‘GameFi’ หนึ่งในสื่อที่ต่อยอดจาก Cryptocurrency ที่ในอนาคตกำลังจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรา แต่ทั้งนี้เกมที่ถูกเรียกว่า ‘Play-to-Earn’ จะเป็นเพียงการใช้โอกาสของเทรนด์โลก หรือ จะยังยืนจนเป็นเกมรูปแบบใหม่ ? ‘คุณจา จรินทร ฐิตะดิลก’ ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘GuildFi’ มีความคิดเห็นดี ๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ให้ได้รับทราบกันครับ


• ทุกคนอาจจะมองว่า GameFi เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ แต่จริง ๆ แล้ว ผมมองว่า มันเป็นเกมทั่วไปนี่แหละครับ ที่มีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามา พอมีบล็อกเชนเข้ามา ก็จะมีเรื่องของการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้มีสิ่งที่เรียกว่า Play-to-Earn เกิดขึ้น ก็คือการเล่นเกมแล้วได้เงิน แทนที่คนจะเล่นเกมอย่างเดียว ก็จะมีเรื่องของการเงินเข้ามา ทำให้คนสามารถหาผลกำไรในเกมต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่นเกม ‘Raknarok’ ที่มีดราม่าต่าง ๆ ขึ้นมาว่า GM (Game Master) เสกของ ทำให้ Demand และ Supply มันไม่เท่ากัน ซึ่ง GameFi พวกนี้สามารถที่จะเข้ามาแก้ปัญหาพวกนี้ได้

• เพราะว่าอยู่ดี ๆ คุณจะไม่สามารถเสกของขึ้นมาเองได้นะ หรือว่าถ้าคุณจะเสกของ คุณก็จะรู้ได้ว่า ของที่เสกขึ้นมามันมีจำนวนเท่าไหร่ เสกให้ใคร แล้วมันทำให้กระทบต่อ Ecosystem ของเกมนั้นอย่างไร

GameFi

• พอมันมีเรื่องของความโปร่งใสเข้ามา การออกแบบเกมมันก็จะแตกต่างจากเกมทั่วไป สำหรับตอนนี้ ผมว่ามันไม่ใช่แค่การเล่นเกมแล้วได้เงิน แต่มันเป็นการให้ความรู้กับคนทั่วไป โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่เข้ามาเล่นเกมใหม่ ๆ แทนที่เขาจะเล่นเพื่อความสนุกอย่างเดียว เขาต้องไปเรียนรู้เรื่องระบบเศรษฐกิจ เรื่องค่าเงิน เรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย พวกนี้ผมว่ามันเป็นจุดที่โดดเด่นสำหรับเกมที่มีระบบบล็อกเชน ที่ทำให้คนสามารถที่จะเรียนรู้ และมีความรู้เรื่องพวกนี้ขึ้นได้

• การกำเนิด GameFi จริง ๆ แล้วมันก็กำเนิดมาจากบล็อกเชนนี่แหละครับ บล็อกเชนจริง ๆ มันเกิดขึ้นมานานมาก ๆ แล้ว ทุกคนก็พยายามที่จะหาวิธีใช้มัน สื่อบันเทิงอันหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็คือเกม พอมีเกม มีบล็อกเชน ทุกคนก็จะเริ่มมองว่าจะเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามารวมกันได้อย่างไร มันก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า NFT (Non-Fungible Token – สินทรัพย์ดิจิทัลทำซ้ำไม่ได้) ขึ้นมา ซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ว่า เราเป็นคนถือสิ่งนี้อยู่จริง ๆ สิ่งนี้มีชิ้นเดียวในโลกจริง ๆ นะ

• แต่พอคอนเซ็ปต์อันนี้ มาบวกกับพวก Tokenomics หรือ Token Blockchain ต่าง ๆ มันก็พอดีกับการเล่าเรื่องในแบบของเกมมาก ๆ เราสามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ไอเทมในเกมทั้งหมดมีอยู่เท่าไหร่ ใครถืออยู่เท่าไหร่บ้าง ซึ่งตรงนี้มันไม่ควรจะเป็นข้อมูลส่วนตัว มันควรจะเป็นข้อมูลสาธารณะที่ทำให้เกมมีความโปร่งใส และทำให้การโกงเกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ

GameFi

• คนที่อยากจะเล่น GameFi จริง ๆ มันก็ค่อนข้างยากนิดหนึ่ง เพราะว่า GameFi มันเพิ่งจะเริ่ม รวมถึงการเข้าถึงบล็อกเชนก็ยากด้วย ถ้าอยากจะโดดเข้ามาเล่น GameFi ผมว่าคุณต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับบล็อกเชนมาก่อน ต้องศึกษาเรื่องคีย์ หรือวอลเล็ต (Wallet) ต่าง ๆ ถ้าเรารู้เรื่องพวกนี้ มีวอลเล็ต บวกกับที่เราเล่นเกมเป็นอยู่แล้ว เราก็แค่เอาวอลเล็ตไปเชื่อมต่อกับเกม แล้วก็เริ่มเล่นเกมได้เลย ซึ่ง GameFi จะมีหลากหลายประเภท อย่างเช่นเกมที่ต้องซื้อ NFT ก่อน ก็จะคล้ายกับเกมสมัยก่อน อย่างเช่น Raknarok ที่ต้องใช้การเติมเวลา (Airtime) ก่อนที่คุณจะเข้าไปเล่นได้ คุณต้องซื้อบัตรก่อน อันนี้ก็คล้าย ๆ กันครับ เพียงแต่ว่าเราต้องซื้อ NFT ก่อนที่จะเข้าไปเล่นได้

• แต่ความแตกต่างก็คือ พอมันมีเรื่องของการเงิน เกี่ยวกับผลกำไรเข้ามา การซื้อ NFT ก่อนมันก็มีความเสี่ยง บางคนเข้าไปเล่น GameFi เพื่อหากำไรอย่างเดียว ไม่ได้เล่นเพื่อความสนุก มันก็จะมีเรื่องของความเสี่ยงว่า ถ้าซื้อ NFT ก่อนเข้าไปเล่น จะขาดทุนหรือเปล่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าห่วงสำหรับคนที่ต้องการเข้าไปเล่นเพื่อผลกำไร แต่สำหรับคนที่เข้าไปเล่นเพื่อความสนุก ก็สามารถซื้อ NFT แล้วเข้าไปเล่นได้เลย

• เงินที่ผู้เล่นจะได้จาก GameFi อันนี้ก็ต้องแล้วแต่เกมเลยครับ ถ้าเป็นเกมสมัยนี้ ทุกคนก็จะเห็นว่า มันจะมีแนว ‘Click to Earn’ หรือเกมแชร์ลูกโซ๋ ซึ่งอันนี้ก็ตรง ๆ เลยก็คือ เอาเงินคนใหม่ไปจ่ายคนเก่า วนเป็นลูปไป แต่ผมมองว่า เกมแบบนี้จะมีจำนวนน้อยลงมาก ๆ และจะมีเกมระดับ AAA เข้ามา เราสามารถที่จะเล่นเกมเพื่อความสนุกได้ด้วย ไม่ใช่แค่เข้าไปเล่นเพื่อหาเงิน แล้วก็ Click to Earn อย่างเดียว ไปหาดาวร้าย (ดาวน์ไลน์) มาเล่นต่อจากเรา

GameFi

• กิมมิกการเล่นเกมที่เป็นแชร์ลูกโซ่ เป็นหลุมพรางที่ช่วยเพิ่มผู้เล่นใหม่ในเกมที่ดีมาก ๆ เพราะว่าเราสามารถที่จะดึงผู้ใช้เข้ามาเล่นเกมของเราได้เร็วมาก ๆ แต่ว่าพอหมดช่วงแชร์ลูกโซ่หลังจากนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับเกมแล้วแหละว่ามันเป็นเกมจริงหรือเกมแชร์ลูกโซ่

• ถ้าเป็นเกมจริง เขาก็จะมีเกมเพลย์ที่สามารถตรึงคนที่เข้ามาเล่นตั้งแต่แรกให้เล่นต่อไปได้ แต่ถ้าเป็นแชร์ลูกโซ่ มันก็จะระเบิดพังไป ผมมองว่าในอนาคต เกมก็จะใช้วิธีนี้แหละในการเพิ่มจำนวนผู้เล่นในตอนแรกให้เยอะ ๆ แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นเกมที่ดีได้เหมือนกัน

• วิธีการดู GameFi ที่น่าเชื่อถือก็คือ ต้องดูก่อนว่าใครเป็นผู้ลงทุน ถ้าคนที่ลงทุนเป็นคนที่มีชื่อเสียง ก็จะเป็นจุดที่คัดกรองได้ในระดับหนึ่งว่า เกมนี้ไม่ใช่เกมที่หนีเรา หรือว่า Rug Pull (การที่นักพัฒนาปิดโปรเจกต์และเชิดเงินของนักลงทุนไป) ได้แน่ ๆ อย่างที่ 2 ก็คือ ต้องไปดูเรื่องของทีม หรือการพัฒนาของเกม ว่าเขาทำงานจริงหรือเปล่า หรือมีแค่ไวต์เปเปอร์ และก็มีแค่เว็บไซต์ออกมา แต่ไม่มีเกมให้เล่นสักที

GameFi

• การเล่น GameFi ให้เป็นอาชีพ ผมว่ามันแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ อย่างแรกคือ ลงทุนเอง ซึ่งจะต้องรับความเสี่ยงของราคา NFT ราคา Token ต่าง ๆ ถ้าคุณเข้ามาเล่นเพื่อเป็นอาชีพ มันก็จะมีความเสี่ยงที่ว่า คุณอาจจะไม่คืนทุนนะ แต่ถ้าคุณไม่อยากจะเสี่ยงเลย ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Scholarship’ อยู่ มีคนที่รับความเสี่ยงแทนคุณ คุณก็ยืม NFT แล้วเข้ามาเล่นเกมอย่างเดียวไปเรื่อย ๆ แล้วเอาผลกำไรที่ได้มาแบ่งกับนายทุน ให้นายทุนแบกรับความเสี่ยงราคา NFT ราคา Token ทั้งหมด ส่วน Scholarship จะใช้แค่เวลาเป็นการแลกเปลี่ยน

• GameFi จริง ๆ มันก็คือเกมชนิดหนึ่ง ฉะนั้น พอมีการแข่งขัน การที่เรามี Esports มันก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ผมมองว่า ภายใน 1-3 ปี GameFi Esports มาแน่ ๆ และเงินรางวัลจะมหึมามาก ๆ ตอนนี้ก็จะมีเกม ‘Axie Infinity’ ที่หลายประเทศจัดการแข่งขัน มีเงินรางวัลหลายล้านบาท เป็นเกมแนว Turn-Based ซึ่งมันก็เป็นการพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า GameFi Esports มาแน่ ๆ ไม่ช้าก็เร็ว

• ผมมองว่า เกมมันก็มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว อย่างเช่นเกมมือถือบางเกมที่ออกมา 6 เดือนก็เจ๊งแล้ว ผมว่า GameFi ก็ไม่ต่างกันครับ บางเกม ออกมา 3 เดือนก็พังแล้ว บางเกมอยู่เป็นปีก็มี ถ้าถามว่ามันจะฉาบฉวยหรือเปล่า ผมว่ามันก็เป็นปกติทั่วไปนี่แหละครับ มันก็มีเกมที่ดี กับเกมที่ไม่ดี เกมที่ดี มันก็เป็นเกมที่ยั่งยืนในระยะยาว ส่วนเกมที่ระยะสั้น จะเรียกว่าฉาบฉวยก็ได้ แต่ว่าความฉาบฉวยอันนี้ ถ้ามันก็เป็นหนทางในการทำกำไรได้ ก็สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้อยู่เหมือนกัน

GameFi

• ถ้าให้ยกตัวอย่าง GameFi ที่ยั่งยืน ก็คงต้องเป็นเกม ‘Axie Infinity’ นี่แหละครับ เพราะว่าเป็นเกมที่นานที่สุดแล้ว ถ้าจะหาตัวอย่างอื่น ๆ ก็คงหาได้ยาก เพราะว่ามันยังใหม่มาก ๆ แต่ว่าเกมนี้เปิดมา 1-2 ปีแล้ว ก็สามารถอยู่ได้ ระบบการเงินก็ยังอยู่ได้ ถึงแม้ราคา SLP (Token ของเกม) จะหล่นลงไปเเยอะก็ตาม แต่ว่าเขาก็จะมีระบบเกมใหม่ ๆ ฝังเข้าไปในระบบ ทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถที่จะอยู่ไปได้เรื่อย ๆ อย่างยั่งยืน หรือเกม ‘MIR4’ เกม MMORPG ที่มีองค์ประกอบของบล็อกเชนเข้ามาอยู่ในเกมด้วย ก็สามารถที่จะทำให้ยั่งยืนได้เหมือนกัน อย่างเช่นล่าสุดที่ ‘พี่เอก Heartrocker’ ขายตัว MIR4 ราคา 10 กว่าล้าน ก็ถือว่าเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งได้ดีเลยครับ

• ความเสี่ยงแรกก่อนที่จะเล่น GameFi ก็คือเรื่องของวอลเล็ต เพราะว่าบล็อกเชนกับเกม มันมีความเสี่ยงทั้งคู่ ฝั่งวอลเล็ต ก็จะมีเรื่องของ Private Key ที่คุณไม่สามารถทำหายได้เลย พอมีเรื่องบล็อกเชน มันก็จะไม่ใช่แค่ไอเทมในเกม ถ้าเกิดว่าคุณมีเหรียญในวอลเล็ต มันก็อาจจะหายไปได้เหมือนกัน ตรงนี้เป็นความเสี่ยงที่ทุกคนต้องเรียนรู้และต้องดูให้ดีว่า การสร้างวอลเล็ตที่ปลอดภัย การเก็บ Private Key อย่างไรให้ปลอดภัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฮาร์ดแวร์วอลเล็ต (Hardware Wallet) เช่น ‘Ledger Wallet’ หรือ ‘Tazor Wallet’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาได้มากๆ

• อย่างที่ 2 คือเรื่องของโปรเจกต์ บางครั้งเราซื้อ NFT มา ก็อาจจะมีช่วงที่ราคาขึ้นหรือลง หรือบางเกมที่ต้องใช้ Token ในการเล่น ถ้าเราจะเล่นเพื่อหาผลกำไร มันก็จะเป็นความเสี่ยงมาก ๆ ฉะนั้น เราต้องศึกษาว่า ถ้าราคาลงจะทำอย่างไร ราคาขึ้นจะทำอย่างไร บางโปรเจกต์อาจจะ Rug Pull ไปเลยก็มี ตรงนี้ต้องดูให้ดีว่าโปรเจกต์นั้น ๆ มีคุณภาพหรือเปล่า

GameFi

• คนที่เล่น GameFi ที่ไม่มีเงินเย็น แล้วเล่น GameFi เพื่อหวังจะตั้งตัว หรือเล่นเพื่อเป็นรายได้หลัก อันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่แนะนำเลยครับ ตัวเกมอาจจะมีความโปร่งใส แต่ก็อาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ตัวเกมอาจจะไม่รอด ความเสี่ยงมันมีเยอะมาก ๆ

• เมื่อก่อน การที่เราจะมีสตาร์ตอัปดี ๆ เราต้องไปที่ซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) แต่ด้วยความที่โลกของบล็อกเชน มันเป็นโลกที่เปิด มันไม่สำคัญว่าคุณจะอยู่ประเทศไหน ถ้าคุณมีความสามารถที่จะปั้นทีม ปั้นตัวเกมที่ดีได้ คุณสามารถยืนหยัดแล้วบอกว่าเราสามารถสร้างเกมที่ดีได้ ทำให้อาจจะมี VC (Venture Capital – ผู้ร่วมทุน) มาให้เงินทุน และสามารถทำให้คุณทำโปรเจกต์ในไทยต่อไปได้เรื่อย ๆ เลย

• การระดมทุนในบล็อกเชนค่อนข้างจะทำได้ง่ายกว่าโลกแบบเดิมมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นนักพัฒนา (Developer) หรือเป็น Game Studio ที่เห็นคุณค่าของบล็อกเชน หรือ GameFi ลองกระโดดเข้ามาสร้างเกม แล้วพิสูจน์ว่ามันสามารถเล่นได้จริง ๆ และสนุก แค่นี้ก็สามารถที่จะเปิดโลกของการลงทุน ให้คนทั้งโลกสามารถเข้ามาลงทุนในเกมของคุณได้เลย

GameFi

• ‘GuildFi’ เป็น Ecosystem ที่เราต้องการจะเข้าไปหาผลประโยชน์ในเมตาเวิร์ส (Metaverse) ซึ่งเราเริ่มต้นกับ GameFi ก่อน เราลงทุนในเกม ลงทุนใน NFT พอเรามี NFT ในคลัง เราจะทำยังไงให้เกมนั้นมันเติบโต เราก็ต้องหาผู้เล่นเข้ามาเล่นเกมนั้น บวกกับให้เขายืม NFT ในการเล่นด้วย

• ถ้าเปรียบเทียบกับเกม ‘Axie Infinity’ จะต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนในการคืนทุน ถ้าเปรียบเทียบกับการลงทุนทั่วไป ผมว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ๆ ถ้าคิดเป็น ROI (Return On Investment – ผลตอบแทนจากการลงทุน) ก็จะอยู่ที่ประมาณ 200% ถือว่ามีศักยภาพในการเติบโตที่มหาศาลมาก ๆ ครับ อันนี้เป็นสิ่งที่คนน่าจะรู้จัก GuildFi อยู่แล้ว ก็คือการทำ Scholarship กับเกม ‘Axie Infinity’

• หรือสำหรับ Game Studio ที่สนใจและต้องการหาเงินลงทุน หาที่ปรึกษา ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้เลย เราจะเป็นเหมือนกับผู้บ่มเพาะและสร้างสตาร์ตอัปที่คอยดูแลเกมที่มีคุณภาพ และให้เงินทุนและผู้เล่นได้ด้วย

GameFi

• ต่อไป GameFi จะมีเยอะมาก ๆ เราก็จะมี NFT ในคลังเยอะมาก ๆ เราก็สามารถที่จะปล่อยเช่าให้คนสามารถที่จะเข้ามายืมเล่นได้ เล่นเกมสนุกและได้เงินด้วย ผมว่ามันเป็นโมเดลที่ดีมาก ๆ

• เป้าหมายหลักจริง ๆ ของ GuildFi ก็คือ เราอยากจะเป็น Riot Games (ค่ายผู้พัฒนาเกม) แห่งโลกเมตาเวิร์ส หรือจะมองเราว่าเป็น Stream บวกกับ Riot Games ที่มีเรื่องเกี่ยวกับ NFT และบล็อกเชนต่าง ๆ ที่สามารถหาผลกำไรได้มากกว่าเกมทั่วไป


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส