[รีวิว] A Man and A Woman  : รักวาบหวิวของกงยู
Our score
7.0

วันที่ออกฉาย

10 กุมภาพันธ์ 2565

ความยาว

1 ชั่วโมง 55 นาที

Directed by

Lee Yoon-ki

[รีวิว] A Man and A Woman  : รักวาบหวิวของกงยู
Our score
7.0

[รีวิว] A Man and A Woman  : รักวาบหวิวของกงยู

จุดเด่น

  1. ไม่ผิดหวังกับการแสดงของกงยูและจอนโดยอน เอาอยู่แบบกระจัดกระจายอยู่แล้วสองคนนี้ บวกกับโลเคชันแปลกตา สวยงามและส่งเสริมอารมณ์ของภาพยนตร์ได้แบบมีส่วนสำคัญ แถมด้วยมุมกล้องสวย ๆ โดยเฉพาะการจัดแสงที่ผลักอารมณ์ให้คล้อยตามได้มาก ๆ

จุดสังเกต

  1. บทพยายามหาเหตุผลของการนอกใจให้ตัวแสดง ให้คนดูคล้อยตามจนต้องบอกว่า อืมก็ได้ ฉันเข้าใจพวกเธอจ้ะ เห็นใจแหละแต่มันมีวิธีที่ดีกว่านี้ไหมล่ะ อิหยังวะ
  • ความสมบูรณ์ของบท

    5.0

  • คุณภาพนักแสดง

    9.0

  • คุณภาพการเล่าเรื่อง

    7.0

  • โลเคชัน-การถ่ายทำ

    8.0

  • ความคุ้มค่าในการรับชมตามแนวหนัง

    6.0

ภาพยนตร์รักร้อนแรงของ ‘กงยู’ สามีแห่งชาติที่ขึ้นชื่อว่ามีฉากจูบที่เร้าใจที่สุด และตัวแม่แห่งวงการเลิฟซีน ‘จอนโดยอน’ เจ้าของรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 60 (2007) ในบทบาทของ ลีชินแอ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Secret Sunshine’ เรียกได้ว่าการจับคู่นี้มาเจอกันและสวมบทบาทนี้ ก็เป็นอะไรที่ลงตัวที่สุดแล้วนึกถึงคนอื่นไม่ออกเลยจริง ๆ กับภาพยนตร์ ‘รักต้องห้าม’ จนได้เรต R ของเกาหลีเรื่องนี้

ซังมิน (จอนโดยอน) พาลูกชายมาเข้าแคมป์สำหรับเด็กพิเศษที่ประเทศฟินแลนด์ เธอเป็นห่วงลูกเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ลูกต้องห่างออกจากอก เธอพยายามร้องขอเจ้าหน้าที่เพื่อตามไปดูแลลูกใกล้ ๆ แต่ไม่สำเร็จ เธอจึงตัดสินใจจะนั่งรถไฟตามไปดูลูกอยู่ห่าง ๆ แต่เธอก็บังเอิญได้เจอกับ กีฮง (กงยู) ที่พาลูกสาวมาเข้าแคมป์นี้ด้วยเหมือนกัน สองคนคุยกันไป ๆ มา ๆ กีฮงก็ขับรถพาเธอตามลูกไปที่แคมป์ แต่สุดท้ายซังมินก็ตัดสินใจเดินทางกลับ ประมาณว่าแค่เห็นหลังคาแคมป์แม่ก็พอใจแล้ว โอเค แค่นี้แหละกลับกันเถอะค่ะ

เหตุการณ์ในเรื่องนี้จะไม่มีอะไรเลย ถ้าระหว่างการเดินทางไม่เกิดเรื่องราวที่ทำให้กลับไม่ได้ จนสองคนต้องตัดสินใจพักรอระหว่างทางเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย เพราะเพียงชั่วข้ามคืนเขาและเธอก็เลยเถิด หักห้ามความต้องการที่เรียกร้องไม่ได้จนซู๊ดซ๊าดกัน ณ สถานที่แห่งนั้น และบอกลากันโดยต่างฝ่ายต่างไม่รู้แม้แต่ชื่อของกันและกัน เหตุการณ์ในวันนั้นควรจะเป็นเพียง One Night Stand ถ้าอีกหลายเดือนต่อมากีฮงไม่พยายามตามหาซังมินจนเจอ และกลายเป็นความสัมพันธ์ต้องห้ามที่ศีลธรรมถูกขังเอาไว้แบบผลุบ ๆ โผล่ ๆ

เหตุผลของการนอกใจที่แตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ

จะเห็นมามากกับภาพยนตร์แนวเดียวกันนี้ ที่ตัวเอกมีคู่อยู่แล้วแต่กลับทำเรื่องผิดศีลธรรมที่อีหยังวะ แบบนี้ก็ได้เหรอ แล้วเราก็จะก่นด่าใครสักคนที่ทำเรื่องที่ไม่ควรจะทำออกมาได้ โดยที่จะมีตัวละครอีกตัวน่าสงสาร ยกตัวอย่างเช่น ‘Happy End’ ภาพยนตร์ปี 1999 ที่จอนโดยอนนำแสดงและสาดบทแซ่บ ๆ เอาไว้อย่างถึงพริกถึงขิง แต่เรื่องนี้ต่างออกไปตรงที่ เหตุผลของการมีชู้ครั้งนี้ไม่ได้ถูกนำทางด้วย ความใคร่

หนังใช้ความเหนื่อยล้าจากภาระหน้าที่ ที่ตัวเอกทั้งสองคนต้องแบกเอาไว้มานำทาง และกวักมือเรียกให้ความใคร่เดินตาม เมื่อคนที่มีความกดดันภายในใจคล้าย ๆ กันมาเจอกันก็เลือกที่จะปลดปล่อยมันออกมาด้วยการหาความสุขที่คิดว่า มันคงจะเป็นความสุขชั่วครู่ ผ่านมาแล้วก็คงผ่านไป อ่าห์ ฉันได้ปลดปล่อยแล้ว แต่เมื่อกลับสู่โลกความเป็นจริง ทุก ๆ วัน ทุก ๆ เวลาก็ยังดำเนินไปเช่นเดิม แม้ซังมินจะมีสามีที่รับผิดชอบชีวิตของเธอและลูกอย่างดีแล้วก็ตาม แต่เธอก็ยังต้องดูแลลูกชายอยู่ตลอดเวลาเพียงลำพัง ต้องเหนื่อยทั้งงานของตัวเอง เหนื่อยกับการดูแลลูกที่เธอเท่านั้นที่เข้าใจเขา

ด้านชีวิตของกีฮง ก็ไม่ต่างอะไรกับซังมิน เพราะเขาต้องดูแลทั้งภรรยาที่อ่อนวัยกว่าและมีภาวะทางอารมณ์แปรปรวน กับลูกสาวที่มีปัญหาไม่ต่างกัน ความกดดันและเหนื่อยเหลือเกินกับภาระที่ต้องรับผิดชอบ มันช่างอึดอัดและเหน็ดเหนื่อยสุดบรรยาย ทำให้ทั้งสองคนมาเจอกันและดันจูนกันติด จนจงใจทำเรื่องที่ผิดต่อศีลธรรมเพราะต้านอารมณ์ส่วนลึกของกันและกันไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว นี่คือสิ่งที่หนังกำลังบอกกับเราแบบนั้น บอกว่าทางออกของสองคนนี้มันถูกบีบด้วยความเหนื่อยหน่าย จนโหยหาบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้หัวใจสดชื่น กระชุ่มกระชวย ประหนึ่งได้กินบิงซูในวันที่อากาศอบอ้าว เพื่อชดเชยความรู้สึกที่ขาดหาย แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่สมควรก็ตาม

ว่ากันห้วน ๆ ก็คือ หนังพยายามกรุยทางให้คนทั้งคู่ เดินเข้าสู่เส้นทางผิดศิลธรรมอย่างที่มีจุดให้อภัยแบบ เป็นความเงื่อมแบบมีสาเหตุจนพูดได้ว่า เออก็ได้ ฉันเข้าใจพวกเธอ รู้ว่ามันเหนื่อยมาก รู้ว่ามันหนักหนา แต่มันก็ไม่ควรทำอย่างนี้อยู่ดีนั่นแหละ เพราะทั้งสามีและภรรยาของพวกเธอ เขาเป็นเขาและเขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่โอเคให้อภัยก็แล้วกันนะเพราะมันน่าเห็นใจจริง ๆ

ฉากแซ่บ ๆ ที่แซ่บนัวสะเทือนอารมณ์

ยอมรับกับฝีมือการแสดงของกงยูและจอนโดยอนในฉากนี้จริง ๆ ว่าสองคนนี้เอาอยู่อย่างเด็ดขาด การถ่ายทอดอารมณ์ความต้องการออกมาได้ทั้งสีหน้า แววตา และภาษากายที่บอกว่าโหยหาซึ่งกันและกันเหลือเกิน โดยที่ความวาบหวิวที่ส่งผ่านมานั้น พอเหมาะพอดี ไม่หวือหวาจนเกินไป เรียกว่าเป็นศิลปะแห่งการสื่อสารแบบลับ ๆ ล่อ ๆ ที่มองตาก็รู้ใจ รู้ไปถึงไหน ๆ และผุดคำว่า ‘อยาก’ ออกมาได้แบบดังลั่นแม้ไม่ต้องเอ่ยปาก

ส่วนตัวผู้เขียนยังคิดอยู่เสมอว่า การถ่ายทอดงานอิโรติกออกมาให้น่าสนใจและน่าติดตาม อะไรที่โจ๋งครึ่มมันจบอยู่ที่ตรงนั้นแล้วละ ไม่จำเป็นต้องตามต่อ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ฉากเซ็กซี่เหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยการสัมผัส และภาษากายที่ชาญฉลาด มันจะทำให้หนังเรื่องนั้นมีเสน่ห์กว่าหลายเท่า ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำได้ในระดับนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าคู่ควงคราวนี้ของกงยูเป็นจอนโดยอนแล้วคาดหวังว่าจะได้เห็นฉากดุเดือด แซ่บสะเทือนขนาดนั้น ไม่เห็นนะจ๊ะ เราจะเห็นแผ่นหลัง ซิกซ์แพ็กและบั้นท้ายของกงยูนิดหน่อยเท่านั้นแหละ แต่เท่านี้ก็เพียงพอแล้วเพราะฉากจูบยังคงดูดดื่มจ๊วบจ๊าบ และมีสายตาพิชิตนางตามสไตล์กงยูอยู่ดี

โลเคชันงาม ๆ กับความคลั่งไคล้อันดับหนึ่ง

ความแปลกใหม่ของหนังคบชู้เรื่องนี้ก็อยู่ที่ สถานที่และเวลาแตกต่างไปจากเรื่องอื่น ๆ เพราะโลเคชันของฟินแลนด์เปลี่ยนให้เป็นบรรยากาศของความอึมครึม เสริมให้มวลของหนังชัดเจนขึ้นในทุก ๆ ด้าน ถ้าดูไปด้วยคล้อยตามไปด้วยก็เออ อึมครึมดีจริง ๆ เข้าใจปัญหาของทั้งคู่ได้จริง ๆ แต่เธอแก้ปัญหาไม่ตรงจุดนี่สิ เพราะบรรยากาศชื้นหม่น จะโรแมนติกก็ไม่ใช่ จะมาคุก็ไม่เชิงกลายเป็นตัวแทนด้านอารมณ์ของตัวแสดงเป็นอย่างดี ให้เรารับรู้ได้เลยว่า เมื่อไหร่ที่มีการเล่นเกมซ่อนชู้และมีการเอาใจลงไปเล่น ปลายทางของมันคือความเจ็บปวด

และเมื่อพื้นของหนังถูกปูทางไปด้วยความผิดศีลธรรมต่าง ๆ นานา ใจมนุษย์ที่รู้จักผิดชอบชั่วดีแต่ก็ยังจะทำ ก็ทำให้บรรยากาศของหนังบีบคั้นมากขึ้นไปอีก และอะไรที่ต้องแอบ ๆ ซ่อน ๆ มันก็มักจะใจเต้นแบบนี้แหละ เรียกว่าเล่นกับความรู้สึกของตัวแสดงและความคาดหวังของคนดูว่า ตัวเอกในเรื่องจะตัดสินใจอย่างไรกับชีวิตของตัวเอง พระเอกยังคงเป็นพระเอกอยู่ไหม นางเอกจะเห็นแก่ความสุขความต้องการของตัวเองมากกว่าครอบครัวที่อยู่ในความรับผิดชอบของเธอหรือเปล่า

ถ้าจะบอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีตัวละครไหนทำผิดก็เห็นจะมีแต่เด็กสองคนที่เป็นลูกเท่านั้นแหละค่ะ แต่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายล้วนมีส่วนผิดด้วยกันทั้งนั้น แต่เป็นความผิดที่อีกฝ่ายไม่ตั้งใจส่วนอีกฝ่ายตั้งใจล้วน ๆ ถ้าดูหนังแล้วย้อนดูสังคม ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีครอบครัวไหนสักครอบครัวหนึ่ง กำลังเผชิญสภาวะของความเหนื่อยหน่ายนี้อยู่ อาจมีใครคนหนึ่งในครอบครัวคุณกำลังเหนื่อยจนขี้เกียจจะบอก หรืออาจมีใครคนหนึ่งในครอบครัวคุณที่ไม่รู้ว่าคุณเหนื่อยมากเพราะคุณไม่เคยบอกให้เขารู้ แล้วทางออกของปัญหานี้ควรจะทำอย่างไร

หนังทำให้เราเห็นปัญหาแต่น่าเสียดายที่ไม่ได้บอกวิธีแก้ปัญหาที่ดีให้กับซังมินและกียง แต่กลับมีเหตุผลผิด ๆ ที่ให้เลือกหยิบมาใช้เมื่อต้องการทำตามใจตนเอง A Man and A Woman จึงเป็นหนังรักหัวใจเตลิด ที่พาเราไปรับรู้ความรู้สึกของตัวแสดงเอก ความทุกข์ในใจที่บีบรัดจนเหนื่อยล้า และโหยหาทางออกที่ผ่อนคลายให้กับตัวเองแบบฉ่ำหวานปนขบขัน จนเราเองก็คร้านจะตำหนิเพราะมันกระชุ่มกระชวยแบบไม่เคยมีมาก่อนอ่ะนะ เข้าใจล้วน เหมือนอย่างที่นางเอกบอกเอาไว้ว่า “ไม่ต้องให้อภัยฉันหรอก เพราะฉันเองยังให้อภัยตัวเองไม่ได้เลย”