เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ ‘Hawaii News Now’ สำนักข่าวท้องถิ่นของรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่า มีชายนักปีนเขาคนหนึ่งได้เดินขึ้นภูเขาบนเกาะแห่งหนึ่งของเกาะฮาวายเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และได้พบกับลำธารแห่งหนึ่งที่มีลักษณะแปลกคือ มีกลิ่นหมักคล้ายแอลกอฮอล์หรือเบียร์ โดยภายหลังได้มีการนำตัวอย่างน้ำจากลำธารความยาว 120 ฟุตนี้ไปตรวจหาค่าแอลกอฮอล์ และพบว่า น้ำในลำธารนั้นมีแอลกอฮอล์เจือปนอยู่ 1.2 เปอร์เซ็นต์

เบียร์ ลำธาร ฮาวาย
บริเวณลำธารที่อยู่บนหุบเขา
ในเมือง ‘ไวพีโอ’ (Waipio) บนเกาะ ‘โอวาฮู’ (Oahu) รัฐฮาวาย

เว็บไซต์ ‘Hawaii News Now’ รายงานว่า นักปีนเขาคนดังกล่าวได้พบลำธารนี้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากที่เขาได้เดินสำรวจหุบเขาเขาผ่านภูมิประเทศที่เขียวชอุ่มที่อยู่ในเมือง ‘ไวพีโอ’ (Waipio) บนเกาะ ‘โอวาฮู’ (Oahu) รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ในขณะที่เขาได้เดินผ่านป่า และสัมผัสได้ถึงกลิ่นแปลก ๆ คล้าย ๆ กลิ่นแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเบียร์ จนกระทั่งเขาได้พบว่ากลิ่นเบียร์นั้นมีต้นตอมาจากลำธารเล็ก ๆ สายหนึ่งที่ไหลอยู่กลางป่า

เบียร์ ลำธาร ฮาวาย
‘แคร์โรล ค็อกซ์’ (Carroll Cox) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท ‘เอ็นไวโรวอตช์’ (EnviroWatch)

ด้วยความที่เขากังวลว่าลำธารกลิ่นเบียร์นี้จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เขาจึงได้บันทึกภาพเอาไว้ 27 ตุลาคม เขาจึงได้ติดต่อไปยัง ‘แคร์โรล ค็อกซ์’ (Carroll Cox) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่ไม่แสวงหากำไร ‘เอ็นไวโรวอตช์’ (EnviroWatch) เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบ เมื่อไปถึง เขาพบว่าลำธารเส้นนี้มีกลิ่นเบียร์ที่ชัดเจนมาก

เขาและเจ้าหน้าที่อีกสองสามคนจึงได้เข้ามาตรวจสอบที่มาของลำธารเบียร์เส้นนี้ โดยทีแรก เขาและสำนักข่าว ‘Hawaii News Now’ ได้ร่วมกันนำเอาตัวอย่างน้ำจากลำธารนี้ไปตรวจหาสิ่งแปลกปลอมในห้องแล็บ และพบว่าในตัวอย่างน้ำมีค่า ABV (Alcohol by Volume = ปริมาณแอลกอฮอล์โดยปริมาตร) ประมาณ 1.2 เปอร์เซ็นต์ และพบน้ำตาลในน้ำตัวอย่างประมาณ 0.04 เปอร์เซ็นต์ด้วย

เบียร์ ลำธาร ฮาวาย
ท่อระบายน้ำที่พบว่ามีเบียร์และแอลกอฮอล์ปนเปื้อน
และไหลลงสู่ลำธาร

ค็อกซ์และทีมจีงได้รุดเข้าตรวจสอบลำธารสายนี้เพื่อหาต้นตอว่ามาจากไหนกันแน่ ก่อนจะพบว่า ลำธารสายนี้นั้นไหลออกมาจากท่อระบายน้ำที่อยู่ใต้ทางด่วนสาย H-2 ใกล้กับถนน ‘กา โอกา’ (Ka Uka) ในเขต ‘โฮโนลูลู’ (Honolulu) ท่อระบายน้ำเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 ฟุตนี้อยู่ใต้ทางด่วนลึกลงไปประมาณ 120 ฟุต และด้วยความที่ว่าฝนไม่ตกมาหลายวันแล้ว น้ำที่ปนเปื้อนนี้จึงไหลออกมาตามท่อระบายน้ำ และไหลตกลงหน้าผาลึกลงไปประมาณ 100 ฟุต

เบียร์ ลำธาร ฮาวาย
ปากท่อระบายน้ำที่พบว่ามีเบียร์และแอลกอฮอล์ปนเปื้อนอยู่

ค็อกซ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมรู้สึกว่ากลิ่นมันช่างน่ากลัวเหลือเกิน เมื่อวันก่อนที่เรามาที่นี่ ผมรู้สึกเหมือนอย่างกับเดินเข้าไปในผับบาร์ที่ไม่ได้เปิดประตูมาสามสี่วันแล้วอย่างนั้นแหละ”

ค็อกซ์จึงได้แจ้งไปยังกรมอนามัยของรัฐฮาวาย ให้เข้ามาตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของน้ำที่ปนเปื้อนนี้ โดยได้ประสานไปยังกระทรวงคมนาคมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของท่อจนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กรมอนามัยได้รายงานการตรวจสอบและพบว่า น้ำที่ปนเปื้อนนั้นมาจากโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัท ‘พาราไดซ์ เบเวอเรจ’ (Paradise Beverages) บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุดของฮาวาย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามทางด่วนที่มีท่อน้ำที่ลำธารเบียร์ไหลลงหน้าผา โดยคาดว่าน่าจะมาจากบริเวณโกดังของบริษัทที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับท่อระบายน้ำ

เบียร์ ลำธาร ฮาวาย
ท่อระบายน้ำที่พบว่ามีเบียร์และแอลกอฮอล์ปนเปื้อนอยู่

‘แอนโธนี โรว์’ (Anthony Rowe) ผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัทพาราไดซ์ เบเวอเรจกล่าวว่า ขณะนี้ ตัวแทนของกระทรวงคมนาคมและกรมอนามัยได้ติดต่อเข้ามายังบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะยังไม่แน่ใจนักว่าการรั่วไหลของแอลกอฮอล์ในลำธารนั้นเกิดมาจากสาเหตุใด ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าลำธารที่ปนเปื้อนเบียร์นั้นอาจจะมาจากบริษัท ซึ่งบริษัทกำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อหาสาเหตุต่อไป

เบียร์ ลำธาร ฮาวาย
บริษัท ‘พาราไดซ์ เบเวอเรจ’ (Paradise Beverages)
บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุดของฮาวาย

ในขณะที่ค็อกซ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขาเองไม่ค่อยแปลกใจนักกับเหตุการณ์นี้ แม้ว่าจะไม่ค่อยคุ้นเคยนัก แต่มลพิษในลำธารน้ำจืดนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นบนเกาะฮาวาย ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาเองก็เคยพบกับลำธารที่ปนเปื้อนด้วยสี และซีเมนต์มาก่อน ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศที่เปราะบาง เนื่องจากการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ทั่วทั้งรัฐ รวมทั้งภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำทะเลหนุนสูง ก็อาจส่งผลให้แหล่งน้ำจืดของฮาวายปนเปื้อนด้วยน้ำเค็มจากมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งทำให้น้ำจืดมีปริมาณลดลง รวมทั้งแอลกอฮอล์ที่ปนเปื้อนก็ถือว่า “เป็นพิษ” ต่อสัตว์และสิ่งมีชีวิตในทะเลด้วย

และแม้เขาเองจะพึงพอใจในการดำเนินการที่รวดเร็วของรัฐ แต่เขาเองก็มีความกังวลว่าอาจมีอำนาจบางอย่างเข้ามาแทรกแซงและรบกวนสิ่งแวดล้อม

ค็อกซ์ได้ให้ความเห็นในการสัมภาษณ์ว่า “แม้ว่าเราจะเทศนาปาว ๆ (เกี่ยวกับเรื่องการรักษาธรรมชาติ) แต่เราก็คงขาดความเคารพต่อดินและน้ำ เราไม่ได้ทำในสิ่งที่เราพร่ำสอนกันมาเลย”


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส