[รีวิว] Last Letter – ปล.ท้ายจดหมายที่ชวนยิ้มทั้งน้ำตาของชุนจิ อิวาอิ
Our score
10.0

Last Letter

จุดเด่น

  1. หนังบอกเล่าเรื่องราวการก้าวข้ามวัยได้น่าประทับใจ
  2. การแสดงของนักแสดงทุกคนเยี่ยมยอดมาก
  3. งานภพของหนังประสานเทคนิกและศิลปะได้อย่างลงตัว
  4. หนังใช้กลวิธีการเขียนจดหมายมาบอกเล่าเรื่องราวไ้ด้เหมาะเจาะมาก

จุดสังเกต

  • ความสมบูรณ์ของบท

    10.0

  • งานสร้าง การถ่ายภาพ เทคนิก การตัดต่อ

    10.0

  • คุณภาพนักแสดง

    10.0

  • ความสนุก ความลึกซึ้ง นำ้ตาแตกตามแนวหนัง

    10.0

  • คุ้มค่าตั๋ว

    10.0

ด้วยหวังไปแจ้งข่าวร้ายให้เพื่อน ๆ แต่ ยูริ (ทาคาโกะ มัตสึ) กลับถูกเข้าใจผิดว่าเธอคือ มิซากิ (ฮิโรเสะ ซึสึ) พี่สาวของเธอจนได้พบกับ เคียวชิโระ (มาซาฮารุ ฟูกุยาม่า)รุ่นพี่นักเขียนนิยายที่เป็นเหมือนรักแรกในวัยมัธยม แต่หลังจากคุยแชตในมือถือจนเกิดเรื่องเข้าใจผิดกับสามี ยูริ เลยเลือกสวมรอยเป็นพี่สาวส่งจดหมายไปคุยกับ เคียวชิโระ แทน แต่วันนึงเธอเผลอใส่ที่อยู่บ้านของมิซากิในปัจจุบันไปจนทำให้ อายูมิ (ฮิโรเสะ ซึสึ)ลูกสาวของมิซากิ และ ฟูกะ (นานะ โมริ) ลูกสาวของเธอได้มีโอกาสสวมรอยแทน มิซากิ ส่งจดหมายไปหา เคียวชิโระ แล้วเรื่องราวรักสามเส้าที่ทั้งเจ็บปวดและงดงามในวัยมัธยมระหว่าง เคียวชิโระ ยูริ และ มิซากิ ก็ค่อย ๆ เปิดเผยออกมาและจะทำให้ทุกคนได้รู้ว่าในความทรงจำของเรา ความรักครั้งแรก และ ความฝันในวัยเยาว์มันงดงามและยิ่งใหญ่เพียงใด

Play video

 

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

จากเรื่องราวบุลลีแสนเจ็บปวดในโลกเหงาของวัยรุ่นจาก All About Lili Chou Chou (2001)  รักแสนเจ็บปวดของสองสาวจาก Hana and Alice (2004) และอีกหลากหลายเรื่องราวชีวิต ความรัก และ ความฝันวัยเยาว์ที่ผ่านการถ่ายทอดโดย ชุนจิ อิวาอิ ผู้กำกับหนังดรามาที่ผสานเทคนิกและการกำกับการแสดงสุดละเมียดเข้ากันได้อย่างลงตัวที่สุด และคงไม่ผิดหากจะบอกว่าเขาเป็นเหมือนช่างชำนาญการด้านวัยรุ่นที่สุด เพราะเรื่องราวที่เขาบอกเล่าส่วนใหญ่แทบหนีไม่พ้นการถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครในวัยมัธยมหรือกำลังตามหาความฝัน ตัวตน แม้กระทั่งที่ยืนให้ตัวเองได้สัมผัสใจที่สุด และกับ Last Letter ที่เป็นเสมือนการกลับไปหาเสน่ห์ของการเขียนจดหมายที่เขาเคยถ่ายทอดในหนังดังอย่าง Love Letter (1995) หนังรักที่ยังอยู่ในใจใครหลายคนทว่าคราวนี้ เหมือนชุนจิ อิวาอิ ตกผลึกทางความคิดและฝีมือเข้าฝักมากพอจะทำให้เรื่องราวของมันทั้งลึกซึ้ง เจ็บปวด แต่งดงามชวนคิดจนมันเป็นมากกว่าแค่หนังรักประโลมโลกทั่วไปได้อย่างน่าอัศจรรย์

WHAT THE FACT รีวิว Last Letter

กับจดหมายฉบับสุดท้ายนี้ ชุนจิ อิวาอิ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างละเอียดลออช่างเปรียบเปรยเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการใช้กลวิธีการเขียนจดหมายของคนสองวัยที่ทำให้รู้ถึงทัศนคติของแต่ละช่วงวัยได้อย่างล้ำลึก กล่าวคือในขณะที่การสวมบทบาทเป็น มิซากิ ของ ยูริ กลับใช้จดหมายเพื่อบอกเล่าและเปิดบทสนทนาโต้ตอบเรื่องในปัจจุบันเป็นหลักด้วยว่าสิ่งเดียวจากอดีตที่หลงเหลือให้เธอจดจำคือรักครั้งแรกที่เธอเป็นเหมือนสะพานเชื่อมใจให้ เคียวชิโระ กับ มิซากิ ซึ่งมีแต่ความเจ็บปวดและน่าน้อยใจ และมันก็เป็นเหมือนเกราะป้องกันไม่ให้เธอเลยเถิดไปสู่การรื้อฟื้นเรื่องราวในอดีตที่อาจทำลายครอบครัวเธอในปัจจุบันได้ ดังนั้น เคียวชิโระ เลยเหมือนเป็นฝันกลางวันของแม่บ้านสาวใหญ่อย่างเธอที่ใช้เติมความตื่นเต้นให้ชีวิตโดยไม่รู้เลยว่ามันจะเลยเถิดจนกลายเป็นภารกิจเติมคำในช่องว่างทางความรู้สึกของเคียวชิโระขนาดนี้.

แต่กับ อายูมิ ที่เป็นเหมือนตัวแทนของ มิซากิ ที่แท้จริงกลับใช้การเขียนจดหมายเพื่อเติมเต็มเรื่องราวที่หายไปของแม่ตัวเอง และในขณะเดียวกันมันก็เหมือนไทม์แมชชีนที่พาเธอกลับไปยังคืนวันที่แม่ของเธอเปล่งประกายที่สุดในวัยมัธยมตามสายตา น้ำเสียง และ การบอกเล่าของ เคียวชิโระ ตั้งแต่วันแรกที่ได้รู้จัก ยูริ น้าสาวของเธอไปจนได้เห็นหน้าแม่ของเธอตอนเปิดหน้ากากอนามัยครั้งแรกที่ทำให้เขาตกหลุมรักเธอทันที และการบอกเล่าผ่านจดหมายก็เหมาะสมที่สุดแล้วกับการบันทึกอดีตที่ค่อย ๆ มาเติมเต็มกำลังใจในการใช้ชีวิตของเธอทีละน้อยเมื่อบทสรุปได้เผยความจริงเบื้องหลังการจากไปของแม่เธอที่ชวนให้เจ็บปวดเป็นที่สุดได้อีกด้วย

WHAT THE FACT รีวิว Last Letter WHAT THE FACT รีวิว Last Letter

อ่านถึงตรงนี้อย่าเพิ่งนึกว่า Last Letter จะไปเล่าแค่เรื่องราวความรัก ความทรงจำ น่าประทับใจจนเนื้อหาหรือสาระมันเบาหวิวนะครับ ตรงกันข้ามเลยหากใครตามงานของ ชุนจิ อิวาอิ จะพบว่ามันมันซ่อนสาระสำคัญหรือบทบันทึกการวิพากษ์สังคมเอาไว้เสมอ ตั้งแต่ปัญหาบุลลีในโรงเรียนของ All About Lily Chou Chou ปัญหาการค้นหาและยอมรับเพศสภาพของวัยรุ่นใน Hana and Alice มาถึง Last Letter ประเด็นสำคัญที่หนังพยายามนำเสนอก็คือความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาฆ่าตัวตายในสังคมญี่ปุ่นที่ผู้กำกับซ่อนปมและขยี้ประเด็นผ่านเรื่องราวได้อย่างกลมกล่อมและทำเอาคนดูกลั้นน้ำตาไม่อยู่ได้โดยไม่ต้องบิลต์หรือทำให้หนังดูฟูมฟายแต่อย่างใด นับว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัวของชุนจิ อิวาอิ จริง ๆ

นอกเหนือจากงานภาพอันตราตรึงใจทั้งด้วยเทคนิกอันแพรวพราวและการลำดับภาพให้ได้ความหมายเชิงกวีแล้ว อีกพลังวิเศษ (คือมันเหนือความสามารถพิเศษจริง ๆ ) คือการคัดเลือกนักแสดงที่เรียกได้ว่าทั้งชุ่มชื่นสายตาและกระชุ่มกระชวยหัวใจแถมยังถ่ายทอดบทบาทได้ธรรมชาติมาก ๆ เอาแค่จุดขายอย่างสองสาว ฮิโรเสะ ซึสึ และ นานะ โมริ ที่ต้องมารับบทพี่น้องในสองช่วงเวลานี่ แค่หน้าตาน่ารัก ๆ และความแบบบางของพวกเธอก็ทำให้หนังทำงานกับหัวใจหนุ่ม ๆ หนักทั้งเรื่องแล้วการแสดงของพวกเธอยังค่อย ๆ บ่อนเซาะจนน้ำตาที่ว่าแห้งก็ไม่อาจห้ามไม่ให้ไหลได้

ส่วน ทาคาโกะ มัตสึ ที่กลับมาร่วมงานกับชุนจิ อิวาอิ อีกครั้งหลัง April Story (1998) และที่น่าทึ่งที่สุดคือในวัย 43 กะรัตเธอยังคงความงดงามและยังคงเสน่ห์ที่เคยทำให้หนุ่ม ๆ คลั่งไคล้ไว้ได้ และกับบท ยูริ ด้วยบุคลิกโก๊ะ ๆ ของแม่บ้านสาวใหญ่ที่ทำตัวไม่ถูกเมื่อได้พบกับรักแรกของเธอ แต่เมื่อถึงบทดราม่าเธอก็สามารถถ่ายทอดการสารภาพบาปด้วยหัวใจอันไร้เดียงสาจนเราโกรธเกลียดเธอไม่ลงเลยทีเดียว

สำหรับย่อหน้าสุดท้ายผมคงต้องบอกความจริงอันน่าเจ็บปวดว่าต่อให้เราเขียนชมหรือเชิญชวนให้ผู้อ่านไปดูกันแค่ไหนแต่รอบฉายของหนังก็ยังคงจะหายากและมีรอบน้อยอยู่ดี แต่หากคุณผู้อ่านกำลังหาหนังที่ทำให้เรากลับไปสัมผัสวัยเยาว์ที่อนาคตอันสดใสเป็นไปได้ไม่สิ้นสุดและมันยังอยู่กับเรามาทั้งชีวิตรวมถึงได้บริหารต่อมน้ำตาไปกับรักแรกอันแสนซาบซึ้งใจ Last Letter คือหนังที่มีฤทธิ์ให้ออกอาการดังกล่าวทุกประการ รับรองว่าการดั้นด้นหาโรงฉายนั้นคุ้มค่าแน่นอนครับ.

WHAT THE FACT รีวิว Last Letter

กดที่รูปเพื่อเช็ครอบและซื้อตั๋วได้ทันที

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส