จากผลงานที่แฟนการ์ตูนญี่ปุ่นเฝ้ารอมาแสนนานให้มีฉบับคนแสดงเสียที เรียกว่าสูสีตีคู่มากับโปรเจคไซไฟปรัชญาของญี่ปุ่นระดับตำนานอีก 2 เรื่องอย่าง Akira และ Gunnm (หรือ Battle Angel Alita) มาเลยทีเดียว ซึ่งในขณะที่เรื่องแรกยังไร้ความหวัง ส่วนเรื่องหลังก็เพิ่งได้ผู้กำกับ โรเบิร์ต โรดริเกวซ  มารับไม้ต่อจากบทของ เจมส์ คาเมรอน ที่ยังไม่ยอมกลับจากดาวแพนโดร่าเสียที แต่สำหรับเรื่อง Ghost in the Shell นับเป็นโปรเจคที่ค้างรอมานาน แต่ครั้นจะเดินหน้าก็ปุ่บปั่บได้ทั้งทีมงานและนักแสดงรวดเร็ว แถมคิวฉายทันใจแฟน ๆ จนน่าดีใจและน่าหวั่นใจไปพร้อม ๆ กัน

น่าหวั่นใจแรก นี่น่าจะเป็นโอกาสแก้ตัวครั้งสำคัญของผู้กำกับฉาว อย่างผู้กำกับ รูเพิร์ต แซนเดอร์ส ที่หลังจาก Snow White and the Huntsman (2012) ที่ทำเอางานหายเงินหดบ้านเกือบแตกเพราะประเด็นอีรุงตุงนังกับดาราสาวอย่าง คริสเตน สจ๊วต เขาก็ไม่มีผลงานอะไรสู่หน้าเวทีสปอตไลท์ได้อีกเลย จริง ๆ ฝีมือของแซนเดอร์สก็นับมีเครดิตที่ดีจากเคยได้รับรางวัลด้านโฆษณาระดับโลกอย่าง Cannes Lions จากการกำกับโฆษณาให้วิดีโอเกมแนวไซไฟอวกาศ Halo ในชื่อชุด Believe (2008) และ Life (2009) เอาเป็นว่าด้านวิสัยทัศน์ในงานไซไฟน่าจะหายห่วงล่ะ แต่ในด้านความลุ่มลึกของเนื้อหานี่ก็นะ หวั่น ๆ กันไป

Play video

Play video

น่าหวั่นใจที่สอง เพราะหนังนำผลงานฉบับมังงะ 10 ตอนจบเรื่อง Kokaku Kidotai เมื่อปี 1989 ของ ชิโระ มาซามูเนะ  มาดัดแปลงเป็นบทหนัง โดยได้ เจมี่ มอสส์ ที่เคยเขียนบทให้หนังของ เดวิด เอเยอร์ แห่ง Suicide Squad (2016) ในเรื่อง Street Kings (2008) และ โจนาธาน เฮอร์แมน ที่เคยเขียนบทหนังแร๊พม้ามืดแห่งปีอย่าง Straight Outta Compton (2015) มาช่วยกันดูแลบท ซึ่งเครดิตที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยยืนยันเลยว่าจะดัดแปลงงานที่ปรัชญาสูงส่งชวนงุนงงอย่าง Ghost in the Shell ออกมาได้ดีเลย ก็ยังคงเป็นความหวั่นใจด้านเนื้อหานั่นล่ะ

ตรงนี้คงต้องเล่าย้อนไปหน่อยว่าเรื่องนี้โด่งดังขึ้นมาระดับโลกจากการถูกนำมาเป็นหนังอนิเมชั่นโดยผู้กำกับ โอชิอิ มาโมรุ  ที่เคยมีผลงานเก่าดี ๆ อย่างอนิเมชั่น Patlabor มาก่อน โดยผู้กำกับเลือกดัดแปลงบทใหม่ให้เข้าถึงง่ายกว่าฉบับมังงะ แต่กระนั้นก็ยังงงกบาลและเนิบนาบลุ่มลึกขั้นสุดอยู่ดี ไม่ว่าจะ Ghost in the Shell (1995) และ Ghost in the Shell 2: Innocence (2004) ดังนั้นเมื่อตกอยู่ในมือฝรั่งผู้ชอบทำวินาศกับการรีเมคหนังเอเชียด้วยแล้ว ยิ่งน่าหวั่นใจเข้าไปใหญ่ครับ

หนังเล่าเรื่องตามแบบต้นฉบับ ที่ว่าด้วย เมเจอร์  (สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน ) ไซบอร์กสาวผู้พันแห่งกองกำลังปราบปรามอาชญากรรมโลกอนาคตนาม Section9 อันประกอบด้วยสมาชิกตัวหลักอย่าง หัวหน้าอารามากิ (คิตาโน ทาเคชิ) และสายบู๊อย่าง บาโตะ (พิลู แอสเบ็ก)

และเมื่อต้องสืบคดีวุ่นวายเกี่ยวกับการก่อการร้ายจาก คุเสะ (ไมเคิล พิตต์ ) ที่ทำการแฮคความทรงจำของหุ่นยนต์เพื่อทำลายบริษัทเทคโนโลยีไซบอร์กอย่าง ฮันกา โรโบติค ที่มี คัตเตอร์ (ปีเตอร์ เฟอร์ดินานโด) บริหาร ทำให้เธอต้องเผชิญคำถามสำคัญถึงตัวตนและการคงอยู่ของตนเอง ตรงบทสรุปนี้มีความต่างกับฉบับเดิมอยู่พอสมควร เพราะในฉบับเดิมจะว่าด้วยปรัชญาการตระหนักตัวตนในเรื่องของกายและวิญญาณที่แยกขาดกัน โดยตัวตนนั้นอยู่ในรูปความทรงจำในสมองคนที่อยู่ในร่างไซบอร์ก โดยความทรงจำนี้ก็มีสภาพเหมือนซอฟต์แวร์ที่เรียกว่าโกสต์ (Ghost) ซึ่งพอเป็นซอฟต์แวร์มันมีการดัดแปลงแก้ไขได้ แล้วตัวตนจริง ๆ ของเรามันจะคืออะไรล่ะ? นี่เป็นคำถามใหญ่ของหนังครับ

แต่ในฉบับฮอลลีวู้ดได้แปลงจากปรัชญาเข้มข้น ให้กลายเป็นเรื่องแบบแนวสืบสวนสอบสวน การหักหลังคอรร์รัปชัน เมโลดราม่า โดยมีธีมแบบนัวร์ไซเบอร์พังก์ประมาณอารมณ์ Blade Runner (1982) ทำให้บทสรุปค่อนข้างชัดกว่า เข้าใจได้ทางเดียวกว่าไม่ต้องตีความซับซ้อน ซึ่งดีกับคนที่อยากชมหนังไซไฟแอคชั่นแบบฮอลลีวู้ดและไม่ยึดติดกับความลุ่มลึกในฉบับดั้งเดิมครับ

สรุป

ข้อดีของหนัง ตรงนี้ชัดเจนเลยครับ คือเรื่องของวิสัยทัศน์ด้านโลกอนาคตที่แปลงมาจากฉบับอนิเมชั่นนั้นค่อนข้างทำได้ดี ทั้งการดึงความวุ่นวายของเมืองฮ่องกงมาผสมกับความเป็นญี่ปุ่น อย่างที่ผู้กำกับมาโมรุเคยทำไว้ได้ดีก็ถูกเอามาใช้เลย การดึงรายละเอียดจากซีรีส์ดั้งเดิมหลายภาคมาผสมให้ลงตัว ทั้งเอาบุคลิกของบาโตะจากอนิเมชั่นภาค 2 ตัวละครหุ่นเกอิชาจากทีวีซีรีส์มาใช้ เป็นต้น และด้วยเนื้อเรื่องที่เราคุ้นเคยเข้าใจง่ายไม่เหวอแตกเหมือนต้นฉบับ หรือตอนดูหนังอย่าง The Matrix (1999) ก็จัดเป็นข้อดีของหนังในแง่ผู้รับชมใหม่ หรือคนที่อยากแค่ดูหนังไซไฟแบบฮอลลีวู้ดล่ะครับ ซึ่งก็สนุกตามสูตร ไม่ต้องไปหาอนิเมชั่นภาคใด ๆ มาดูก่อนด้วย ก็สามารถเข้าใจได้เลย เหมือนรีบู้ทมากกว่ารีเมคล่ะครับ

ข้อเสียของหนัง คงเป็นฝั่งแฟน ๆ ฉบับดั้งเดิมเป็นหลักล่ะครับ ที่หนังกลายเป็นหนังตลาดขาดความลุ่มลึก หรือแม้แต่วิช่วลเองก็ตามไม่ได้มีการคิดใหม่ สร้างนวัตกรรมใหม่อะไรขึ้นมาให้ทึ่งเลย เรียกว่าถ้าคาดหวังสูงจะเจ็บหนักครับ แต่ถ้าไม่คาดหวังนักจะดูเพลิน ๆ อยู่เหมือนกัน ฉากแอ๊กชั่นกับการเล่าเรื่องออกแนว Blade Runner ใครดูเรื่องนั้นมาคงรู้ครับว่าไม่ได้เน้นเอามันบันเทิงอะไร เรียกว่าเนิบ ๆ สนุกกับการสืบหาความจริงเสียมากกว่า

Play video