เวียนมาอีกครั้งกับปรากฏการณ์ฝนดาวตกชื่อดังของปี กับฝนดาวตกที่จะมาทุกวันแม่ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower)” สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT เผยว่า ในคืนวันแม่ 12 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้า 13 สิงหาคม 2563 จะมีฝนดาวตกดังกล่าว แต่เพราะตรงกับคืนที่มีแสงจันทร์รบกวน ประกอบกับตรงช่วงฤดูฝน จึงอาจสังเกตได้ค่อนข้างยาก

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. อธิบายว่า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฏาคม – 24 สิงหาคมของทุกปี จึงมักเรียกกันว่า “ฝนดาวตกวันแม่” มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 60-110 ดวงต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากในคืนดังกล่าวตรงกับดวงจันทร์กึ่งข้างแรม มีแสงจันทร์รบกวนตลอดปรากฏการณ์ จึงสังเกตการณ์ได้ค่อนข้างยาก

ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีสีสันสวยงาม เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส