The Queen’s Gambit ซีรีส์เรื่องล่าผลงานของ Netflix ที่เพิ่งปล่อยสตรีมมิงไปเมื่อเดือนตุลาคม ถือว่าเป็นมินิซีรีส์ที่มาแบบเงียบ ๆ ทาง Netflix เองก็ไม่ได้โปรโมตอะไรมากมาย แต่ด้วยคุณภาพของตัวซีรีส์เอง ที่ทำให้เกิดกระแสแนะนำทั้งปากต่อปาก และบรรดาเพจหนังที่ต้องออกมาสรรเสริญถึงความสนุกของซีรีส์ จน The Queen’s Gambit ก็ได้ขึ้นอันดับ 1 ในตารางหนังยอดนิยมใน Netflix ไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็เทไปที่ตัวน้อง อันยา เทย์เลอร์ จอย ทั้งในเรื่องเสน่ห์ดึงดูดบนจอ และความสามารถในการแสดงที่ดูพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด ทำให้บทบาท เบ็ธ ฮาร์มอน ของเธอจะเป็นผลงานเด่นที่คนดูจะจำไปอีกนานจากนี้ และอีกส่วนหนึ่งก็คือคุณภาพของบทภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดชีวิตของ เบ็ธ ฮาร์มอน ออกมาได้อย่างน่าติดตาม

อันยา เทย์เลอร์ จอย ในบท เบ็ธ ฮาร์มอน

ที่สำคัญ แม้ว่าซีรีส์จะพูดถึง หมากรุก แต่ก็สามารถทำให้คนที่เล่นหมากรุกไม่เป็นสามารถสนุกกับหนังไปได้ ขนาดที่ว่าหลาย ๆ คนก็ดูรวดเดียวจบ 7 ตอนเลยก็มี เชื่อแน่ว่าต้องมีบางคนสงสัยว่าทำไมซีรีส์ถึงถ่ายทอดชีวิตของนักแข่งหมากรุกออกมาได้สมจริงและชวนติดตามขนาดนี้ บทความนี้จะพาเราลงไปเบื้องลึกเบื้องหลังที่มาของตัวละคร เบ็ธ ฮาร์มอน กันครับ ว่าคนเขียนสร้างตัวละครนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

ใครคือแรงบันดาลใจให้เกิดตัวละคร เบ็ธ ฮาร์มอน

วอลเทอร์ เทวิส ผู้เขียนนิยายต้นฉบับ


ต้องเกริ่นก่อนว่าซีรีส์ The Queen’s Gambit นั้น ดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกัน ผลงานของนักเขียนนาม วอลเทอร์ เทวิส นิยายถูกตีพิมพ์เมื่อปี 1983 แล้ววอลเทอร์ก็เสียชีวิตในปี 1984 เพียงปีเดียวหลังหนังสือออกจำหน่าย ไม่ทันได้อยู่เห็นความสำเร็จของนิยายในระยะยาว แน่นอนล่ะว่าที่นิยายเขียนลงลึกเกี่ยวกับวงการหมากรุกได้แบบนี้ นายวอลเทอร์เองนี่ล่ะ ที่เป็นเล่นหมากรุกตัวยง ทำให้เขาถ่ายทอดเรื่องราวบรรยากาศในนิยายออกมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาเอง เขายังเคยพูดถึงนักเล่นหมากรุกที่เป็นฮีโรของเขา 3 คน ก็คือ บ็อบบี้ ฟิชเบอร์, บอริส สแปสกี้ และ อนาโตลอฟ คาร์พอฟ เขาบรรยายถึง 3 คนนี้ไว้ว่า ผู้จุดประกายให้กับนักเล่นหมากรุก แต่ถ้าพิจารณากันต่อถึง 3 ชื่อที่วอลเทอร์อ้างอิงถึงนั้น เราจะเห็นได้ว่าเรื่องราวของ บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ ดูจะใกล้เคียงกับตัวตนของ เบ็ธ ฮาร์มอน มากที่สุด

ปกนิยาย The Queen’s Gambit

ในช่วงที่หนังสือนิยายวางแผงใหม่ ๆ นั้น The New York Times ได้เคยสัมภาษณ์ วอลเทอร์ เทวิส ไว้ เราจึงขอหยิบยกบทสัมภาษณ์บางส่วนที่น่าสนใจมาเล่าต่อในที่นี้ครับ

“ผมเริ่มหัดเล่นหมากรุกกับพี่สาวผมแล้วก็เด็ก ๆ แถวบ้านครับ ผมเคยแข่งชนะได้เงินรางวัลมา 250 เหรียญด้วยนะ จนผมได้เป็นนักเล่นในระดับ C แต่ช่วงนี้ผมชอบเล่นแข่งกับคอมพิวเตอร์มากกว่านะ เพระอย่างน้อยผมก็ไม่ต้องทนเห็นสีหน้ายิ้มเยาะจากคู่แข่ง ผมเบื่อตอนไหนผมก็ปิดเครื่องมันซะเลย ผมว่าผมก็เป็นนักเล่นที่มีประสบการณ์คนหนึ่งเลยนะ ผมสามารถดูออกเลยว่า เกมที่เค้าแข่งกันเกมไหนเป็นเกมที่ดี ถ้าแข่งกับนักแข่งที่ฝีมือระดับทั่ว ๆ ไป ผมก็พอเอาชนะได้นะ”

ถ้าใครที่ได้ดู The Queen’s Gambit แล้วจะเห็นว่าตัวตนของ เบ็ธ ฮาร์มอน นั้น ในเบื้องหน้าที่ทุกคนรู้จักเธอคือ นักหมากรุกมหัศจรรย์ ที่เอาชนะแชมป์ได้มากมายในขณะที่อายุยังน้อย แต่เบื้องหลังนั้นเธอกลับเป็นเด็กสาวที่มีอาการติดยากล่อมประสาท ซึ่งเรื่องราวส่วนนี้ก็มาจากชีวิตจริงของวอลเทอร์เช่นกัน

ยาที่ เบ็ธ ฮาร์มอน ติดมีชื่อว่า xanzolam

“ตอนผมยังเป็นเด็ก ผมมีอาการป่วยแล้วก็ตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจรูมาติก ทำให้ผมต้องกินยาเยอะมาก และนี่ก็คือที่มาของเรื่องราวในส่วนที่เกี่ยวกับยาของเบ็ธ การได้เขียนเรื่องราวส่วนนี้ของเธอ มันเหมือนกับผมได้ปลดปล่อย เพราะช่วงนั้นผมต้องเผชิญอาการเจ็บปวดอยู่มาก แล้วผมก็เก็บเอาไปฝันเยอะเลยระหว่างที่ผมเขียนถึงชีวิตช่วงนี้ของเบ็ธ แต่มันเป็นแค่เรื่องงานเขียนนะ แต่ผมไม่ปล่อยให้ตัวเองถลำลึกไปแบบนั้นหรอก”

นอกเหนือจากนิยาย The Queen’s Gambit แล้ว นิยายอีกหลาย ๆ เรื่องของเขา ก็มักจะมีตัวเอกที่มักเป็น ขี้แพ้ และ รักสันโดษ ซึ่งวอลเทอร์ได้อธิบายถึงเหตุผลข้อนี้ไว้ว่า “ผมหลงใหลกับเรื่องราวของการดิ้นรนต่อสู้ระหว่าง การเอาชนะ และ ความพ่ายแพ้ ซึ่งผมก็ได้ถ่ายทอดส่วนหนึ่งออกมาใน The Queen’s Gambit ซึ่งพอจะเห็นกันได้ว่า เบ็ธ ฮาร์มอน นั้นก็มาจากคนในกลุ่มนอกสายตา”

ฉากไคลแมกซ์ในซีรีส์ก็จำลองจากเหตุการณ์จริง

Match of the Century (1972)

สิ่งหนึ่งที่ซีรีส์ The Queen’s Gambit ได้เปิดโลกทัศน์เราก็คือ การได้เห็นได้รู้จักวงการหมากรุก ว่าเขาให้ความสำคัญจริงจังกับการเป็นแชมป์โลกหมากรุกกันอย่างมาก แม้ว่าเป็นวงการเล็ก ๆ แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนในแวดวงหมากรุก ซึ่งในซีรีส์นั้นเราได้เห็นเหตุการณ์แข่งขันชิงแชมป์โลก ซึ่งก็จำลองมาจากเหตุการณ์จริงที่เรียกว่า “แมตช์แห่งศตรวรรษ” เทียบได้กับการแข่งขันโอลิมปิกของวงการหมากรุกก็ว่าได้ ซึ่งแมตช์นั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 1972 เป็นการเผชิญหน้ากันของ 2 ผู้แข่งขันชื่อดังระหว่าง บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ ตัวแทนจากสหรัฐอเมริกา และ บอริส สแปสกี้ แกรนด์มาสเตอร์จากรัสเซีย แมตช์นี้ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพยายามดัดแปลง The Queen’s Gambit เป็นภาพยนตร์

อย่างที่เรารู้กันแล้วว่า นิยายเรื่องนี้มีอายุถึง 37 ปีแล้ว และเป็นนิยายที่ได้รับความนิยม ก็ไม่แปลกหรอกที่จะมีเหล่าผู้สร้างหนังให้ความสนใจจะหยิบมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นเวอร์ชันของ Netflix นี้ นิยายเคยถูกดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์มาแล้วโดย เจสซี คอร์นบลูธ นักประพันธ์ , นักข่าว และนักเขียนบทภาพยนตร์ แต่บทภาพยนตร์ของเขาก็ไม่ได้ถูกพัฒนาต่อไปถึงขั้นถ่ายทำ

เอลเลน เพจ เกือบได้เป็น เบ็ธ ฮาร์มอน แล้ว

มีการพยายามอีกครั้งที่ดูเป็นเป็นจัง และผู้ที่อยู่เบื้องหลังนั้นเป็นชื่อที่เรารู้จักกันดีเพราะเขาคือ ฮีธ เล็ดเจอร์ พระเอกมากฝีมือผู้ล่วงลับนั่นเอง แต่ที่เราไม่รู้กันมาก่อนก็คือ ฮีธนั้นมีความหลงใหลในหมากรุกอย่างมาก โพรเจกต์คืบหน้าไปจนถึงขั้นวางตัวแสดงแล้วด้วย ได้เอลเลน เพจ (Juno, Inception, X-Men: Days of Future Past) ให้มารับบทเป็นเบ็ธ ฮาร์มอน แล้ว และฮีธหมายมั่นปั้นมือว่าเขาจะประเดิมตำแหน่งผู้กำกับเองกับเรื่องนี้ โพรเจกต์เป็นอันยุติไปเนื่องจากการตายของฮีธนั่นเอง

เปรียบเทียบตัวตน เบ็ธ ฮาร์มอน กับ บ็อบบี้ ฟิชเชอร์

เบ็ธ ฮาร์มอน นั้นน่าจะเป็นตัวละครที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างตัวตนของ วอลเทอร์ เทวิส เอง กับ บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ แชมป์โลกหมากรุกชาวอเมริกันคนสุดท้ายของโลก ซึ่งถ้าพิจารณาลักษณะตัวตนคร่าว ๆ ของบ็อบบี้ ฟิชเชอร์ แล้ว ก็มีความละม้ายกับ เบ็ธ ฮาร์มอน อยู่บ้าง โดยเฉพาะช่วงเวลาในเรื่องที่เกิดขึ้นในยุค 60s บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ นั้นเป็นแชมป์หมากรุกของสหรัฐฯ ในปี 1957 ในวัยเพียงแค่ 14 ปีเท่านั้น ส่วนเบ็ธ ฮาร์มอน นั้นก็ใกล้เคียง เธอเป็นแชมป์สหรัฐฯ ในวัย 16 ปี บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ ยังคงสร้างชื่อเสียงต่อเนื่องมาจนถึงยุค 60s แต่กว่าที่เขาจะได้เผชิญหน้ากับ บอริส สแปสกี้ ในศึกชิงแชมป์โลกหมากรุกก็ในปี 1972 ที่เมืองเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งบ็อบบี้เป็นฝ่ายชนะ

บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ แชมป์โลกหมากรุก แรงบันดาลใจของตัวละคร เบ็ธ ฮาร์มอน

ส่วนที่เสริมเติมเข้าไปในบุคลิกลักษณะด้านลบของเบ็ธ ฮาร์มอน นั้นก็มากจากตัวตนของ วอลเทอร์ ผู้ประพันธ์นั่นเอง ทั้งในเรื่องที่เบ็ธติดยากล่อมประสาท รวมไปถึงเรื่องการเรียนและชีวิตครอบครัว ในวัยเด็กนั้นวอลเทอร์ถูกไล่ออกจากโรงเรียน ทำให้เขาตัดสินใจเลิกเรียน เขามีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีนักกับแม่บังเกิดเกล้าของเขาเอง ทำให้เขาค่อนข้างเติบโตมาโดยเอกเทศก็ว่าได้ ผู้คนรอบข้างเล่าว่า บ็อบบี้เป็นคนที่มีปัญหาในการเข้าสังคม
“นอกเหนือจากความอัจฉริยะทางด้านหมากรุกของเขาแล้ว บ็อบบี้เป็นพวก ก้าวร้าว ชอบโต้เถียง และเป็นคนอมทุกข์”

โจเซฟ จี. พอนเทอรอตโท นักจิตวิทยา เคยเขียนบทวิเคราะห์สภาพจิตของบ็อบบี้ ฟิชเชอร์ ลงไว้ในนิตยสารว่า the Pacific Standard บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ น่าจะมีอาการ Asperger’s Disorder (เป็นกลุ่มอาการอันเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ Autistic โดยโรคนี้จะแสดงออกถึงปัญหาทางด้านพฤติกรรม พัฒนาการทางด้านต่างๆ และพฤติกรรมแปลกอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายออทิสทิก)

มองไปที่ทั้งคู่ เบ็ธ และ บ็อบบี้ ต่างก็เติบโตมาอย่างโดดเดี่ยว แล้วกลายเป็นอัจฉริยะทางด้านหมากรุก แล้วบุคลิกที่เด่นชัดของทั้งคู่นั้นก็อาจจะเรียกได้ว่า อัจฉริยะระทมทุกข์ ซึ่งเราเห็นลักษณะแบบนี้ผ่านตัวละครในหนังหรือในนิยายกันมาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง

อลัน ซีพินวอลล์ นักเขียนจากนิตยสาร เป็นอีกคนที่วิเคราะห์ความละม้ายของ บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ กับ เบ็ธ ฮาร์มอน ไว้ว่า ทั้งคู่ต่างก็เป็นนักเล่นหมากรุกที่เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ในศตวรรษที่ 20 และสามารถเป็นแชมป์ได้ในขณะที่อายุยังน้อย แล้วทั้งคู่ก็ยังสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองจนได้ไปแข่งกับแชมป์จากรัสเซีย และที่สำคัญทั้งคู่ยังต้องดำเนินชีวิตไปพร้อมกับอาการป่วยทางจิต

เหมือนจะสรุปได้ว่า การจะเป็นแชมป์หมากรุก ระดับโลกนั้น คนสภาพจิตดี ๆ จะไม่มีทางเป็นกันได้แบบนั้นแหละ

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง