หากเพลงไม่ได้มีไว้แค่ฟัง นี่คือ 10 วิธีสุดประหลาดในการใช้บทเพลงเพื่อทำอะไรบางอย่าง ที่เกินกว่าคุณจะจินตนาการได้

ช่วยชีวิต

ย้อนกลับไปในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 ก่อนที่เพลง “Despacito” จะกลายเป็นเพลงละตินพอปยอดนิยมที่ชวนให้คุณยักย้ายส่ายสะโพกเมื่อได้ยิน ได้มีบทเพลงละตินฮิตที่มีชื่อว่า “Macarena” ของ

Los Del Rio คู่ดูโอละตินพอปจากสเปนที่หากใครเคยได้ฟัง แค่นึกถึงมันกล้ามเนื้อคุณก็กระตุกไปตามจังหวะแล้ว มีเรื่องที่น่าตื่นเต้นเมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนาได้ค้นพบว่าเพลง “Macarena” นี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่ให้คุณยักย้ายส่ายสะโพกไปตามลีลาอันสนุกสนานของมันเท่านั้น เพราะว่าแค่เพียงคุณฮัมหรือฟังเพลงนี้ไปด้วยก็สามารถช่วยให้ผู้ปฐมพยาบาลรักษาอัตราการกดหน้าอกให้อยู่ในอัตราที่ถูกต้องขณะทำ CPR ได้อีกด้วย !

ศาสตราจารย์ เอ็นริก คาร์เรโร คาร์เดนัล (Enrique Carrero Cardenal) กล่าวว่า “Macarena เป็นเพลงที่โด่งดังที่สุดในสเปนและอาจเป็นหนึ่งในเพลงที่โด่งดังที่สุดในโลก และจังหวะในท่อนคอรัสของเพลงก็อยู่ที่ 103bpm ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมาะสมสำหรับการกดหน้าอกขณะทำ CPR” น่าสนใจใช่มั้ยล่ะ และถ้าหากคุณเบื่อจังหวะเร้าใจของ Macarena และอยากลองไปฟังเพลงอื่นที่มีจังหวะในแบบเดียวกันแล้วล่ะก็บทเพลงที่น่าสนใจในความเร็ว 103bpm เพลงอื่น ๆ ก็ได้แก่ “Your Body” โดย Christina Aguilera, “Rock DJ” โดย Robbie Williams หรือ “Crazy” โดย Seal

เคลียร์รันเวย์

การเคลียร์พื้นที่ให้สะอาดนั้นไม่ใช่เรื่องยาก และใคร ๆ ก็คงทำได้แต่การจะเคลียร์รันเวย์ให้เรียบร้อยนั้นดูเหมือนว่าอาจจะต้องใช้ความสามารถพิเศษสักหน่อย เมื่อสนามบินกลอสเตอร์เชอร์นั้นเต็มไปด้วยพวกนกซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงในระหว่างการขึ้นบินและลงจอด วิธีการไล่นกแบบเดิม ๆ พิสูจน์แล้วว่าไร้ประโยชน์ ดังนั้นสนามบินจึงใช้กลวิธีใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงการใช้พลุไฟและพนักงานที่โบกถุงขยะรอบศีรษะเพื่อเลียนแบบนกล่าเหยื่อ

ซึ่งก็คงไม่น่าแปลกใจที่นักมันจะไม่ได้ผลเช่นกัน ดังนั้นพวกเขาจึงใช้วิธีต่อไปที่สุดแสนจะครีเอทนั่นคือการใช้รถตู้ที่มีลำโพงอยู่ด้านบนเพื่อปล่อยเสียงอันเซ็งแซ่ของนกเข้าไปก่อกวนซะเลย แต่ต่อมาไม่นาน ดาร์เรน เลวิงทัน (Darren Lewington) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการสนามบินก็พบว่าวิธีนี้ไม่น่าจะเวิร์กก็เลยบอกกับทีมว่าเขาคิดวิธีที่ดีกว่าออกแล้วนั่นก็คือการเปิดเพลงให้นกฟัง ! และก็เป็นเรื่องฮาที่ว่าเพลงที่เปิดในตอนนั้นเป็นเพลงของทีน่า เทอร์เนอร์ (Tina Turner) พอดี ก็เลยไม่รู้ว่าถ้าใช้เพลงอื่นมันก็จะหนีไปเหมือนกันหรือเจ้านกพวกนี้มันหวั่นเกรงในพลังเสียงของเทอร์เนอร์กันแน่

ปลุกอารมณ์แพนด้า

หมีแพนด้านั้นน่ารักแต่มักมีเรื่องฉาวในเรื่องของการผสมพันธุ์ แน่นอนว่าพวกมันสามารถจัดการเรื่องพวกนี้ได้เองโดยธรรมชาติ แต่เราก็ไม่วายที่จะเป็นห่วงมันและยิ่งในช่วงหลังสวนสัตว์ทั่วโลกมักประสบปัญหาคล้าย ๆ กันด้วยนั่นคือพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นมักมีปัญหาในเรื่องของการสืบพันธุ์ ดังนั้นผู้ดูแลส่วนใหญ่มักเลือกวิธีช่วยเหลือแพนด้าด้วยการให้ไผ่เพิ่มขึ้น ให้มันออกกำลังกาย จัดแสงเพื่อบิลท์อารมณ์หวิว หรือแม้แต่การเปิด ‘หนังโป๊แพนด้า’ ให้ดู

ในปี 2013 หนังสือพิมพ์ Huffington Post รายงานว่าเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์เอดินบะระกำลังพยายามใช้ประโยชน์จากช่วงเจริญพันธุ์ของ ‘เถียน เถียน’ แพนด้าเพศเมียที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาแค่สองวันต่อปีโดยเปลี่ยนเพลงบิลท์อารมณ์ของเจ้า ‘หยาง กวง’ แพนด้าเพศผู้จากที่แต่เดิมให้ฟังเพลงคลาสสิกให้ไปฟังเพลงแบบสบาย ๆ แทนโดยมีเพลง “Let’s Get It On” ของมาร์วิน เกย์ (Marvin Gaye) เป็นรีเควส9Nพิเศษจากผู้ดูแลของพวกมัน โฆษกหญิงคนหนึ่งบอกกับ Daily Mirror ว่าเสียงร้องของมาร์วินดูเหมือนจะช่วยปลอบเจ้าหยาง กวงได้ดี แต่ก็น่าเศร้าที่แม้จะมีพลังเย้ายวนจากเสียงร้องของมาร์วินแต่เจ้าเถียน เถียนและหยาง กวงก็ยังมีเจ้าตัวน้อยด้วยกันไม่ได้สักที ซึ่งดูแล้วเพลงนี้น่าจะใช้ได้ผลดีกับคนมากกว่านะ

ส่งสารลับ

เราอาจจะคุ้นเคยดีกับเรื่องของเพลงที่ซ่อนสารลับจากซาตานหรือข้อความพิศวงที่ถูกซ่อนไว้ในบทเพลงอยู่ไม่น้อยซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือคิดเป็นตุเป็นตะไปเองรึเปล่า แต่ที่แน่ ๆ เรื่องของการซ่อนสารลับในเพลงเพื่อเหตุผลบางอย่างนั้นเคยเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ 

ในปี 2010 กลุ่มกองโจร Farc ของโคลอมเบียได้จับตัวประกันไว้ในฐานทัพในป่าของพวกเขา พันเอกโฮเซ่ เอสเปโฮ (Jose Espejo) ได้มอบหมายให้ผู้บริหารบริษัทโฆษณาชื่อดัง ฮวน คาร์ลอส ออร์ติซ (Juan Carlos Ortiz) ให้ทำการส่งข้อความไปถึงเหล่าทหารเรื่องการเข้าช่วยเหลือตัวประกันโดยที่ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามล่วงรู้

ตามที่รายงานโดย The Verge ทีมงานของออร์ติซค้นพบแนวคิดในการซ่อนข้อความรหัสมอร์สเอาไว้ในเพลงฮิต “Mejores Dias (Better Days)” ของนาตาเลีย กัวเตียร์เรซ แองเจโล (Natalia Guiterrez Y Angelo) ซึ่งมีเนื้อเพลงเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของตัวประกัน “In the middle of the night / Thinking about what I love the most / Although I’m tied up and alone I feel as if I’m by your side / Listen to this message brother” หลังจากข้อความสุดท้ายได้ผ่านไป รหัสมอร์สที่ซ่อนเร้นอยู่ท่ามกลางเสียงของเครื่องดนตรีอื่น ๆ ก็ส่งเสียงบี๊บออกมาซึ่งถอดความได้ว่า “เราช่วยตัวประกันไปได้แล้ว 19 คน คุณคือคนต่อไป อย่าเพิ่งหมดหวังล่ะ” เพลงนี้ถูกเพิ่มเข้าไปในลิสต์เพลงของรายการวิทยุของรัฐ และข้อความก็ถูกส่งผ่านด้วยวิธีเช่นนี้จนนำไปสู่การช่วยเหลือตัวประกันได้ในที่สุด ตัวประกันคนสุดท้ายได้รับการปล่อยตัวในปี 2012 และในปี 2016 Farc ได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลเป็นอันสิ้นสุดสงครามอันยาวนานร่วม 52 ปี

หากใครได้ฟังเพลงนี้เชื่อว่าคงชื่นชอบและหลงใหลในท่วงทำนองที่ฟังสบายและไพเราะแน่ ๆ ใครจะไปรู้ล่ะว่าสารลับนั้นจะฟังติดหูได้ดีขนาดนี้

ขับไล่โจรสลัด

ไม่ใช่แค่นกนะที่ต๊กกะใจไปกับการฟังเพลงพอป ดูเหมือนว่าโจรสลัดเองก็จะกลัวเสียงของบริตนีย์ สเปียร์ส (Britney Spears) ไม่น้อยเลย

กองทัพเรืออังกฤษจะส่งเรือลาดตระเวนนอกชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาอยู่เสมอเพื่อคอยกันไม่ให้พวกโจรสลัดเข้ามาใกล้ชายฝั่งนอกจากนี้ยังป้องกันพวกลูกเรือโดนโจรสลัดลักพาตัวและจับไปเรียกค่าไถ่ด้วย เรือรบบางลำหันไปใช้อาวุธที่แปลกใหม่เกินกว่าที่จะคิดจินตนาการได้ นั่นคือการใช้เพลงพอปขับไล่นั่นเอง !

“คนเหล่านี้ไม่สามารถทนรับวัฒนธรรมตะวันตกหรือเสียงดนตรีได้ทำให้เพลงฮิตของบริตนีย์เป็นอะไรที่เหมาะเจาะมาก ๆ” เจ้าหน้าที่ ราเชล โอเวนส์ (Rachel Owens) บอกกับ Metro ในปี 2013 “ทันทีที่โจรสลัดโดนโจมตีด้วยเสียงของบริตนีย์ พวกเขาก็แจ้นหนีไปเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” “Oops!… I Did It Again” และ “…Baby One More Time” ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเพลงของบริตนีย์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีประสิทธิภาพมากจนเรือรบแทบจะไม่จำเป็นต้องลั่นกระสุนปืนออกไปเลยสักนัด สตีเวน โจนส์ (Steven Jones) จากสมาคมความมั่นคงสำหรับอุตสาหกรรมการเดินเรือกล่าวเสริมว่า “ผมลองคิดเล่น ๆ ดูว่าถ้าใช้เพลงของจัสติน บีเบอร์มันคงจะขัดต่ออนุสัญญาเจนีวาเลยล่ะ” (หมายความวื่ด้วยความพอปของจัสตินมันคงมีอานุภาพรุนแรงเสียจนขัดต่อหลักมนุษยธรรมเลยทีเดียว)

สงครามอุดมการณ์

ความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีนั้นเรียกได้ว่ายากที่จะประสานกันแต่ถึงอย่างนั้นก็มีความพยายามมาโดยตลอดที่จะหาหนทางที่ลงตัวที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ  โดยบนเส้นทางของความสัมพันธ์นั้นดนตรีและวัฒนธรรม ‘เคพอป’ นับว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่เกาหลีเหนือพยายามต่อต้านแต่ที่ผ่านมาวัฒนธรรมเคพอปนั้นก็ได้ซึมแทรกเข้าไปสู่วัยรุ่นในเกาหลีเหนือ (ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นการเอาไฟล์เพลงและเอ็มวีใส่ไว้ในแฟลชไดร์ฟที่ลักลอบนำเข้าไป) จนนำไปสู่การการประกาศกร้าวจากท่านผู้นำคิม จองอึนว่าหากพบว่าใครเสพรับวัฒนธรรมเคพอปแล้วล่ะก็จะต้องโทษอย่างหนัก

เมื่อย้อนไปในช่วงไม่กี่ปีก่อนนี้ก็เคยมีเรื่องของการใช้เพลงเคพอปเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพและตอบโต้กับนโยบายต่อต้านจากทางเกาหลีเหนือ โดยเกาหลีใต้ได้ติดตั้งชุดลำโพงขนาดยักษ์ที่มีดอกลำโพงจำนวนมากไว้ในเขตปลอดทหารและเปิดรายการจากทางสถานีของเกาหลีใต้ซึ่งแน่นอนว่าเต็มไปด้วยเพลงเคพอป ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็มีศิลปินชื่อดังที่ออกผลงานมามากมายเช่น Girls’ Generation, IU และ Bigbang

อย่างในช่วงปี 2010 เกาหลีใต้ก็ตอบโต้การที่เกาหลีเหนือจมเรือรบด้วยการออกอากาศเพลง HUH (Hit Your Heart) จากเกิร์ลกรุ๊ป 4minute ซึ่งมีเนื้อร้องที่มีใจความว่า “ฉันทำในสิ่งที่ฉันต้องการและฉันจะทำมันในแบบของฉัน” และต่อมาในปี 2015 ทางเกาหลีเหนือก็รู้สึกเหลืออด จึงพยายามบอกให้เกาหลีใต้เลือกระหว่างทำการปิดลำโพงนี่ซะหรือไม่ก็มาทำสงครามกันเลย ในเมษายนปี 2016 เกาหลีใต้จึงตัดสินใจที่จะถอดปลั๊กลำโพงออกเพื่อนำไปสู่การประชุมสุดยอดระหว่างคิม จองอึนและประธานาธิบดี มุน แจอินของเกาหลีใต้เพื่อ“บรรเทาความตึงเครียดทางทหารและสร้างอารมณ์สงบสำหรับการประชุม” นั่นเอง

ผ่อนคลายความเครียดของสุนัขกับต้นไม้ (และช่วยสร้างความเร้าใจให้กับปลวก)

เมื่อปีที่แล้วผลการศึกษาในวารสารทางวิทยาศาสตร์ Physiology & Behavior พบว่าการเล่นเพลงแนวต่าง ๆ ให้สุนัขที่ถูกเลี้ยงในศูนย์พักพิงฟังนั้นมีผลต่อระดับความเครียดของพวกมันอย่างเห็นได้ชัด เพลงจากค่ายโมทาวน์ เพลงพอป หรือเพลงคลาสสิdนั้นช่วยลดความวิตกกังวลของสุนัขได้เพียงเล็กน้อย แต่เพลงแนวที่ดีที่สุดสำหรับการปลอบโยนเจ้าพวกเพื่อนสี่ขากลับกลายเป็นเพลงร็อกและเรHกเก้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ็อบ มาร์เลย์ (Bob Marley) นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นขวัญใจของบรรดาหมา ๆ เลยทีเดียว

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าดนตรีบางประเภทนั้นสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้ โดยดนตรีคลาสสิกจะมีประสิทธิภาพมากเป็นพิเศษ ส่วนแนวเพลงที่มีความกราดเกรี้ยวขึ้นมาอย่าง ร็อกกลับสามารถกระตุ้นการทำงานของปลวกได้ดี !! บางทีผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านไม้ควรเพลา ๆ การเล่นเพลงร็อกลงบ้างไม่งั้นอาจจะโดนเหล่าชาวร็อกตัวจิ๋วจัดการกินบ้านเสียเรียบ

เป็นสัญญาณของการปฏิวัติ (หรือสัญญาณของภัยพิบัติ)

การประกวดเพลงยูโรวิชันในปี 1974 ส่วนใหญ่จำได้ว่าเป็นปีที่ ABBA ชนะการประกวดด้วยบทเพลง “Waterloo” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของหนึ่งในตำนานของวงการดนตรี แต่ในปีเดียวกันนี้ได้มีเพลงจากโปรตุเกสที่มีชื่อว่า “E Depois Do Adeus (“And After, The Farewell”)” โดย เปาโล เดอ คาร์วัลโย (Paulo de Carvalho) ซึ่งก็ไม่ได้โด่งดังหรือเป็นที่จดจำในฐานะบทเพลงจากการประกวดครั้งนี้แต่อย่างใด หากแต่มันได้มีที่ทางอยู่ในประวัติศาสตร์หลังจากจบการแข่งขันได้ไม่นาน ช่วงเวลานั้นโปรตุเกสอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของนายพลเอสตาดา โนโว (Estada Novo) มาตั้งแต่ปี 1933 จนในที่สุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 1975 สถานีวิทยุ Emissores Associados de Lisboa ได้เล่นเพลง “E Depois Do Adeus” เมื่อเวลา 23.50 น. ซึ่งเป็นสัญญาณให้เหล่าทหารกบฏเริ่มทำการรัฐประหารซึ่งต่อมาได้กลายเป็น ‘Carnation Revolution’ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของโปรตุเกส

อีกหนึ่งปีต่อมาในเวียดนามบทเพลง “White Christmas”ของ บิง ครอสบี (Bing Crosby) ถูกเล่นในรายการวิทยุของกองทัพตอนตี 3 เพื่อเป็นสัญญาณให้กองทัพสหรัฐ ฯ เริ่มการถอนทัพครั้งสุดท้ายออกมาจากไซง่อน

เช่นเดียวกับการปฏิวัติและการถอนทัพ เพลงบางเพลงสามารถส่งสัญญาณว่าประเทศเข้าสู่โหมดวิกฤต ในสหราชอาณาจักร สถานีวิทยุทั้งหมดมีขั้นตอนและรายการเพลงที่ต้องปฏิบัติตามในกรณีที่เกิดภัยพิบัติระดับชาติ เมื่อสัญญาณไฟสีฟ้าเริ่มกะพริบ ทุกสถานีควรมีเพลย์ลิสต์เพลงที่ชวนผ่อนคลายเตรียมไว้ล่วงหน้า “ถ้าคุณเคยได้ยิน Haunted Dancehall (Nursery Remix) ของ Sabers of Paradise ทางสถานีวิทยุ Radio 1 ในช่วงเวลากลางวัน นั่นหมายความว่าให้คุณเปิดทีวี เพราะมันกำลังมีเรื่องเลวร้ายบางอย่างเกิดขึ้น” คริส ไพรซ์ (Chris Price) แห่ง BBC Radio บอกกับ Huffington Post ในปี 2011 ไพรซ์เล่าถึงความยากในการหาเพลงที่เหมาะสมที่จะเล่นในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังข่าวเหตุการณ์ 9/11ได้เผยแพร่ออกไป ไพรซ์เน้นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมสำหรับสิ่งที่เลวร้ายที่สุด “การมีช่วงเวลาดี ๆ อันมีคุณค่ากับเสียงเพลงที่ปราศจากพิษภัยช่วยซื้อเวลาให้คุณในขณะที่คุณกำลังเตรียมตัวเพื่อคิดวางแผนว่าควรจะทำอะไรต่อไป”

เป็นเสียงปลุกบนโลก (และนอกโลก)

ทางเลือกหนึ่งที่ใช้กันโดยทั่วไปสำหรับเสียงเพลงก็คือการลากเราออกจากอ้อมแขนของการนอนหลับอย่างนุ่มนวลกว่าการใช้เสียงเตือนอันกระโชกโฮกฮากของนาฬิกาปลุกส่วนใหญ่ แต่มันก็มีวิธีที่เวิร์กและไม่เวิร์กในการทำเช่นนี้ คงไม่มีใครอยากตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ด้วยเสียงอันกราดเกรี้ยวของเพลงเดธเมทัล แต่อะไรที่ชวนผ่อนคลายเกินไปก็อาจทำให้คุณกดปุ่ม snooze และหลับต่อทันที

โชคดีที่ เดวิด เอ็ม กรีนเบิร์ก (David M Greenberg) นักศึกษาปริญญาเอกด้านจิตวิทยาได้ร่วมมือกับ Spotify เพื่อสร้างเพลย์ลิสต์ของเพลงปลุกที่ดีที่สุด เห็นได้ชัดว่ากุญแจสำคัญคือการบิลต์อารมณ์อย่างช้า ๆ แต่มีจังหวะที่หนักแน่น และเนื้อร้องที่ยกระดับจิตใจ เพลงที่รวมอยู่ในเพลย์ลิสต์นี้ประกอบด้วย “Viva La Vida” ของ Coldplay, “Walking on Sunshine” โดย Katrina and the Waves , “Lovely Day” โดย Bill Withers และ “Wake Up” โดย Arcade Fire ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามันน่าจะเหมาะกับการทำอะไร

