นักจุลชีววิทยาอย่างริช เดวิส (Rich Davis) ได้ทวีตรูปภาพลงในทวิตเตอร์ของเขา เพื่อแสดงให้เห็นว่าการสวมหน้ากากอนามัยสามารถหยุดการแพร่กระจายของละอองในทางเดินหายใจได้อย่างไร

โดยเดวิสได้จำลองพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในชีวิตประจำวันที่สามารถจะแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างเช่น การจาม การร้องเพลง การพูดคุยและการไอ โดยเขาจะใช้วุ้นทดลองที่ใช้สำหรับการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย เพื่อแสดงให้เห็นว่าระหว่างที่เราทำพฤติกรรมแบบนี้ สามารถจะแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียไปได้มากหรือน้อยเพียงใด โดยการทดลองจะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือแบบที่ใส่หน้ากากอนามัยและแบบไม่ใส่หน้ากากอนามัย

โดยในการทดลองจะแบ่งออกเป็นชัด ๆ ดังนี้

  • ครั้งแรกเขาจาม 1 ครั้งใส่ตัวทดลอง ผลปรากฏว่าตัวทดลองด้านซ้ายที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย จะมีแบคทีเรียผุดขึ้นมามหาศาล ขณะที่ตัวทดลองด้านขวา ไม่มีแบคทีเรียหลุดรอดออกมาเลย เนื่องจากเขาใส่หน้ากากอนามัยนั่นเอง
  • ครั้งที่สองเป็นการทดลองร้องเพลงเป็นเวลา 1 นาที ผลปรากฏว่าถ้าไม่สวมหน้ากากอนามัย จะมีแบคทีเรียแพร่กระจายออกมาเล็กน้อย
  • ครั้งที่สามเป็นการทดลองพูดตามปกติเป็นเวลา 1 นาที ผลปรากฏว่าถ้าไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย จะมีแบคทีเรียแพร่กระจายออกมาเล็กน้อยเช่นกัน ขณะที่ถ้าสวมใส่หน้ากากอนามัย ก็ยังคงไม่มีแบคทีเรียหลุดรอดออกมาเช่นเดิม
  • ครั้งที่สี่ เป็นการทดลองไอเป็นจำนวน 2 ครั้ง ผลปรากฏว่าถ้าไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย จะมีแบคทีเรียแพร่กระจายออกมาค่อนข้างเยอะ ขณะที่ถ้าใส่หน้ากาก ก็จะไม่มีแบคทีเรียหลุดออกมา

นี่จึงสรุปได้ว่าพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราค่อนข้างจะแพร่กระจายแบคทีเรียอยู่มากพอสมควรหากไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย แต่เมื่อใดที่สวมใส่หน้ากากอนามัย ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยทีเดียว

นอกจากนี้ก็ยังมีการทดลองอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการทดลองว่าการรักษาระยะห่างของบุคคลนั้นสามารถส่งผลต่อการแพร่กระจายของละอองแบคทีเรียได้มากน้อยเพียงไรอีกด้วย โดยการทดลองจะเป็นการทดสอบการไออย่างหนักเป็นเวลาติดต่อกัน 15 วินาที ทั้งแบบที่สวมใส่หน้ากากและไม่สวมใส่หน้ากาก จากระยะที่ 2 ฟุต หรือ 0.6 เมตร 4 ฟุต หรือ 1.21เมตร และ 6 ฟุต หรือ 1.82 เมตร ซึ่งผลการทดลองก็ออกมาตามคาด เชื้อแบคทีเรียสามารถแพร่กระจายในระยะใกล้ได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม ดร. เดวิสกล่าวว่าการสาธิตของเขาอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้เช่นกัน เนื่องจากประเภทของหน้ากากแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญ COVID-19 ยังเป็นไวรัส ไม่ได้เป็นแบคทีเรียที่ทดลองให้ดูอย่างที่เห็น นี่จึงไม่ใช่การทดลอง แต่เป็นเพียงการสาธิตเท่านั้น

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส