเสียหายหลังจากผ่านสงคราม หรือราวกับว่าเพิ่งจะถูกระเบิดถล่มใส่ โดยเรียกแนวการตกแต่งนี้ว่าเป็นแนว ‘สไตล์ซีเรีย’ (Syrian Style) หรือแนวสไตล์สงครามในประเทศซีเรีย จนทำให้อินฟลูเอนเซอร์ นักชิมอาหาร และชาวเน็ตจีนต่างแห่กันไปเที่ยวตามรีวิวบนโลกอินเทอร์เน็ตกันยกใหญ่ พร้อมกับให้คำนิยาม ‘Syrian Style’ ในการอธิบายถึงสิ่งของที่ดูผุพังและทรุดโทรมอีกด้วย

จีน-สงคราม-ซีเรีย

แม้ว่าโลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียของจีนจะเป็นระบบปิดตามนโยบายการเซนเซอร์ของทางการจีน แต่การตลาดออนไลน์ที่ใช้ Influencer ในจีนก็มีมูลค่าการตลาดที่หมุนเวียนภายในประเทศมากถึงกว่า 240,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ชาวจีนมีความสนใจที่อยากจะผันตัวมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์เป็นจำนวนมาก โดยที่พวกเขามักจะแชร์เนื้อหารีวิวไลฟ์สไตล์ แฟชัน และสิ่งของ เช่นรถยนต์หรือเสื้อผ้าสุดหรูหรา

จีน-สงคราม-ซีเรีย

และรวมทั้งการนำเสนอเรื่องราวของอาหารและเครื่องดื่มที่แปลกใหม่ ซึ่งนั่นก็ส่งผลทำให้เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร คาเฟ่ และสถานที่แฮงเอาต์ในประเทศจีนต่างต้องเร่งพยายามนำเสนอสไตล์การตกแต่งและอาหารที่แปลกใหม่ เพื่อดึงดูดให้เกิดกระแสไวรัลในโลกอินเทอร์เน็ตจากการรีวิวของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์

ซึ่งในขณะนี้ การตกแต่งคาเฟ่และร้านอาหาร ‘สไตล์ซีเรีย’ นั้นกำลังได้รับความนิยมในโลกอินเทอร์เน็ตจีนเป็นอย่างมาก โดยการตกแต่ง ‘สไตล์ซีเรีย’ นั้นหมายถึงการออกแบบและตกแต่งสถานที่ที่มักใช้โทนสีเทา หรือสีขาวเรียบ ๆ ตกแต่งด้วยผนังเปลือยที่แสดงให้เห็นอิฐ คอนกรีต พื้นผิวขรุขระ ประตูที่หายไปเหลือแต่เพียงช่องว่างเปล่า ๆ หลุมดินกว้าง ๆ ที่เหมือนเพิ่งโดนระเบิดจนกลายเป็นซากปรักหักพัง รอยร้าวบนกำแพงที่เผยให้เห็นซากอิฐและเหล็กเส้นเปลือย ๆ

จีน-สงคราม-ซีเรีย

รวมทั้งอุปกรณ์เช่นโต๊ะ เคาต์เตอร์ที่มีรูพรุนและรอยถลอกแตกหักราวกับว่าเคยถูกกระสุนปืน รวมทั้งการตกแต่งด้วยสิ่งของแนววินเทจ หรือของใช้ในการทหาร เช่น ถังน้ำมัน โทรศัพท์และนาฬิกาพัง ๆ โทรทัศน์เก่า ตุ๊กตา Bearbrick ที่มีรอยแตก กล้องวงจรปิดพัง และลังที่ตกแต่งคล้ายกับกล่องบรรจุกระสุน ราวกับว่าเหมือนได้แฮงเอาท์ในบ้านที่ได้รับความเสียหายจากสงครามกลางเมือง

แม้ว่าจะยังไม่ค่อยชัดเจนนักว่าเทรนด์นี้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่คาดว่าน่าจะเริ่มต้นเมื่อปี 2020 เมื่ออินฟลูเอนเซอร์ได้ไปรีวิวเพื่อโปรโมตร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์ที่มีการตกแต่งในสไตล์ซากปรักหักพัง ก่อนที่จะมีการเรียกสไตล์นี้ว่า ‘สไตล์สงครามซีเรีย’ ที่ชาวเน็ตวัยหนุ่มสาวต่างนิยมในการอธิบายการตกแต่งภายในที่ดูเหมือนบ้านที่เสียหายในระหว่างสงครามซีเรีย หรือใช้อธิบายสิ่งของที่ตกแต่งในสไตล์ทรุดโทรมผุพังด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ‘เว่ยป่อ’ (Weibo) รายหนึ่งอธิบายการตกแต่งโทรศัพท์มือถือให้ดูทรุดโทรมว่าเป็นแนว ‘สไตล์ซีเรีย’

จีน-สงคราม-ซีเรีย

เด็กสาวอายุ 21 ปีได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ VICE ว่า ‘คือถ้าฉันจะเรียกสไตล์นี้ว่า ‘นอร์มคอร์’ (Normcore = สไตล์การออกแบบที่เน้นความน้อย) ก็คงไม่มีใครรู้หรอกว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่ถ้าฉันเรียกคาเฟ่สไตล์นี้ว่าเป็นแนว ‘ซีเรีย’ คนก็จะจินตนาการในหัวได้ แล้วก็เกิดความอยากจะลองไปเยี่ยมชมสักครั้ง’

‘หวางเฟย’ (Wang Fei) เจ้าของร้านบาร์บีคิวในเมือง ‘จี่หนิง’ (Jining) มณฑล ‘ซานตง’ (Shandong) ก็เป็นร้านอาหารอีกร้านหนึ่งที่ตกแต่งใน ‘สไตล์ซีเรีย’ ซึ่งเขาได้ให้คำจำกัดความการตกแต่งร้านของเขาใน ‘โต่วอิน’ (Douyin) หรือแอปพลิเคชัน TikTok ในประเทศจีนว่าเป็น ‘พื้นที่บาร์บีคิวสำหรับผู้ลี้ภัย’ (Refugee Barbecue Area) ซึ่งนอกจากจะตกแต่งในสไตล์สงครามซีเรียและเสิร์ฟบาร์บีคิวแล้ว ในร้านเองยังมีการเปิดเพลงเศร้าคลออยู่เบื้องหลังอีกต่างหาก ซึ่งหวางเฟยได้เผยว่า แม้เขาจะทราบดีว่า “แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับคนในประเทศตะวันออกกลาง แต่ในโซเชียลจีน คนไม่ได้อยากแชร์เพราะว่าอาหารอร่อยแค่ไหนหรอก”

จีน-สงคราม-ซีเรีย

คลิปโปรโมตร้านของเขาใน ‘โต่วอิน’ (Douyin) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนถึงขั้นที่ทำให้เจ้าของร้านอาหาร คาเฟ่ และผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ต่างก็ขอคำแนะนำในการแต่งร้านสไตล์สงครามซีเรียจากหวางเฟย ซึ่งเขาได้กล่าว่า เขาได้ช่วยธุรกิจร้านกาแฟ ร้านหม้อไฟ ร้านทำผม และร้านอื่น ๆ ในท้องถิ่น 8 ร้านในการตกแต่งร้านสไตล์นี้ และในที่สุดก็กลายเป็นเทรนด์การตกแต่งร้านในพื้นที่อื่น ๆ เช่นร้านไก่ทอด ร้านเสื้อผ้า หรือแม้แต่ในออฟฟิศและในบ้าน รวมทั้งยังมีการทำเนื้อหาแนะนำวิธีการตกแต่งบ้านและออฟฟิศในสไตล์นี้อีกด้วย และในที่สุดก็กลายเป็นเทรนด์ฮิตที่ทำให้ชาวเน็ตจีนต่างแห่กันไปเที่ยว เช็กอิน และถ่ายรูปเพื่อแชร์ลงในแอปพลิเคชัน ‘เสี่ยวหงชู’ (Xiaohongshu) ซึ่งเป็นเหมือน Instragram ของจีน

จีน-สงคราม-ซีเรีย

ลูกค้าคาเฟ่คนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับ Vice ว่า ‘สไตล์ซีเรีย’ เป็นเพียงการใช้ภาพของสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรีย เพื่ออ้างอิงถึงสไตล์การออกแบบเท่านั้น โดยไม่ได้มีเจตนาในเชิงล้อเลียน แสดงความรังเกียจ หรือเลือกปฏิบัติต่อชาวซีเรีย หรือประเทศอื่น ๆ ที่ถูกทำลายจากผลของสงครามแต่อย่างใด

แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อ ‘สไตล์ซีเรีย’ ต่างวิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดจากการที่ชาวเน็ตจีนที่อาศัยอยู่ในอินเทอร์เน็ตระบบปิด ทำให้ขาดความหลากหลาย (รวมทั้งความห่างไกลในแง่ของภูมิศาสตร์) ทำให้หลายครั้งชาวจีนก็ดูเหมือนจะเมินเฉยในการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสงครามจากต่างประเทศ ประกอบกับการแข่งขันเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหาร บาร์ และคาเฟ่ในจีนต่างก็รุนแรงและเต็มไปด้วยอิทธิพลเพื่อแย่งชิงกระแสบนโลกอินเทอร์เน็ตให้ได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงมุมมองของการเกลียดกลัวชาวต่างชาติของชาวจีน ที่ดูเหมือนว่าจะยังไม่หายไปจากสังคมในหลาย ๆ กรณี

จีน-สงคราม-ซีเรีย

โดยชาวเน็ตจีนบางคนก็วิพากษ์วิจารณ์เทรนด์นี้ว่า เป็นการใช้ประโยชน์จากความทุกข์ของผู้อื่น เช่น “ซีเรียกำลังตกอยู่ในสงคราม ฉันไม่คิดเลยนะเนี่ยว่าจะมีบางคนเอาไอ้แบบนี้ไปใช้อธิบายสไตล์การตกแต่งภายในด้วย” “คุณลองนึกสภาพร้านตัวเองที่เรียกว่า “ซากแผ่นดินไหวที่เมืองเหวินชวน (Wenchuan) ” หรือ “ซากน้ำท่วมที่เมืองเจิ้งโจว (Zhengzhou) ” อะไรแบบนี้ดูสิ”

จีน-สงคราม-ซีเรีย

ลูกค้าคาเฟ่วัย 33 ปียังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ฉันเองค่อนข้างจะประทับใจกับเทรนด์ ‘สไตล์ซีเรีย’ ที่ดูย้อนยุคนี้ มันทำให้ฉัรรู้สึกเกรงกลัวต่อสงคราม และทำให้ผู้คนตระหนักถึงการเกิดใหม่ และเมื่อเทียบกับร้านคาเฟ่ทั่ว ๆ ไป ฉันว่าสไตล์แบบนี้ถ่ายรูปขึ้นกว่า”


อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส