การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นรวบรวมมนุษย์จากทั่วโลกมาแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ มหกรรมกีฬาโอลิมปิกนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ผ่านมาแล้วกว่าร้อยปีมีการเปลี่ยนแปลงการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ อยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคือโอลิมปิกปี 1908 นอกจากจะเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุกีฬา ‘ดวลปืน’ เข้ามาร่วมแข่งขันแล้ว ยังเป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้เห็นการ ‘ดวลปืน’ ในสนามอีกด้วย

การดวลปืนในนิวยอร์กปี 1909

หลายคนนึกภาพการ ‘ดวลปืน’ จากหนังคาวบอยยุคเก่า ๆ ที่ต่างคนต่างยืนหันหลังให้กันแล้วก้าวเท้าเดินทีละก้าว ก่อนที่จะหันมาแล้วชักปืนใส่กัน แม้ว่าการ ‘ดวลปืน’ ในสมัยก่อนจะเป็นการตัดสินฝีมือการยิงปืนของแต่ละคนแล้ว ยังใช้แก้ปัญหาที่ไม่ลงรอยกันด้วย ความถูกต้องจึงมาพร้อมชัยชนะ และผู้แพ้บางครั้งก็แลกด้วยความตายเสมอ แม้จะดูป่าเถื่อนไปบ้าง แต่จริง ๆ แล้วมันคือการต่อกันระหว่างผู้รักษากฎหมายและผู้ทำผิดกฎหมายด้วยอาวุธปืนต่างหาก

อาวุธปืนดัดแปลงและเครื่องป้องกันสำหรับใช้แข่งขัน

อย่างไรก็ตามด้วยยุคสมัยที่เจริญขึ้น มีวัฒนธรรมและเทคโนโลยีเข้ามา กิจกรรม ‘ดวลปืน’ จึงกลายเป็นสิ่งล้าหลังและไม่ได้รับความนิยม ถึงขนาดกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายไปโดยปริยาย ทว่ามีคนบางกลุ่มที่เห็นว่าความตื่นเต้นจากการ ‘ดวลปืน’ ยังมีอยู่ และเปลี่ยนจากกิจกรรมคอขาดบาดตายกลายมาเป็นกีฬาสมัยใหม่ ที่ไม่ทำให้ใครตาย (แต่อาจมีบาดเจ็บบ้างเป็นธรรมดา) โดยเปลี่ยนอุปกรณ์จากกระสุนจริงมาเป็นขี้ผึ้ง และมีการใส่เครื่องป้องกันเพื่อความปลอดภัยของนักกีฬา ที่เหลือก็แค่อาศัยความกล้าเข้าไปลงเล่น

จุดเริ่มต้นของกีฬา ‘ดวลปืน’ มาจากพอล เดวิลเลอร์ส (Paul Devillers) แพทย์ผู้คลั่งไคล้การดวล เขาได้พัฒนาอาวุธปืนขึ้นมาเพื่อทดสอบทักษะการดวลของตัวเองโดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น โดยดัดแปลงกระสุนพิเศษที่ได้จากไขมันวัวและแบเรียมซัลเฟต ซึ่งเป็นสารทึบแสงที่ใช้สำหรับการเอ็กซ์เรย์ ร่วมกับผู้ผลิตปืนพก Piot LePage ให้ช่วยสร้างปืนที่สามารถยิงกระสุนแบบนี้ได้ จนตอนหลังพัฒนากลายมาเป็นกระสุนขี้ผึ้งแทน

ความนิยมของการ ‘ดวลปืน’ เพิ่มขึ้นจนถึงขนาดที่เดวิลเลอร์สก่อตั้งสมาคมดวลปืน Societe L’Assaut au Pistolet ที่ประเทศฝรั่งเศสขึ้นมาในปี 1904 ซึ่งเป็นศูนย์รวมของคนที่ชื่นชอบการดวลและปืนทั้งประเทศ รวมถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศสอย่างฌ็อง แคชเมียร์ เปรีเยร์ (Jean Casimir-Perier) หลังจากเริ่มมีคนเริ่มเห็นกีฬา ‘ดวลปืน’ และผลักดันจนสามารถเข้าเป็นหนึ่งในกีฬาโอลิมปิกในปี 1908 ซึ่งมีการแข่งขันเป็นประเภทดวลปืนระยะ 20 เมตร และ 30 เมตร โดยผู้ที่ได้รับเหรียญทองเป็นชาวฝรั่งเศสและกรีกตามลำดับ

อย่างไรก็ตามหลังจากโอลิมปิกในครั้งนั้นก็ตามมาด้วยสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงทำให้ภาพลักษณ์ของการหยิบปืนเข้าหากันไม่ใช่ ‘ความสนุก’ ที่ควรค่าแก่การบรรจุไว้ในกีฬาอีกต่อไป การดวลปืนจึงเป็นกีฬาที่โผล่มาแบบงง ๆ และก็จากไปแบบเนียน ๆ จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าเราจะไม่มีโอกาสเห็นการ ‘ดวลปืน’ อีกแล้ว แต่กีฬายิงปืนก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รวมถึงเหรียญทองเหรียญแรกในโอลิมปิก 2021 ที่กรุงโตเกียวที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ก็จะเป็นการแข่งขันยิงปืนยาวของนักกีฬาหญิง ซึ่งทำให้เป็นว่าแม้ความตื่นเต้นจะลดลงไปบ้าง แต่ปืนก็ยังอยู่กับมนุษย์ต่อไป

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส