นักโบราณคดีได้ขุดพบสิ่งที่เชื่อว่าเป็นเครื่องประดับเก่าแก่ที่สุดในโลก ประกอบไปด้วยลูกปัดโบราณที่ทำจากเปลือกหอย จำนวน 33 เม็ด ซึ่งนักโบราณคดีได้มีการคาดการณ์ว่าลูกปัดเหล่านี้มีอายุเกือบ 150,000 ปี

การค้นพบในครั้งนี้เกิดขึ้นที่ถ้ำบิซโมน ซึ่งเป็นพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศโมร็อกโก ห่างจากตัวเมืองเอสเซาอิราออกไป 15 กิโลเมตร โดยนักโบราณคดีที่ค้นพบอธิบายลักษณะของเครื่องประดับเหล่านี้ว่า เป็นเปลือกหอยจำนวน 33 เม็ด ที่มีการเจาะรูและทำให้ขอบมน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นผลงานที่สร้างขึ้นอย่างประณีตโดยช่างฝีมือ เพื่อนำมาใช้เป็นสร้อยคอและต่างหู 

เครื่องประดับเหล่านี้ทำมาจากหอยทากทะเล 2 สายพันธุ์ ได้แก่ โคลัมเบลลา รัสติกา (Columbella rustica) และ ทริเทีย กิบโบซูลา (Tritia gibbosula) ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอะทีเรียน สมัยยุคหินกลางในแถบแอฟริกาเหนือ อีกทั้งนักโบราณคดียังวิเคราะห์ว่าเครื่องประดับเหล่านี้เป็นของกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานในสมัยโบราณ ที่เพิ่งจะคิดค้นเครื่องประดับเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งคาดการณ์ว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลา 142,000-150,000 ปีก่อน

“เปลือกหอยเหล่านี้มีอายุตั้งแต่ 150,000 ปี ซึ่งหมายความว่ามันจะมีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก” อับเดลจาลิล บูซูการ์ (Abdeljalil Bouzouggar) นักวิจัยของ INSAP กล่าว

“คนโบราณในยุคนั้นแสดงให้เราเห็น ถึงส่วนหนึ่งของวิธีการที่ผู้คนจะแสดงความเป็นตัวเองออกมาผ่านเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ซึ่งการค้นพบนี้ทำให้เห็นภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อน” สตีเวน แอล. คุห์น (Steven L. Kuhn) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาและหนึ่งในสมาชิกทีมขุดค้นกล่าว 

การค้นเครื่องประดับเก่าแก่ที่ทำมาจากลูกปัดเปลือกหอย ถูกค้นพบและตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Science Advances เมื่อปี 2014 ซึ่งครั้งนั้นได้มีการทำการทดสอบหาอายุของเปลือกหอยและตะกอนโดยรอบ ผ่านการใช้ยูเรเนียมในการตรวจสอบ

ถ้ำบิซโมน

เครดิตภาพและอ้างอิง:

https://bit.ly/3oT6CSl

https://bit.ly/3HPF34X

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส