หากพูดถึงเรื่องหมู ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับราคาหมูแสนแพง วันนี้เราขอนำทุกคนไปพบกับเรื่องราวสุดน่าทึ่งที่เกิดขึ้นกับ เดวิด เบนเน็ตต์ (David Bennett) ชายวัย 57 ปี จากบัลติมอร์ ที่ได้รับ ‘หัวใจหมู’ มาช่วยชีวิตเอาไว้

ก่อนหน้านี้เบนเน็ตต์กำลังเผชิญปัญหาจากโรคหัวใจเต้นผิดปกติ ที่อยู่ในระยะสุดท้าย โดยทีมแพทย์ที่ทำการรักษาเขาก็ได้ลงความเห็นร่วมกันว่า การปลูกถ่ายอวัยวะถือเป็นความหวังสุดท้ายในการที่จะช่วยชีวิตเบนเน็ตต์ได้ แต่แล้วเคราะห์ซ้ำกรรมซ้อนเขาได้รับการวินิจฉัยว่า ร่างกายของเขาไม่พร้อมสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะจากมนุษย์

แต่ทุกปัญหาย่อมมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสมอ ต่อมาทีมศัลยแพทย์จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ก็เกิดความคิดที่จะนำหัวใจของหมูที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรม มาทำการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะให้กับเบนเน็ตต์

“ถ้าผมไม่เข้ารับการปลูกถ่าย ยังไงผมก็ตาย มันแทบจะเป็นโอกาสที่ริบหรี่มาก แต่ที่แน่ ๆ คือมันเป็นทางเลือกสุดท้ายของผม” เบนเน็ตต์กล่าวไว้หนึ่งวันก่อนเข้ารับการผ่าตัด

เดวิด เบนเน็ตต์ (ขวา)

ต่อมาเบนเน็ตต์ได้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะโดยใช้หัวใจหมูมาแทนหัวใจมนุษย์ โดยทีมแพทย์ใช้เวลาผ่าตัดในครั้งนี้ไป 7 ชั่วโมง ด้าน ดร.คริสติน เลา (Christine Lau) หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ หนึ่งในศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดเบนเน็ตต์กล่าวว่า

“เคสนี้มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ เพราะกรณีนี้เราต้องการการกดภูมิคุ้มกันที่มากขึ้น ซึ่งต่างจากการปลูกถ่ายอวัยวะจากคนสู่คน ซึ่งคนไข้จะทำได้ดีเพียงใดต่อจากนี้ เราไม่อาจรู้ได้เลย เพราะอย่างที่ทราบสิ่งแบบนี้มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“มีผู้คนเสียชีวิตตลอดเวลาในระหว่างขั้นตอนการรออวัยวะ หากเราสามารถใช้อวัยวะจากหมูที่ดัดแปลงพันธุกรรมได้ดี คนไข้เหล่านั้นก็จะไม่ต้องรออีกต่อไป อีกทั้งตอนกลางคืนทีมแพทย์ก็ไม่ต้องบินไปทั่วประเทศเพื่อออกไปกู้หรือรับอวัยวะอีก” ดร.เลา กล่าวเสริม

บาร์ตลีย์ กริฟฟิธ (Bartley Griffith) อีกหนึ่งศัลยแพทย์ที่ดูแลเคสนี้ กล่าวว่า ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับเบนเน็ตต์ทำให้มนุษย์กำลังเข้าใกล้แนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอวัยวะ โดยในปัจจุบันสหรัฐฯ มีผู้ป่วยมากกว่า 100,000 รายอยู่ในรายชื่อผู้รอเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ และในแต่ละปีมีคนไข้มากกว่า 6,000 คน เสียชีวิตระหว่างรอการบริจาคอวัยวะ

การถูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์ หรือที่เรียกว่าการปลูกถ่าย ‘ซีโนทรานส์แพลนเทชัน (Xenotransplantation)’ ถูกคิดค้นและเริ่มทดลองมาตั้งแต่ปี 1980 โดยเริ่มขึ้นจากเคสของเด็กทารกที่เป็นโรคหัวใจมาตั้งแต่กำเนิด และถูกเปลี่ยนถ่ายหัวใจมาจากลิงบาบูน แม้ในท้ายที่สุดเธอจะเสียชีวิตหนึ่งเดือนให้หลัง แต่นั่นก็เหมือนเป็นการค้นพบเส้นทางครั้งใหม่ให้กับวงการแพทย์

หากพูดถึงอวัยวะจากหมู ก่อนหน้านี้ทางการแพทย์ก็มักนิยมใช้ลิ้นหัวใจของหมูในการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะด้านหัวใจอยู่แล้ว เพราะอวัยวะของหมูส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์ และล่าสุดในเดือนตุลาคม ปี 2021 ศัลยแพทย์ที่นิวยอร์กเพิ่งจะมีการประกาศว่า พวกเขาประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตหมูให้กับคนไข้ที่มีภาวะสมองตายไปแล้ว

แน่นอนว่าปัญหาใหญ่ที่มักจะพบหลังจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในลักษณะนี้ คือการปฏิเสธอวัยวะ แต่ในเคสนี้แตกต่างออกไปเล็กน้อย หมูที่ถูกนำมาเป็นโดเนอร์เหล่านี้ จะได้รับการเพาะให้ขาดยีนที่อาจจะทำให้ร่างกายมนุษย์ปฏิเสธได้ และถูกเลี้ยงจนกระทั่งถึงอายุที่อวัยวะของพวกมันใหญ่พอที่จะเก็บเกี่ยวเพื่อการปลูกถ่าย

ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพิสูจน์ว่า เบนเน็ตต์กับหัวใจหมูของเขาจะเข้ากันได้ดีขนาดไหน แต่ล่าสุดผ่านมา 3 วัน ร่างกายของเขาก็ตอบสนองกับหัวใจใหม่ดวงนี้ได้ดี ถือว่าเป็นอีกหนึ่งนิมิตหมายอันดีของวงการแพทย์ ที่ในอนาคตน่าจะช่วยชีวิตมนุษย์ได้อีกจำนวนมาก

อ้างอิง:

https://bbc.in/3Foi0f8