นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของวงการบันเทิงไทย เมื่อนักแสดงมากฝีมือรุ่นใหญ่ “เอก สรพงศ์ ชาตรี” ได้จากไปอย่างสงบในเวลา 15.51 น. ของวันนี้ (10 มีนาคม 2565) ด้วยโรคมะเร็งที่ลุกลาม สิริอายุ 71 ปี

สรพงศ์ ชาตรี หรือ กรีพงษ์ เทียมเศวต (ชื่อเดิม : พิทยา เทียมเศวต) เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในช่วงปลายยุค 70s ถึงกลางยุค 80s ฝากผลงานการแสดงภาพยนตร์ไว้ 500 กว่าเรื่องและละครโทรทัศน์ 100 กว่าเรื่อง อีกทั้งยังได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ในปี พ.ศ. 2551

จำนวนผลงานอันมากมายเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันถึงการทำงานอย่างหนักและทุ่มเทจนได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในฝีมือการแสดงของสรพงศ์จากผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ไทยตลอดมา และหากเราได้สัมผัสบทบาทของการแสดงทั้งหลายเหล่านั้นของสรพงศ์ด้วยตนเองแล้วเราย่อมประจักษ์แจ้งแก่ใจว่าเหตุใดนักแสดงท่านนี้ถึงได้มีผลงานการแสดงมากมายและกลายเป็นตำนานของวงการบันเทิงไทย

ท่ามกลางผลงานการแสดงอันมากมายเหล่านี้ Beartai Buzz ได้คัดสรรค์ 10 ผลงานการแสดงภาพยนตร์อันทรงคุณค่าและเปี่ยมไปด้วยคุณภาพเพื่อเป็นการรำลึกถึงผลงานการแสดงอันประทับใจของนักแสดงคุณภาพของวงการบันเทิงไทย “สรพงศ์ ชาตรี”

“มันมากับความมืด” (2514)

ที่มา : Thai Movie Posters

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่สรพงศ์ได้รับบทพระเอกเต็มตัว และเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 4 ที่สรพงศ์ได้แสดง และเป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ “ท่านมุ้ย” หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล จากนั้นสรพงศ์ก็ได้รับบทในภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมเรื่อยมาจนกลายเป็นพระเอกและนักแสดงคู่บุญของท่านมุ้ยไปเลย

“มันมากับความมืด” ถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์แนวไซไฟเรื่องแรกของวงการภาพยนตร์ไทย มีกลิ่นไอของหนังไซไฟจากฮอลลีวูดยุค 50s ซึ่งถือได้ว่าแหวกแนวของภาพยนตร์ไทยในสมัยนั้น เล่าเรื่องของอุกกาบาตลึกลับที่พุ่งตกในอ่าวไทย ตามด้วยเหตุสยองเมื่อชาวเกาะกลายเป็นศพทั้งหมู่บ้านในชั่วข้ามคืน ไม่ช้าความตายก็คืบคลานเข้าฝั่งไทยจนหลายคนหวาดผวากับสิ่งที่เรียกว่า “มันผู้มากับความมืด” ร้อนจนนักวิทยาศาสตร์ชาวกรุง กับกลุ่มชาวบ้านที่เหลืออยู่ ต้องร่วมมือกันจัดการ “มัน” ให้ได้โดยเร็วก่อนทั้งประเทศจะไม่เหลือใคร

“เขาชื่อกานต์” (2516)

ที่มา : Thai Movie Posters

“เขาชื่อกานต์” (2516) ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. พากย์เสียงในฟิล์ม และนำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี สร้างจากนวนิยายที่มีชื่อเสียงของ สุวรรณี สุคนธา ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513  

“เขาชื่อกานต์” เป็นภาพยนตร์รุ่นแรก ๆ ของวงการภาพยนตร์ไทยที่กล่าวถึงปัญหาสังคม ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของภาพยนตร์ไทย คือมีการวิพากษ์เกี่ยวกับหลากหลายปัญหาของสังคมไทย อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และปัญหาคอร์รัปชั่น สรพงศ์ ชาตรีรับบทบาทเป็น “กานต์” หมอหนุ่มที่มีอุดมการณ์สูงที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง และยอมอุทิศตนไปทำงานไปรักษาคนไข้ในเขตชนบท จนเกิดความขัดแย้งกับข้าราชการท้องถิ่น และลงเอยโดยการถูกลอบยิงจนเสียชีวิต

ในตอนแรกภาพยนตร์เรื่องนี้มีปัญหากับการถูกเซนเซอร์ เพราะเป็นหนังเรื่องแรกที่พูดถึงระบบการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยตรง ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีใครกล้าแตะต้อง ต่อมาภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง สามารถทำรายได้หลายล้านบาท หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลได้รับรางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ขณะที่สรพงศ์ ชาตรีได้เข้าชิงตุ๊กตาทองดารานำชายจากในงานรางวัลตุ๊กตาทองหรือรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 9 ปี พ.ศ. 2517

“ชีวิตบัดซบ” (2519)

ที่มา : Thai Movie Posters

ผลงานการกำกับของหนึ่งในผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของวงการภาพยนตร์ไทย “เพิ่มพล เชยอรุณ” ในเรื่องนี้สรพงศ์ ชาตรีต้องรับบทเป็นพ่อและสามีของครอบครัวที่ต้องประสบปัญหาชีวิตนานาประการจนต้องอุทานออกมาว่า “ชีวิตบัดซบ” สมกับชื่อเรื่องเลยจริง ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เป็นไปตามชื่อเรื่องเลยก็คือตัวภาพยนตร์ที่มีคุณภาพและการแสดงอันน่าประทับใจของสรพงศ์ที่ทำให้สรพงศ์ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองเป็นตัวแรกของชีวิต

“เทพธิดาโรงแรม” (2517)

ที่มา : Thai Movie Posters

เป็นพระเอกจนโด่งดังมาแล้วคราวนี้สรพงศ์ขอพลิกบทบาทการแสดงครั้งสำคัญด้วยการรับบทเป็น “โทน” แมงดาหนุ่มในซ่องที่ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ทั้งร้ายทั้งลึกสมบทบาทจริง ๆ โดยแสดงประกบกับ “วิยะดา อุมารินทร์” ที่แสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกด้วยการรับบทเป็น “มาลี” หญิงสาวจากภาคเหนือที่เดินทางมาหางานทำในกรุงเทพ ฯ พร้อมกับคนรักของเธอแต่คนรักของเธอได้หายตัวไปทำให้เธอต้องหันเหเข้ามาทำงานในซ่องแห่งหนึ่ง “เทพธิดาโรงแรม” เป็นภาพยนตร์ไทยแนวสะท้อนสังคมที่สร้างจากบทประพันธ์ของ ณรงค์ จันทร์เรือง เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

“มือปืน” (2526)

ที่มา : Thai Movie Posters

ผลงานภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมาสเตอร์พีซของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นภาพยนตร์ที่ฉีกจากภาพยนตร์ในช่วงเวลานั้นด้วยการเล่าถึงชีวิตของคนที่มีอาชีพเป็นมือปืนในแง่มุมที่ผู้ชมในยุคนั้นอาจไม่เคยได้เห็น สรพงศ์ ชาตรี รับบทเป็น “จ่าสมหมาย ม่วงทรัพย์” มือปืนรับจ้างขาเป๋ ที่เคยเป็นนายทหารที่ร่วมรบในสมรภูมิที่ลาวจนเสียขาไปข้างหนึ่ง จนต้องมามีอาชีพเป็นมือปืนรับจ้างคอยฆ่าคนและมีอาชีพเป็นช่างตัดผมบังหน้า สรพงศ์ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมถึง 2 รางวัลด้วยกันคือรางวัลตุ๊กตาทองและรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ

“คนเลี้ยงช้าง” (2533)

ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องที่ 29 ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลสุพรรณหงส์ ประจำปี พ.ศ. 2534 และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ในการประกาศรางวัลครั้งที่ 62

สรพงศ์ ชาตรี รับบทเป็น “บุญส่ง” เจ้าของช้างแสนรู้ชื่อ “แตงอ่อน” ที่มีเหตุให้ต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับพวกลักลอบทำไม้เถื่อนจนต้องถูกตามล่าหมายเอาชีวิต และแตงอ่อนได้กลายเป็นช้างป่าคอยตามล่าพวกลักลอบตัดไม้จนกลายเป็นตำนานกล่าวขานคู่กับป่าห้วยนางนอนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามาตัดไม้อีกต่อไป

จากบทบาทในภาพยนตร์เรื่องนี้สรพงศ์ ชาตรีจึงได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกในชีวิต

“มือปืน 2 สาละวิน” (2536)

เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งรายได้และเสียงวิจารณ์ จนกล่าวว่าเป็นภาพยนตร์ที่ลงตัวที่สุดเรื่องหนึ่งของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้สร้างและผู้กำกับซึ่งได้รับรางวัลพระสุรัสวดีหรือรางวัลตุ๊กตาทอง ส่วนสรพงศ์ ชาตรีก็ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดีหรือตุ๊กตาทองในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมอีกครั้งจากบท “จ่าแร่ม เริงชัย” นายตำรวจตระเวนชายแดนวัยกลางคนผู้ประจำอยู่ที่ชายแดนซึ่งต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับการปะทะกันกับกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงที่ตั้งฐานที่มั่นอยู่บนลุ่มน้ำสาละวินเขตรอยต่อพรมแดนไทย-พม่า

“เสียดาย 2” (2539)

ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคมภาคต่อจาก “เสียดาย” ในปี พ.ศ. 2537 ที่เป็นภาพยนตร์ในแนวสารคดีสะท้อนปัญหาสังคมเกี่ยวกับวัยรุ่นและยาเสพติด ส่วนเสียดาย 2 นี้เป็นภาพยนตร์แบบดราม่าทั่วไป และเป็นเรื่องของผู้เป็นโรคเอดส์ ผลงานการกำกับของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นผลงานการแสดงครั้งแรกของ “มาริสา แอนนิต้า” นางแบบสาวลูกครึ่งไทย-เนเธอร์แลนด์ และเป็นการแสดงอีกครั้งของ สรพงศ์ ชาตรี หลังจากแสดงมาแล้วครั้งหนึ่งจาก เสียดาย ในภาคแรก โดยในเรื่องนี้สรพงศ์รับบทเป็น “ระบิล” พ่อของ โรส (มาริสา แอนนิต้า) เด็กสาวลูกครึ่งไทย-ตะวันตก ที่เคราะห์ร้ายติดเชื้อเอชไอวีจากการรับบริจาคเลือด

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวแทนของประเทศไทย เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในการประกาศรางวัลครั้งที่ 70 ส่วนสรพงศ์ ชาตรีนั้นได้รับรางวัลตุ๊กตาทองในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมอีกครั้งและได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์

“สุริโยไท” (2544)

ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ที่เล่าเรื่องราวของวีรสตรีคนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย คือ “พระสุริโยไท” พระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ผลงานการกำกับของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ในภาพยนตร์เรื่องนี้สรพงศ์ ชาตรีรับบทเป็น “หมื่นราชเสน่หา (นอกราชการ)” หรือ เจ้าพระยาภักดีนุชิต ขุนนางไทยผู้หาญกล้า ผู้ร่วมวางแผนก่อการโค่นอำนาจของ ขุนวรวงศาธิราช และ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ผู้คิดคดทรยศต่อผืนแผ่นดินไทย ภาพจำของคนที่เคยดูหนังเรื่องนี้ต่อบทบาทของสรพงศ์ก็คือคาแรกเตอร์ที่เด็ดเดี่ยวของการเป็นทหารกล้าผู้จงรักภักดีที่มาพร้อมกับใบหน้าที่ดุดัน (แต่แฝงแววขี้เล่นอารมณ์ดีในบางฉาก) และมีแผลเป็นขนาดใหญ่เป็นรอยฟันผ่าพาดทับดวงตาข้างซ้ายจนทำให้ดวงตาข้างนั้นของหมื่นราชเสน่หาต้องมืดบอดไป จากบทบาทนี้สรพงศ์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิงในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

“องค์บาก 2” (2551)

ภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในตลาดต่างประเทศ จากการแสดงวาดลวดลายบู๊โดย “จา พนม ยีรัมย์” หรือ ทัชชกร ยีรัมย์ ผลงานการกำกับของปรัชญา ปิ่นแก้ว โดยการสนับสนุนของพันนา ฤทธิไกร โดยเหตุการณ์ของหนังภาคนี้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 สรพงศ์ ชาตรีรับบท “เชอนัง” หัวหน้ากองโจรผาปีกครุฑผู้ยิ่งใหญ่ที่ช่วยเทียน (จา พนม) ไว้จากตลาดการค้าทาส และสอนทุกศาสตร์ให้โดยหวังให้สืบทอดตำแหน่งหัวหน้ากองโจรต่อไป แต่สิ่งเดียวที่เทียนต้องการคือการเปิดสังเวียนเลือดล้างเลือดล้างแค้นให้ผู้เป็นพ่อ (สันติสุข พรหมศิริ) ที่ต้องตายอย่างทุกข์ทรมานโดยฝีมือพระยาราชเสนา (ศรัณยู วงษ์กระจ่าง)

จากบทบาทนี้สรพงศ์ ชาตรีได้รับหลายรางวัลในสาขาผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยมทั้งจากรางวัลสุพรรณหงส์ รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง คมชัดลึก อวอร์ด และสตาร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ อวอร์ดส์

และนี่ก็คือผลงานภาพยนตร์ที่ประกอบด้วยฝีมือการแสดงอันทรงคุณค่าของ “สรพงศ์ ชาตรี” ที่เราไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของสรพงศ์ ชาตรีกับการจากไปของปูชนียบุคคลของวงการบันเทิงไทยท่านนี้ และขอระลึกถึงคุณงามความดีและผลงานอันทรงคุณค่าและน่าประทับใจทั้งหลายที่ “สรพงศ์ ชาตรี” ได้ฝากเอาไว้.

Source

ข้อมูลเรื่อง “มือปืน” จากหอภาพยนตร์

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส