ทุกคนคงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกมฟุตบอลยูโรระหว่าง ‘เดนมาร์ก’ กับ ‘ฟินแลนด์’ กันดีแล้ว เมื่อ ‘คริสเตียน อีริคเซน (Christian Eriksen)’ นักฟุตบอลจากทีมเดนมาร์กเกิดอาการภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ฟุบล้มกับพื้นสนาม สิ่งที่เกิดขึ้นก็ตามภาพที่เห็น ทั้งทีมแพทย์ นักกีฬา กรรมการ ยันแฟนบอลต่างรู้หน้าที่ของตัวเอง ทำให้เขารอดพันขีดอันตรายมาได้ทันท่วงที แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ย่อมผ่านการสูญเสียมาก่อน เราจะมาถอดบทเรียนภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่นักกีฬาที่แข็งแรงแค่ไหนก็ตาม

เครดิตรูปภาพจากทวิตเตอร์ @alien_hun_mien

ก่อนอื่นนั้นขอพาไปทำความรู้จักกับประเทศ ‘เดนมาร์ก’ หนึ่งในประเทศที่มีความรู้พื้นฐานเรื่องการทำ CPR ดีที่สุดในโลก เริ่มตั้งแต่ปี 2005 รัฐบาลเดนมาร์กใส่หลักสูตรการทำ CPR ไว้ในวิชาเรียนระดับประถมศึกษา ขอย้ำนะครับชั้นประถมศึกษา! รวมถึงข้อบังคับเวลาสอบใบขับขี่ก็ต้องรู้วิธีการทำ CPR ด้วย ส่งผลให้สถิติการรอดชีวิตของคนหัวใจวายในเดนมาร์กสูงขึ้น 3 เท่าตัว นี่ขนาดคนธรรมดาทั่วไป ไม่ต้องพูดถึงเจ้าที่หน้าสาธารณสุขหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมีความรู้และทักษะที่ปฏิบัติงานได้จริงตลอดเวลา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘คริสเตียน อีริคเซน’ ทำให้เขารอดชีวิต

นับจากปี 2003 ทางฟีฟ่ามีนโยบายให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลต้องมีความรู้เกี่ยวกับภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest หรือ SCA)’ หากนักฟุตบอลคนไหนหรือใครก็ตามในสนามเกิดอาการนี้ทุกคนต้องรู้ว่าปฏิบัติอย่างไร เช่นเดียวกับสิ่งที่แอนโธนี เทย์เลอร์ (Anthony Taylor) ผู้ตัดสินชาวอังกฤษเป่าหยุดเกมทันที หรือทีมแพทย์ที่ต้องวิ่งเข้ามาในสนามโดยเร็วที่สุด (ใช้เวลาเพียง 21 วินาที) ไปจนถึงนักกีฬาก็ต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง เช่นเดียวกับที่ทีมเดนมาร์กต่างมายืนล้อมปิดกั้นสื่อบันทึกภาพนั่นเอง

ในทางการแพทย์มองเห็นความสำคัญของภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ เช่นกัน ขออนุญาตยกบทความของนพ. นรศักดิ์ สุวจิตตานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและ Sports Cardiologist มาสรุปให้ฟังว่า ภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ เกิดขึ้นไม่บ่อย มีตัวเลขเฉลี่ยคร่าว ๆ ว่า โอกาสเกิดขึ้นแค่ 1 ในแสนคนเท่านั้น โดยแบ่งกลุ่มเสี่ยงออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มนักกีฬาที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจมาตั้งแต่กำเนิด อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่ก็ได้ ในขณะที่อีกคือกลุ่มนักกีฬาที่อายุเกิน 35 ปี จะมีเรื่องของเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจ อย่างไรก็ตามภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ก็ยังพบได้อยู่ในอัตราส่วนที่ลดลง

ศึกคอนเฟดเดอเรชั่น คัพระหว่างฝรั่งเศสและแคเมอรูนในปี 2003 / เครดิตรูปภากจาก fifa.com

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีนักฟุตบอลเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายเฉลี่ยแล้วเดือนละ 1 คน แต่ที่ทำให้ฟีฟ่าหันมาสนใจเรื่อง ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ เกิดมาจากเหตุการณ์ในศึกคอนเฟดเดอเรชั่น คัพในปี 2003 ของมาร์ค-วิเวียน โฟเอ (Marc-Vivien Foe) กองกลางชาวแคเมอรูน เกมวันนั้นดำเนินมาถึงนาทีที่ 72 อยู่ดี ๆ กองกลางคนนี้ก็ล้มลงไปดื้อ ๆ เช่นเดียวกับ ‘อีริคเซน’ ทว่าในยุคนั้นยังไม่มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ทีมแพทย์ได้มีการจับตัวโฟเอพลิกไปพลิกมา เวลาผ่านไปหลายนาทีก็ยังไม่มีการทำ CPR (การทำ CPR ทันเวลามีโอกาสที่นักกีฬาจะมีชีวิตรอดถึง 70%) จนท้ายที่สุดโฟเอเสียชีวิตในห้องแพทย์โดยที่ยังไม่ได้เคลื่อนย้ายไปโรงพยาบาลเสียด้วยซ้ำ

การเสียชีวิตครั้งนั้นของมาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ไม่ใช่ความตายที่ไม่มีความหมาย เพราะทางฟีฟ่าและยูฟ่าต่างตระหนักถึงความสำคัญของภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ว่าสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แม้จะเป็นนักกีฬาที่สุขภาพแข็งแรงก็ตามที จึงได้มีการเพิ่มหลักสูตรการทำ CPR และใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า รวมถึงติดตั้งเครื่อง AED ให้มีไว้ติดสนามอยู่เสมอ ทำให้เหตุการณ์ต่อ ๆ มารวมถึงล่าสุดกับ ‘คริสเตียน อีริคเซน’ ทุกคนต่างรู้ว่าดีว่า ทุกวินาทีคือความเป็นความตายของนักกีฬาและเกิดขึ้นได้กับทุกคนนั่นเอง

อ้างอิง, อ้างอิง, อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส