ถ้าใครยังจำกันได้ ทีมงานแบไต๋ไฮเทคได้ปักหลักติดตามการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประมูลที่ใช้เวลาต่อเนื่องถึง 65 ชั่วโมง 55 นาที (ไม่รวมเวลาพัก) มีมูลค่ารวมจากทั้งสองใบอนุญาต 151,952 ล้านบาท แบ่งเป็น
– ใบอนุญาตชุดที่ 1  ผู้ชนะการประมูล: บริษัท แจส โมบายบรอดแบรนด์ ราคาสุดท้ายที่ประมูล 75,654 ล้านบาท

– ใบอนุญาตชุดที่ 2  ผู้ชนะการประมูล: บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ราคาสุดท้ายที่ประมูล 76,298 ล้านบาท

Play video

แต่หลังจากจบการประมูล และถึงกำหนดของการชำระเงินค่าใบอนุญาต ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ได้เดินทางมาชำระพร้อมรับใบอนุญาตเป็นรายแรก ส่วนแจส โมบายบรอดแบรนด์ ไม่ได้มาชำระและรับใบอนุญาต ตามที่ทางกสทช. ได้กำหนดเส้นตายไว้เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ชุดคลื่นความถี่ที่แจสจะต้องได้นั้น ทางกสทช. ริบคืน เพื่อเตรียมประมูลในครั้งถัดไป และเงินค้ำประกันที่จ่ายก่อนเข้าร่วมประมูลถึง 644 ล้านบาทนั้น ทางกสทช. ก็ต้องยึดเช่นกัน และสุดท้าย ทางกสทช. ได้สั่งแบนบริษัทดังกล่าวไม่ให้เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ในอนาคตได้อีก!

ทำให้ทางกสทช. ต้องรีบประชุมและเตรียมพร้อมกับการประมูลในครั้งใหม่ ในเดือนมิถุนายน 2559 แต่ภายหลังได้ขยับวันประมูลเข้ามาเร็วขึ้น ซึ่งคือวันพรุ่งนี้ (27 พฤษภาคม 2559) นั่นเอง

ทางด้านสามค่ายโทรศัพท์ที่ได้เข้าร่วมประมูลเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ต่างออกมาแสดงท่าทีต่อการเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ เริ่มจากค่ายดีแทค ที่ออกแถลงเป็นเครือข่ายแรกว่า “ไม่เข้าร่วมประมูล” และได้นำเงินที่เตรียมไว้กับการประมูลครั้งที่ผ่านมา มาเป็นงบในการปรับปรุง และพัฒนาโครงข่ายของตนเอง และยังให้ความมั่นใจด้วยว่า คลื่นความถี่ที่ตนเองมีอยู่ ณ ขณะนี้ เพียงพอต่อการให้บริการกับลูกค้า

ส่วนอีกสองค่ายที่เหลือ ทั้งเอไอเอสและทรูมูฟ เอช ต่างตอบรับในการประมูลครั้งใหม่นี้ด้วยการเดินทางมารับเอกสารการประมูลคลื่นครั้งใหม่ แต่ทว่า… ทางทรูมูฟ เอช ได้ออกมาแถลงว่า “จะไม่เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้” พร้อมทั้งได้ให้เหตุผลว่า คลื่นที่มีอยู่ในมือตอนนี้ เพียงพอต่อการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ

คงเหลือแค่เพียง “เอไอเอส” เพียงค่ายเดียวที่ตอบรับเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ โดยส่งบริษัทลูกอย่างแอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค (เอดับบลิวเอ็น) แต่ล่าสุด เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอที ได้ยื่นจดหมายขอคัดค้านการประมูลที่จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ถึงนายกรัฐมนตรี และประธานกสทช. โดยให้เหตุผลว่า

  • การประมูลโดยที่มีผู้ประมูลแค่เพียงรายเดียว ถือว่าไม่เป็นการประมูล และทางกสทช. ก็เคยมีนโยบายไม่ให้มีการประมูล โดยที่มีผู้ประมูลแค่เพียงรายเดียว

  • ผู้ให้บริการภาคเอกชน ไม่ได้ขาดแคลนคลื่นความถี่วิทยุ ในการนำมาให้บริการ 4G LTE และยังเห็นว่า คลื่นความถี่ 900 MHz ที่นำมาประมูลนี้ ยังไม่เหมาะกับเทคโนโลยี 4G LTE เหตุเพราะอุปกรณ์ที่รองรับนั้นมีน้อย เมื่อเทียบกับคลื่นความถี่ในย่านอื่น

และยังเพิ่มเติมอีกว่า การนำคลื่นความถี่มาประมูล เสมือนเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน สามารถสะสมคลื่นความถี่ ซึ่งไม่ใช่แนวทางในการบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทยเริ่มถึงจุดอิ่มตัว การเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นหน้าใหม่ เป็นการยากที่จะแข่งขันกับผู้ให้บริการรายเดิม เนื่องจากต้นทุนในการลงทุนติดตั้งเสาและสถานีฐาน ที่สูงกว่าผู้ให้บริการรายเดิม

พร้อมทั้งได้ยื่นข้อเสนอต่อกสทช. ให้ทีโอทีนำคลื่นความถี่ 900 MHz ที่จะนำมาประมูลในครั้งนี้ ไปประกอบกิจการต่อไป จนกว่าจะสิ้นสุดใบอนุญาตฯ และยังสามารถนำทรัพยากรที่เอไอเอสได้ส่งมอบนั้น มาใช้งานได้ต่อเนื่อง และสุดท้าย ทางทีโอทีจะสามารถบริหารจัดการเลขหมายที่รับมอบจากเอไอเอส เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลงได้อย่างต่อเนื่อง

คงต้องจับตากันต่อไปว่า การขอยื่นคัดค้านการประมูลของสหภาพฯ ทีโอทีในครั้งนี้ จะคัดค้านสำเร็จหรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทางสหภาพฯ ได้ยื่นคัดค้านการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในรอบแรก และทางศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องในกรณีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า สหภาพฯ ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงในเรื่องดังกล่าวนี้…

และต้องติดตามกันว่า วันพรุ่งนี้ การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบที่สองนี้ ทางเอไอเอสจะเคาะราคาไว้ที่เท่าไหร่ จะทำราคาให้สูงกว่าที่แจสโมบายฯ เคยทำไว้หรือไม่นั้น ต้องติดตาม!