กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมานี้ แล้วทุกคนก็สัมผัสได้จริงว่าอากาศในช่วงนี้ร้อนมาก แต่ปีนี้น่าจะต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะในขณะที่หงุดหงิด อึดอัด กับอากาศร้อนในช่วงกลางวัน แต่ในใจก็ยังนึกหวังได้ว่า อากาศร้อนในไทยเรานี่ล่ะ จะมีผลดีที่ได้ช่วยฆ่าเชื้อไวรัส Covid-19 ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับไวรัสหลาย ๆ ตัวที่แพ้ต่ออุณหภูมิที่สูงในประเทศแถบร้อนอย่างบ้านเรา ซึ่งได้เปรียบกว่าประเทศที่อยู่ในแถบอากาศเย็น

ตัวอย่างการแพร่ระบาดในอดีต

ไวรัสแพร่ระบาดได้ดีในสภาพอากาศที่หนาวเย็น

ไวรัสแพร่ระบาดได้ดีในสภาพอากาศที่หนาวเย็น

ไวรัสหลาย ๆ ตัวนั้น จะมีระดับการแพร่ระบาดที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ไวรัสในกลุ่มไข้หวัดใหญ่มักจะแพร่ระบาดได้ดีในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะ โนโรไวรัสที่มีผลทำให้กระเพาะและลำไส้อักเสบ หรือโรคหัดที่อัตราการแพร่ระบาดลดลงในช่วงฤดูร้อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าไวรัสจะแพ้ต่ออากาศร้อนไปเสียหมด ยังมี ไทฟอยด์ ที่ชอบอากาศร้อนและแพร่ระบาดได้ดีในช่วงฤดูร้อน

ตัวอย่างเช่นนี้ทำให้ผู้คนคาดหวังกันว่าเจ้า Covid-19 นี่ จะกลัวอากาศร้อนบ้างไหม เพราะดูจากประวัติของมันแล้ว ก็เริ่มเกิดขึ้นในกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แล้วก็แพร่ขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว ลุกลามไปถึงยุโรปและอเมริกา สังเกตได้ว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจาก Covid-19 ก็ล้วนอยู่ในพื้นที่อากาศหนาวเย็น ก็เลยเกิดการสันนิษฐานกันว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 นั้นจะทุเลาลงเมื่อแต่ละประเทศเข้าสู่ฤดูร้อน

ในเรื่องนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่กล้าออกมายืนยัน เพราะเป็นไวรัสที่ถือกำเนิดมาใหม่ ในวงการแพทย์จึงยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้มากนัก แต่ให้มองย้อนไปถึงตัวอย่างการแพร่ระบาดในอดีต เคสที่ใกล้เคียงสุดก็คือ ไวรัส Sars ที่แพร่ระบาดในปี 2003 ซึ่งครั้งนั้นก็ควบคุมได้ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ไม่ได้มีการศึกษาต่อมากนักว่าอากาศตามฤดูกาลจะมีผลต่อการแพร่ระบาดมากขนาดไหน แต่เบื้องต้นก็มีการตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่าฤดูกาลน่าจะมีผลต่อการแพร่ระบาดของ Covid-19

เคต เทมเพิลตัน ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ไวรัสและโรคติดต่อ มหาวิทยาลัย เอดินเบิร์ก ประเทศอังกฤษ ได้มาเผยข้อมูลที่ใช้เวลาค้นคว้ามาถึง 10 ปีว่า เธอได้รวบรวมตัวอย่างไวรัสโคโรนามาได้ 3 สายพันธุ์ โดยเก็บตัวอย่างเชื้อมาจากระบบทางเดินหายใจของคนไข้ แล้วเธอก็ค้นพบว่าไวรัสทั้ง 3 สายพันธุ์นี้แพร่ระบาดใน “ฤดูหนาว” อย่างชัดเจน จะระบาดหนักในช่วงเดือน ธันวาคม ถึง เมษายน เช่นเดียวกับ “ไข้หวัดใหญ่” เคต จึงตั้งสมมติฐานไว้ว่า Covid-19 ที่อยู่ในกลุ่มไวรัสโคโรนาก็น่าจะผันแปรตามสภาพอากาศเช่นเดียวกัน แล้วดูจากรูปแบบที่มันแพร่ระบาดออกไป ก็พอสรุปได้ว่าเจ้า Covid-19 จะชอบพื้นที่ประเทศที่อากาศแห้งและเย็น

โครงสร้างของ Covid-19

โครงสร้างของไวรัส Covid-19

โครงสร้างของไวรัส Covid-19

ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลกขณะนี้ก็มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของอัตราการแพร่ระบาดของ Covid-19 ว่ามีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิมากน้อยเพียงใด ยังพิจารณาถึงตัวแปรร่วมอื่น ๆ ด้วยเช่น ความชื้นในอากาศ และกระแสลม โดยรวบรวมสถิติจาก 500 พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของ Covid-19 ผลการวิเคราะห์นี้ยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลหลักฐานยังไม่ได้ข้อสรุปเป็นทางการออกมาเผยแพร่ แต่เริ่มเห็นแนวโน้มแล้วว่า ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนจะมีอัตราการแพร่ระบาดที่ต่ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “อุณหภูมิ” เพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่มีผลกระทบต่ออัตราการแพร่ระบาด ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มที่ทำการวิเคราะห์ในเรื่องนี้เช่นกัน ก็คาดการณ์ว่าอุณหภูมิร้อนหรือเย็นนั้นมีผลอย่างมากต่ออัตราการแพร่ระบาดของ Covid-19 สังเกตได้ชัดในขณะนี้ว่าภูมิประเทศในแถบร้อนชื้นจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต่ำกว่า

พิจารณาในด้านกายภาพของไวรัสโคโรนาแล้ว ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลที่สอดคล้องว่า Covid-19 ก็น่าจะอ่อนแอในสภาวะอุณหภูมิที่สูงเพราะไวรัสโคโรนาจัดอยู่ในกลุ่มไวรัสที่เรียกว่า “enveloped viruses” หรือไวรัสประเภทที่มีเกราะกำบัง ตัวของมันนั้นห่อหุ้มไปด้วยน้ำมัน ทางการแพทย์เรียกว่า “lipid bilayer” การถูกห่อหุ้มด้วยสารอินทรีย์ถึง 2 ชั้น มีขาแหลม ๆ ที่ประกอบไปด้วยโปรตีน ยื่นออกมารอบตัว มองเผิน ๆ คล้ายกับ “มงกุฎ” เป็นที่มาของชื่อ Corona ที่แปลว่ามงกุฎ ในภาษาลาติน

นักวิจัยอธิบายว่าชั้นน้ำมันที่ห่อหุ้มตัวมันอยู่นี่แหละ ส่งผลให้มันอ่อนแอต่ออากาศร้อนกว่าไวรัสประเภทที่ไม่มีเกราะน้ำมัน แต่ในทางตรงกันข้ามเกราะน้ำมันนี้จะทำให้มันแข็งแกร่งขึ้นในสภาพอากาศเย็น ให้นึกภาพไขมันจากสัตว์ หรือน้ำมันหมูที่พออากาศเย็นแล้วจะแข็งตัวเป็นเมือกขาว ๆ นั่นล่ะ ชั้นไขมันก็จะแปรสภาพเป็นเกราะกำบังไวรัสโคโรนาที่แข็งแกร่งขึ้น อยู่ได้ยาวนานขึ้นในสภาพอากาศที่หนาวเย็น ระบุให้ชัดเจนมากขึ้น ไวรัส Sars-Cov-2 จะมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานถึง 72 ชั่วโมงบนพื้นผิวที่แข็งและเรียบอย่างเช่น พลาสติก หรือ สแตนเลส ที่อุณหภูมิระหว่าง 21-23C (70-73F) ในความชื้นที่ 40% แต่จะมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวถึง 28 วัน ที่อุณหภูมิ 4C แต่สำหรับคุณสมบัติของ Covid-19 นั้น จะมีคุณสมบัติที่ต่างไปจากนี้หรือไม่ ยังอยู่ในระหว่างการทดสอบ

ถ้าให้ยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับ Covid-19 มากที่สุด ก็คือไวรัส Sars ที่แพร่ระบาด 2003 นั้น ก็เป็นไวรัสอีกตัวที่อยู่รอดได้ดีในสภาวะอากาศเย็น และจะสามารถยึดเกาะบนพื้นผิวที่เรียบได้ถึง 5 วัน ภายใต้อุณหภูมิระหว่าง 22 – 25C ความชื้นที่ 40 – 50% แล้วอายุก็จะสั้นลงไปตามระดับอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้น

“ถ้าไวรัสอยู่ในสภาวะแวดล้อมได้นานมากขึ้น โอกาสที่มันจะแพร่ระบาดไปสู่ผู้คนจำนวนมากก็มากขึ้นตามไปด้วย”

มิเกล อเราโฆ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ กรุงแมดริด ประเทศสเปน กล่าว

สภาพอากาศมีผลต่อภูมิคุ้มกันในร่างกาย

มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ก็ได้ทำการศึกษาในเรื่องของการแพร่ระบาดนี้เช่นกัน ได้ให้ข้อสรุปมาว่า ประเทศหรือภูมิภาคที่พบอัตราการแพร่ระบาดสูง จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 5-11C (41-52F) และมีอัตราความชื้นในอากาศต่ำ แต่กระนั้นสภาวะการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่แผ่วงกว้างไปทั่วโลกขณะนี้ ก็ดูต่างจากข้อสมมติฐานทั้งหมดที่กล่าวมา นักวิจัยจาก โรงเรียนการแพทย์ฮาวาร์ด ก็ยังตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่า ดูจากอัตราการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในทวีปเอเซียแล้วนั้น สังเกตได้ว่าสภาพอากาศดูจะมีผลกระทบต่อไวรัส Covid-19 ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะ รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนซึ่งกลับมีผลต่ออัตราการแพร่ระบาดเสียมากกว่าช่วงอายุของไวรัสในสภาพอากาศนั้น ๆ

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดว่า รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนมีผลต่อการแพร่ระบาดอย่างไร อย่างเช่นโรคหัด ที่ติดต่อกันมากในกลุ่มเด็กเล็กนั้น จะแพร่ระบาดมากในช่วงโรงเรียนเปิดเทอม แต่จะลดลงในช่วงวันหยุดหรือช่วงปิดภาคเรียน กรณี Covid-19 นั้นที่ถือกำเนิดมาในช่วงปลายปีต่อต้นปี ต่อเนื่องมาถึงเทศกาลตรุษจีนในวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่ออัตราการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในครั้งนี้

สภาวะอากาศในแต่ละประเทศ ก็มีผลต่อระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายเราเช่นกัน นี่คือเกราะป้องกันขั้นต้นที่จะรับมือกับโรคระบาดของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะระดับ วิตามิน D ในร่างกายเรานี่ล่ะ ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าสภาพร่างกายเราแข็งแรงหรืออ่อนแอต่อการติดเชื้อได้มากน้อยเพียงใด แล้วระดับวิตามิน D ในร่างกายนี่ก็จะผันแปรไปตามฤดูกาลด้วยเช่นกัน ฤดูหนาวในหลาย ๆ ประเทศนั้น แสงอาทิตย์ถูกบดบังส่องไม่ถึงพื้นผิวของภูมิประเทศทำให้ร่างกายของผู้คนไม่ได้รับวิตามิน D จากแสงอาทิตย์ แล้วอีกเหตุหนึ่งก็เพราะอากาศที่หนาวเย็นทำให้ผู้คนซุกตัวอยู่ในบ้าน ไม่ออกมากลางแจ้งเพื่อรับแสงแดด อีกหลักการหนึ่งอ้างว่า เมื่อเราอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่แห้งจัด จำนวนเมือกที่ห่อหุ้มปอดและทางเดินอากาศก็จะลดน้อยลง และเมือกเหนียวเหล่านี้ล่ะที่ทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันภายในร่างกาย ถ้าเมือกพวกนี้น้อยลงไปเท่าใด โอกาสติดเชื้อก็ย่อมเพิ่มมากขึ้น

ในเรื่องที่ว่า สภาวะอากาศในแต่ละพื้นที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันบุคคลในพื้นที่นั้น ยังเป็นที่โต้แย้งกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ในขณะที่กลุ่มหนึ่งบอกว่าผู้คนในแถบภูมิอากาศเย็นนั้น มีภูมิคุ้มกันต่ำติดเชื้อได้ง่าย ก็มีผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มที่อ้างหลักการมาโต้แย้งว่า ในขณะที่มนุษย์ต้องอยู่ในพื้นที่อากาศเย็นนั้น ร่างกายจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์ในร่างกายให้ทำงานป้องกันการติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น

มีผลการวิเคราะห์ในเรื่องนี้ที่น่าสนใจมาก เพราะมาจากนักวิทยาศาสตร์จากจีน ที่ศึกษาจากเหตุการณ์แพร่ระบาดจริงของ Covid-19 ว่ามีส่วนสัมพันธ์กับสภาวะภูมิอากาศมากน้อยเพียงใด นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้อ้างอิงสถิติจำนวนผู้เสียชีวิต 2,300 รายในอู่ฮั่น เขาได้เก็บบันทึกระดับความชื้นในอากาศ, อุณหภูมิ และจำนวนประชากรมาวิเคราะห์ แม้จะยังไม่ได้มีการเผยแพร่บทวิเคราะห์นี้ออกมาเป็นทางการ แต่ก็พอสรุปได้คร่าว ๆ ว่า ในวันที่มีอัตราการตายลดต่ำลงนั้น ความชื้นในอากาศและอุณหภูมิของอากาศจะสูง จากการรวบรวมข้อมูลดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์สามารถยืนยันได้ว่าอุณหภูมิอากาศนั้นมีผลต่ออัตราการตายของผู้ติดเชื้อ Covid-19 อย่างมาก พวกเขายังได้เอาข้อมูลเหล่านี้ป้อนเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำออกมาเป็นโมเดลให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ส่วนรูปแบบความสัมพันธ์ของอุณหภูมิต่ออัตราการตายในภูมิภาคอื่นจะมีผลเหมือนกันไหม ยังต้องศึกษากันต่อไป

“ในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า ฤดูกาล มีผลต่อการแพร่ระบาดของ Covid-19”

วิกตอเรีย คอลิซซา ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและวิจัยเพื่อยาและสุขภาพแห่งฝรั่งเศส กล่าวไว้
และจากนี้ก็ยังหาข้อยืนยันได้ยากว่าฤดูกาลมีผลต่ออัตราการแพร่ระบาด ถึงแม้ว่าอีก 1 เดือนจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อจะน้อยลง ก็ยังเป็นผลมาจากหลาย ๆ องค์ประกอบ อย่างเช่นมาตรการรักษาระยะห่างในสังคม, การที่ผู้คนกักตัวอยู่ในเคหะสถาน, ภูมิคุ้มกันในแต่ละบุคคลที่เพิ่มมากขึ้น และผลจากสภาพอากาศในฤดูกาลก็อาจจะมีผลด้วยส่วนหนึ่ง เราก็ได้แต่คาดหวังว่าฤดูร้อนที่กำลังมาถึงในหลาย ๆ ประเทศนี้จะส่งผลกระทบต่อไวรัส Covid-19 แม้ว่าไวรัสร้ายนี้จะไม่สูญสลายไปทั้งหมด แต่ก็น่าจะส่งผลรวมในทางที่ดีขึ้น

“ในขั้นตอนที่เราจะลดระดับกราฟผู้ติดเชื้อให้ต่ำลงนั้น ด้วยมาตรการให้ผู้คนกักตัวอยู่แต่ในบ้านนั้นจะส่งผลร้ายต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง จากนี้เราจะเห็นโรคระบาดใหญ่เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน เราคาดหวังว่าฤดูกาลจะมีผลต่อไวรัสนี้บ้าง หรืออย่างน้อยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเราก็จะทำงานได้ดีขึ้น ในช่วงเวลาที่เราต้องรับมือกับโรคระบาดนี้”
ศาสตราจารย์ แจน อัลเบิร์ต แห่งหน่วยควบคุมโรคติดเชื้อ วิทยาลัยแคโรลินสกา กรุงสต็อกโฮล์ม

 

สรุป : ไวรัส Covid-19 เปราะบางต่ออากาศร้อน และอัตราการแพร่ระบาดค่อนข้างต่ำในประเทศแถบภูมิอากาศร้อนชื้น ประเทศไทยเราค่อนข้างได้เปรียบแน่นอน ในด้านของสภาวะภูมิอากาศที่ร้อนชื้นโดยเฉพาะช่วงนี้ ไวรัสที่ออกมาจากร่างกายจะมีชีวิตอยู่ในสภาพบรรยากาศหรือบนพื้นผิวได้สั้นลง แต่สภาวะการติดเชื้อที่แพร่ขยายอยู่ในขณะนี้ ล้วนมีผลมาจากการติดต่อจากคนสู่คน โดยไม่ได้ผ่านพาหะสื่อกลางเท่าใดนัก ต่อให้อากาศร้อนกว่านี้ แต่ถ้าผู้คนไม่หยุดหยุดเดินทางหรือพบปะใกล้ชิด ก็จะไม่ช่วยให้อัตราการแพร่ระบาดจากคนสู่คนลดลงไป

 

อ้างอิง