“นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์” ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างถึงการที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่อนุมัติให้ E-Sports เป็นกีฬา โดยมองความห่วงใยเยาวชน เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการโฆษณาและส่งเสริมให้เล่นเกมมากขึ้น ทั้งที่ปกติก็มากแล้ว อีกทั้งในวงการวิชาการทั่วโลกก็ยังไม่ยอมรับให้เป็นกีฬา และองค์การอนามัยโลกถือว่าการเล่นเกมมากจะนำไปสู่การติดเกมได้

บอร์ด กกท. ยืนยัน! บรรจุ E-Sport เป็นกีฬาแล้วอย่างเป็นทางการ

โดยในจดหมายดังกล่าวระบุว่า

  • E-Sport เป็นวาทกรรมของบริษัท ที่จริงคือการแข่งขัน VDO Game คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ไม่รับรองว่าเป็นกีฬา (ด้วย 3 เหตุผลคือ เนื้อหารุนแรง / ไม่มีหน่วยงานคอยควบคุม /ไม่เป็นสาธารณะ แต่เป็นลิขสิทธิ์เอกชน) และแม้แต่องค์กรนานาชาติอย่าง Sport Accord ที่เป็นองค์กรรับรองกีฬา รวมทั้ง Mental Sport ก็ไม่รับรองวีดีโอเกมว่าเป็น Mental Sport
  • ในการดูแลผลทางเศรษฐกิจ เช่น รายได้ของนักแข่งหรือรายได้จากการโฆษณานั้นเทียบไม่ได้กับผลร้ายที่เกิดขึ้น ในสหรัฐอเมริกามีคนเล่น rov จำนวน 60 ล้านคน มีผู้เล่นอาชีพที่มีรายได้ประจำแค่ 57 คน (ทุกผู้เล่นจำนวน 1 ล้านคนจะมีมืออาชีพจำนวน 1 คน แต่มีผู้ติดเกม 2 – 8 หมื่นคน ขึ้นกับการนิยาม) ซึ่งส่งผลเสียต่อครอบครัว สมรรถนะการประกอบอาชีพมากมายมหาศาล
  • กว่าจะเป็น 1 ในล้านที่มีรายได้และคนจำนวน 8 หมื่นคนที่ติดเกม คนเหล่านี้จะมีปัญหาสุขภาพ สมาธิสั้น เสียพัฒนาการ (ในเด็กจะเสียสังคม/ภาษาล่าช้า) WHO จึงประกาศให้ Game Disorder เป็นโรคทางจิตเวช ทั้งที่มีบริษัทได้คัดค้านหลายครั้งทำให้ต้องดีเลย์การประกาศมาหลายปี แต่หลักฐานทางวิชาการก็ชี้ชัดว่า เป็นความผิดปกติเช่นเดียวกับการเสพติดพฤติกรรมอื่นๆ เช่น ติดการพนัน อย่าลืมว่าไม่มีกีฬาใดในโลกที่ทำให้เกิดการเสพติดได้
  • การรับรองให้เป็นสมาคมไปแข่งขันระหว่างประเทศในประเทศต่างๆ เป็นการรับรองว่าเป็นสมาคมตัวแทน ไม่ใช่รับรองว่าเป็นการกีฬา แต่กรณี กกท.รับรองว่า เป็นกีฬาเท่ากับรับรอง 2 ต่อ ทำให้บริษัทและสมาคมใช้เป็นโอกาสขยายการโฆษณาว่าเป็นกีฬาอย่างรุนแรง ทั้งที่ปกติก็ทำการตลาดอย่างกว้างขวางอยู่แล้วในฐานะ VDO Game
  • ผลก็คืออัตราเด็กติดเกมเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว รวมทั้งปัญหาที่ตามมาเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ละทิ้งการเรียน การพูดปด ลักขโมย ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ แค่ 6 เดือนแรก (ตุลาคม 2560 – มีนาคม 2561) ของการประกาศก็เพิ่มกว่าเท่าตัว มีการเปิดค่าย “กีฬา E-Sport” สนับสนุนให้นักเรียนจัดการแข่งขันในโรงเรียนโดยอ้างว่าเป็น Sport ฯลฯ
  • ประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ที่มีกลไกการดูแลดีกว่าก็ยังไม่ยอมรับว่าเป็นกีฬา แต่ไทยซึ่งมีจุดอ่อนทั้ง 3 ประการ กลับไปสนับสนุนให้เป็นกีฬา
    • ฝั่งเด็กและพ่อแม่ไม่เข้าใจผลเสียและโอกาสที่เกิดการติด ซึ่งต้องป้องกันด้วยการส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ และใช้หลัก 3 ต้อง 3 ไม่ (ต้องกำหนดเวลา ต้องกำหนดโปรแกรม ต้องเล่นกับลูก และไม่เป็นแบบอย่างที่ผิด ไม่เล่นในเวลาครอบครัว ไม่มีในห้องนอน)
    • ฝั่งบริษัทขาดจรรยาบรรณในการโฆษณาและการตลาด
    • ฝั่งกกท.และสมาคมขาดความสามารถในการควบคุม

แต่อย่างไรก็ตามก็มีการวิพากย์วิจารณ์มาตั้งแต่คราวก่อนว่า “การติดเกม” กับ “การเล่นเกมเพื่อแข่งขัน” นั้นต่างกัน ทีมนักกีฬา E-Sports ต่างก็มีการบริหารจัดการเวลา และต้องมีการพักผ่อน ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร เหมือนการเล่นกีฬาจริงๆ และก็มีกาารวิจารณ์จากมุมมองทั้ง 2 ด้าน อย่างเช่นรายการของทาง Online Station ที่เพึ่งจัดเร็วๆ นี้

Play video

ทั้งนี้ทางเว็บแบไต๋ขอให้ทุกท่านให้วิจารณญาณ และคุยโต้ตอบแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลและสุภาพครับ

ที่มา: มติชน