[รีวิว] A Banana? At This Time of Night? – หัวเราะร่า น้ำตาริน
Our score
8.0

A Banana? At This Time of Night?

จุดเด่น

  1. หนังอบอุ่นหัวใจมาก
  2. ถ่ายทอดชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงได้อย่างเห็นภาพและเข้าใจความรู้สึก
  3. นักแสดงถ่ายทอดบทบาทได้ดีมาก

จุดสังเกต

  1. เรื่องรักสามเศร้ายังเล่าได้ไม่ลงตัวนัก
  • คุณภาพบทภาพยนตร์

    8.0

  • คุณภาพนักแสดง

    8.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    8.0

  • ความสนุก สุนทรียะตามแนวหนัง

    8.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    8.0

ยาสุอากิ ชิคาโนะ ชายหนุ่มวัย 34 ปีเลือกจะที่ไม่ให้อาการป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อลีบจากพันธุกรรมมาขัดขวางการใช้ชีวิตอย่างอิสระ แม้ร่างกายส่วนเดียวที่เขาสามารถขยับได้คือคอกับมือเท่านั้นแม้ว่าจะต้องอยู่ติดกับรถเข็น แต่เขาก็เลือกจ้างอาสาสมัครมาช่วยเหลือเขาที่บ้านแทนการนอนอยู่โรงพยาบาล และในบรรดาอาสาสมัครทั้งหมด ทานากะ หนุ่มนักศึกษาแพทย์ที่พ่อบังคับเรียนหมอเพื่อมาบริหารโรงพยาบาลของครอบครัวคือคนที่ ชิคาโนะ มักสร้างความปั่นป่วนให้เขาเสมอทั้งการเรียกใช้แบบไม่รู้เวล่ำเวลา เรียกให้ไปซื้อกล้วยมาให้กลางดึก และบ่อยครั้งก็เรียกร้องให้เขาค้างคืนจนไม่มีเวลาให้กับแฟนสาวอย่าง มิซากิ ที่การแอบมาหาทานะกะครั้งเดียวจะทำให้เธอตกกระไดพลอยโจนกลายเป็นอาสาสมัครไปกับเขาด้วย และแม้เริ่มแรก มิซากิ จะไม่ชอบพฤติกรรมเอาแต่ใจของชิคาโนเลยแต่พอเวลาผ่านไปเธอก็เริ่มเห็นมุมมองชีวิตดี ๆ จากชิคาโนะตลอดจนความผูกพันธ์ระหว่างเหล่าอาสาสมัครกับชายพิการอย่างเขา ในขณะเดียวกันความรู้สึกของชิคาโนะที่แม้ร่างกายจะทรุดโทรมจนการขยับตัวเริ่มยากขึ้นทุกทีแต่หัวใจเขากลับทำงานหนักเมื่อได้ใกล้ มิซากิ โดยไม่รู้เลยว่าเธอคือแฟนสาวของทานากะนั่นเอง

Play video

บอกตามตรงว่าหนังอย่าง A Banana? At This Time of Night? นี่คืออาวุธมหาประลัยสำหรับคนบ่อน้ำตาตื้นและเหล่าคอหนังญี่ปุ่นอยู่แล้ว ด้วยพลอดเกี่ยวกับผู้พิการหัวใจทองคำ ชายปากร้ายแต่ใจดี ไปจนถึงเรื่องราวของความฝันอันยิ่งใหญ่ย่อมกระทบใจผู้ชมได้ไม่ยาก ยิ่งหนังสร้างจากเรื่องจริงอันน่าเหลือเชื่อของชิคาโนะ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อลีบจริง ๆ ก็ยิ่งทำให้เราสัมผัสได้ถึงความอัศจรรย์ของหัวใจที่ไม่ยอมพิการได้ไม่ยากเลยล่ะ ซึ่งแม้หนังจะอิงกับฉบับนิยายที่อิงเรื่องจริงจนมีหลายเหตุการณ์ที่ดูแล้วโอเวอร์เกินเหตุ แต่สำหรับคนดูแล้วนี่แหละความบันเทิงที่โคตรอบอุ่นหัวใจเลยล่ะ

WHAT THE FACT รีวิว A Banana? At This Time of Night?

โดยในช่วงแรกเราจะได้ตามติดทานากะในฐานะนักศึกษาหนุ่มที่อาสาไปดูแล ชิคาโนะ ชายหนุ่มที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดที่วัดใจคนดูพอสมควรว่าจะมองคนป่วยอย่าง ชิคาโนะ อย่างไร เพราะแม้เขาจะเป็นผู้ป่วยติดเตียงแต่มีความร้ายกาจในการบังคับอาสาสมัครให้เอาใจเขาแบบแทบไม่มีลีมิตเลยทีเดียว แล้วตัวละครที่เป็นเหมือนคนที่มอง ชิคาโนะ ในแง่ร้ายก็หนีไม่พ้น มิซากิ แฟนสาวของทานากะที่สงสัยว่าทำไมแฟนหนุ่มไม่ค่อยไปหาเธอ และเมื่อมาเจอว่าเขาอยู่กับชิคาโนะและต้องทำตัวเยี่ยงทาสรับใช้ก็ยิ่งเกิดภาพลบต่อคนไข้ติดเตียงอย่าง ชิคาโนะ อย่างช่วยไม่ได้

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะได้เริ่มสัมผัสอีกด้านของชิคาโนะจากบรรดาอาสาสมัครที่เข้ามาดูแลเขามากขึ้นเรื่อย ๆ และตัวของ มิซากิ เองก็เริ่มเห็นว่าผู้พิการอย่าง ชิคาโนะ เองก็มีความฝันและความมุ่งมั่นไม่ต่างจากคนปกติเลย ซึ่งนอกจากดราม่าต่าง ๆ ตามท้องเรื่องแล้ว หนังยังทำให้เราได้สัมผัสถึงระบบการดูแลผู้ป่วยในญี่ปุ่นที่มีการรับจ้างอาสาสมัครเพื่อดูแลกันและกันแบบประชาสังคมซึ่งถือเป็นไอเดียที่ดีไม่น้อยเลยหากประเทศไทยจะนำระบบนี้มาใช้บ้าง แต่แล้วหนังก็ทำเราใจชื้นได้ไม่นานเพราะไม่เท่าไหร่พออาการของชิคาโนะทรุดลงและต้องเข้าโรงพยาบาลเราก็ได้เผชิญความจริงอันน่าเศร้าและทำให้เห็นว่าในเวลาอันน้อยนิดเขาก็ไม่ยอมให้อาการเจ็บป่วยมาขัดขวางตัวเองจากการทำตามความมุ่งมั่น รวมถึงการบอกความในใจกับมิซากิด้วย

WHAT THE FACT รีวิว A Banana? At This Time of Night?

ในส่วนเรื่องราวรักสามเส้าตรงนี้ต้องบอกตามตรงว่าหนังอาจเล่าได้ไม่ลงตัวนัก อีกทั้งความรู้สึกที่คนดูมีต่อตัว ชิคาโนะ หนีไม่พ้นความน่าสงสารตั้งแต่ต้นเรื่อง และอาจทำให้คนดูเกลียด มิซากิ อย่างช่วยไม่ได้ แต่กระนั้นก็โชคดีที่หนังได้การแสดงของ โย โออิซูมิ ในบทชิคาโนะ และ มิซูกิ ทาคาฮาตะ ในบท มิซากิ ที่รับส่งบทกันได้เป็นอย่างดี และอาศัยเสน่ห์ของทั้งคู่ในการนำพาเรื่องไปได้ เรียกได้ว่าหัวใจของหนังอยู่ที่นักแสดงสองคนนี้เลยก็ว่าได้ และจุดที่หนังเรียกน้ำตาคนดูได้สำเร็จก็มาจากนักแสดงคู่นี้นี่แหละ

หนัง A Banana? At This Time of Night?  จะฉายในเทศกาลหนังญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 6 กุมภาพันธ์ถึง 8 มีนาคมนี้ที่โรงภาพยนตร์ SF Cinema โดยไล่ตามสถานที่ดังนี้

■ กรุงเทพฯ ■
6 – 16 กุมภาพันธ์
เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์

■ ขอนแก่น ■
21 – 23 กุมภาพันธ์
เอส เอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัล ขอนแก่น

■ เชียงใหม่ ■
28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม
เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เมญ่า เชียงใหม่

■ ภูเก็ต ■
6 – 8 มีนาคม
เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ต

คลิกที่นี่สำหรับตารางฉายภาพยนตร์ในเทศกาล 

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส