[รีวิวซีรีส์] The Sandman: สงครามเทพนามธรรม อาหารสมอง สยองขวัญ ถ้าใครถูกจริตนี่คือเพชรเม็ดงาม
Our score
8.5

Release Date

05/08/2022

ความยาว

1 ซีซัน 10 ตอน ตอนละประมาณ 35-55 นาที

[รีวิวซีรีส์] The Sandman: สงครามเทพนามธรรม อาหารสมอง สยองขวัญ ถ้าใครถูกจริตนี่คือเพชรเม็ดงาม
Our score
8.5

The Sandman

จุดเด่น

  1. ดัดแปลงจากคอมมิกระดับขึ้นหิ้งแล้วออกมาได้น่าชื่นชม ทั้งบทที่คมคาย โปรดักชันที่สวยงามอลังการ และการเดินเรื่องราวที่ตีโจทย์แตกมาก ๆ เสนอจิตใจมนุษย์ได้อย่างมีมิติน่าขบคิด

จุดสังเกต

  1. มีความเป็นปรัชญาเน้นภาพสวยบทชวนคิดพอสมควร ใครอยากดูอะไรบู๊ ๆ มัน ๆ น่าจะไม่ค่อยเหมาะ
  • บท

    8.5

  • โปรดักชัน

    8.5

  • การแสดง

    7.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    8.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    9.5

เรื่องย่อ: ปี 1916 ผู้ศึกษาอาคมในอังกฤษรวมตัวกันอัญเชิญ มรณะ เทพแห่งความตายมากักขังเพื่อจะได้ขู่บังคับให้ฟื้นชีพผู้เป็นที่รักกลับมา หากแต่ความผิดพลาดได้ทำให้เทพอีกตนถูกกักขังไว้แทน นั่นคือ นิมิต เทพแห่งความฝันเมื่อเหล่าจอมอาคมไม่ได้สิ่งที่ต้องการจึงฉกชิงอาวุธของนิมิตเอามาใช้ประโยชน์แทน โลกทั้งใบเมื่อไร้ความฝันก็ทำให้บางคนไม่อาจหลับและบางคนไม่อาจตื่น และที่สำคัญเมื่อไร้ผู้ปกครองเหล่าปีศาจความฝันจึงหนีออกมายังโลกมนุษย์ด้วย โดยเฉพาะฝันร้ายนาม โครินเธียน ผู้ชื่นชอบการฆ่าคน เป็นหน้าที่ของนิมิตหรือแซนด์แมนที่ต้องหาทางหนีจากการคุมขังและรักษาสมดุลของโลกอีกครั้ง

https://www.youtube.com/watch?v=khOKYgfTPas

‘The Sandman’ ผลงานของ นีล ไกแมน (Neil Gaiman) เป็นกราฟิกโนเวลไม่กี่เรื่องที่ได้รับการยกย่องให้ติดอันดับหนังสือขายดีของ New York Times ทั้งยังถูกขนานนามว่าคอมมิกของเหล่าปัญญาชน จนกลายเป็นหนังสือแนะนำของหลายสำนักเคียงคู่กับผลงานขึ้นหิ้งอย่าง ‘Watchmen’ ของอลัน มัวร์ (Alan Moore) และ ‘The Dark Knight Returns’ ของ แฟรงก์ มิลเลอร์ (Frank Miller)

The Sandman

อาจด้วยเป็นผลงานที่เน้นเด็กโตจนถึงผู้ใหญ่มากกว่า มันจึงขับเน้นด้วยเรื่องราวของปรัชญาและการต่อสู้ของเหล่านามธรรมที่กระทบมาถึงโลกมนุษย์ และด้วยการตีพิมพ์ลงในหัวหนังสือของ Vertigo Comics ค่ายสายมืดเน้นโหดของสำนักพิมพ์ DC ที่มีผลงาน อาทิ ‘Hellblazer’ (หรือรู้จักดีในชื่อ ‘John Constantine’) ด้วยแล้ว พูดแบบนี้ก็น่าจะพอจับโทนของ ‘The Sandman’ ได้บ้างว่ามันจะไม่ใช่หนังหรือนิยายภาพแนวซูเปอร์ฮีโร่ตีกันแบบสมัยนิยมตามที่ใครบางคนคาดหวังแน่ ๆ

The Sandman

แต่ถ้าคุณกำลังมองหาอะไรที่ชวนให้สมองได้ขบคิดเยอะ ๆ ผ่านภาพแฟนตาซีสุดติ่งจินตนาการอย่างใน ‘Watchmen’ หรืออยากหาแนวดาร์กแฟนตาซีสยดสยองทั้งด้านภาพและเนื้อหาที่เปิดส่วนดำมืดของมนุษย์ออกมาได้น่ากลัวยิ่งกว่าผีห่าซาตาน อย่างใน ‘Black Mirror’ นี่คือเรื่องที่คุณต้องโปรดปรานอีกเรื่องหนึ่ง

The Sandman

‘The Sandman’ เปิดหัวได้อย่างน่าสนใจมาก ๆ แม้เราเคยอ่านพล็อตและบางส่วนของฉบับคอมมิกที่เริ่มด้วยพิธีอัญเชิญของพวกจอมเวทจนแอบกลัวว่าภาพมันจะออกมาเชยเกินไปหรือไม่ ทว่าเอาเข้าจริงทั้งงานซีจีและการออกแบบศิลป์ย้อนยุคไปราวปี 1900 ต้น ๆ ทำได้สวยงามมาก และการใช้เสียงบรรยายของตัวเอกที่นำแสดงโดย ทอม สเตอร์ริดจ์ (Tom Sturridge) เองก็ดูขลังลึกลับน่าติดตามดี บทพูดก็ชวนให้อยากรู้ด้วยว่าเทพที่เป็นนามธรรมอย่างเช่น นิมิต (ความฝัน ดรีม มอร์เฟียส แซนด์แมน หรือเจ้าแห่งฝันร้าย มีชื่อเรียกหลากหลาย) นั้นมีความคิดอย่างไร

The Sandman

เขามองมนุษย์ที่ทำร้ายเขาอย่างไร ตอบสนองต่อความโลภไร้ก้นบึ้งของมนุษย์ที่แม้รู้ว่าจับเทพมาผิดองค์แต่ก็ยังต่อรองขอประโยชน์อื่น เช่น ความร่ำรวยและไม่แก่ไม่ตายแทนอย่างไร้ความละอายได้อย่างไร ยิ่งได้ขับเน้นผ่านการนำเสนอความเย็นชาแต่ดูหล่อเหลา และถ่ายทอดความอ่อนไหวภายในใจผ่านดวงตาของสเตอร์ริดจ์ก็ชวนให้นึกถึง โรเบิร์ต แพตทินสัน (Robert Pattinson) ในบางมุม น่าจะมีสาวโดนตกอยู่ไม่น้อยทีเดียว

The Sandman

ที่สำคัญตัวเรื่องราวไม่ได้เดินไปแบบเส้นตรงเช่น ขาวหรือดำ ธรรมหรืออธรรม มันเต็มไปด้วยความยอกย้อนฉ้อฉล ตัวละครมนุษย์ในเรื่องแต่ละตัวต่างเทา ๆ มีกิเลสบางอย่างมีผลประโยชน์ที่ถือครองและพร้อมจะทำร้ายผู้อื่นด้วยเหตุผลที่ฟังดูดีได้ ตรงนี้ทำให้เราดูไปและคิดวิเคราะห์ว่าพวกเขามีแรงขับทางจิตวิทยาอะไรที่ทำให้เลือกตัดสินใจแบบนั้น และหลายครั้งเราพบว่ามันเป็นการนำเสนอมนุษย์ที่เหมือนจะไม่มีตรรกะ แต่ดันสมจริงเอามาก ๆ ทีเดียวเพราะใจมนุษย์ยากแท้หยั่งถึงเป็นธรรมชาติ ตรงนี้ทำให้ซีรีส์เต็มไปด้วยความน่าสนใจและน่าหลงใหลอย่างมาก

The Sandman

เเนื้อหาของซีรีส์อาจแบ่งเป็นส่วนใหญ่ ๆ ได้หลายส่วน ช่วงแรกตอนที่ 1-5 หรือครึ่งทางของซีซัน เป็นการถูกกักขังของนิมิตและการเดินทางทวงคืนพลังของเขาที่ถูกซุกซ่อนในแห่งหนต่าง ๆ ทำให้เราได้พบตัวละครใหม่ ๆ ตัวซีรีส์ค่อย ๆ ให้เราได้เรียนรู้ไปพร้อมกันนี้ว่าภูมิหลังของโลกในเรื่องประกอบไปด้วยอำนาจเหนือธรรมชาติใดบ้าง

The Sandman

เราได้พบเทพชะตากรรมที่ปรากฏเป็นรูปลักษณ์ของหญิง 3 นาง เราท่องไปในดินแดนแห่งฝันและพบเหล่าความฝันผู้รับใช้นิมิตที่มีทั้งนอบน้อมและไม่เชื่อฟัง เราท่องไปในแดนนรกอันน่าหวาดระแวงและทนทุกข์ของลูซิเฟอร์และได้เห็นอดีตบางส่วนของนิมิต รวมถึงที่สุดเราได้เห็นว่าจิตใจอันบริสุทธิ์ของมนุษย์สามารถสร้างบาปได้มากขนาดไหน

The Sandman

ที่แนะนำเลยคือตอนที่ 4 ที่นิมิตต้องพบกับลูซิเฟอร์และต้องประลองกัน ถ้าเป็นซีรีส์อื่นเราคงได้เห็นฉากสู้กันสุดอลังการปล่อยพลังกันราวทำลายโลก แต่ในซีรีส์นี้กลับนำเสนอการต่อสู้กันด้วยวาจาและความคิดที่คมคาย เต็มไปด้วยปรัชญา ในขณะเดียวกันก็ฉลาดพอที่จะใช้วิสัยทัศน์ด้านภาพที่ชวนลุ้นระทึก ยิ่งใหญ่ ไม่แพ้การบู๊ล้างผลาญมัน ๆ เลย

The Sandman

ในขณะที่ตอน 5 ซีรีส์พลิกการเล่าเรื่องไปอีกแบบจนเกือบตั้งตัวไม่ติด แต่เอาจริงมันดีและฉลาดมาก เมื่อเปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่องมายังตัวละครมนุษย์อย่าง จอห์น ผู้ถูกโกหกมาทั้งชีวิตและเกลียดคำโป้ปดอย่างมาก จนเมื่อเขาได้พลังของนิมิตมาในครอบครองเขาก็ทดลองการสร้างโลกที่ไร้คำลวงออกมา ผ่านการนำเสนอสถานการณ์ที่เหมือนหนังสั้นชั้นดี ที่ทั้งระทึกขวัญสั่นประสาท และชวนคิดไม่น้อย เป็นอีกตอนที่แนะนำเลยว่าต้องดู

The Sandman

จากนั้นในตอนที่ 6 น่าจะเป็นตอนเดียวที่เหมือนมาคั่นเพื่อเปลี่ยนผ่านเรื่องราวไปสู่องก์ใหม่ ได้เห็นมุมมองพัฒนาการที่เปลี่ยนไปของนิมิตผ่านช่วงเวลาหลายร้อยปีได้อย่างน่าสนใจ ทั้งยังได้เห็นแง่มุมที่ว่า นิมิต เป็นทั้งความฝัน ความหวัง ความทรงจำ และเรื่องเล่า จินตนาการ สุดแต่จะมองในแง่ใด เช่นเดียวกับที่เปรียบเปรยความตายได้หลากหลายแง่มุม เป็นตอนที่เหมือนหนังสั้นดี ๆ อีกตอนหนึ่ง

The Sandman

และในตอนที่ 7-10 ซีรีส์ก็กลับมาสู่เรื่องราวของปัญหาใหญ่ครั้งใหม่ที่ขมวดเก็บตัวละครต่าง ๆ ที่ยังทิ้งค้างไว้ได้อย่างสวยงาม โดยเฉพาะตัวละครโครินเธียนที่คอยอยู่ในเงามืดและแอบแทงหลังนิมิตอยู่ตลอดมา ทั้งยังมีการนำเสนอที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น ฉากงานสัมมนาฆาตกรต่อเนื่องจากทั่วอเมริกาที่สุดวิปลาส และทำให้เห็นชัดเจนไปเลยว่านี่คือซีรีส์ที่สร้างมาสำหรับผู้ใหญ่ไปเลย

The Sandman

โดยสรุป ต้องบอกว่าตอนที่เน็ตฟลิกซ์ประกาศสร้างเรื่องนี้ ในใจก็เป็นห่วงว่าจะเป็นยักษ์ล้มแห่งปีหรือไม่ เพราะดูจากคอมิกแล้วเป็นเรื่องที่ดัดแปลงได้โคตรยากอีกเรื่องหนึ่งเลยมีปัญหาที่ต้องตีโจทย์ให้แตกเยอะมาก ตั้งแต่ดีไซน์ตัวละคร ความยากและลึกของบทสนทนาต่าง ๆ การถ่ายทอดนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรมอีก

ทว่าหลังจากดูจริง ยิ่งแต่ละตอนผ่านไป ยิ่งรู้สึกตื่นตาตื่นใจและชื่นชมกับความกล้านำเสนอของเรื่องนี้ แม้จะมีความพยายามเสนอความหลากหลายเท่าเทียมทางเพศและสีผิวที่เน็ตฟลิกซ์ชอบยัดเยียด แต่ก็กลืนได้เนียนตารู้สึกสมเหตุสมผลกว่าเรื่องอื่น ๆ และเมื่อดูจบก็กล้าพูดเลยว่านี่เป็นอีกคอนเทนต์เรือธงที่เน็ตฟลิกซ์ควรต่อยอดต่อไปให้ดี ๆ

The Sandman

และก็คงต้องออกตัวย้ำไว้อีกว่าซีรีส์นี้ส่วนดีนั้นมีมาก แต่ก็มีข้อด้อยอยู่เหมือนกัน ทั้งการเลือกนักแสดงของบางตัวละครที่ดูไม่ค่อยเข้านัก ซีจีบางจุดยังเก็บไม่ค่อยเนี้ยบแม้ภาพรวมทำได้ดี เสน่ห์ของตัวเอกอาจยังไม่เด่นชัดมากไปเด่นตัวอื่น ๆ เสียมากกว่า และส่วนสำคัญคือนี่ไม่ใช่ซีรีส์แนวเอาใจตลาด แต่ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มเสียมากกว่า ดังนั้นสุดท้ายแล้วถ้าความนิยมโดยรวมไม่พอให้พามีซีซันต่อไปก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ก็น่าเสียดายอย่างยิ่งเช่นกัน โลกเราควรมีรสขมที่เป็นประโยชน์กับสมองและหัวใจแบบนี้ไว้ในวันที่เบื่อรสหวานเลี่ยนบ้าง

The Sandman

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส