หลังจากที่วัคซีน Oxford-AstraZeneca วัคซีนตัวที่ 2 ที่ได้รับการอนุมัติใช้ในสหราชอาณาจักร หลายคนอาจเกิดคำถามว่า แล้วมันแตกต่างกับวัคซีนตัวแรกอย่างไร และวัคซีนนี้สำคัญจริงไหม วันนี้เราจะอัปเดตข้อมูลวัคซีนที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อป้องกัน Covid-19 ให้ทุกท่านกันค่ะ (ข้อมูลจากสำนักข่าว BBC อัปเดตล่าสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2563)

วัคซีนนั้นสำคัญไฉน?

ส่วนใหญ่คนทั่วไปมีโอกาสติดเชื้อไวรัส Covid-19 จากปัจจัยต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ด้วยการป้องกันตัวของประชาชน และการตรวจรักษาสามารถช่วยลดการเสียชีวิตลงได้ แต่วัคซีนจะเข้าไปฝึกสอนระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ให้รู้จักรับมือกับการติดเชื้อ หากเกิดผลสูงสุดวัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี หรืออย่างน้อย วัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคที่จะเกิดขึ้นได้

ซึ่งตอนนี้มีวัคซีน 3 ตัวที่ได้รับการอนุมัติใช้ในประเทศต่าง ๆ ดังนี้

Pfizer/BioNtech vaccine

Tozinameran วัคซีนจาก Pfizer/BioNtech
Tozinameran วัคซีนจาก Pfizer/BioNtech

Tozinameran วัคซีนตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับ Covid-19 หลังจากที่ได้เผยแพร่งานวิจัยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางบริษัทกล่าวว่าวัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพสูงสุดถึง 95% โดยต้องรับวัคซีน 2 ชุด ชุดแรกและชุดที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ ซึ่งในตอนนี้สหราชอาณาจักรมีกำหนดรับวัคซีนไป 40 ล้านโดส และประชาชน 43,000 คน ที่ได้รับวัคซีน ไม่มีข้อกังวลด้านความปลอดภัยใด ๆ

วัคซีนตัวนี้มีความจำเป็นต้องเก็บรักษาในที่ที่มีอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และต้องขนส่งในกล่องเฉพาะที่บรรจุในน้ำแข็งแห้งที่ติดตั้ง GPS ด้วย

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมสหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศแรกที่อนุมัติวัคซีนป้องกันไวรัส Pfizer / BioNTech สำหรับการใช้งานอย่างแพร่หลาย หลังจากนั้น 6 วันต่อมา Margaret Keenan วัย 90 ปีกลายเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับวัคซีนที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Coventry ตั้งแต่นั้นมามีผู้คนมากกว่า 600,000 คนในสหราชอาณาจักรได้รับการฉีดวัคซีนตัวนี้

อีกหนึ่งความพิเศษของวัคซีนตัวนี้คือมันใช้ RNA ซึ่งเป็นส่วนเล็ก ๆ ของรหัสพันธุกรรมเป็นตัวกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีวัคซีนตัวไหนใช้วิธีนี้มาก่อน ถึงจะมีการทดลองทางคลีนิคกับวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ ก็ตาม

Oxford University/AstraZeneca vaccine

ตามมาติด ๆ กับวัคซีนตัวที่สองที่ทางสหราชอาณาจักรอนุมัติให้ใช้อย่างแพร่หลายได้ หลังจากการทดสอบพบว่าวัคซีนสามารถหยุดยั้งอาการของผู้ป่วย Covid-19 ได้ถึง 70% ยังมีรายงานว่ามันสามารถทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุดีขึ้น นอกจากนี้หากใช้ตามโดสที่เหมาะสมสามารถเพิ่มการป้องกันได้ถึง 90%

ในตอนนี้สหราชอาณาจักรสั่งซื้อวัคซีนดังกล่าวเป็นจำนวน 100 ล้านโดส (วัคซีนตัวนี้จำเป็นต้องรับการฉีด 2 ชุดเช่นเดียวกับ Pfizer) ถึงอย่างนั้นการทดลองทางคลินิกกับคน 20,000 คนยังคงดำเนินการอยู่ แต่วัคซีนตัวนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจัดเก็บ และการขนส่งที่ยุ่งยากได้เป็นอย่างดี เพราะมันไม่จะเป็นต้องเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิเย็นจัด เก็บในความเย็นระดับตู้เย็นทั่วไปก็ได้แล้ว

วัคซีนตัวนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากไวรัสหวัดธรรมดาที่อ่อนแอลงในลิงชิมแปนซี ที่ถูกดัดแปลงมาให้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในมนุษย์

Moderna vaccine

วัคซีนตัวนี้ใช้หลักการเดียวกับ Pfizer โดยบริษัทผู้ผลิตกล่าวว่ามันมีประสิทธิภาพสูงถึง 94.5% สหราชอาณาจักรจะมีวัคซีนดังกล่าวจำนวน 5 ล้านโดสภายในฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง (มีนาคม-พฤษภาคม) วัคซีนจำเป็นต้องฉีด 2 ชุด เข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ วัคซีนตัวนี้มีกระบวนการจัดเก็บที่ง่ายกว่า Pfizer มันสามารถรักษาเสถียรภาพของตัวมันเองในอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสได้นานถึง 6 เดือน

แล้ววัคซีนที่กำลังพัฒนามีอะไรบ้าง?

Russian Sputnik V
Russian Sputnik V
  • Russian Sputnik V : วัคซีนสัญชาติรัสเซีย ทำงานใกล้เคียงกับ Oxford ผู้ผลิตคาดว่ามีประสิทธิภาพการทำงานอยู่ที่ 92%
  • Janssen วัคซีน ตอนนี้ทางบริษัทกำลังรับสมัครคน 6,000 คนทั่วสหราชอาณาจักรจากจำนวน 30,000 คนทั่วโลก เพื่อเข้ารับการดลองว่าการฉีดวัคซีน 2 ชุดสามารถให้ภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง และยาวนานกว่า 1 ชุดหรือไม่
  • Wuhan Institute of Biological Products and Sinopharm ในประเทศจีนและสถาบันวิจัย Gamaleya ของรัสเซียกำลังอยู่ในการทดสอบขั้นสุดท้าย
CoronaVac จาก Sinovac
CoronaVac จาก Sinovac

และวัคซีนอีกหนึ่งตัวที่ประเทศไทยกำลังจะนำเข้ามาในต้นปีนี้ได้แก่ CoronaVac เป็นวัคซีนป้องกัน Covid-19 ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทชีวเวชภัณฑ์ของจีน วัคซีนตัวนี้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงกลางปี 2020 ในปัจจุบันยังอยู่ในระยะการทดลองเฟสที่ 3 ในบราซิล ชิลี อินโดนีเซีย และตุรกี โดยวัคซีนดังกล่าวใช้หลักการเดียวกันกับวัคซีนต้นแบบ BBIBP-CorV และ BBV152

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมสถาบัน Butantan ได้ทำการทดสอบในบราซิลผลปรากฏว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 50-90% (แต่ผลการทดลองทั้งหมดถูกระงับจาก Sinovac) และในวันที่ 24 ธันวาคมตุรกีเปิดเผยผลการทดลองว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงถึง 91.25% ซึ่งผลการทดลองจากทั้งสองประเทศนั้นค่อนข้างขัดแย้งกันเป็นอย่างมาก

ในเดือนมกราคมกระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าไทยจะได้รับ CoronaVac จำนวน 2 ล้านโดส โดยทยอยส่งมา 3 ครั้ง เดือนกุมภาพันธ์ 200,000 ชุด เดือนมีนาคม 800,000 ชุด และอีก 1 ล้านชุดในเดือนเมษายน

ไม่แน่ในเร็ว ๆ นี้เราอาจได้เห็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในราคาที่จับต้องได้ และเข้าถึงประชากรทุกคนบนโลกอย่างเท่าเทียมกัน

อ้างอิง BBC News

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส