พรีวิว The Last of Us 2: แค่ 2 ชั่วโมงแรกก็รับรู้ได้ว่านี่คือว่าที่เกมแห่งปี

Release Date

19/06/2020

ราคาเริ่มต้น

1,890 บาท

Platform

PlayStation 4

แนวเกม

Action-adventure, survival horror

***ขอบคุณโค้ดรีวิวจากทาง Sony Interactive Entertainment ***

กล้าพูดได้เลยครับว่า “นี่คือเกมที่จะปิดท้ายยุคของ PlayStation 4 ได้อย่างสวยงามและสมบูรณ์แบบ” และทาง Sony Interactive Entertainment (หรือที่คุ้นชินกันในชื่อบ้าน ๆ ว่า Sony, PlayStation) ก็ยินดีที่จะให้สื่อทั้งหลาย เปิดเผยความรู้สึกหลังเล่นใน 2 ชั่วโมงแรกผ่านการพรีวิว (ก่อนที่จะไปจัดหนักจัดเต็มในรูปแบบรีวิวอีกทีในภายหลัง) ฉะนั้นอย่ารอช้า มาดูกันดีกว่าครับ ว่า The Last of Us Part II ใน 2 ชั่วโมงแรก มีอะไรให้น่าพูดถึงบ้าง?

เปิดเผยไม่ได้และไม่อยากเปิดเผย เพราะอยากให้คุณรับรู้มันด้วยตัวเอง

เอาเป็นว่าผมเปิดเผยอะไรไม่ได้มากเพราะมันจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทุกภาคส่วนของเกม ครับ มันไม่ได้กระทบแค่เนื้อเรื่อง แต่มันคือทั้งหมดของผลงานชิ้นนี้เลย การเล่น สภาพแวดล้อมประกอบฉากที่ลายล้อม สัญญะแฝง ไปจนถึงนัยสำคัญ ฉะนั้นใครที่รู้สปอยล์ก่อนหน้านี้ที่หลุดออกมา ผมแนะนำให้พยายามลืม ๆ มันไปเสีย สะกดจิตตัวเอง, ให้คนมาตีหัวจนความจำเสื่อม หรือจะด้วยวิธีอะไรก็ตามแต่ เพราะมันจะเสียอรรถรสของการดื่มด่ำไปกับประสบการณ์ที่จะได้รับของเกมนี้ แต่สำหรับใครที่ยังกลั้นใจไหว ปิดหูปิดตาได้ทัน หรือไม่ต้องการจะรับรู้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว “ยินดีด้วยคุณกำลังจะรับสาส์นที่ครบถ้วนจากผลงานเกมชิ้นนี้”

แต่ผมพอแอบบอกเรื่องราวคร่าว ๆ ได้อยู่บ้างครับ ในภาคนี้จะว่าด้วย 4 ปีถัดมานับจากเหตุการณ์ในภาคแรก โดยแกนหลักของเนื้อเรื่องเป็นการสานต่อเรื่องราวจากภาคที่แล้ว แต่จะเล่าด้วยแรงผลักดันใหม่ที่มันลุ่มลึกกว่าของเดิมเยอะมาก ๆ ลึกขนาดไหน? ขนาดที่ว่าต้องมีการนำเสนอประเด็นดังกล่าวผ่านรายละเอียดเสริมต่าง ๆ ของเกมที่ก็ซ้ำยังมีเจตนาจะให้เราถูกผูกติดอยู่กับเนื้อเรื่องแบบสะบัดไม่หลุด หรือถ้าจะให้อธิบายง่ายกว่านั้น ในภาคนี้จะมีการดำเนินเนื้อเรื่องคล้าย ๆ เกม Uncharted 4: A Thief’s End ให้เราติดตามต้นตอของเหตุที่ติดดินไม่ซับซ้อน แต่ประเด็นที่เล่าเราจะได้ซึมซับมันทุกมิติจนสามารถกลายเป็นองค์ชุดคิดที่ผ่านการตกผลึกได้ในภายหลัง

และสำหรับใครที่มีข้อสงสัยเรื่องการแปลภาษาไทย ผู้เขียนขอแยกเดี่ยวย่อหน้าสั้น ๆ นี้มาตอบให้โดยเฉพาะเลยละกันครับ ถ้าดูจากบริบท การถอดความหมาย ก็ต้องบอกว่า “เกือบสมบูรณ์แบบ” คือจะมีบางคำที่ดึงอารมณ์ของบทสนทนาไป แต่เอาจริง ๆ ผู้เขียนเข้าใจหัวอกคนแปลนะ เพราะบางคำถ้ามันตรงตัวนี่คือจะตลกกว่าเดิมหลุดอารมณ์กว่าอีก ก็เอาเป็นว่าเดี๋ยวเล่นจบแล้วยังไงจะมาแจกแจงมากกว่านี้อีกทีละกันครับ

ระบบการการเล่น “ที่นำเสนอแก่นแท้แห่งการเอาตัวรอด”

ถ้าคุณคิดว่าภาคแรกตีความการเป็นเกมแนวเอาตัวรอดที่ขับเคลื่อนระบบการเล่นแบบด้วยแอ็กชั่น (และมีการนำเสนอเนื้อแรื่องแบบเกมแนวแอดเวนเจอร์) ได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว The Last of Us Part II ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ แต่มันได้ถูกพัฒนาขึ้น พร้อมเสริมด้วยปัจจัยเสริมต่าง ๆ ที่ล้อมเกมเอาไว้เพื่อให้ผู้เล่นได้สัมผัสถึง “แก่นแท้ของการเอาตัวรอด” ที่จะทำให้ผู้เล่นตกอยู่ในภวังค์แห่งความกดดัน การหนีตายอย่างทุลักทุเล, การหลบซ่อนตัวอย่างคนขลาด ไปจนถึงการพุ่งเข้าหาผู้ล่าโดยไม่คิดชีวิต (โชคดีที่การตายในโลกของเกมสามารถกลับมาแก้ตัวได้เพียงการกดเริ่มใหม่) ซึ่งไม่ว่าจะเราจะมีฝีมือมากขนาดไหน สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งคุณจะต้องได้เจอมันแน่นอน

แต่ถึงจะบอกแบบนั้น ประสบการณ์และความสามารถใหม่ของผู้เล่นในภาคนี้ก็ได้ถูกเพิ่มเสริมเข้ามาเยอะมาก ๆ จนเรามีตัวเลือกในการรับมือกับศัตรูเพิ่มขึ้นชนิดที่คุณจะไม่มีทางทำได้ในภาคแรก อีกทั้งเรื่องของระบบพัฒนาตัวละครก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยปลดระวางความกดดันในการต่อสู้ได้ เพราะเราจะมีทางเลือกในการรับมือที่มากขึ้น ทั้งจากศักยภาพของตัวละคร และอาวุธยุทธปกรณ์

และสำหรับ Naugthy Dog คงจะข้ามเรื่องความฉลาดของ AI ศัตรูไปไม่ได้ ในภาคนี้เอาจริง ๆ คือมีความฉลาดเหมือนกับเกมภาคแรก หรือผลงานอื่น ๆ ของค่ายนะ คือมีการตีโอบ มีการยิงกดดัน มีศัตรูหลากหลายประเภทเช่นเดิม ที่เอาจริง ๆ คือต้องบอกว่าส่วนนี้คืองานฉมังพวกเขากันอยู่แล้ว แต่ในภาคนี้ตัวเกมได้มีรายละเอียดเสริมของศัตรูเข้ามาที่ทำให้แรงผลักดัน แรงจูงใจของเกมชัดเจนมากยิ่งขึ้น และนี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่ผู้เล่นจะรู้สึกไขว้เขวว่าแท้จริงแล้วศัตรูที่เราเจออยู่ข้างหน้า เราควรจะจัดการมันดีหรือไม่?

งานกราฟิกราวกับถอดมาจากสิ่งที่มีอยู่จริงผ่านการรีดเค้นศักยภาพฮาร์ดแวร์ของ PlayStation 4 ทุกอณู

อีกหนึ่งสิ่งที่ Naughty Dog ทำได้ยอดเยี่ยมตลอดทุกการเปิดตัวผลงานเกมใหม่ของพวกเขา คืองานกราฟิก ที่มักจะออกมาสวยล้ำ ณ เวลานั้นเสมอ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอีกครั้งกับ The Last of Us Part II หนึ่งในเกมที่ติดรายชื่ออำลาส่งท้ายเครื่องเล่น PlayStation 4 ฉะนั้นก็คงจะไม่มีเหตุผลอะไรที่พวกเขาจะไม่จัดหนักจัดเต็ม ทำทุกวิธีทาง หาทุกซอกของสถาปัตย์ฮาร์ดแวร์เครื่องเล่นเกมคอนโซลอายุ 7 ปี รีดทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำได้เพื่อให้งานภาพของเกมนี้ ออกมาสวยงามที่สุดเท่าที่ฮาร์ดแวร์จะทำได้

ไม่ว่าจะแสงเงาที่มีไดนามิกต์ของการไล่ระดับ มี God Rays หรือว่าแสงพาดผ่านวัตถุที่สมจริงถูกเติมแต่งด้วยละอองควันเพิ่มเสริมความเสมือน, พื้นผิวที่บริเวณโดยส่วนมากของฉากจะมีรายละเอียดที่คมชัด ไม่ได้ถูกใส่เข้ามาหลอกล่อสายตาด้วยการใส่ฟิลเตอร์เพิ่มความคม (Sharp) การเคลื่อนไหวของวัตถุธรรมชาติต่าง ๆ ภายในเกมที่มีกฎฟิสิกส์มารองรับ และน้ำ “พระเจ้า! น้ำ นี่คือเกมที่สร้างน้ำที่สวยที่สุดที่ผู้เขียนเคยเห็นมา (ซึ่งที่หนึ่งในใจก่อนหน้านี้ก็ไม่ใช่เกมไหนไกล Uncharted 4: A Thief’s End) การขยับตัว การแตกตัว ไปจนถึงการพริ้วไหวของน้ำมันเหมือนจริงอย่างกับที่เราเห็นอยู่ในเกมมันคือจำลองภาพด้วยการนำของจริงมาใส่ไว้ในเกม”

ปิดท้ายและท้ายสุดด้วยเรื่องของประสิทธิภาพ เอางี้ครับ ถ้าผู้เขียนบอกว่า งานภาพที่บรรยายมาทั้งหมด ไม่ได้กระทบกับเฟรมเรตเลย คุณจะเชื่อกันไหม? ทุก ๆ ฉากการเล่นไม่ว่าจะศัตรูจะมากันเยอะและมีการแสดงผลของ Particle Effects มากมายขนาดไหน (ระเบิด, ควัน, การแตกตัวของวัตถุ, ไฟ ฯลฯ) เฟรมเรตก็ยังคงนิ่งอยู่ที่ 30 ไม่ตกหล่นแม้แต่น้อย

ขอเวลาอีกนิดเพื่อความชัวร์ ว่าความมั่นใจที่เคลมไป จะยังคงเช่นนั้นอยู่ไหม?

ที่อธิบายมาทั้งหมดคือประสบการณ์ของผู้เขียนที่มีต่อการเล่นเป็นเวลา 2 ชั่วโมงกว่า ๆ นะครับ ก็ไม่รู้ว่าที่เจอมามันใกล้หรือไกลแค่ไหนแล้วที่จะได้เล่นจนจบครบสมบูรณ์ “ผู้เขียนก็อยากจะชัวร์ก่อนว่าความมั่นใจที่เคลมไปจะไม่เปลี่ยนแปลง” ยังไงก็ฝากรอติดตามอ่านรีวิวตัวเต็ม ๆ ที่กำลังจะมาถึงในไม่กี่อึดใจนี้ด้วยละกันนะครับ และสำหรับใครที่สนใจตัวเกม ก็สามารถไปพรีออเดอร์มารอวันตัวเกมวางจำหน่ายพร้อมเปิดให้ดาวน์โหลดมาเล่นกันได้ในวันที่ 19 มิถุนายนที่จะถึงนี้ครับ