การรักษานาฬิกาชีวิตให้ตรงเวลานั้นยากยิ่งกว่าในอวกาศ และเป็นเวลาหลายปีที่นักบินอวกาศในโครงการกระสวยอวกาศของนาซ่าและสถานีอวกาศนานาชาติตื่นขึ้นด้วยเสียงเพลงที่เลือกสรรมาอย่างดี คริส แฮดฟิลด์ (Chris Hadfield) หัวหน้าหน่วยควบคุมภารกิจ CAPCOM (ไม่ได้เป็นชื่อค่ายเกมนะแต่มันหมายถึง capsule communicator หรือห้องควบคุมการสื่อสารระหว่างบนโลกกับนักบินอวกาศ) ที่ Lyndon B Johnson Space Center ในฮูสตัน รัฐเท็กซัส บอกกับนิตยสาร Details ในปี 2000 ว่า “คุณคงไม่อยากเล่นเพลงเศร้าหรือเพลงที่ไม่สร้างแรงบันดาลใจเพราะคุณอยากจะให้พวกเขามีไฟกันตั้งแต่เช้า”

เพลงปลุกใจเพลงแรกที่เล่นโดยนาซ่าคือเพลง “Hello Dolly” ของ Jack Jones ในปี 1965 ตั้งแต่นั้นมา “Space Oddity” ของ David Bowie และ “Rocket Man” ของ Elton John ก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกับเพลง “Going Back to Houston” ของ Dean Martin รวมถึง “Shiny Happy People” ของ REM, เพลงธีม Star Wars และ Rocky, เพลงธีม Mission: Impossible จาก Adam Clayton และ Larry Mullen แห่งวง U2, “Doctor! Doctor!” จาก Thompson Twins และ “Heartbreak Hotel” ที่คัฟเวอร์โดยวงร็อกนักบินอวกาศจากฮุสตันนาม ‘Max-Q’

ตัวช่วยที่ดีในการผ่าตัด

เราอาจเคยได้รู้จากภาพยนตร์และซีรีส์ที่เป็นเรื่องราวในโรงพยาบาลมาว่าศัลยแพทย์ที่เก่งที่สุดมักชอบที่จะรักษาสมาธิและจุดโฟกัสของพวกเขาด้วยดนตรีคลาสสิกในขณะที่ใช้มีดผ่าตัด ในภาพยนตร์สารคดีปี 2010 ของ BBC News แพทย์ตัวจริงได้เปิดเผยว่าพวกเขาเลือกเพลงอย่างไร ดนตรีที่ชวนผ่อนคลายนั้นดี และดนตรีที่มีเสียงที่ดุดันหรือเศร้าหมองนั้นไม่ดีแน่นอน (อย่างที่เราน่าจะพอเดาได้) และ ดร.ซานเจย์ กูลาติ (Sanjay Gulati) ที่ปรึกษาวิสัญญีแพทย์นั้นเผยว่า “ฟังก์ชันสับเปลี่ยนเพลงบน iPod นั้นเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะเพลงทุกประเภทสามารถโผล่เข้ามาได้” แน่นอนว่ามันคงไม่ดีแน่ถ้าเพลง “The First Cut Is the Deepest” (แผลแรกนั้นลึกที่สุด) ของ PP Arnold จะโผล่มาในเวลาที่กำลังทำการผ่าตัด

ที่ปรึกษาด้านระบบปัสสาวะ เบน ชาลลาคอมบ์ (Ben Challacombe) เปิดเผยว่าดนตรีสามารถมีบทบาทโดยตรงและเป็นประโยชน์ในการผ่าตัดเช่น การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย ซึ่งในช่วงเวลาของการผ่าตัดเบนชอบที่จะสร้างเพลย์ลิสต์ 5 เพลงที่มีความยาวประมาณ 5 นาทีต่อเพลงเพื่อให้เขาสามารถกำหนดเวลาได้ “ถ้าผมเบือนหน้าหนีจากหุ่นยนต์ มันจะหยุดทำงาน ดังนั้นผมจึงสามารถใช้เสียงเพลงเพื่อบอกเวลาได้แทนที่จะต้องมองขึ้นไปที่นาฬิกา” วงโปรดของเบนได้แก่ “Catatonia” และ “Queen” แต่เขาก็เสริมว่า ”แต่เพลง Another One Bites the Dust ของ Queen นั้นคงไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก และแน่นอนว่าคงไม่มีใครยอมให้ผมเล่นเพลง Smooth Operator ของ Sade แน่นอน”

Source

ฺBBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส