แม้ว่าภาพยนตร์อเมริกัน ‘Breakfast at Tiffany’s’ หรือในชื่อไทยว่า ‘นงเยาว์นิวยอร์ค’ ผลงานภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายจากปลายปากกาของนักเขียนนามอุโฆษ ‘ทรูแมน คาโพตี’ (Truman Capote) ที่ลงโรงฉายเมื่อปี 1961 จะเป็นหนังที่ได้รับคำชื่นชมจนได้รับรางวัลออสการ์ถึง 2 รางวัล และเป็นหนังที่ทำให้นักแสดงนำอย่าง ‘ออเดรย์ เฮปเบิร์น’ (Audrey Hepburn) กลายเป็นภาพจำสุดคลาสสิก ทั้งในแง่ของการแสดง และการแต่งกายที่กลายเป็นแฟชันไอคอนของโลกภาพยนตร์ในเวลาต่อมา

Breakfast at Tiffany's
‘ออเดรย์ เฮปเบิร์น’ (Audrey Hepburn) ใน ภาพยนตร์ ‘Breakfast at Tiffany’

แต่แม้ว่าออเดรย์ เฮปเบิร์นและตัวหนังจะถูกยกให้เป็นความคลาสสิก แต่ในอีกมุมหนึ่ง หนังเรื่องนี้ก็ยังมีปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในอดีตเนื่องจากการ “เหยียดเชื้อชาติ” อันเนื่องมาจากชุดความคิดเหมารวมเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติจากมุมมองมาตรฐานความงาม ที่ชาวตะวันตกมองตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมและความสวยงามทั้งปวง (Eurocentric) และเกิดอคติหรือความตลกขบขันต่อสิ่งที่ไม่ใช่ตะวันตก แม้ว่าคนในยุคสมัยนี้จะเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่ดูเหมือนตราบาปนี้ก็ยังคงถูกบันทึกเอาไว้ในฟิล์มอย่างที่ไม่มีวันลบออกไปได้ง่าย ๆ

Breakfast at Tiffany's
‘มิสเตอร์ยูนิโอชิ’ (Mr. Yunioshi) แสดงโดย ‘มิกกี รูนีย์’ (Mickey Rooney)

ตัวละครและฉากที่มีปัญหานั้นก็คือ ตัวละครชาวญี่ปุ่นในภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า ‘มิสเตอร์ยูนิโอชิ’ (Mr. Yunioshi) เจ้าของบ้านในนิวยอร์กที่ ‘ฮอลลี โกไลต์ลี’ (Holly Golightly นำแสดงโดย Audrey Hepburn) ไปอยู่อาศัย ที่แสดงโดยนักแสดงชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ ‘มิกกี รูนีย์’ (Mickey Rooney) นั่นเอง ซึ่งเป็นตัวละครที่สะท้อนมุมมองความเป็น Eurocentric อย่างชัดเจน เพราะนอกจากจะใช้ชาวอเมริกันมาแสดงเป็นคนญี่ปุ่นโดยที่ไม่ยอมใช้คนญี่ปุ่นจริง ๆ มาแสดงแล้ว ก็ยังเต็มไปด้วยการแต่งกายและการแสดงที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นเรื่องตลกขบขันของชาวตะวันตก ทั้งการเมกอัปย้อมผิวให้กลายเป็นคนผิวเหลือง ใส่ฟันปลอมให้ดูฟันเหยิน ใช้เทปกาวติดตาให้ดูเหมือนคนตาตี่ และพูดภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่น (ปลอม ๆ ) แบบโอเวอร์แอกติงเกินจริง

Breakfast at Tiffany's
‘มิสเตอร์ยูนิโอชิ’ (Mr. Yunioshi)
แสดงโดย ‘มิกกี รูนีย์’ (Mickey Rooney)

หนังเรื่องนี้ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์มุมมองเกี่ยวกับภาพยนตร์ และเรื่องของการเหยียดชนชาติอีกครั้ง เมื่อ ‘Channel 5’ เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีของสหราชอาณาจักร ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉายทางทีวี แต่แทนที่สถานีจะจัดการกับฉากที่มีปัญหาด้วยการเซนเซอร์ เบลอฉาก ขึ้นคำเตือนเกี่ยวกับเรื่องประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ หรือตัดบางฉากที่มีปัญหาออกไปเล็กน้อยแต่ ‘Channel 5’ ตัดสินใจ “หั่น” หรือสั่งตัดฉากตัวละครของ ‘มิสเตอร์ยูนิโอชิ’ ที่ปรากฏในหนังออกทุกฉาก แม้แต่ฉากที่ปรากฏแต่เสียงพูดก็ยังถูกตัดออกจนเหี้ยนแทบไม่เหลือซาก

และที่สำคัญคือ การหั่นตัวละครมิสเตอร์ยูนิโอชิออกไปทั้งเรื่อง ก็มีผลทำให้เนื้อหาบางส่วนหายไปด้วย โดยเฉพาะฉากที่เขาสนทนากับฮอลลี ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในฉากเด่นของหนัง เป็นฉากที่ยูนิโอชิสะดุ้งตื่นขึ้นด้วยความโมโหเพราะเสียงกดออดของฮออลีเพราะลืมกุญแจเข้าห้อง และรวมถึงบทสนทนาของฮอลลีที่พูดกับยูนิโอชิว่า “ที่รัก อย่าโกรธฉันเลยนะคะพ่อหนุ่มร่างเล็ก ฉันสัญญาว่าจะไม่ทำแบบนี้อีก ถ้าคุณไม่โกรธ ฉันจะยอมให้คุณถ่ายรูปแบบที่เราเคยตกลงกันไว้” ก็ถูกตัดออก แม้แต่ช็อตที่มีเฉพาะเสียงพูดของยูนิโอชิก็ยังถูกตัดออกไปจนหมด

Breakfast at Tiffany's
‘มิสเตอร์ยูนิโอชิ’ (Mr. Yunioshi) ฅ
แสดงโดย ‘มิกกี รูนีย์’ (Mickey Rooney)

แม้ตัวสถานีจะตัดสินใจตัดฉากตัวละครนี้ออกไปจนเกลี้ยงเพราะประเด็นสังคมทีี่อ่อนไหว แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวาง เพราะหนังเรื่องนี้เคยถูกฉายทางทีวีหลายครั้ง โดยใช้วิธีการขึ้นคำเตือนเกี่ยวกับประเด็นด้านการเหยียดเชื้อชาติในฉากที่มีตัวละครนี้ หรือตัดบางฉากออกไปเล็กน้อย แต่นี่คือครั้งแรกที่มีการตัดตัวละครทิ้งออกไปทั้งเรื่องเลย ซึ่งในมุมของสถานีและคนดูก็อาจจะรู้สึกว่าปลอดภัย แต่ในมุมมองของคนทำภาพยนตร์ นี่อาจเป็นการ “รื้อสร้าง” ประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ที่อันตรายกว่าเดิมหรือไม่

Breakfast at Tiffany's
‘มิสเตอร์ยูนิโอชิ’ (Mr. Yunioshi) แสดงโดย ‘มิกกี รูนีย์’ (Mickey Rooney)

‘เทอร์รี กิลเลียม’ (Terry Gilliam) อดีตทีมงานนักแสดงตลก ‘มอนตี ไพธอน’ (Monty Python) และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษ ได้วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจเซนเซอร์ในครั้งนี้ว่า “การเซนเซอร์ในทุกวันนี้ ดูเหมือนจะเติบโตมากในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหราชอาณาจักร แต่การนำของตัวละครที่ผ่านการตรวจของหน่วยงานเซนเซอร์ในอดีตแล้วมาแก้ใหม่ ดูจะเป็นเรื่องไร้สาระและอันตรายมาก ใครให้สิทธิ์พวกเขาในการเซนเซอร์วะ ? “

ส่วน ‘ฌอน เฮปเบิร์น เฟอเรอร์’ (Sean Hepburn Ferrer) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ และบุตรชายของนักแสดงนำอย่างออเดรย์ เฮปเบิร์น กล่าวว่า “สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นก็คือ ทุกอย่างเกิดขึ้นจากมุมมองของคนในยุคนั้นที่ถูกมองด้วยขอบเขตจำกัด ราวกับว่าตัวเรา หรือคนยุคเราเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นี่คือสิ่งที่หนังเป็นอยู่ คุณต้องมองหนังด้วยมุมมองของผู้คนในตอนนั้น ไม่ใช่มุมมองของคนสมัยนี้ และคุณควรใส่คำเตือนว่าเป็นหนังที่สร้างขึ้นในปี 1961 เพราะมันเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในเวลานั้น”

แต่ทางด้านของ ‘เซอร์ ริชาร์ด อายร์’ (Richard Eyre) ผู้กำกับภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และอดีตผู้อำนวยการโรงละครแห่งชาติ (National Theatre) กรุงลอนดอน กลับให้ความเห็นในทางตรงกันข้าม “นอกจากออเดรย์ เฮปเบิร์นแล้ว ในหนังไม่มีอะไรที่ดีเลย การแสดงของมิกกี รูนีย์ (มิสเตอร์ยูนิโอชิ) ชวนให้น่าโมโหสุด ๆ สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรจะทำกับหนังเรื่องนี้ก็คือ เอาฟิล์มไปเผาทิ้ง”

Breakfast at Tiffany's
‘มิสเตอร์ยูนิโอชิ’ (Mr. Yunioshi) แสดงโดย ‘มิกกี รูนีย์’ (Mickey Rooney)

จริง ๆ แล้วเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องมุมมองการเหยียดเชื้อชาติในภาพยนตร์ ‘Breakfast at Tiffany’s’ ก็มีมาโดยตลอดตั้งแต่ที่ออกฉายใหม่ ๆ เพียงแต่ไม่ได้พูดถึงในวงกว้างเหมือนสมัยนี้ นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งได้ระบุว่า การแสดงของ มิกกี รูนีย์ ในบทมิสเตอร์ยูนิโอชิ ถือเป็นภาพการเหยียดชาวเอเชียที่น่ารังเกียจที่สุด

แม้แต่ ‘เบลก เอ็ดเวิร์ดส์’ (Blake Edwards) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เคยให้ความคิดเห็นว่า เขาเห็นด้วยว่าตัวละครนี้มีปัญหาที่ย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้อีกแล้ว ถ้าเขาย้อนเวลากลับไปได้ ก็จะไม่ทำแบบนั้นในหนัง รวมทั้งมิกกี รูนีย์ เจ้าของบทที่มีปัญหานี้ก็เคยแสดงความคิดเห็นไว้ก่อนเสียชีวิตในปี 2014 ว่า หากเขารู้ว่าบทนี้จะมีปัญหา เขาอาจจะไม่ยอมรับแสดงบทบาทนี้ก็เป็นได้


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส