วันนี้คงไม่มีคอหนังคนไหนไม่รู้จักชื่อ John Wick อีกแล้วละมั้ง จากโพรเจกต์หนังเล็ก ๆ ที่ทำกันในกลุ่มสตันท์แมนรุ่นเก๋าของวงการ ด้วยทุนสร้างภาคแรกเพียงแค่ 30 ล้านเหรียญ วันนี้หนังสานต่อมาได้ถึงภาค 3 แล้ว ทำรายได้รวมทั่วโลกทั้ง 3 ภาคแล้วสูงถึง 573 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างรวมที่ 110 ล้านเหรียญ ทำให้ชื่อของ John Wick กลายเป็นแฟรนไชส์ทรงคุณค่า ที่สานต่อโพรเจกต์อื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ขยายกลายเป็นจักรวาล John Wick ไปแล้ว เพราะจะมีทั้ง Ballerina หนังภาคแยกที่ตามมา, Continental ทีวีซีรีส์ และ John Wick ภาค 4 ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงในภาคใด

ในวันนี้มีเกร็ดน่ารู้เบื้องหลังที่มาของชื่อหนัง John Wick ได้รับการเปิดเผยจาก ดีเร็ก โคลสแตด ผู้เขียนบทหนังทุกภาค ว่าเดิมทีนั้นหนังไม่ได้ชื่อนี้ แต่เป็นเพราะ คีอานู รีฟส์ เองนั่นแหละที่เป็นคนคิดชื่อหนังว่า John Wick

“เหตุผลเดียวที่เราได้ชื่อหนังว่า John Wick ก็เพราะ คีอานู เป็นคนเอ่ยชื่อนี้ขึ้นมา ทีมการตลาดเราได้ยินแล้วก็แบบว่า ‘โห นี่มันเหมือนกับได้โฆษณาฟรีมา 4 – 5 ล้านดอลลาร์เลยนะ งั้นเราใช้ชื่อ John Wick แทน Scorn เหอะ’ ซึ่งถึงตอนนี้ผมแทบนึกไม่ออกแล้วว่าถ้ายังใช้ชื่อ Scorn อยู่หนังจะเป็นยังไง”

ทีมการตลาดหมายถึง การขายชื่อตัวละครนำที่ได้ คีอานู รีฟส์ มารับบท ก็เหมือนข้อได้เปรียบในการโฆษณา ก็ต้องถือเป็นความดีความชอบอีกอย่างของ คีอานู รีฟส์ ที่เป็นผู้เสนอไอเดียให้หนังใช้ชื่อนี้ แล้วติดไปกับแฟรนไชส์หนังที่สืบทอดกันไปอีกยาว ๆ เรื่องนี้ก็ต้องถูกรวมเข้าไปอีกหนึ่งวีรกรรมของ คีอานู รีฟส์ ทีได้เคยสร้างสรรค์ไว้ก้บเพื่อนมนุษย์รอบตัวเขา

ว่าไปชื่อ Scorn(แปลว่า สบประหมาท, ดูหมิ่น, เหยียดหยาม) ก็ไม่ถือว่าแย่นักที่จะเป็นชื่อหนังแอ็กชันเรื่องหนึ่ง แต่อาจจะไม่ได้แรงเท่า John Wick ชื่อหนังแอ็กชันที่มีตัวเอกเป็นนักฆ่าจะต้องติดหูตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน ฉะนั้นชื่อ John Wick สามารถสื่อถึงคนดูได้ว่า เขาจะได้ดูเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร เรื่องราวของใคร แต่ชื่อ Scorn ยังไม่ครอบคลุมพอที่จะสื่อถึงตัวนักฆ่าคนหนึ่งที่แบกความแค้นจากการตายของหมาสุดที่รักของเขา ที่เป็นสาเหตุหลักให้อดีตนักฆ่าชื่อกระฉ่อนวงการผู้นี้ ได้หวนกลับคืนสู่วงการหลังจากเกษียณตัวเองไปแล้ว เรื่องการแก้แค้นให้หมานี่ก็เรียกได้ว่าเป็นตำนานที่ติดตัว จอห์น วิค ไปตลอด เป็นเรื่องราวที่แฟน ๆ ทุกคนของเขาจดจำกันได้ดี

ทางผู้เขียนเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน เหตุการณ์ที่หมาของเขาถูกฆ่านั้น ดีเร็ก โคลสแตด ผู้เขียนบทก็คงเรื่องราวนี้ไว้ในบทภาพยนตร์ตั้งแต่ฉบับร่างแรก แม้ทีมเขียนบทจะช่วยกันพัฒนาเนื้อหาออกไปอีกกี่ร่าง แต่เรื่องราวหมาตายก็ยังต้องคงไว้ จนบทภาพยนตร์ไปถึงระดับผู้บริหารสตูดิโอ ซึ่งได้อ่านแล้วก็รู้สึกกังวลกับฉากหมาตาย เพราะเป็นธรรมเนียมที่รู้จักกันมาอย่างยาวนานในฮอลลีวู้ดว่า 2 เรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงในหนังคือฉาก หมา กับ เด็ก ตาย การมีฉากนี้ในหนัง John Wick ก็เหมือนฝ่ากฏเหล็กของฮอลลีวู้ด ซึ่งทีมผู้บริหารแนะนำให้ตัดเรื่องหมาตายออกไป เพราะกลัวจะกระทบกระเทือนจิตใจคนดู

ฉากหมาตายนั้นมาจากไอเดียของ ดีเร็ก โคลสแตดเอง แต่ 2 ผู้กำกับ แชด สตาเฮลสกี และ เดวิด ลีตช์ ต่างก็พอใจแล้วพยายามโต้แย้งกับทีมผู้บริหารอย่างที่สุดเพื่อให้คงฉากหมาตายไว้

“ผมก็เข้าใจพวกเขานะว่าคงอยากจะทำสิ่งที่ถูกต้อง ตอนนั้นพวกเขาถึงกับเอ่ยปากว่า ‘ตัดฉากหมาตายออกไปเถอะ แล้วไปมุ่งเน้นเรื่องรวที่นักฆ่ากลับมาจากการเกษียณตัวเองแทน’ ประมาณนี้แหละ”

ดีเร็ก โคลสแตด เล่าเหตุการณ์ในวันนั้น

ดีเร็ก ยังเผยถึงความสำคัญของฉากหมาตายอีกว่า มันคือเหตุผลหลักที่ทำให้ จอห์น วิค หวนคืนสู่วงการและเป็นเรื่องราวสานต่อจนกลายเป็นแฟรนไชส์

“ถ้าไม่มีเรื่องหมาตาย ก็จะปราศจากเหตุที่อธิบายถึงจิตวิญญาณและตัวตนของจอห์น วิค ให้คนดูได้เข้าถึง มันคือแรงขับเคลื่อนของตัวละครหลัก มันคือกุญแจสำคัญเลยล่ะ”

แต่ทีมผู้บริหารก็ยังไม่ปลอดโปร่งใจที่จะปล่อยหนังไปแบบนี้ จนสรุปสุดท้ายให้มีการฉายหนังรอบทดลอง แล้วให้ปฏิกิริยาผู้ชมในรอบนี้เป็นตัวตัดสิน ซึ่งขณะนั้นทั้งสตูดิโอ และ ทีมงานต่างก็มั่นใจในเหตุผลของตัวเองว่าถูกต้อง

“แต่ถึงจุดนี้เราต่างต้องถอยหลังกลับไปกันคนละก้าวก่อน แล้วยอมรับมุมมองที่แตกต่างกัน จนมาถึงรอบทดลองฉาย พวกเราเฝ้ามองปฏิกิริยาผู้ชม พอถึงฉากหมาตาย เราก็สังเกตอาการผู้ชมแล้วก็ไปในทิศทางเดียวกันทั้งโรง พวกเราก็แบบว่า เย้ เรามาถูกทางแล้ว”

“สำหรับ John Wick นี่นับว่าเป็นหนึ่งในหนังน้อยเรื่องที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ พวกเราก็แค่อยากจะโต้แย้งไปตามสัญชาตญาณของพวกเรา แต่แล้วสุดท้ายมันก็ออกมาถูกต้อง”
ดีเร็ก โคลสแตด ทิ้งท้าย

ผู้อ่านคิดว่าอย่างไรบ้างล่ะครับ ถ้า จอห์น วิค ออกมาทวงรถคืนอย่างเดียว หนังจะดุเดือดประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ไหม

อ้างอิง
อ้างอิง