‘ไคตัน (Chiton)’ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cryptochiton stelleri จัดอยู่ไฟลัมเดียวกับหอยและหมึก หรือชั้น Polyplacophora อาศัยอยู่ในทะเลทั่วโลก ไม่ว่าจะในน่านน้ำเขตร้อนหรือเย็น พบมากบริเวณโขดหินกินสาหร่ายและตะไคร่น้ำเป็นอาหาร แม้ ‘ไคตัน’ จะมีหน้าตาบอบบาง แต่หารู้ไม่ว่าฟันของมันมีส่วนผสมของแร่เหล็กที่หายากและแข็งสุด ๆ ชนิดหนึ่งในโลก

ฟันของ ‘ไคตัน’ มีส่วนผสมของแร่ฟอสเฟตที่เรียกว่า Santabarbarite ที่มีความแข็งแรงแต่มีความหนาแน่นน้อย ทำให้ไม่เป็นภาระให้กับน้ำหนักตัวของ ‘ไคตัน’ โดยฟันของมันติดอยู่กับผิวหนังที่อ่อนนุ่มและยืดหยุ่น ทำหน้าที่ยึดเกาะและใช้ขูดก้อนหินในการหาตะไคร่น้ำและอาหารอื่น ๆ

ฟันของไคตันในรูปแบบภาพพิมพ์ 3 มิติ

ดร.เดิร์ก โจสเตอร์ (Derk Joester) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น กล่าวว่า “พวกเรารู้สึกทึ่งกับ ‘ไคตัน’ มานานแล้ว เนื่องจากโครงสร้างร่างกายของมัน มีส่วนดีพอ ๆ กับจุดอ่อนของมัน ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า ‘ไคตัน’ แก้ปัญหานั้นด้วยการเชื่อมฟันที่แข็งแกร่งเข้ากับโครงสร้างที่อ่อนนุ่มนั้นอย่างไร” เขายังกล่าวอีกว่า “ฟันของ ‘ไคตัน’ เชื่อมต่อกันเหมือนฟันกรามของมนุษย์”

นักวิจัยยังพยายามที่จะสร้างตัวอย่างฟันของ ‘ไคตัน’ ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ 3 มิติ โดยอาศัยส่วนประกอบของเหล็กและฟอสเฟตเข้ากับส่วนผสมที่ได้จากตัว ‘ไคตัน’ ผลที่ได้คือส่วนผสมของโพลิเมอร์ชีวภาพที่มีความแข็งและความหนาแน่นมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปใช้กับเทคโนโลยีทางด้านการพิมพ์ต่อไป

นอกจาก ‘ไคตัน’ จะมีฟันที่แข็งแรงแล้วนั้นมันยังมีสกิลอีกอย่างคือเป็นสัตว์ท่ีมีความสามารถในการหาทางกลับบ้าน (Homing Instinct) หรือที่อยู่ประจำได้ แม้จะออกไปหาอาหารไกลแค่ไหนก็ตาม 

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส