บทสนทนาระหว่างป๋าเต็ดและยอดโปรดิวเซอร์จากต่างแดนนาม ‘ไซม่อน เฮนเดอร์สัน’ (Simon Henderson) ที่ได้สร้างตำนานไว้กับวงซิลลี่ฟูลส์ (Silly Fools) นั้นยังไม่จบ ในตอนนี้ยังคงมีเรื่องราวให้เราได้ตื่นเต้นกันต่อ ในตอนนี้ไซม่อนจะเล่าให้เราฟังถึงเบื้องหลังการตัดสินใจยุติบทบาทของโต และครั้งแรกกับการเปิดเผยเหตุการณ์ในวันนั้นที่นำไปสู่การแตกหัก การตัดสินใจกลับมาทำงานกับวงไทยอีกครั้งพร้อมด้วยความหวังครั้งใหม่ที่จะนำ ‘ยุคแห่งความเรืองรองของดนตรีร็อกไทย’ กลับมาอีกครั้ง รวมไปถึงการตอบคำถามสำคัญที่ป๋าเต็ดมักถามแขกรับเชิญเสมอนั่นคือ ‘บทเรียนที่สำคัญที่สุด’ ซึ่งคำตอบของไซม่อนนั้นจะทำให้คุณประทับใจ

สามารถอ่านสรุปประเด็นสำคัญจากบทสนทนาในครั้งนี้ได้เลยครับ.

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนรักซิลลี่ฟูลส์ (Silly Fools)

“ง่ายมากครับ ที่ผมคิดนะคือเราพูดได้เลยว่ามันเป็นเพราะเนื้อเพลงที่ดี และแน่นอนการโปรดิวซ์ที่ยอดเยี่ยม (หัวเราะ)”

  • ในความหมายของไซม่อน บทเพลงของซิลลี่ฟูลส์นั้นอยู่เหนือกาลเวลาไปแล้ว และไซม่อนจะภูมิใจมากเวลาที่มีคนมาบอกว่า “ว้าวมันเหมือนกับคุณเพิ่งจะอัดเมื่อวานเลย” ทั้ง ๆ ที่มันล่วงเลยมากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งสิ่งนี้เป็นหลักฐานอันดีที่ยืนยันว่าเนื้อเพลงและวิธีการทำเพลงของซิลลี่ฟูลส์และไซม่อนนั้นมันยอดเยี่ยมและเข้าถึงใจผู้คนได้เป็นอย่างดีเ และมันจะเป็นเช่นนี้ไปอีกตราบนานเท่านาน ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็สามารถ ‘เชื่อมโยง’ กับบทเพลงของซิลลี่ฟูลส์ได้เสมอ
  • ไซม่อนมักจะคุยเรื่องการแต่งเพลงกับโตอยู่เสมอ ไซม่อนเคยบอกกับโตถึงการแต่งเพลงให้ ‘เชื่อมโยง’ กับคนฟังไว้ว่า​ “ตราบใดที่คุณ ‘จริงใจ’ กับมันนะโต ตราบใดที่คุณ ‘จริง’ กับเรื่องที่คุณเขียนถึงต่อให้มันจะเป็นเรื่องแบบ ‘ลุกขึ้นเถอะ แล้วออกไปเดิน’ มันจะมีใครสักคนบนโลกที่รู้สึกเชื่อมโยงกับเพลงของคุณได้น่ะ”

ถ้าคนระดับโลกฟังเพลงของซิลลี่ฟูลส์ล่ะ พวกเขาจะชอบเหมือนอย่างที่เราชอบไหม ?

“มีคนดังหลายคนที่ได้ฟังเพลงของซิลลี่ฟูลส์ครับ และพวกเขาก็คิดว่ามันยอดเยี่ยม คือแน่นอนพวกเขาไม่เข้าใจความหมาย แต่พวกเขาสัมผัสได้ด้วยความรู้สึก”

  • ไซม่อนคิดว่าซิลลี่ฟูลส์มีศักยภาพที่สามารถจะโกอินเตอร์ได้ “ความสามารถของพวกเขามันระดับโลก พวกเขาเป็นคนระดับโลก แต่สิ่งที่ทำให้ซิลลี่ฟูลส์เป็น ‘ซิลลี่ฟูลส์’ เนี่ยมันคือเนื้อเพลงที่โคตรพิเศษและวิธีที่ ‘โต’ ร้องเนื้อเพลงเหล่านั้นออกมา” (ไซม่อนพูดเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวังและย้ำว่านี่เป็นเพียงความคิดของเขาเท่านั้น) ไซม่อนเปรียบเทียบกับ Nirvana ที่ทุกวันนี้อาจจะมี Foo Fighters ไปแล้ว แต่ทุกคนก็ยังคงรักในความเป็น Nirvana อยู่
  • ไซม่อนมองว่าเพลงไทยที่มีเนื้อไทยก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในระดับโลก ไซม่อนยกตัวอย่างเพลง ‘Gangnam Style’ ของ Psy ที่เป็นเพลงเนื้อร้องเกาหลีแต่ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง “คือมันยากครับ แต่ผมจะไม่พูดว่ามัน ‘เป็นไปไม่ได้’” โลกทุกวันนี้แคบลงด้วยอินเทอร์เน็ต คนฟังสามารถเข้าถึงเพลงจากต่างชาติต่างภาษาและพวกเขาก็ไม่สนหรอกว่ามันจะเป็นเพลงมาจากไหนร้องภาษาอะไร และเรื่องนี้มันก็ขึ้นอยู่กับแนวเพลงด้วยอย่างเพลงร็อกหรือเมทัลที่หนัก ๆ ต่อให้เป็นภาษาอังกฤษคนฟังก็แทบจะฟังไม่ออกเหมือนกันว่าร้องว่าอะไร
  • ไซม่อนเคยเอาเพลงของ Hangman ไปให้ค่ายเพลงในแอลเอฟังและพวกเขาบอกว่ามันยอดเยี่ยมมาก มันมีเพลงหนึ่งที่โตเคยร้องไว้เป็นภาษาอังกฤษด้วย​ “คือเขาร้องเหมือนกับอเมริกันเลยนะ แต่มันไม่เหมือนกันน่ะ ผมไม่รู้จะอธิบายยังไง เหมือนเวทมนตร์ของมันต่างออกไปจากภาษาไทยน่ะครับ คือเนื้อเพลงและความเป็นโตมันเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ทำให้เขาเป็นเขาในวันนี้”

“ตราบใดที่คุณ ‘จริงใจ’ กับมันนะโต ตราบใดที่คุณ ‘จริง’ กับเรื่องที่คุณเขียนถึงต่อให้มันจะเป็นเรื่องแบบ ‘ลุกขึ้นเถอะ แล้วออกไปเดิน’ มันจะมีใครสักคนบนโลกที่รู้สึกเชื่อมโยงกับเพลงของคุณได้น่ะ”

When Things Changed ณ วันที่เปลี่ยนแปลง

  • ไซม่อนบอกว่าการตัดสินใจที่จะออกจากวงของโตนั้นเป็นสิ่งที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ตอนที่กำลังอัดเพลง “บ้าบอ” (จากอัลบั้ม ‘Mint’) ในช่วงโค้งสุดท้ายของการอัดเพลงนี้ได้เกิดเหตุการณ์  911 ขึ้นมา จู่ ๆ โตก็ตะโกนขึ้นมาว่า “เฮ่มาดูนี่ดิ !” แล้วทุกคนก็วิ่งมาที่ทีวีแล้วก็เห็นตึกแฝดถล่มลงมา  ปกติซิลลี่ฟูลส์จะตั้งชื่อเล่นให้กับเพลงที่ยังไม่มีเนื้อร้อง เช่นเพลง “จิ๊จ๊ะ” มีชื่อเล่นว่า “Disco 2000” เพลง “คิดถึง” จะชื่อ “หรั่งรักปุ๊ก” (เพราะตอนนั้นหรั่งซึ่งเป็นคนเขียนเพลงนี้มีแฟนชื่อปุ๊กกี้) ด้วยเหตุนี้เพลง “บ้าบอ” ก็เลยมีชื่อเล่นขึ้นมาว่า “บิน ลาเดน” และเมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น เรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาทั้งหมดก็กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับโต และมันได้เข้มข้นขึ้นอย่างชัดเจนตอนที่ทำอัลบั้ม ‘Juicy’
  • ไซม่อนเคยเล่าให้โตฟังถึงงานเพลงของวง ‘NASA’ วงดนตรีแรกและอัลบั้มแรกที่ไซม่อนโปรดิวซ์ มีเพลงที่ชื่อว่า “Wild Ways” (วิถีเถื่อน) และไซม่อนก็บอกกับโตว่าเราน่าจะมาทำเพลงสักเพลงที่เกี่ยวกับโลกบ้า ๆ ใบนี้ เหมือนทุกวันนี้มันมีเทคโนโลยีเยอะมากที่พร้อมจะทำให้คนสติแตกและเป็นบ้าเป็นบอ ในตอนแรกเพลง “บ้าบอ” มันจะพูดถึงเรื่องเหล่านี้ แล้วเหตุการณ์ 911 ก็เกิดขึ้นมาพอดี ตอนนั้นเป็นตอนที่โตเริ่มตั้งคำถามถึงสิ่งที่ตัวเองทำว่า “นี่เรากำลังทำอะไรอยู่” และความรู้สึกของโตก็เปลี่ยนไป เขาไม่ได้อยากเขียนเพลงที่เกี่ยวกับความรักอีกแล้ว แต่อยากจะเขียนเพลงที่เกี่ยวกับโลกใบนี้ โตเลยเริ่มแต่งเพลงให้มันมี ‘ความหมายแฝง’ ตั้งแต่นั้นมาเพลงของโตจึงมักจะมีอีกความหมายซ่อนอยู่เสมอ เช่นเพลง “Chocolate” ของ Hangman เนื้อหาของเพลงพูดเรื่องอย่าตัดสินอะไรจากรูปลักษณ์ภายนอก เหมือนช็อกโกแลตที่มันดูน่าเกลียดแต่มีรสหวาน
  • โตเริ่มมีความ ‘โกรธ’ กับความบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ อย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องการเมือง หรือเรื่องความวุ่นวายทั้งหลายในโลก และโตเริ่มสูญเสียศรัทธาในสิ่งที่เขาทำ เพราะเขารู้สึกว่ามัน ‘ปลอม’ ไซม่อนเข้าใจในการตัดสินใจของโตและยินดีที่เขาได้พบกับความสงบ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่อยากให้โตปฏิเสธในสิ่งที่เขาได้เคยทำมา ว่ามันเป็นสิ่ง ‘ปลอม’ เป็น ‘บาป’ เพราะมันคือสิ่งที่ดีงามแล้วและแฟนเพลงก็รักโตจริง ๆ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ไซม่อนไม่อยากให้โตเข้าใจผิดไป

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ซิลลี่ฟูลส์ต้องแยกทางกัน

  • จากมุมที่ไซม่อนเห็นหรือได้ยินมา เขากล่าวว่าทั้งหมดมันเป็นเรื่องของ ‘ศาสนา’ ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดนตรีและแอลกอฮอล์ และไซม่อนได้รู้เรื่องนี้จากทั้งสองฝั่ง โตนั้นเวลาที่เขาปักใจกับอะไรบางอย่าง มันยากมากที่จะเปลี่ยนใจเขา และจุดยืนของโตในตอนนั้นที่บอกกับเพื่อน ๆ ก็คือ “ทุกคนผมจะไม่เล่นในผับนะ” ซึ่งทุกคนก็คิดว่านี่มันต้องเป็นประชาธิปไตย โตจะตัดสินใจคนเดียวไม่ได้ “นายต้องมาถามพวกเราก่อนสิ” พอโตได้ยินก็ตอบกลับไปว่า “แล้วพวกนายจะว่ายังไงถ้าผมบอกว่าผมจะไม่เล่นในผับ” แล้วโตก็บอกว่าถ้าจะเล่นก็ไปหานักร้องใหม่แล้วกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่บ้านโตซึ่งมันแทบจะเป็นอุบัติเหตุ แล้วทุกคนในวงก็แบบว่า “เออ พวกเราจะทำแน่” จากนั้นโตก็ไปสวดมนต์แล้วทุกคนก็กลับบ้านไป แล้วพวกเขาก็โทรกลับมาบอกว่า “มาเหอะโต” แต่โตได้ตอบกลับไปว่า “ไม่มันจบแล้ว พวกนายตัดสินใจกันแล้ว” 
  • โตเคยบอกเหตุผลเรื่องนี้กับไซม่อนว่า เขามีความรู้สึกว่าตัวเองสนับสนุนให้เด็กและคนอื่น ๆ  ดื่มแอลกอฮอล์จากการที่เขาเล่นคอนเสิร์ต ซึ่งไซม่อนเข้าใจในความคิดของโตแต่เขาไม่อยากให้โตกดดันตัวเองและคิดมากเกินไปในเรื่องนี้ “เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดมันคือชีวิตของคุณ ครอบครัวคุณ และก็คนที่คุณรัก นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดเลย”
  • ในตอนที่รู้ว่าวงไปต่อไม่ได้แล้ว ไซม่อนรู้สึกหงุดหงิดเพราะว่าซิลลี่ฟูลส์คือสิ่งที่เขาร่วมสร้างมากับวงจนเดินมาถึงจุดที่ยอดเยี่ยมมากแล้ว วันหนึ่งโตเดินมาหาไซม่อนในขณะที่เขากำลังทำงานอยู่กับวง ‘Burn’ ที่ไซม่อนมาโปรดิวซ์ให้เพลงหนึ่ง โตเลยตั้งใจจะมาให้กำลังใจไซม่อน ทั้งคู่นั่งดูวง Burn เล่นด้วยกัน แล้วโตก็โน้มตัวมาพูดกับไซม่อนว่า “ผมเพิ่งโดนไล่ออก” น้ำเสียงเขาดูจริงจังมาก ประโยคแรกที่หลุดออกจากปากไซม่อนเลยก็คือ “ผมรู้ละว่าทำไมวงนี้มันถึงชื่อ Silly Fools” ถึงแม้จะดูเหมือนว่าทุกคนไล่โตออก แต่ในความเป็นจริงแล้วไซม่อนคิดว่าโตเป็นคนที่เลือกเดินออกมาเอง ซึ่งพอมาทำ Hangman โตก็เป็นคนเลือกเดินออกมาเองอีกเช่นกัน ไซม่อนรู้สึกว่าโตได้ฆ่าวงสองวงที่ไซม่อนรู้สึกรักจริง ๆ
  • ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ไซม่อนคิดว่าเขาสามารถทำให้วงไม่แยกจากกันได้ ถ้าเขารู้ว่าเรื่องทั้งหมดมันจะกลายเป็นแบบไหน เพราะการที่วงแตกมันไม่ได้เกี่ยวกับพวกเขา แต่มันเกี่ยวกับ ‘สถานการณ์’ ที่พวกเขาอยู่ ณ ตอนนั้น มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพลงของพวกเขา แต่มันเป็นเรื่องของธุรกิจที่เมื่อคุณทำเพลงเสร็จแล้ว ออกไปเล่นคอนเสิร์ตในตอนนั้นพวกบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาชูกำลังก็จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ไซม่อนไม่ได้จะมองเรื่องนี้ในแง่ร้ายแต่เขามองว่ามันมีทางอื่นที่วงจะหาสปอนเซอร์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ หากมีผู้จัดการที่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้และโตก็จะต้องไม่พูดแรงกับเพื่อน เพียงหาทางที่ทุกคนมีความสุขร่วมกัน นั่นคือสิ่งที่ไซม่อนคิดว่าตนเองและทุกคนควรทำในเวลานั้น

“ผมรู้ละว่าทำไมวงนี้มันถึงชื่อ Silly Fools”

After Silly Fools ชีวิตหลังซิลลี่ฟูลส์

  • หลังจากนั้นโตและไซม่อนก็มาทำงานร่วมกันในโปรเจกต์ ‘Hangman’ ซึ่งมีความแตกต่างจากตอนทำซิลลี่ฟูลส์มาก ตอนนั้นยังไม่มีวงเลย ในวันแรกของการทำอัลบั้มมีเพียงแค่ โต เดโมของโต และไซม่อนเท่านั้น และต้องเปิดออดิชันเพื่อหานักดนตรีมาทำวง แต่พอได้ทำต่อไปมันก็เวิร์ก
  • เดโมที่โตมีในตอนนั้นแท้จริงแล้วคือเพลงที่โตตั้งใจเขียนให้กับซิลลี่ฟูลส์ เพราะเดโมของคนอื่น ๆ ถูกเลือกใช้เป็นเพลงในอัลบั้มของซิลลี่ฟูลส์แล้ว โตจึงมีเพลงที่เขาเขียนให้กับวงเหลือไว้และต่อมามันได้ถูกใช้ในการทำ Hangman พอมาถึง ‘Hangman 2’ ตอนนั้นแกรมมี่ไม่มีแผนทำอัลบั้ม แต่จะให้ทำเป็นซิงเกิล ไซม่อนเลยตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่อังกฤษ ส่วนโตที่ก็รู้สึกว่า “วงการเพลงที่นี่มันตายแล้ว” ก็พยายามหาทางต่อและโทรหาไซม่อนว่าพวกเขาควรทำอัลบั้มกันต่อ ไซม่อนถามโตว่าแล้วแกรมมี่จะยอมหรอ โตบอกว่ายอมสิเพราะเราใหญ่พอ ตอนนั้นไซม่อนเองก็พยายามเอาเพลงเดโมใน ‘Hangman 2’ ไปให้ค่ายเพลงที่อเมริกาฟัง และดีลกับสตูดิโอ Rockfield ในอังกฤษ (สตูดิโอชื่อดังที่วง Queen ใช้อัดเพลง​ “Bohemian Rhapsody”) เพื่อจะให้ Hangman มาบันทึกเสียงที่นี่ แต่สุดท้ายด้วยค่าใช้จ่ายที่มหาศาลแกรมมี่ก็ไม่เอาด้วย โตเลยจะให้ไซม่อนกลับมาที่ไทย แต่ไซม่อนเพิ่งย้ายไปอยู่ที่อังกฤษและลูกก็ยังเล็ก  ไซม่อนสามารถกลับไทยได้ประมาณหนึ่งเดือนเพื่ออัดร้องและมิกซ์แต่โตอยากให้เขากลับมาทำอย่างที่เคยทำตอนทำซิลลี่ฟูลส์ด้วยกัน ช่วยคอมเมนต์ให้โตในเรื่องของเมโลดี้ ทำนอง และปรับแก้เนื้อร้องกัน ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือนซึ่งไซม่อนไม่สามารถทำแบบนั้นได้ สุดท้ายทั้งสองก็เลยห่างกันและหลุดออกจากวงโคจรของกันและกันตั้งแต่นั้นมา
  • เพราะฉะนั้นเดโมชุดที่ 2 ของ Hangman ที่โตเคยพูดถึงไว้ในรายการป๋าเต็ดทอล์กจึงไม่ได้อยู่ที่ไซม่อนอย่างแน่นอน แม้แต่ชุดที่ 1 ก็ไม่ได้อยู่ที่ไซม่อน เพราะเขาส่งทุกอย่างไว้ให้กับ More Music หมด แล้วค่อยไปตัดแต่งทุกอย่างที่นั่น แม้แต่ของซิลลี่ฟูลส์เองก็เช่นกัน พวกเขาทำงานกันที่ค่ายทั้งหมด
  • พอไซม่อนได้ดูแลครอบครัวจนลูกชายได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขาจึงได้มีเวลาหยุดพักเพื่อค้นหาตัวเอง ซึ่งมันดีต่อเขาในระดับจิตวิญญาณ เขาได้เขียนหนังสือ ได้เรียนการบำบัดด้วยการสะกดจิต ไซม่อนเป็นคนที่สนใจในเรื่องสภาวะจิตใจและการทำสมาธิมาก เขาจะตื่นตีห้าหรือหกโมงเช้าทุกวันเพื่อทำสมาธิในช่วงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไซม่อนคิดว่าตัวเองคงแขวนนวมแล้ว แต่เมื่อได้รับการทักทายจากแฟน ๆ ซิลลี่ฟูลส์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของเขา รวมไปถึงได้ฟังสัมภาษณ์ของโตในรายการป๋าเต็ดทอล์ก ไซม่อนพบว่าทุกคนยังคิดถึงซิลลี่ฟูลส์ทั้ง ๆ ที่เรื่องมันผ่านไปนานแล้วและทุกคนยังยึดติดกับความสำเร็จของวงอย่างที่รู้สึกว่าหลังจากซิลลี่ฟูลส์และโตได้แยกจากกันไป ไม่มีวงใดจะทำได้แบบนั้นอีกแล้ว แต่ไซม่อนเองกลับรู้สึกว่าคนไทยและวงดนตรีไทยนั้นเจ๋งมาก เรามีวงดี ๆ มากมายมีนักดนตรีเจ๋ง ๆ มากมาย แต่ทำไมเราถึงยังติดอยู่ที่เดิม ทำไมเราถึงคิดว่าฝรั่งต้องเก่งกว่าเรา และมันได้เติมไฟในใจเขาเพื่อที่จะได้ลองกับวงไทยอีกสักตั้งว่ามันจะไปได้ไกลถึงไหน
  • ไซม่อนจึงเปิดให้คนที่สนใจส่งเพลงเข้ามาหาเขา ซึ่งผลตอบรับนั้นล้นหลามมากมายกว่าที่เขาคิดไว้ ไซม่อนฟังทุกเพลงจากทุกคนทุกวงและพยายามให้กำลังใจและคอมเมนต์กลับไป ไซม่อนได้รับคำชื่นชมว่าเขาได้ ‘เปลี่ยนโฉมหน้า’ ของวงการเพลงไทยจากสิ่งที่เขาทำกับวงซิลลี่ฟูลส์ นั่นมันทำให้เขารู้สึกในวันนี้ว่ามันจะเป็นอย่างไรถ้าเขากลับมาสร้างวงร็อกที่ยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง อาจจะไม่ใช่แค่เพียงหนึ่งวงแต่เป็นหลาย ๆ วงที่จะมาขับเคลื่อนวงการดนตรีไทย สิ่งดี ๆ และคำชื่นชมที่ไซม่อนได้รับนั้นทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นหนี้คนไทยและการกลับมาในครั้งนี้คือการที่เขาจะได้ทำเพื่อตอบแทนกลับคืน
  • ไซม่อนจึงได้เริ่มกระบวนการด้วยการทำสิ่งที่คล้าย ๆ กับการแข่งขันเพื่อเฟ้นหานักร้องนักดนตรีที่มีพรสวรรค์และเขาก็ได้พบกับคนที่มีพรสวรรค์มากมาย ไซม่อนพบว่าสิ่งที่พวกเขาต้องมีก็คือ ‘ความมั่นใจ’ และไซม่อนเองก็เป็นคนที่จะพูดกับพวกเขาว่า ‘คุณทำได้’ และมันเป็นเรื่องดีที่พวกเขาเชื่อในไซม่อนจากสิ่งที่เขาเคยทำมา และสำหรับ ‘Dragon Attack’ ไซม่อนมีความรู้สึกรักทุกคนในวงนี้ เหตุผลที่ไซม่อนตัดสินใจทำงานกับพวกเขา หนึ่งเลยก็เพราะพวกเขาเป็นนักดนตรีที่ยอดเยี่ยม เข้ากันได้ดี มีอารมณ์ขัน ‘อาลีฟ’ นักร้องนำนั้นสุดยอดมาก (เขาเคยเป็นนักร้องนำวง ‘Parata’ มาก่อน) และไซม่อนรู้สึกประทับใจมากตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ดูคลิปวง Parata คัฟเวอร์เพลง “แค่คน” ของซิลลี่ฟูลส์ (ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงที่ไซม่อนแต่งเองด้วย) “นั่นมันเพลงกูนี่หว่า” ไซม่อนคิดขึ้นมาในใจและมันทำให้เขาตัดสินใจที่จะทำเวอร์ชัน 2020 ของเพลงนี้บ้าง
ไซม่อนและอาลีฟนักร้องนำวง Dragon Attack
  • ไซม่อนเลยทำเพลง “แค่คน 2020” ขึ้นมาให้เก๋ Hangman เล่นกีตาร์ แล้วเขาก็ทำเพลงกับนักร้องสาวชื่อ ‘แอนนา’ ซึ่งเธอเป็นคนที่คัฟเวอร์เพลงของซิลลี่ฟูลส์ได้งดงามจริง ๆ จากนั้นไซม่อนก็เอา backing track ของเพลงนี้มาใช้ให้คนแข่งขันกันร้องเพลง ‘แค่คน’ แล้วให้แฟนคลับโหวตเลือกคนที่พวกเขาคิดว่าชอบมากที่สุด แล้วคนก็โหวตให้ ‘อาลีฟ’ เป็นผู้ชนะ ซึ่งตอนนั้นไซม่อนยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเขาเป็นคนเดียวกันกับนักร้องนำวง Parata ที่เขาได้ดูจากคลิปคัฟเวอร์เพลง “แค่คน” มันช่างเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากสำหรับไซม่อน “ผมว่ามันคือจักรวาลจัดสรร”
  • ตอนนี้ Dragon Attack ได้ปล่อยเพลงออกมา 3 เพลงแล้วคือ “เลี่ยน” “ลมปากใต้ปีก” และล่าสุดคือ “ขอโทษเธอ” บทเพลงอะคูสติกบัลลาดเศร้า ๆ ที่เพิ่งปล่อย MV ออกมา
  • นอกจากนี้ก็ยังมีวงอื่นที่ไซม่อนกำลังทำอยู่ เช่นวง ‘if you jump, I jump’ ซึ่งไซม่อนบอกว่านิยามแนวเพลงได้ยากมาก ซึ่งมีนักร้องหญิงที่ร้องได้ดีและมีเอกลักษณ์มาก และไซม่อนก็ได้เซ็นสัญญากับ ‘แซม The Voice’ ที่เคยแข่งรายการ Stage Fighter กับ The Voice ซึ่งร้องเพลงของซิลลี่ฟูลส์ได้ดีมากด้วย รวมศิลปินในค่ายเพลงใหม่ที่เพิ่งเปิดของไซม่อน ‘MONSTA MIXA’ ทั้งหมดประมาณ 6 ศิลปิน นอกจากนี้เขายังทำเพลงฮิปฮอปและลูกทุ่งด้วย โดยจะมีค่ายอื่น ๆ ที่ร่วมงานกันรองรับอยู่
  • ไซม่อนชอบเพลงลูกทุ่งมาก ๆ “มันไม่มีอะไรที่จะเหมือนเพลงลูกทุ่งอีกแล้วในโลกใบนี้ มันคือความเป็นไทยแท้ ๆ เลย” ทั้งท่วงทำนองและโดยเฉพาะวิธีการร้องซึ่งเป็นเอกลักษณ์และทำให้ผู้ฟังต้องมนต์สะกดของเพลงลูกทุ่ง

Being Simon ความเป็นไซม่อน เฮนเดอร์สัน

การทำงานกับ ‘โลโซ’

  • ไซม่อนเข้ามาทำงานกับโลโซในอัลบั้ม ‘Rock & Roll’ ตอนนั้นวงกำลังต้องการหาแนวทางใหม่ให้กับบทเพลงของพวกเขา ไซม่อนบอกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สนุกมาก เสก โลโซเป็นอัจฉริยะและเขารู้ว่าตัวเองนั้นต้องการอะไร (และไม่มีใครสามารถไปบอกให้เขาทำอะไรได้) ไซม่อนเลยไม่ได้เข้าไปในฐานะโปรดิวเซอร์ แต่วงเรียกเขาว่าเป็น ‘Sound Designer’ (นักออกแบบเสียง) ถึงแม้จะแตกต่างจากการทำงานกับซิลลี่ฟูลส์ แต่มันก็เป็นช่วงเวลาแห่งมิตรภาพ ความสุข และความสบายใจที่ได้ทำงานกับวงร็อกกี่ยิ่งใหญ่วงนี้

ความแตกต่างระหว่างการทำงานกับมือกีตาร์แบบ ‘เสก โลโซ’ และ ‘ต้น ซิลลี่ฟูลส์’

  • ความแตกต่างแรกที่เห็นได้ชัดเจนคือ เสกเป็นทั้งนักแต่งเพลงและก็เป็นนักดนตรี ซึ่งโดยปกติแล้วจะรู้ว่าตัวเองจะเล่นตรงไหนและจะหยุดเมื่อไหร่ เพื่อให้เพลงมันออกมาดีที่สุด เสกจะมีความเป็น old style ในแบบ จิมี่ เฮนดริกซ์ (Jimi Hendrix) แต่ปกติแล้วไซม่อนเวลาออกแบบเสียงจะนึกมาเป็นภาพเลยว่า แต่ละพาร์ตนั้นเสียงจะเป็นอย่างไร จะซ้อนเสียงไหม หรือเป็นเสียงเดี่ยว เสียงจะมาจากทิศทางไหน จะมีกี่แทร็ก แต่การทำงานกับเสก (ที่ไซม่อนบอกว่าคนแบบนี้มีคนเดียวในโลก) นับเป็นความท้าทายอย่างมาก ถึงแม้การทำงานร่วมกันจะไม่ง่ายนักแต่สำหรับในเรื่องมิตรภาพแล้วเสกนับเป็นเพื่อนที่ดีคนหนึ่งของไซม่อนเลย
ไซม่อนและเสก ภาพจาก facebook :simonhendersonproducer
  • ตอนแรกเสกคิดว่าไซม่อนจะมาทำงานกับโลโซก่อน แต่สุดท้ายของเขาก็ต้องไปทำให้ซิลลี่ฟูลส์ก่อน ถึงแม้ทั้ง 2 วงจะอยู่ค่ายเดียวกันแต่ก็เหมือนกับจะแข่งขันกันอยู่กลาย ๆ เพราะในช่วงเวลานั้นโลโซคือวงร็อกรุ่นใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมาก ส่วนซิลลี่ฟูลส์ก็คือวงร็อกหน้าใหม่ที่กำลังร้อนแรงอยู่ ณ ขณะนั้น เสกจึงชอบมาถามกับไซม่อนว่า “เห้ย…พวกนั้นมันขายได้เท่าไหร่แล้ว”
  • ไซม่อนยกตัวอย่างความ ‘ยาก’ ในการทำงานกับเสกโลโซไว้ว่า อย่างในเวลาอัดกีตาร์ ไซม่อนเรียกเสกมาอัดกีตาร์ริทึ่ม เสกก็เหมือนจะอัดตามนั้นแต่ไป ๆ มา ๆ มันก็จะกลายเป็นกีตาร์โซโล และพอมันใช้ได้ไซม่อนก็อยากจะให้อัดแบบนั้นอีกสักแทร็กเพื่อมาทำเป็นสเตอริโอ แต่เสกก็จะเล่นแบบเดิมแต่เกือบจะเป๊ะ ซึ่งทำให้ไม่สามารถวางเป็นสเตอริโอได้ สุดท้ายสิ่งที่ได้ก็คือท่อนโซโลที่แตกต่างกัน 11 แทร็ก มันจะเป็นแบบนี้เกือบทุกครั้งที่ทำงานด้วยกัน ในแง่นี้เสกจะคิดต่างจากไซม่อนที่จะต้องมีเสียงกีตาร์หลาย ๆ แทร็ก แต่เสกแค่เล่นมันออกมาจากใจของเขาเท่านั้น ซึ่งไซม่อนถือว่านั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่มันก็ยากสำหรับเขาด้วยเช่นกัน สุดท้ายวิธีของไซม่อนก็คือตัดเสียงกีตาร์ของเสกและจัดเรียงมันให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่มันควรจะเป็นมากที่สุดเพื่อให้เห็นภาพรวมและเอาไปมิกซ์ต่อได้ ซึ่งเสกมักจะบอกอยู่เสมอว่าเขารักซาวด์กีตาร์ของอัลบั้มนั้นมาก มันเป็นซาวด์ที่ดีที่สุดของเขาเลย
  • อีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างจากวงอื่นเลยก็คือ “อาหาร” ซึ่งแต่ละวงจะมีอาหารที่ชอบทานแตกต่างกัน อย่าง Blackhead ก็จะสั่งอะไรที่เกี่ยวกับ ‘ปลา’ ส่วนโลโซนั้นทาน ‘อาหารอีสาน’ และพวกเขาก็ชอบที่จะชวนไซม่อนมาทานด้วยกัน “เห้ย ลองนี่ยังไซม่อน” แล้วมันก็เป็นซุปที่หน้าตาดำ ๆ ซึ่งไซม่อนก็คิดว่า “บางอย่างก็เป็นอะไรที่แบบ..คุณไม่คิดจะเอามันเข้าปาก” แต่ไซม่อนก็ลองมาหลายอย่างแล้ว เขากินเผ็ดได้บ้างและปลาร้าก็เคยลองทานมาแล้ว ส่วนซิลลี่ฟูลส์นั้นชอบทานอาหารฝรั่ง เช่นพิซซ่าหรือว่าแมคโดนัลด์เพราะโตชอบทานไอศกรีมที่นี่ และเขาก็ชอบถามไซม่อนอยู่ตลอดว่า “เราควรสั่ง Chocolate Sundae ดีไหม ?” ทั้ง ๆ ที่สุดท้ายก็สั่งแบบนี้ทุกครั้งอยู่ดี

ในวันที่วงดนตรีส่วนใหญ่เริ่มโปรดิวซ์เพลงเองแล้ว นั่นทำให้บทบาทของโปรดิวเซอร์นั้นลดน้อยลงไปหรือไม่

  • ไซม่อนมองว่ามันค่อนข้างจริง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแนวเพลง และความจริงที่ว่างานของโปรดิวเซอร์นั้นประกอบด้วยสองสิ่ง อย่างแรกคือ Know-How หรือ ความรู้เรื่องการโปรดิวซ์ซึ่งมันเรียนรู้กันเองได้ แต่อีกส่วนหนึ่งคือ กระบวนการ ‘สร้างสรรค์’
  • ซึ่งมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หลายคนคิดว่าการโปรดิวซ์ทั้งหมดเป็นเรื่องของซาวด์อย่างเดียว แต่ความจริงแล้วมันมีเรื่องอื่น ๆ ที่ละเอียดอ่อนมากกว่านั้น ที่สำคัญเลยคือการมีโปรดิวเซอร์มาเป็น ‘ผู้ร่วมงาน’ เพื่อต่อยอดไอเดียของเราให้ไกลออกไป เราต้องการความเห็นที่สองเพื่อพัฒนาให้งานมันดีขึ้นกว่าเดิม

อะไรคือความพิเศษของ Dragon Attack

  • ไซม่อนเปรียบพวกเขาเหมือนกับวง Queen ในแง่ที่เพลงของพวกเขามีความแตกต่างทุกเพลง อย่างเพลง “เลี่ยน” ไม่มีโซโลเลยทั้ง ๆ ที่มีมือกีตาร์ 2 คนในวง ส่วนเพลงต่อมากลับมี 2 โซโล ซึ่งความแตกต่างที่ว่าไม่ใช่เพียงแค่รายละเอียดเท่านี้ แต่หมายถึงในภาพรวมของเพลงทั้งหมดทำให้เพลงพวกเขาไม่น่าเบื่อ และพวกเขาก็เป็นวงที่แสดงสดได้ดี และสนุกกับสิ่งที่ทำ ไซม่อนอยากจะบอกกับทุกคนว่า “นี่ไง สิ่งที่พวกคุณขอกันมาตลอดน่ะ ที่คุณขอผมมาน่ะ ผมให้คุณกลับไปแล้วนะ”  

เพลงร็อกไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างที่เคยเป็นแล้ว ?

  • “มันกำลังจะกลับมาครับ” อย่างวงรุ่นเก๋าแบบ AC/DC หรือ Foo Fighters ก็ยังออกอัลบั้มใหม่กันมาอยู่ ไซม่อนคิดว่า ‘ร็อกไม่มีวันตาย’ จริง ๆ มันยังมีผู้คนที่กระหายในสิ่งนี้อยู่ และไซม่อนก็เชื่อว่ามันจะมียุคสมัยใหม่ของวงร็อกในประเทศไทยแน่ ๆ
  • และเหตุผลที่ไซม่อนจะนำความเป็นอัลบั้มกลับมาก็คือทุกคนต้องการสิ่งที่จับต้องได้ในยุคนี้ ไซม่อนมองว่า MV เป็นสิ่งที่ทำให้คนนิสัยเสีย นอกจากจะใช้งบเยอะแล้วมันยังทำให้เราเลือกดูได้ ดูอันนี้แล้วก็เปลี่ยนไปดูอันนั้น มันง่ายเกินไป (รวมไปถึงการฟังเพลงในสตรีมมิงด้วย) ในขณะที่การดูคอนเสิร์ตเราต้องออกจากบ้าน ต้องเดินทาง และสิ่งที่เราได้ทั้งหมดเลยก็คือ ‘ประสบการณ์’ ไซม่อนไม่สนยอดวิวในยูทูบ เพราะสิ่งที่เขาเชื่อว่าจะตัดสินว่าวง ๆ นั้นดีหรือไม่มันอยู่ที่การแสดงสด และเขาก็ชอบแอบยืนอยู่ข้างเวทีคอยเฝ้ามองกลุ่มคนดูที่กำลังบ้าคลั่งไปกับบทเพลงของศิลปิน เหมือนดังเช่นตอนที่เขายืนอยู่ข้างเวทีงานพัทยามิวสิกเฟสติวัล และซิลลี่ฟูลส์กำลังเล่นเพลง “เพลงนี้เกี่ยวกับความรัก” ซึ่งไซม่อนตั้งใจให้มีท่อน ‘กระโดด’ เพื่อสร้างความมันส์ให้กับแฟน ๆ ในตอนนั้นทุกคนยังไม่เข้าใจแต่ไซม่อนก็บอกกับวงว่าพอถึงเวลาเล่นท่อนฮุคให้กระโดดเลย และเมื่อวงได้ทำแบบนั้นจริง ๆ ภาพที่เขาเห็นก็คือกลุ่มคนที่กำลังกระโดดอย่างบ้าคลั่งไปกับท่วงทำนองของเพลงนี้ และทุกคนในวงก็มองกลับมาที่ไซม่อน พยักหน้าให้ราวกับต้องการจะพูดว่า “นายทำถูกแล้วไซม่อน” ไซม่อนเปรียบเปรยความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี่ว่าเหมือนกับ ‘พ่อที่ภูมิใจในตัวลูก ๆ เมื่อตอนที่เขาได้รับปริญญา’ และมันทำให้เขารู้สึกเสพติดความรู้สึกแบบนี้

“นี่ไง สิ่งที่พวกคุณขอกันมาตลอดน่ะ ที่คุณขอผมมาน่ะ ผมให้คุณกลับไปแล้วนะ”  

อะไรคือบทเรียนที่สำคัญที่สุดในการทำงานกับซิลลี่ฟูลส์

  • กระบวนการทำงานกับซิลลี่ฟูลส์คือการเรียนรู้ที่แท้จริงสำหรับไซม่อน หนึ่งเลยการเป็นฝรั่งที่มาทำงานกับคนไทยเขาต้องเรียนรู้ทั้งภาษา วัฒนธรรม และธรรมเนียมอย่าง ‘ความเกรงใจ’ ในแบบของคนไทย แต่การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดสำหรับไซม่อนเลยคือ ‘การทำให้มันสนุก’ และรักษาสิ่งนั้นเอาไว้ให้ดี เพราะกว่าที่เราจะรู้ตัวมันก็จะไปจากเราแล้ว “เรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับซิลลี่ฟูลส์ สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ เพียงแค่ชั่วพริบตา…มันก็จบลงแล้ว และมันก็จะเหลือแค่เพียงความทรงจำ ดังนั้นในขณะที่คุณกำลังทำมันอยู่ให้ความรักกับมัน เพราะนั่นแหละคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของคุณ”

บทเรียนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของไซม่อน

  • “ ‘ทำวันนี้ให้ดีที่สุด’ ‘ทำดีได้ดี” สิ่งเหล่านี้…มันเป็นสิ่งที่จริงมากเลยนะครับ เราแค่ต้องทำมันให้ดีที่สุด นั่นคือสิ่งเดียวที่เราทำได้”  ทำมันให้ดีที่สุดโดยไม่ทำร้ายใคร ไม่ส่งผลกระทบในด้านลบต่อใคร และใช้ชีวิตต่อไปในเส้นทางของเรา ไซม่อนรักคนไทยเพราะกับคนไทยเขาสามารถพูดอะไรแบบนี้ได้และเราก็จะเข้าใจมัน “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แค่ไหนแค่นั้น เท่านั้นเองครับ”

“สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ เพียงแค่ชั่วพริบตา…มันก็จบลงแล้ว และมันก็จะเหลือแค่เพียงความทรงจำ ดังนั้นในขณะที่คุณกำลังทำมันอยู่ให้ความรักกับมัน เพราะนั่นแหละคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของคุณ”

ไซม่อนมีของขวัญมาให้กับป๋าเต็ด เป็นภาพถ่ายจากกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง “Star Wars Episode IV : A New Hope” ที่ไซม่อนเป็นนักแสดงเด็กร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้ด้วย (เขายืนอยู่ตรงมุมขวาล่างของภาพ) สามารถฟังเรื่องเล่าประสบการณ์การทำงานในกองถ่ายได้ในรายการป๋าเต็ดทอล์ก EP.57 SIMON HENDERSON PART 2 (ตอนจบ)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส