ใครเคยเป็นบ้าง? เวลาเดินชมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์น่าจะเคยประสบปัญหาเคว้ง ไม่รู้จะเดินชมส่วนไหนก่อนดี แต่ปัญหานี้กำลังจะคลี่คลาย เมื่อพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศอิตาลีใช้กล้องในการตรวจวัด ‘ความน่าสนใจ’ ของผลงานศิลปะ โดยพิจารณาจากผู้คนใช้เวลางานศิลปะนานเท่าไร และเข้าถึงงานศิลปะอย่างไร จะได้รู้กันไปเลยว่าผลงานชิ้นไหนที่มีคนให้ความสนใจมากที่สุด

ENEA หน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศอิตาลี ได้ติดตั้งกล้องไว้ใกล้กับงานศิลปะเพื่อเก็บข้อมูลจำนวนผู้ที่มาดูงานศิลปะและพฤติกรรมในขณะที่ดูงานศิลปะนั้น ๆ ระบบนี้เรียกว่า ShareArt ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกแปลงเป็นตัวชี้วัดค่า ‘ความน่าดึงดูด’ ของงานศิลปะแต่ละชิ้นด้วย ระบบดังกล่าวช่วยสร้างความน่าสนใจและดึงดูดแก่ผู้ที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ภายหลังจากการล็อกดาวน์ช่วง COVID-19 ระบาดได้เป็นอย่างดี

ระบบกล้อง ShareArt เป็นตัวอย่างล่าสุดของการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานเข้ากับงานศิลปะได้อย่างลงตัว นอกจากจะนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการคัดเลือกและจัดแสดงงานศิลปะให้ตรงกับความสนใจของผู้เข้าชมมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยให้นักวิจัยเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการตอบสนองและการรับรู้งานศิลปะของผู้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

จากการทดลองระบบกล้อง ShareArt พบว่าผู้คนส่วนใหญ่ใช้เวลากับงานศิลปะแต่ละชิ้นประมาณ 4 – 5 วินาทีเท่านั้น และมีงานศิลปะเพียงไม่กี่ชิ้นที่ผู้ชมให้ความสนใจนานกว่า 15 วินาที นอกจากนี้ระบบยังสามารถตรวจจับได้ว่าผู้ที่มาชมงานศิลปะกำลังสวมหน้ากากอนามัยอยู่หรือไม่อีกด้วย

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส