Meta (เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Facebook) ประกาศให้ประเทศไทยสามารถตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างของโฆษณาหาเสียง หรือโฆษณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองใน Ad Library อย่างละเอียดได้ โดยมีการตรวจสอบผู้สมัครก่อนให้ลงโฆษณา แถมเก็บข้อมูลไว้ได้นานถึง 7 ปี ! เพื่อเป็นการช่วยให้การเลือกตั้งในประเทศไทยในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 นี้โปร่งใสมากยิ่งขึ้น

โดยฟีเจอร์นี้เป็นฟีเจอร์ที่เสริมเข้ามาใน ‘Ad Library‘ หรือคลังโฆษณา ที่ได้เก็บโฆษณาและข้อมูลการลงโฆษณาของแบรนด์ต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มของ Meta (ทั้ง Facebook, Instagram และแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง) โดยปกติ ผู้ใช้ทั่วไปจะสามารถดูได้เพียงแค่โฆษณาของแต่ละแบรนด์ หรือแต่ละเพจ ว่าได้ทำการสร้างโพสต์ใดที่เป็นโฆษณาบ้าง

แต่ตอนนี้ ทาง Meta ได้เปิดหมวดหมู่ใหม่ที่ชื่อ ‘ประเด็นปัญหา การเลือกตั้ง หรือการเมือง’ ขึ้นมาเฉพาะที่เอาไว้ใช้สำหรับค้นหา ตรวจสอบ หรือดูข้อมูลของการลงโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาของผู้สมัครเอง หรือผู้สมัครของพรรค เพียงแค่เราเข้าไปกดเลือกหมวดหมู่โฆษณาภายในหน้าเว็บไซต์ของ Ad Library เท่านั้น

ซึ่งเมื่อเราเลือกประเด็นปัญหา การเลือกตั้ง หรือการเมือง แล้ว เราสามารถค้นหาต่อเป็นชื่อของผู้ลงสมัครเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองที่เราต้องการจะค้นหาได้เลย โดยพรรคหรือผู้สมัครที่ลงโฆษณาเกี่ยวกับด้านการเมือง หรือการเลือกตั้งนั้น จะต้องเป็นผู้่ที่ได้รับการยืนยันตัวตนจากทาง Meta ก่อน ผ่านการส่งคำร้อง เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นคนที่มาจากพรรคนั้น ๆ จริง ๆ ไม่ได้มาจากการแอบอ้างด้วย

โดยโฆษณาที่เกี่ยวกับ ประเด็นปัญหา การเลือกตั้ง หรือการเมือง ที่ได้รับการอนุญาตจากทาง Meta เพื่อลงโฆษณาแล้ว จะต้องมีการระบุข้อความให้ชัดเจนว่าได้รับสปอนเซอร์จากใคร ผู้ใช้ทุกคนสามารถดูข้อมูลทั้งหมดที่ลึกกว่าโฆษณาโดยทั่วไป อย่างเช่นแพลตฟอร์มที่ลง, ขนาดกลุ่มเป้าหมายโดยประมาณ, จำนวนเงินที่ใช้จ่ายไป, อิมเพรสชัน, คนที่เห็นโฆษณานี้, พื้นที่ที่โฆษณาจะแสงให้เห็น , ยอดเงินทั้งหมดที่เพจนี้ใช้ไปกับโฆษณาเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม การเลือกตั้ง หรือการเมือง และ ยอดเงินล่าสุดที่เพจใช้จ่ายไปกับโฆษณาที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางสังคม การเลือกตั้ง หรือการเมือง ที่เราสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดเลย

ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนของ ยอดเงินทั้งหมดที่เพจนี้ใช้ไปกับโฆษณาเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม การเลือกตั้ง หรือการเมือง นั้นจะเริ่มนับตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา (2565) เท่านั้น

แล้ว Meta ทำอะไรเพื่อให้การเลือกตั้งไทยโปร่งใสขึ้นอีกบ้าง ?

แคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ กล่าวว่า Meta ได้ประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงและสนับสนุนความโปร่งใสในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย จึงได้ทำเป็น 5 แนวทางการทำงานเชิงรุกเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งในประเทศไทยขึ้น โดยประกอบไปด้วย

จัดตั้งทีมทำงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง

ด้วยการจัดสรรทรัพยากรบุคคลกว่า 40,000 อัตราในการทำงานเชิงรุกด้านความปลอดภัยและความมั่นคงไซเบอร์ เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากต่างชาติและขบวนการสร้างอิทธิพลภายในประเทศ รวมไปถึงการลดปริมาณข้อมูลเท็จและต่อสู้กับการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ์อีกด้วย

นอกจากนั้นยังได้จัดเตรียมทีมงานเพื่อดำเนินการด้านการเลือกตั้งโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในหัวข้อดังกล่าวที่มีเข้าใจและคุ้นเคยกับบริบทในระดับท้องถิ่นของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังประกอบด้วยพนักงานชาวไทยที่พูดภาษาไทยอีกด้วย

จัดการเนื้อหาที่เป็นอันตราย

ทาง Meta ได้ใช้เทคโนโลยี AI ที่เข้าใจภาษาท้องถิ่นเพื่อตรวจจับและกำจัดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ในเชิงรุก รวมถึงการกลั่นแกล้ง (bullying) การล่วงละเมิด (harassment) และเนื้อหาที่ละเมิดนโยบายความรุนแรงและการยั่วยุในมาตรฐานชุมชน (Community Standards) ของ Meta ซึ่งถูกบังคับใช้ในชุมชนระดับโลกของ Meta ทั้งหมด พร้อมกับการดำเนินงานของผู้ตรวจสอบดูแลเนื้อหาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มเป็นภาษาไทย นอกจากนี้ Meta ได้ใช้เทคโนโลยีตรวจจับเพื่อตรวจหาและหยุดความพยายามในการสร้างบัญชีปลอมนับล้านบัญชีด้วย ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา มีบัญชีปลอมจำนวนกว่า 1,300 ล้านบัญชีที่ถูกลบออกไปจากแพลตฟอร์มอีกด้วย

นอกจากการจัดการลบเนื้อหาที่เป็นอันตรายแล้ว ทาง Meta ได้พยายามลดข่าวปลอม ด้วยการแสดงข่าวปลอมบลนหน้าฟีดให้น้อยลง และได้แจ้งเพิ่มเติมถึงเรื่องข่าวปลอม ให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบได้ว่าข่าวนั้นปลอมหรือไม่ อย่างไร ผ่านปุ่มแสดงบริบทของข่าว, คำแจ้งเตือนก่อนแชร์, การแจ้งเตือนโดยตรงไปหาผู้ใช้, ป้ายแจ้งว่านี่คือข่าวปลอม และปุ่มแจ้งเตือนข่าวเก่า เป็นต้น เพื่อให้คนรู้เท่านั้นข่าวเหล่านี้มากขึ้น

จัดการเครือข่ายที่แทรกแซงความมั่นคงไซเบอร์

ทีมความปลอดภัยทางไซเบอร์ของ Meta จะสอดส่อง และรับมือกับเครือข่ายออนไลน์ที่มีพฤติกรรมที่น่าสงสัย และอาจมีการแทรกแซงความโปร่งใส เช่น การมีพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนบนโลกออนไลน์ (coordinated inauthentic behavior หรือ CIB) เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา Meta ได้ลบเครือข่ายการทำ CIB นี้ไปแล้วมากกว่า 200 เครือข่ายด้วยกัน

เพิ่มความโปร่งใสในโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

การเพิ่มความโปร่งใสในโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นหัวข้อที่ทำให้เกิดฟีเจอร์การตรวจสอบผู้ลงโฆษณาของ Meta ใน Ad Library นี้ขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการความโปร่งใสในโฆษณาที่เกี่ยวกับการเมือง และการเลือกตั้งนั่นเอง

ขวัญชนก เรืองคำ ผู้จัดการฝ่ายพาร์ตเนอร์ด้านผลกระทบต่อรัฐบาลและสังคม กล่าวถึงมาตรการนี้ว่ าการที่จะทำให้โฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้งโปร่งใสได้นั้นจะต้องสร้างทั้งการพิสูจน์ตัวตน (Authenticity) และความโปร่งใส (Transparency) กล่าวคือคนที่จะลงโฆษณาด้านการเมืองกับ Meta จะต้องยืนยันตัวตนกับ Meta ก่อนว่าเป็นใคร มาจากหน่วยงานไหน ใครเป็นคนจ่ายเงินในการลงโฆษณานี้ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจากการยืนยันตัวตนนี้ จะถูกกำหนดในข้อจำกัดความรับผิดชอบของตัวโฆษณาด้วย โดยจะมีการตรวจสอบตั้งแต่การสมัครเพื่อขอลงโฆษณาทางการเมืองว่ามาจากพรรคที่กล่าวถึงจริงไหม และได้ใช้เวลานานกว่า 48 ชั่วโมงในการยืนยันโฆษณาที่ลงไว้ด้วย

รวมถึงได้มีการเก็บทั้งข้อมูลโฆษณา รายละเอียดต่าง ๆ (ตามด้านบน) ไว้ให้ดูเป็นสาธารณะให้ทุกคนสามารถเข้ามาดูได้ นาน 7 ปี และ Meta เองก็ได้ทำการบล็อกโฆษณาทางการเมืองของไทยจากนอกประเทศไทยไว้ด้วย

ความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

อิงพร ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย จาก Meta กล่าวว่า การทำงานร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเราเชื่อว่าการเสริมสร้างสังคมดิจิทัลที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วนและการเชื่อมต่อผู้คนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือบนโลกออนไลน์จะต้องมาจากความพยายามร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม และภาครัฐ Meta มีความมุ่งมั่นในการสานต่อโครงการเพื่อให้ความรู้และส่งเสริมทักษะความเข้าใจและการใช้งานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ชาวไทยเข้าใจนโยบายของเราได้ดียิ่งขึ้น และใช้พลังของเทคโนโลยีเพื่อการมีส่วนร่วมได้ด้วย

นอกจากนั้น Meta ยังได้มีโครงการ We Think Digital Thailand ซึ่งเป็นโครงที่มุ่งสนับสนุนความรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว Meta ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร 8 หน่วยงาน ซึ่งรวมถึงสถานศึกษาท้องถิ่น สื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ เพื่อเปิดตัวแคมเปญ #โซเชียลด้วยใจ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์ในปัจจุบัน และวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนมีความระมัดระวังในการปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งยังให้ข้อมูลพร้อมเกร็ดความรู้สั้น ๆ และกระตุ้นการยอมรับความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ (empathy)

นับตั้งแต่การเปิดตัวในปี พ.ศ. 2562 โครงการ We Think Digital Thailand ได้มีความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรภาคีในประไทยแล้วกว่า 40 หน่วยงาน เพื่อร่วมผลักดันให้คนไทยมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบในชุมชนของเรา มีผู้เข้าถึงข้อมูลและสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ภายใต้โครงการแล้วกว่า 32 ล้านคนอีก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส