รู้หรือไม่ในโลกเรามีสถาบันที่รวบรวมชื่อของเด็กอัจฉริยะจากทั่วทุกมุมโลกอยู่ชื่อว่า ‘เมนซา (Mensa)’ หรือ สมาคมของกลุ่มผู้มีระดับความฉลาดทางปัญญาสูงที่เก่าแก่ที่สุดของโลก หากใครนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงโรงเรียนสอนมิวแทนต์ของโปรเฟสเซอร์ เอ็กซ์ (Professor X) จากภาพยนตร์ X-Men เพียงแต่นักเรียนในความเป็นจริงหาใช่เด็กกลายพันธุ์แบบในหนัง แต่เป็นบุคคลที่มีไอคิวสูงระดับท็อปของโลกต่างหาก

สถาบันเมนซา คือองค์กรที่รวบรวมเด็กที่มีไอคิว 130-160 ติดระดับหัวกะทิของโลก (คนทั่วไปมีระดับไอคิวประมาณ 90-110) ซึ่งมีจำนวนเพียง 1-2% จากจำนวนประชากรเด็กทั้งหมดทั่วโลก องค์กรเมนซาก่อตั้งโดยแลนเซลอต ลิโอเนล แวร์ (Lancelot Lionel Ware) นักวิทยาศาสตร์และโรแลนด์ เบอร์ริลล์ (Roland Berrill) ทนายความชาวอังกฤษ ในปี 1946 ที่เมืองออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

คาเช เควสต์ (Kashe Quest) และ สุขจิต เควสต์ (Sukhjit Quest)

ล่าสุดมีการบันทึกสถิติว่ามีเด็กจากแคลิฟอร์เนียชาวอเมริกันที่อายุน้อยที่สุดที่ได้เป็นสมาชิกของเมนซา เธอคือ คาเช เควสต์ (Kashe Quest) วัย 2 ขวบ ที่มีทักษะในการจำชื่อธาตุในตารางธาตุได้ทั้งหมด เธอสามารถระบุรูปร่างของรัฐทั้ง 50 รัฐในอเมริกา เรียนรู้ภาษาสเปน ไปจนถึงถอดรหัสคำตามที่พ่อแม่ของเธอสอนได้อย่างรวดเร็ว

เดวอน เควสต์ (Devon Quest) คุณพ่อของคาเชเล่าว่า “คาเชแสดงให้พวกเราเห็นถึงความอัจฉริยะเสมอ เธอมักจะถามคำถามเมื่อเธอสงสัยและอยากรู้ว่าแต่ละอย่างทำงานอย่างไร เมื่อเธอเรียนรู้สิ่งนั้นแล้วก็จะใช้งานมันโดยไม่ถามอีก” นอกจากคุณพ่อยังเสริมอีกว่าหลังจากที่เคชาเริ่มพูดคำแรก เธอก็พัฒนาอย่างรวดเร็วจนสามารถพูดได้ทั้งประโยคในที่สุด

สุขจิต เควสต์ (Sukhjit Quest) คุณแม่ของคาเชเล่าว่า เธอพาคาเชไปตรวจสุขภาพตอนอายุ 18 เดือน คุณหมอแนะนำให้พวกเขาพาคาเชไปทดสอบกับนักจิตวิทยาที่เป็นผู้ทดสอบของเมนซา เนื่องจากพบว่าเคชาเป็นเด็กพิเศษที่เรียนรู้ได้ไวผิดปกติ ซึ่งผลลัพธ์คือเคชามีไอคิวอยู่ที่ 146

ขณะเดียวกันพ่อแม่ของเคชาสนับสนุนพัฒนาการของลูกด้วยการสร้างโรงเรียนอนุบาล สุขจิตมีพื้นฐานด้านการเรียนการสอนจากการสอนเคชาที่บ้านเป็นทุนเดิม ประกอบกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเกิดไอเดียการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ในชื่อ Modern Schoolhouse ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีเด็กระดับอนุบาลเข้าร่วมจำนวน 12 คน และหวังว่าจะขยายไปยังอาคารขนาดใหญ่เพื่อรองรับการเรียนการสอนในอนาคต “เราอยากให้แน่ใจว่าเคชาต้องการทุกสิ่งที่เราทำให้จริง ๆ ทั้งในแง่ของพัฒนาการและลักษณะนิสัยของเธอ โดยที่พวกเรามีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้น ๆ ด้วย”

พ่อแม่ของเคชาเล่าถึงกุญแจในความสำเร็จในการเลี้ยงลูกว่า ‘การสื่อสาร’ เป็นเรื่องสำคัญ พวกเขาใส่ใจกับคำพูดและการสื่อสารเป็นพิเศษ โดยรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองพูดและเคชาก็ปฏิบัติกับพ่อแม่เช่นกัน “การเลือกใช้คำพูดและวิธีการอธิบาย ๆ สอนให้เราสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น และทำให้ครอบครัวเราเข้าใจตรงกัน” อย่างไรก็ตามแม้ว่าพ่อแม่ของเคชาอยากให้เธอเรียนรู้มากแค่ไหน แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามความต้องการของตัวเคชาด้วย “ในแง่ของการเลี้ยงลูก คุณต้องมอบทักษะเหล่านี้เพื่อที่จะให้เขากลายเป็นบุคคลที่แข็งแกร่งในอนาคต”

มูฮัมมัด ฮารีซ นัดซิม (Muhammad Haryz Nadzim)

นอกจากนี้เคชายังทำลายสถิติของสถาบันเมนซา กลายเป็นเด็กที่มีอายุน้อยที่สุดที่เป็นสมาชิกเมนซาด้วยวัยเพียง 2 ขวบเท่านั้น โดยสถิติเดิมเป็นของมูฮัมมัด ฮารีซ นัดซิม (Muhammad Haryz Nadzim) ชาวมาเลเซียวัย 3 ขวบ ที่มีไอคิวสูงถึง 142 ทั้งนี้มีเด็กไทยที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของเมนซาด้วยเช่นกันคือเด็กหญิงฐิติกา ทวียศ วัย 4 ขวบ เธอผ่านการทดสอบระดับสากลของสถาบันเวชสเลอร์ (Whesler Preschool and Primary Scale of Intelligence) ระบุว่าน้องฐิติกามีไอคิวสูงถึง 135 เลยทีเดียว เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2018

อ้างอิง, อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส