หลายปีที่ผ่านมาไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่มีการลักลอบค้าขายสัตว์ป่า อินโดนีเซียก็ถือว่าเป็นแหล่งค้าขายสัตว์ป่าที่ใหญ่แหล่งหนึ่งในโลก แต่ปัญหาขบวนการค้าสัตว์ป่าของประเทศอินโดนีเซียอาจจะต้องพบกับศึกหนัก เมื่อฝ่ายนักอนุรักษ์เปิดตัวผู้ช่วยใหม่ที่ไม่ใช่คน แต่เป็นสุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล (cocker spaniel) เพศเมียวัย 4 ขวบชื่อว่า ‘เบลีย์ (ฺBailey)’

‘เบลีย์’ มีหน้าที่ในการดมกลิ่นตามหาสัตว์ป่าที่ถูกซุกซ่อนและเตรียมส่งขายต่างประเทศ โดยตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ‘เบลีย์’ สามารถช่วยเหลือเพื่อนสัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตได้มากกว่า 6,000 ตัว รวมถึงซากสัตว์ป่าอีกนับไม่ถ้วน ทำให้หน่วยงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าเริ่มหันมาสนใจพัฒนาและฝึกฝนสุนัขเพื่อใช้ในการดมกลิ่นมากขึ้น

‘เบลีย์’ เป็นลูกสุนัขที่ถูกครอบครัวชาวเนเธอร์แลนด์ซื้อมาเลี้ยง แต่ด้วยความซนของเธอทำให้เจ้าของเริ่มรับมือไม่ไหว จึงได้ส่งตัว ‘เบลีย์’ ไปอยู่กับสถานฝึกสุนัขที่ Scent Imprint for Dogs (SIFD) ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกสอนสุนัขให้กับหน่วยงานของรัฐและเอกชน และก็ทำให้เธอได้มาพบกับเดน ฮาส (Den Haas) ผู้ก่อตั้งองค์กรช่วยชีวิตสัตว์ (Jakarta Animal Aid Network) ในอินโดนีเซีย ที่กำลังหาสุนัขมาช่วยงานค้นหาสัตว์ป่าพอดี

แนวคิดเรื่องการใช้สุนัขดมกลิ่นหาสัตว์ป่าก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะประเทศในแถบแอฟริกาเองก็ใช้สุนัขเพื่อการนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการนำสุนัขไปใช้งานในอินโดนีเซียอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนอินโดนีเซียมีการนับถือศาสนาที่หลากหลาย บางศาสนาก็ไม่ถูกสุนัข โดยเฉพาะสุนัขที่ตัวใหญ่และดุร้ายเกินไป ผลจึงมาตกอยู่กับสุนัขหน้าตาใจดีขี้เล่นอย่าง ‘เบลีย์’ นั่นเอง

‘เบลีย์’ และเดน ฮาส ได้ร่วมฝึกพิเศษที่ SIFD เพื่อสอนให้เธอรู้จักกับกลิ่นสัตว์ป่า และนำมาสู่ภารกิจแรกของ ‘เบลีย์’ ที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจเนเธอร์แลนด์ค้นหาสัตว์ป่าที่ซุกซ่อนมากับตู้สินค้าจากอินโดนีเซียในปี 2018 ถือเป็นข่าวใหญ่และใบรับรองให้กับ ‘เบลีย์’ ที่จบหลักสูตรจากสถาบัน SIFD พอดิบพอดี หลังจากนั้น ‘เบลีย์’ จึงเดินทางมายังอินโดนีเซียเพื่อปฏิบัติหน้าที่จริงจัง ‘เบลีย์’ มีส่วนช่วยปกป้องลิงอุรังอุตังหลายสิบตัวก่อนถูกส่งขายต่างประเทศ รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่าง ๆ รวมถึงเต่าอีกหลายชนิด

อินโดนีเซียถือเป็นประเทศแห่งการส่งออกสัตว์ป่าที่ใหญ่แห่งหนึ่งในโลก เพราะที่นี่เป็นบ้านของสัตว์ป่ากว่า 300,000 สายพันธุ์ หรือประมาณ 17% ของสัตว์ป่าทั่วโลก มีป่าใหญ่และสมบูรณ์ที่เป็นรองป่าแอมะซอนกับป่าฝนแอฟริกาเท่านั้น มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายมากกว่า 13 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 28,000 ล้านบาท) ต่อปี ซึ่งการเข้ามาของ ‘เบลีย์’ สามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่าเหล่านั้นได้มากถึง 6,000 ตัวภายในเวลา 3 ปี และ ‘เบลีย์’ ยังช่วยเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสุนัขในอินโดนีเซียไปในทางที่ดีอีกด้วย

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส