หากยังจำกันได้ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการตรวจพบผู้โดยสารบนเรือสำราญ “ไดมอนด์ พรินเซส” (Diamond Princess) ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย เป็นเหตุให้ผู้โดยสารทั้งหมดจำนวน 3,711 คน ถูกกักตัวบนเรือทันทีที่เข้าสู่น่านน้ำที่ญี่ปุ่น เพียงแค่เดือนต่อมา ผู้ติดเชื้อบนเรือเพิ่มขึ้นกว่า 700 คน กลายเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดครั้งใหญ่นอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก

แม้จะเป็นเรื่องน่าสลดและตื่นตระหนก แต่สภาพแวดล้อม ‘ปิด’ ที่ทำให้เชื้อโรคกระจายได้อย่างรวดเร็ว กลับเปิดเผยข้อมูลสำคัญหลายอย่าง

สภาพแวดล้อมปิดโรคยิ่งแพร่ แต่ช่วยให้ศึกษาเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น

ด้วยสภาวะแวดล้อมแบบปิด จึงทำให้นักวิจัยมีโอกาสศึกษาคุณลักษณะและพฤติกรรมของเชื้อไวรัสใหม่ตัวนี้ ซึ่งทำได้ง่ายกว่าการศึกษาในกลุ่มประชาชนจำนวนมากที่กระจัดกระจาย การศึกษาเผยให้ทราบว่า เชื้อแพร่ได้ง่ายเพียงใด ทั้งยังช่วยให้ประเมินความรุนแรงของโรค และทำให้สามารถสืบสวนหาจุดร่วมของผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจจัดการรับมือจัดการกับโรคระบาด

จอห์น อิโอแอนนิดิส (John Ioannidis) นักวิทยาการระบาด มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) แคลิฟอร์เนีย อธิบายว่า “เรือสำราญกลายเป็น ‘ห้องทดลอง’ ในสภาวะแบบปิดชั้นเยี่ยม คุณจะรู้แน่ชัดว่า ใครมีความเสี่ยงและอยู่ที่ไหนบ้าง และนั่นทำให้คุณสามารถตรวจหรือประเมินอาการของพวกเขาเหล่านั้นได้”  นี่เองที่เป็นจุดต่างจากการศึกษาในสภาวะแวดล้อมแบบเปิด ที่ซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่แสดงอาการ ถูกตรวจหาเชื้อ และคอยเฝ้าติดตาม

จอห์น อิโอแอนนิดิส (John Ioannidis) นักวิทยาการระบาด มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด

บนเรือสำราญดังกล่าว เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นตรวจหาเชื้อกว่า 3,000 ครั้ง เริ่มที่ผู้สูงอายุที่แสดงอาการ ผู้โดยสารบางคนได้รับการตรวจมากกว่าหนึ่งครั้ง การตรวจผู้โดยสารและลูกเรือเกือบทั้งหมดช่วยให้นักวิจัยเข้าใจ ‘จุดบอด’ ของการระบาด จำนวนคนที่ติดเชื้อจริง ๆ รวมถึงผู้ที่มีอาการอ่อน ๆ หรือ ไม่มีอาการเลย ซึ่งกรณีเหล่านี้จะถูกละเลยในการตรวจทั่วไป

ด้วยการใช้ข้อมูลจากเรือไดมอนด์ พรินเซส ทำให้เกิดรายงานใน Eurosurveillance1 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ว่า ‘18% ของผู้ติดเชื้อบนเรือไม่แสดงอาการใด ๆ’

“นั่นนับว่าเป็นตัวเลขที่มีความเป็นรูปธรรม” เจอราร์โด เชาเวล (Gerardo Chowell) นักระบาดวิทยาเชิงคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจีย (Georgia State University) ในแอตแลนตา กล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารบนเรือส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยซึ่งมีแนวโน้มที่จะแสดงอาการถ้าติดเชื้อ

ดังนั้น อัตราที่ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการในสังคมจริงก็น่าจะสูงกว่านี้เสียอีก

ความรุนแรงของโรค

อีกทีมวิจัยหนึ่งได้ใช้ข้อมูลจากเรือ ประมาณการณ์ว่า สัดส่วนการตายจากเชื้อไวรัส (Case fatality rate; CFR) ที่ได้รับการยืนยันจากจีนอยู่ที่ประมาณ 1.1% ซึ่งต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ได้ประเมินไว้คือ 3.8%

ทิโมธี รัสเซล (Timothy Russell) นักระบาดวิทยาเชิงคณิตศาสตร์ จากสถาบันวิจัยสาธารณสุขและเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) อธิบายว่า องค์การอนามัยโลกได้คิดคำนวนสัดส่วนจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ ไม่ได้รวมกรณีที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน ดังนั้น จึงทำให้โรคนี้ดูรุนแรงมากกว่าที่มันเป็นจริง ๆ

ในทางตรงกันข้าม รัสเซลและเพื่อนร่วมงานของเขาได้ใช้ข้อมูลจากเรือไดมอนด์ พรินเซส ที่ซึ่งเกือบทุกคนไดัรับการตรวจหาเชื้อ และมียอดผู้เสียชีวิตรวม 7 คน เมื่อรวมเข้ากับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันจำนวนกว่า 72,000 รายในประเทศจีน ทำให้การประเมินอัตราการตายจากเชื้อไวรัสของพวกเขาน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญอยู่

ทีมวิจัยยังประเมินว่า หากนำอัตราการติดเชื้อ (Infection fatality rate; IFR) ในประเทศจีน ซึ่งเป็นอัตรารวมผู้ติดเชื้อทั้งหมด รวมทั้งคนที่ไม่แสดงอาการด้วย จะยิ่งมีอัตราการตายลดต่ำลงเหลือเพียงประมาณ 0.5% โดยอัตราการติดเชื้อนี้เองที่ทำให้การคำนวนยิ่งยุ่งยาก เพราะผู้เสียชีวิตบางรายไม่ได้แสดงอาการของโรค หรือได้รับการตรวจหาเชื้อเลย

มาร์ค ลิปสิทช์ (Marc Lipsitch) นักระบาดวิทยาด้านโรคติดเชื้อ จากวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard T.H. Chan School of Public Health) ในบอสตัน แมสซาชูเซตส์ กล่าวอธิบายในเรื่องนี้ว่า “อัตราการติดเชื้อเป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญที่ช่วยให้เข้าใจความรุนแรงของโรค และรู้ว่าควรจะขัดขวางหรือยับยั้งการติดเชื้อได้อย่างไร แต่ก็มีสิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งคือ การสืบหาโรคทำได้โดยการตรวจหาไวรัส และนั่นอาจจะทำให้เกิดการตรวจที่ผิดพลาดขึ้นในกรณีที่ตรวจหาเชื้อในผู้ที่ติดเชื้อแต่หายดีแล้ว”

อิโอแอนนิดิสเพิ่มเติมว่า การศึกษาวิจัยโดยใช้ข้อมูลจากเรือไดมอนด์ พรินเซส จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น หากนำข้อมูลประวัติทางการแพทย์หรือข้อมูลสุขภาพของผู้ที่อยู่บนเรือมาประมวลร่วมด้วย เป็นต้นว่า คนเหล่านั้นสูบบุหรี่หรือไม่

“เรารู้ว่าไม่ใช่เพียงแค่อายุ แต่โรคประจำตัวอย่าง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ เบาหวาน และอาการอื่น ๆ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อผลลัพธ์ที่เลวร้ายมากขึ้นด้วย”

 

การกักตัวคือสิ่งจำเป็น

เจอราร์โด เชาเวล (Gerardo Chowell) นักระบาดวิทยาเชิงคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจีย

ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ผู้โดยสารถูกสั่งให้กักตัวเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ เชาเวลร่วมมือกับเคนจิ มิซูโมโต (Kenji Mizumoto) นักระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ในญี่ปุ่น ศึกษาว่า มาตรการการกักตัวที่เข้มงวดส่งผลต่อการลดแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างไร และรายงานใน Infectious Disease Modelling3 ว่า

นับแต่วันแรกที่เริ่มการกักตัวบนเรือ คนหนึ่งคนสามารถแพร่เชื้อไปถือคนอื่นได้ 7 คน อัตราการติดเชื้อที่ค่อนข้างสูงนี้เป็นเพราะผู้คนอาศัยอยู่ในที่คับแคบจำกัด และสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนไวรัส

แต่สำหรับคนที่อยู่แต่ในห้องของตนเอง ค่าเฉลี่ยที่จะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือน้อยกว่าจำนวน 1 คนเสียอีก การกักตัวจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการป้องกันการแพร่ระบาดและติดเชื้อไวรัส และเป็นมาตรการที่เรียกได้ว่ามาถูกทางแล้ว

แม้ว่าข้อมูลเชิงลึกจากเรือเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสจะมีค่ายิ่ง แต่มันก็เป็นเรื่องยากที่จะถอดบทเรียนจากการกักตัวดังกล่าว มาปรับใช้ในหลายประเทศ  “นั่นก็เพราะมันคือทั้งประเทศไม่ใช่แค่บนเรือหนึ่งลำ” อิโอแอนนิดิสกล่าวทิ้งท้าย

 

สรุปคือ ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการน่าจะมีปะปนอยู่ในสังคมเป็นจำนวนมากกว่าตัวเลขที่เราได้รับรายงานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ในขณะเดียวกัน ความรุนแรงของโรคโดยรวมก็ต่ำกว่าที่เราคาดการณ์กันไว้ แต่เพื่อเป็นการไม่ประมาท การกินร้อน ช้อนเรา หลีกหนีจากผู้คน และการเดินทางก็ยังคงเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการรับมือกับโควิด ขอให้ทุกท่านดูแลร่างกายให้แข็งแรงเข้าไว้ แล้วเราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันครับ

อ้างอิง

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส