ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการพบสื่อมวลชนครั้งแรกหลังรับตำแหน่งว่า วิกฤตโควิด 19 เป็นวิกฤตสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อม ๆ กันในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่ต้องล็อกดาวน์จนมีผลกระทบถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะเหลือเพียง 6.7 ล้านคน จากเดิมที่ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน คิดเป็นรายรับที่หายไปถึงประมาณ 10% ของ GDP การส่งออกสินค้าในไตรมาส 2 มีอัตราการหดตัวหนักที่สุดในรอบ 11 ปี เปรียบเสมือนอาการของผู้ป่วยนอกที่รักษาตัวอยู่ในห้อง ICU

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.เศรษฐพุฒิ ชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาในช่วงแรกของภาครัฐเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นมาตรการปูพรมแบบเร่งด่วน คล้ายการใช้ “ยาแรง” เพื่อการรักษาทั้งร่างกาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแต่ละภาคส่วนได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน มาตรการดังกล่าวจึงอาจส่งผลกระทบในภายหลัง อาทิ ผู้ที่ไม่ได้เดือดร้อนจากวิกฤตโควิด 19 จริง ๆ เข้ารับการพักชำระหนี้เป็นจำนวนมาก อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงินได้

วิกฤตโควิด 19 เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีประเทศไหนในโลกเคยเจอมาก่อน การแก้ไขปัญหาจึงเป็นการลองผิดลองถูก และปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพราะ There is no silver bullet for this problem (ไม่มีวิธีง่าย ๆ ที่จะแก้ไขปัญหาใหญ่นี้)

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

สิ่งหนึ่งที่ ธปท. มุ่งให้ความสำคัญหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ แล้วคือ แนวทางการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ยืดหยุ่น และครบวงจร โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบ (Scar) ที่จะตามมาหลังจากออกมาตรการไปแล้ว ทาง ธปท. มองว่า จากเดิมที่เป็นการพักชำระหนี้ ควรปรับเปลี่ยนเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด โดยสถาบันการเงินไม่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป ทำให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้คนอื่น ๆ ต่อไปได้อีก เมื่อเป็นเช่นนี้เศรษฐกิจจึงจะเดินหน้าต่อไปได้ แม้จะเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ก็เป็นแนวทางที่ยั่งยืน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

จากแนวคิดดังกล่าว ธปท. จึงสะท้อนออกมาเป็น 5 โจทย์ใหญ่ ประกอบไปด้วย

  1. แก้วิกฤตหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 และฟื้นตัวได้
  2. รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
  3. รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินของไทยสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์โควิด 19 (New Normal) และระยะต่อไปได้ดี
  4. สร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน ให้ ธปท. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่น
  5. พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้ ธปท. เป็นองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทยและสังคมไทย
แม้จะเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ทุกคนเชื่อมั่น แต่ต้องทำให้ได้ ผ่านแนวคิด ‘คิดรอบตอบได้’ ชื่อนี้ผมไม่ได้คิดเอง แต่คนใน ธปท. นี่แหละคิดมาให้ ผมชอบมาก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งดี ๆ คุณคิดคนเดียวไม่ได้ มันต้องมาจากหลาย ๆ หัว มาช่วยกันคิด แล้วคนของ ธปท. ก็เก่งมาก ที่นี่มีนักวิเคราะห์เก่ง ๆ หลายคน พวกเขามีความคิดดี ๆ แต่มันยังติดเรื่องกระบวนการ ยังติดเรื่องโครงสร้าง กว่าความคิดเหล่านั้นจะมาถึง มันช้าไป ผมจึงต้องเปิดทางให้เขา ปรับกระบวนการทำงานและโครงสร้าง ความคิดจึงมาจากหลาย ๆ คน กลายเป็น ‘คิดรอบ’

แต่คิดมาดีแล้ว จะเอาไปใช้ คนที่ใช้ต้องเชื่อมั่น ประชาชนต้องเชื่อมั่น แต่การไปบอกว่า ‘เชื่อผมเถอะ ผมคิดมาแล้ว’ มันไม่ได้สร้างความมั่นใจให้ประชาชน การจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ คุณต้องตอบให้ได้ทุกคำถาม อย่างน้อยก็ตอบประชาชนให้ได้ว่า มาตรการที่ออกมา สิ่งที่คุณคิดออกมา คุณคิดมาได้ยังไง มีที่มาที่ไปจากไหน จึงกลายเป็น ‘ตอบได้’ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ทำความรู้จักกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 21 ได้ที่นี่ คลิก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส