ถึงแม้ว่ากระแสของ WhatsApp จะไม่ได้โด่งดังในประเทศไทยเหมือนแต่ก่อน หลังจากแอปแซตสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง LINE สามารถบุกเข้าตี WhatsApp และครองใจผู้ใช้ในไทยจนยากจะที่จะมีแอปแซตตัวอื่นเข้ามาแทนได้ (ในตอนนี้) แต่ถ้ามองภาพรวมในระดับโลกแล้ว WhatsApp กลับเป็นแอปแซตที่แข็งแกร่งมากที่สุดตัวหนึ่งของโลก

ด้วยตัวเลขดังนี้

จำนวน Active User ต่อเดือนราว 450 ล้านคนในช่วงต้นปี 2014 ซึ่งเมื่อ 9 เดือนที่แล้วมีจำนวนผู้ใช้เพียง 200 ล้านคนต่อเดือนเท่านั้น คิดเป็นอัตราเติบโตราว 1 ล้านคนต่อวัน แถม Active User ปัจจุบันสูงกว่า Facebook เกือบ 3 เท่าตัว สูงกว่า Twitter ราว 9 เท่าตัว

ที่มา: techcrunch.com

ในขณะที่ LINE ตัวเลขล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อต้นปี 2014 คือมี “ผู้ลงทะเบียน” 330 ล้านคน ซึ่งก็เทียบกับ WhatsApp ก็บอกไม่ได้ว่าใน 330 ล้านคนนี้ เหลือผู้ใช้จริงหรือ Active User เท่าไหร่

จากสถิติและการเติบโตที่น่าทึ่งนี้ ทำให้ Facebook ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของ WhatsApp เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าสูงถึง 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย Jan Koum ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ WhatsApp จะมาอยู่ในบอร์ดบริหารเฟซบุ๊ก

การเข้าซื้อ WhatsApp มูลค่า 19,000 ล้านเหรียญครั้งนี้มีมูลค่าสูงกว่า

  • Google ซื้อ Motorola เมื่อปี 2011 ด้วยมูลค่า 12,500 ล้านเหรียญ (และ Google ขาย Motorola ต่อให้ Lenovo ในราคา 2,910 ล้านเหรียญในปี 2014)
  • Microsoft ซื้อ Skype เมื่อปี 2011 ด้วยมูลค่า 8,500 ล้านเหรียญ
  • Microsoft ซื้อ Nokia เมื่อปี 2013 ด้วยมูลค่า 7,200 ล้านเหรียญ
  • Facebook ซื้อ Instagram เมื่อปี 2012 ด้วยมูลค่าราว 1 พันล้านเหรียญ

และอื่นๆตามภาพ Infographic ด้านล่าง

ที่มา: technology.ie

Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กได้ให้เหตุผลของการเข้าซื้อครั้งนี้ไว้ว่า “เขาเชื่อว่า WhatsApp มีศักยภาพในตลาด และจะมีผู้ใช้เกิน 1 พันล้านคนอีกไม่นานนี้ แถมผู้ใช้ WhatsApp ยังเปิดแอปนี้บ่อยมาก โดย 70% ของผู้ใช้เปิดแอปทุกวัน สูงกว่าเฟซบุ๊กที่มีผู้เปิดใช้ทุกวันราว 62% เท่านั้น ก็ถ้าพัฒนาต่อไปดีๆ WhatsApp น่าจะโตได้ระดับเดียวกับ Youtube หรือแม้แต่ Facebook เอง”

WhatsApp นั้นกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2009 โดย Brian Acton ที่หลังจากทำงานกับ Yahoo! มา 11 ปีก็ลาออกมาหางานใหม่ โดยพยายามสมัครงานกับ Twitter และ Facebook แต่สอบตก จนชีวิตพลิกได้สร้างบริษัทเองร่วมกับ Jan Koum อดีตพนักงาน Yahoo! เช่นกันจนเกิดเป็น WhatsApp ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายง่ายๆ คือสร้างผลิตภัณฑ์เจ๋งๆ ที่ทุกๆ คนในโลกจะใช้ได้ (พูดง่าย แต่คิดยากหัวแตกเลยนะผลิตภัณฑ์แบบนี้) จึงได้ออกมาเป็น WhatsApp ที่ในยุคแรกสร้างความโดดเด่นเหนือ ICQ หรือ Windows Live Messenger ที่โด่งดังอยู่ในคอมพิวเตอร์สมัยนั้นด้วยการออกแบบมาสำหรับมือถือโดยเฉพาะ แทนที่จะต้องเปิดแอปเพื่อรอรับข้อความใหม่ตลอดแบบเดียวกับแอปแซตในคอม ก็ผลักภาระมาให้เซิร์ฟเวอร์กลาง Push ข้อความเข้าไปแทน ทำให้เหมาะกับอุปกรณ์พกพาที่มีประสิทธิภาพต่ำ และอายุแบตเตอรี่จำกัดมากกว่าบริการอื่นๆ

นอกจากนี้ WhatsApp ยังพัฒนารูปแบบการใช้งานแบบใหม่ที่ผูกบัญชีผู้ใช้เข้ากับเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว เพื่อให้ WhatsApp สามารถใช้แทน SMS ได้

ที่มา: www.flagshipconsulting.co.uk

ในยุคปัจจุบันที่มีแอปแซตลักษณะเดียวกับ WhatsApp เกิดขึ้นมาแข่งมากมายเช่น WeChat ที่นิยมใช้ในจีน LINE แอปแซตยอดฮิตของไทย, ญี่ปุ่นและไต้หวัน หรือ Kakao Talk แอปแซตประจำชาติเกาหลีใต้ ทำให้ WhatsApp เสียบางตลาดไป

โดยเฉพาะในเอเซียที่ต้องการแอปแซตที่ทำอะไรได้มากกว่าส่งข้อความคุยกันเป็นหลัก แต่แทนที่ผู้สร้างจะเร่งพัฒนาตามกระแสกลับยังยึดมั่นในความเรียบง่ายของการสื่อสาร แล้วสนใจความเร็ว ความเสถียรของการส่งข้อความมากกว่า จนกลายเป็นจุดเด่นของ WhatsApp ที่ “ไร้โฆษณา ไร้เกม ไร้แอปเสริม ไร้ร้านค้า” แตกต่างจากสิ่งที่ LINE หรือ WeChat พยายามจะก้าวไป จึงทำให้ WhatsApp ยังได้รับความนิยมอยู่เสมอในประเทศกลุ่มยุโรป แอฟริการวมถึงอินเดีย ที่ต้องการความเรียบง่ายในการสื่อสารมากกว่า

เมื่อมองตลาดแอปแซตโดยรวมแล้วก็น่าประหลาดใจไม่น้อยที่เฟซบุ๊กให้มูลค่ากับ WhatsApp สูงถึงขนาดนั้น เพราะในขณะที่ตัวเองก็มี Facebook Messenger ที่ไม่ได้ขี้เหร่อะไร แถมยังพยายามปรับปรุงตัวเองจนน่าใช้ขึ้นมากในระยะหลังและสามารถครองใจผู้ใช้ในอเมริกาได้ แต่เฟซบุ๊กก็ยังทุ่มเงินเกือบ 620,000 ล้านบาทเพื่อซื้อกิจการบริษัทที่มีพนักงานเพียง 55 คน กับบริการที่มีฐานผู้ใช้จำนวนมาก มีแนวโน้มจะเติบโตได้ดี แถมสัญญาว่าจะไม่แสดงโฆษณาด้วย

ที่มา: techcrunch.com

ถ้ามองในมุมของความคุ้มค่า การซื้อ WhatsApp จะทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นบริษัทศูนย์รวมการสื่อสารของโลกได้ทันที ด้วยฐานผู้ใช้เฟซบุ๊กเดิมที่มีกว่า 1,230 ล้านคนและผู้ใช้หน้าใหม่จาก WhatsApp ที่อาจไม่เคยมีบัญชีเฟซบุ๊กมาก่อนเลยก็ได้อีกเกือบ 500 ล้านคน ซึ่งจะทำให้เฟซบุ๊กสามารถต่อกรกับแอปแซตที่ขยายตัวเป็นแพลตฟอร์มอย่าง LINE หรือ WeChat รุกคืบอยู่ห่างๆ ในฝั่งเอเชียได้ดีขึ้น

ซึ่ง Mark Zuckerberg เองก็ออกมาโพสเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กว่าเขาต้องการให้ Facebook Messenger ที่เป็นเหมือนเครื่องมือติดต่อระหว่างผู้ใช้เฟซบุ๊กด้วยกัน ส่วน WhatsApp ที่เป็นเครื่องมือสื่อสารเฉพาะกลุ่มเล็กๆ นั้นดำเนินการแยกออกจากกัน โดยที่ WhatsApp ก็ยังคงรูปแบบการให้บริการแบบไร้โฆษณาแบบเดิมไว้ ซึ่งเฟซบุ๊กก็หวังว่าจะพัฒนา WhatsApp ให้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารของ internet.org โครงการเพื่อสังคมที่พยายามทำให้ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น

ส่วนถ้ามองในมุมของความไม่คุ้มค่า การลงทุนมหาศาลในตลาดแอปแซตในมือถือที่เป็น Red Ocean สีแดงเถือกอยู่แล้วจะช่วยให้ก้าวต่อไปของเฟซบุ๊กยั่งยืนได้แค่ไหน เมื่อเทียบกับการนำเงินนี้ไปลงทุนกับสิ่งอื่นที่เฟซบุ๊กยังไม่มีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และเฟซบุ๊กจอมโฆษณากับ WhatsApp ที่ผู้ใช้คือกลุ่มที่ไม่ต้องการโฆษณา ไม่ต้องการลูกเล่นตระการตา ต้องการแค่สื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร?

ที่มา: zdnet.com

เฟซบุ๊กจะให้บริการ WhatsApp แบบเก็บเงินค่าสมาชิกต่อไป ไม่มีโฆษณา ไม่มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้ไปหาประโยชน์ได้นานแค่ไหน แล้วเฟซบุ๊กจะสร้างประโยชน์จากผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร หรือต่อไปเฟซบุ๊กจะปรับรูปแบบการให้บริการ WhatsApp สักนิด เปลี่ยนสัญญากับผู้ใช้ใหม่ว่าขอข้อมูลส่วนตัวไปใช้ หรือจะมีโฆษณาในแอป แล้วไปลุ้นกันว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเลือกอยู่กับเครือข่ายของเพื่อนที่สร้างไว้อยู่แล้ว หรือจะรังเกียจจนทิ้ง WhatsApp ไป ก็คงต้องรอดูกันยาวๆ แต่ทว่าหลังจากการประกาศเข้าซื้อไม่นาน ทาง whatsapp ก็มี update ครั้งหนึ่ง ที่น่าจะเป็น Major Update ทางส่วนของหลังบ้าน แต่ทำอีท่าไหนไม่ทราบ server Whatsapp ล่มไปราว ๆ สองชั่วโมง ซึ่งทางประเทศไทย คนใช้ Whatsapp ไม่เยอะ เลยไม่ค่อยกังวลกันเท่าใดนัก แต่ทางฝั่ง Europe , USA ที่ใช้กันเป็นหลัก เรียกได้ว่าบ่นกันกระจายเลยล่ะครับ เจ้านายยย

Play video

facebook-whatsapp

ที่มา: businessinsider.com

ข่าวก่อนหน้า 

ด่วน! Facebook ประกาศเข้าซื้อ WhatsApp แล้ว

คำต่อคำ หลังฮุบ WhatsApp จาก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก

เบื้องหลังการเข้าซื้อ Whatsapp ของ Facebook และทิศทางต่อจากนี้