หนังผี 3 ตอน เน้นจังหวะสะดุ้ง เน้นหลอนแบบตีความ และเน้นฮาสยอง อาจไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์ในแง่การผลิต แถมแรงบันดาลใจก็ค่อนข้างชัด แต่ก็เป็นหนังไทยที่ใช้ได้เลยสำหรับคอสยองขวัญ และยังพอน่าให้เชียร์มากกว่าให้ด่าครับ

ในช่วงหนึ่งหนังแนวรวมเรื่องสั้นหลายตอนเป็นที่นิยมมากในไทย ตั้งแต่เรื่อง ผีสามบาท (2544) ที่น่าจะเป็นหนังไทยเรื่องแรก ๆ ที่จะปลุกกระแสแนวนี้ขึ้นมา ก่อนจะมาเปรี้ยงปร้างในยุค GTH อย่าง สี่แพร่ง (2551) และห้าแพร่ง (2552) โดยหนึ่งในค่ายที่ส่งหนังผีไทยเข้าสู่ตลาดมากที่สุดคงไม่พ้นค่ายเก่าแก่อย่าง ไฟว์สตาร์ฯ ที่ส่งหนังชุด ตีสาม 3D (2555) มาชิมลาง แล้วปล่อยภาคต่อมาใน ตีสาม คืนสาม 3D (2557) จากนั้นจึงนำตอนที่ดังที่สุดใน ตีสาม 3D อย่างตอน O.T. มาขยายเป็นหนังยาวในชื่อ O.T ผี OVERTIME (2557) แล้วหลังจากนั้นหนังผีชุด ตีสาม ก็เงียบหายไป

จนในที่สุดไฟว์สตาร์ฯ ก็ได้ปลุกผีในชื่อชุด ตีสาม กลับมาอีกครั้งในภาค ตีสาม After Shock  โดยครั้งนี้นำเรื่องราวมาเรียงร้อย 3 ตอนด้วยกัน คือ

  • ทางด่วน (กำกับโดย ใหม่-ภวัต พนังคศิริ จากนาคปรก และละคร บุพเพสันนิวาส นำแสดงโดย พั้นช์-วรกาญจน์ โรจนวัชร )

พิม (พั้นช์) พนักงานสาวเก็บค่าทางด่วนที่ติดโซเชียล เธอมักต้องทำงานอยู่เพียงลำพังกลางดึก แต่เพราะคลิปที่เธอปล่อยแฉนางแบบดังคนหนึ่งทำให้คืนนี้มีบางอย่างแตกต่างไป

  • แรกพบศพตาย (กำกับโดย ปิงธรรมนูญ สกุลบุญถนอม จาก ตายโหง ตายเฮี้ยน นำแสดงโดย ป๊อก -ภัสสรกรณ์ จิราธิวัฒน์, เชอรีน-ณัฐจารี หรเวชกุล, น้ำชา -รณัฐ ยูสานนท์)

แทน (ป๊อก) ศิลปินหนุ่มช่างซ่อมภาพวาด เขาเพิ่งหยุดความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ ออย (เชอรีน) และกลับไปใช้ชีวิตแบบหนุ่มโสดที่คอยเที่ยวกลางคืนไปกับเพื่อนสนิท กระทั่งคืนหนึ่งตอนตีสาม เขาก็ได้พบกับ นภัส (น้ำชา) หญิงสาวลึกลับที่นำบางอย่างที่ทั้งเย้ายวนและน่าสยดสยองมาสู่เขา

  • กอง-ผี-ปีศาจ (กำกับโดย กังฟู-นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ จาก กะปิ ลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว (ใครจำได้มั่งที่หม่ำเล่นกับลิง) นำแสดงโดย สิงโต นำโชค, อุ๋ย-นที เอกวิจิตร, ซาร่า-นลิน โฮลเลอร์)

อู๋ (อุ๋ย) และทีมงานถ่ายทำทีวีไดเร็ก รวมตัววางแผนการบางอย่างเพื่อแกล้งและเอาคืนความเอาแต่ใจของผู้กำกับโฆษณาทีวีอย่าง แซม (สิงโต) แต่ระหว่างถ่ายทำนอกจากผีป้าเจ้าของโรงถ่ายที่เดินทั่วสตูดิโอแล้ว ทีมงานยังได้ข่าวจากไลน์ว่าแซมเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ระหว่างทางที่จะมาถึงสตูดิโอ  อู๋จะบอกทีมงานยังไงในเมื่อแซมก็อยู่ที่นี่ทำงานกับพวกเขามาตั้งแต่กลางดึกแล้ว

ต้องยอมรับว่าได้กลิ่นบางอย่างจากหนังต่างค่ายเช่น สี่แพร่ง และ ห้าแพร่ง ทั้งตอน ทางด่วน ที่เอาไปเทียบได้กับตอน เหงา ผสมกับ เที่ยวบิน 224 ในหนัง สี่แพร่ง แม้การเผชิญผีตัวต่อตัวของพิมในพื้นที่กึ่งปิดแบบทางด่วน และด้วยโปรดักชั่นเข้ม ๆ ที่ผู้กำกับภวัตทำได้ดีจะดูน่าสนใจอยู่พอสมควร แต่ก็เทียบความเข้มข้นที่ พลอย เฌอมาลย์ ซึ่งบังเอิญรับบท พิม แอร์ฮอสเตสสาวที่ต้องเผชิญกับผีเจ้าหญิงบนเครื่องบินไม่ได้เลย โดยเฉพาะความล้มเหลวในการหลอกคนดูเรื่องตัวตนของผีที่พยายามลวงว่าคือใคร (ซึ่งเห็นร่องรอยในบทพูดอยู่) แต่ก็พลาดตั้งแต่ต้นเรื่อง แถมยังเป็นตอนที่ซีจีดูย่ำแย่ที่สุดด้วย

ตอน กอง-ผี-ปีศาจ ที่ชื่อตอนไปคล้ายหนัง คน-ผี-ปีศาจ ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล และเนื้อหายังไปคล้ายตอน คนกอง ในหนัง ห้าแพร่ง ของ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ราวกับจงใจล้อเลียนด้วย เป็นตอนปิดท้ายที่เอามาเน้นฮาสยอง ทั้งยังค่อนข้างล้อพล็อตแนวเรื่องสั้นของโต้ง-บรรจงอย่างชัดเจน แต่ความจัดเจนในการตัดต่อ ทั้งจังหวะการเล่นส่วนฮาและส่วนสยองก็ยังไม่ลงตัวนัก การเฉลยตอนจบเลยไม่มีลุ้นอะไรเท่าไหร่ (สังเกตว่าเป็นปัญหาที่คนทำหนังไม่เชื่อตัวบทหนัง จึงไม่ทำงานร่วมกัน เช่นเดียวกับตอนทางด่วน)

ส่วนตอน แรกพบศพตาย นั้นแม้จะดูได้แรงบันดาลใจจากงานของ จุนจิ อิโตะ อย่าง โทมิเอะ และ ผลโลหิต มา แต่ก็สร้างสไตล์ของตัวเองได้น่าสนใจที่สุดเมื่อเทียบกับทุกตอน ทั้งด้านดีไซน์และเนื้อหา สัญญะต่าง ๆ ที่ดูคิดมาละเอียดด้วย และแม้จะมีปัญหาที่ไม่ค่อยเคลียร์ในแง่การตีความตอนจบนัก แต่ก็ยังต้องยอมรับว่าเป็นหนังผีไทยที่โดดเด่นเรื่องหนึ่ง เป็นตอนที่เอาใจเชียร์ครับ

สรุป

โดยรวม ตีสาม After Shock เป็นงานที่มีแรงบันดาลใจชัดเจนพอสมควร และพยายาม C&D ด้วยจิตใจที่เปี่ยมความหวังดีความทุ่มเท อันจะเห็นได้จากโปรดักชั่นที่พอใช้ได้เมื่อเทียบกับหนังไทย ทว่าอาจจะยังบ่มเพาะได้ไม่ดีพอ นานพอ จนทำให้ไม่อาจหลุดภาพของแรงบันดาลใจพ้น ก็นับเป็นหนังเรื่องหนึ่งที่อยากให้กำลังใจคนทำพัฒนาต่อไปครับ

หนังเข้าฉาย 15 มีนาคมนี้ครับ

 

Play video